โควิด-19: ยกระดับ รพ.สนามรักษาผู้ป่วยวิกฤต แผนรองรับหลังไอซียูโควิดใกล้เต็ม

  • ธันยพร บัวทอง
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
พยาบาลดูแลผู้ป่วยโควิด

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

พยาบาลดูแลผู้ป่วยโควิดอาการหนักในห้องไอซียูของ รพ. แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

สถานการณ์ผู้ป่วยโรคโควิด-19 อาการหนักที่มีจำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจนในการระบาดระลอกนี้ ทำให้จำนวนเตียงผู้ป่วยวิกฤตและอุปกรณ์การรักษาโดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจเริ่มขาดแคลน ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์โรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มจัดหาอุปกรณ์ช่วยชีวิตสำหรับผู้ป่วยวิกฤตในโรงพยาบาลสนาม

นอกจากปัญหาการหาเตียงให้ผู้ป่วยประสบภาวะคอขวด คนไข้ตกค้างที่บ้าน จนเกิดกรณีผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนจะได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล อีกประเด็นที่น่ากังวลคือจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยไอซียูห้องความดันลบก็เริ่มจะเต็มกำลังของระบบสาธารณสุข หลังการระบาดระลอกเดือน เม.ย. ผ่านไปไม่ถึง 1 เดือน

ตัวเลขผู้ป่วยหนักจากการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สูงขึ้นในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ขึ้นสู่ระดับ 2,000 คน ต่อวัน

เพียงห้าวัน จากวันที่ 24 เม.ย. ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นจาก 418 ราย เป็น 695 รายในวันนี้ (28 เม.ย.)

ทำให้ตอนนี้สถานการณ์เตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักหรือไอซียู เกิดสภาวะที่เรียกว่า "เตียงตึง" โดยกรมการแพทย์ให้ข้อมูลว่า มีผู้ป่วยครองเตียงไปแล้ว 70-80% ทั่วประเทศ

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่าสถานการณ์ผู้ป่วยหนักที่เริ่มต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีมากขึ้น และขณะนี้เครื่องช่วยหายใจที่ต้องมีระบบออกซิเจนเชื่อมต่อกับเครื่องขณะนี้เริ่มไม่เพียงพอ มีให้เห็นแล้วในทุกพื้นที่

"ตอนนี้มันเป็นในทุกพื้นที่เลย เราต้องไม่ลืมว่า คนไข้ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจไม่ใช่โควิดอย่างเดียว ยังมีคนไข้ที่เป็นโรคอื่นอยู่เยอะ"

ข้อเสนอของ ศ.นพ. ธีระวัฒน์คือรัฐต้องจัดหาเครื่องช่วยหายใจฉุกเฉินชนิดพกพาที่ไม่ต้องเชื่อมต่อกับระบบออกซิเจน เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องเหล่านี้ไปจนถึงผู้ป่วยวิกฤตทั้งที่อยู่ใน รพ. และ รพ.สนาม

"ศูนย์โรคอุบัติใหม่ของเราคิดในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เราไม่ได้คิดว่าเราจะสร้างไอซียูใหม่ที่ครบกระบวนการได้ 100% ถ้าจะสร้างแบบจีนที่สร้างภายใน 7 วัน มีห้องความดันลบเป็นพันห้อง ของเรามันสร้างแบบนั้นไม่ได้" ศ.นพ. ธีระวัฒน์กล่าวกับบีบีซีไทย

ผู้ป่วยระดับไหนบ้างที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ระบบสาธารณสุขที่จะรองรับผู้ป่วยหนักที่วิกฤตมากขึ้นตอนนี้สถานการณ์อยู่ในขั้นไหน บีบีซีไทยประมวลข้อมูลและความเห็นจากการวิเคราะห์ของแพทย์ถึงฉากต่อไปของโควิด-19

เจ้าหน้าที่จัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

เจ้าหน้าที่จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาหนองจอก กรุงเทพฯ

ห้องไอซียูรักษาผู้ป่วยโควิดเหลือแค่ไหน หลังผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 2,000 ราย

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยอาการหนักในรอบ 1 สัปดาห์ หลังจากผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละ 2,000 ราย

  • 23 เม.ย. ติดเชื้อ 2,070 / อาการหนัก ไม่ระบุ ใส่เครื่องช่วยหายใจ ไม่ระบุ / ตาย 4
  • 24 เม.ย. ติดเชื้อ 2,839 / อาการหนัก 418 ใส่เครื่องช่วยหายใจ 133 / ตาย 8
  • 25 เม.ย. ติดเชื้อ 2,438 / อาการหนัก 510 ใส่เครื่องช่วยหายใจ 142 / ตาย 11
  • 26 เม.ย. ติดเชื้อ 2,048 / อาการหนัก 563 ใส่เครื่องช่วยหายใจ 150 / ตาย 8
  • 27 เม.ย. ติดเชื้อ 2,179 / อาการหนัก 628 ใส่เครื่องช่วยหายใจ 169 / ตาย 15
  • 28 เม.ย. ติดเชื้อ 2,012 / อาการหนัก 695 ใส่เครื่องช่วยหายใจ 199 / ตาย 15

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลจากการแถลงประจำวันของ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 23-28 เม.ย.2564

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยสถานการณ์เตียงไอซียูห้องความดันลบ (AIIR-ICU) ซึ่งมีเครื่องมือดูแลผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจและระบบความดันลบ (Modified AIIR) ที่ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยหนัก เมื่อ 28 เม.ย. ว่ามีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 70-80 % ทั่วประเทศ แทบไม่มีพื้นที่เหลือให้ผู้ป่วยรายใหม่เข้า จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการนำผู้ป่วยในห้องไอซียูที่มีอาการดีออกมาอยู่หอผู้ป่วยมากขึ้นเพื่อรับผู้ป่วยที่จำเป็นจริง ๆ เข้าไป

"ถ้าพูดจริง ๆ มันถึงจุดที่ตึง ไม่ค่อยมีพื้นที่ที่จะเหลือสำหรับผู้ป่วยรายใหม่เข้าไปได้ เว้นแต่มีการบริหารจัดการที่ดี เราคงไม่สามารถเอาผู้ป่วยเข้าไปได้ 100%" นพ.ณัฐพงศ์กล่าวในการแถลงเมื่อวันที่ 27 เม.ย.

สถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิด

หากดูสถานการณ์เตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่วิกฤตหนักที่สุดในประเทศตอนนี้ ห้องไอซียูความดันลบ เหลือเพียง 67 เตียง (ใช้ไปแล้ว 75.3%) ส่วนห้องความดันลบที่ดัดแปลงมา เหลือ 70 เตียง (ใช้ไปแล้ว 85.3%)

ขณะที่ ศบค. เปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพิ่มจากวันที่ 21 เม.ย. จาก 109 ราย เป็น 255 ราย ในวันที่ 27 เม.ย.

ตัวเลขนี้ดูเหมือนจะบอกแนวโน้มของผู้ป่วยที่มีระดับอาการมากขึ้น จากเดิมที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก เห็นได้จากการเปิดเผยของรองอธิบดีกรมการแพทย์ ที่ระบุว่าได้มีการขยายเตียง "ผู้ป่วยสีเหลือง" ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มเติม

สำหรับ "ผู้ป่วยสีเหลือง" ตามนิยาม คือ ผู้ป่วยที่มีอาการแต่ไม่รุนแรง แต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น

  • อายุมากกว่า 60 ปี
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • เบาหวานที่คุมไม่ได้
  • ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม
  • ตับแข็ง
  • ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1000

เตียงผู้ป่วยสีเหลือง ได้มีการขยายไปที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี 200 เตียง โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 45 เตียง สถาบันประสาทวิทยา 15 เตียง

สถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิด
สถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิด

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า สถานการณ์เตียงเริ่มมีภาวะ "ตึง" ในพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อสูง

"บางทีภาพรวมมันเหมือนไม่ใช่เป็นปัญหา แต่การกระจุกตัวอยู่ใน 6 จังหวัด ถ้าเราดูตัวเลข 6 จังหวัด รวมกันมีผู้ป่วยอยู่ 60% ของตัวเลขทั้งหมด ถ้าคำว่ายอดรวม 77 จังหวัดอาจจะดูพอ แต่พื้นที่ที่เยอะ ๆ อาจจะเริ่มตึง"

ส่วนกรณีเครื่องช่วยหายใจ ที่ต้องมีการเสริมในห้องความดันลบที่ดัดแปลงมา ยืนยันว่าขณะนี้มีความพร้อม

"เครื่องช่วยหายใจมีมากกว่าห้องไอซียูอยู่แล้ว เพราะว่าในโรงพยาบาลต่าง ๆ นอกจากมีไอซียู ยังมีส่วนที่เป็นห้องที่มีเครื่องช่วยหายใจ แม้ไม่ใช่ไอซียู แต่เป็นตึกธรรมดา หากมีความจำเป็นต้องใช้ก็มีเครื่องช่วยหายใจ ในแง่นี้สามารถปรับประยุกต์ได้"

หมอศิริราช ระบุผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ระบุวานนี้ (27 เม.ย.) ถึงข้อพึงระวังสำหรับประเทศไทยว่า ผู้ป่วยวิกฤตมากขึ้นจนอาจเกิดเหตุการณ์เตียงในหอผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากขึ้น และอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยหนัก

"1 ใน 4 ของคนไข้ที่มารักษาในศิริราช เป็นคนไข้ที่เข้ามาพร้อมมีปอดอักเสบเรียบร้อยแล้ว คนไข้ของเราที่อยู่ในห้องผู้ป่วยหนักขณะนี้ จำนวนคนไข้ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมีจำนวนเพิ่มขึ้นชัดเจน และมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ศิริราช ตอนนี้ ทั่วประเทศมีลักษณะแบบนี้"

นายแพทย์ใหญ่จากศิริราชระบุด้วยว่า ขณะนี้ โรงพยาบาลใหญ่ ๆ หลายแห่งได้เพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยวิกฤตเพิ่มขึ้น แต่ขณะที่พยายามขยายเตียง นพ.ประสิทธิ์บอกว่า ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลผู้ป่วยหนักไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ในเวลาอันสั้น จึงต้องมีการระดมแพทย์ต่าง ๆ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านมาช่วย

ส่วนสถานการณ์เครื่องช่วยหายใจ แม้ทั่วประเทศจะกระจายได้ดี แต่สำหรับคนไข้อาการหนัก เครื่องช่วยหายใจชนิดพิเศษอาจจะอยู่ในช่วงเริ่มไม่เพียงพอ

"โควิด-19 เวลามันรุนแรง มันจู่โจมระบบทางเดินหายใจ บางทีเครื่องช่วยหายใจธรรมดาก็เอาไม่อยู่ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดพิเศษที่สามารถใช้จัดการในรายที่หนัก ๆ ได้ ซึ่งแบบนี้ไม่ได้มีพร้อมเสมอ ประเทศไทยเรามีเครื่องช่วยหายใจกระจายตามที่ต่าง ๆ ได้ค่อนข้างดี แต่ในรายที่หนักจริง ๆ บางทีเราต้องการเครื่อง หรืออุปกรณ์ที่พิเศษจริง ๆ เพื่อจะจัดการกับมัน สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในช่วงที่อาจจะเริ่มขาดแคลน"

สถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิด

"ต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุด"

ศ.นพ. ธีระวัฒน์กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ด้วยสถานการณ์ที่ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มมากขึ้น ในแง่ของการเตรียมพร้อมทรัพยากรในการดูแลผู้ป่วย ต้องรีบจัดหาเครื่องช่วยหายใจชนิดพกพาได้ไว้อย่างรีบด่วน สำหรับรองรับผู้ป่วยอาการหนักเพื่อที่จะใช้ใน รพ.สนามที่เตรียมพร้อมพื้นที่สำหรับผู้ป่วยวิกฤต จากเดิมที่รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการ

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ย้ำว่าข้อเสนอนี้เป็นการคิดล่วงหน้าในกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุด ซึ่งเป็นแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่ที่พัฒนาขึ้นหลังจากมีโรคระบาดหนัก ๆ ทั้งไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือ ไข้หวัดนก ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะเตรียมการไว้ในกรณีที่โรงพยาบาลไม่สามารถรับมือได้

เขาบอกว่าเท่าที่ทราบ สิงคโปร์ได้จัดเตรียม รพ.สนามให้พร้อมดูแลผู้ป่วยวิกฤตเช่นกัน

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ ยังได้วิเคราะห์ฉากต่อไป เมื่อผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มมากขึ้น ดังนี้

- กรณีที่ห้องไปไอซียูความดันลบ ห้องไอซียูธรรมดาเต็ม ขั้นต่อไปคือ รักษาในหอผู้ป่วยธรรมดา ที่แยกออกจากหอผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่น

- เมื่อหอผู้ป่วยเต็มในตัวอาคาร ขยายไปยัง รพ. สนาม ซึ่งบรรจุผู้ป่วยได้ 100-500 คน แต่จุดประสงค์ของ รพ. สนามขณะนี้ มีขึ้นสำหรับผู้ป่วยเฝ้าดูอาการ เมื่ออาการเพิ่มเป็นระดับ 2-3 จะส่งตัวเข้าโรงพยาบาล

- เมื่อสถานการณ์ยกระดับ ทำให้โรงพยาบาลเต็ม จะไม่สามารถย้ายผู้ป่วยที่เฝ้าดูอาการที่ รพ.สนาม ไป รพ.หลักได้ ดังนั้นต้องปรับเปลี่ยนลักษณะของ รพ. สนาม ให้กลายเป็นโซนของผู้ป่วยอาการหนัก

พยาบาล

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

พยาบาลกำลังจัดเตรียม "ฮอสปิเทล" สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19

หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ระบุว่า โดยปกติแล้วเครื่องช่วยหายใจแบบพกพาหรือเคลื่อนที่ได้ไม่ค่อยมีการใช้งานในโรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจากมีเตียงรักษาผู้ป่วยหนักที่มีอุปกรณ์นี้อยู่แล้ว อย่างมากคือมีสำหรับหน่วยฉุกเฉินหรือการรับผู้ป่วยทางไกลในรถพยาบาล

"การที่เตรียมไว้ลักษณะนี้ เราคิดว่าเราลงทุนไป ได้ของมาไม่เสีย ในกรณีที่ไม่ใช้ เครื่องนี้สามารถเก็บไว้ได้ แต่ถ้ามีความจำเป็นรีบด่วน หรือในกรณีถ้าเกิดไอซียูเต็ม เราก็สามารถช่วยชีวิตได้ทันทีทันใด โดยที่ไม่ต้องย้ายคนไข้ออกมาจาก รพ. สนาม" ศ.นพ. ธีระวัฒน์กล่าว

เตรียมพร้อมไว้สำหรับระลอก 4

"หากเรารอดจากครั้งนี้ได้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะรอดจากระลอกที่ 4" เป็นการวิเคราะห์ของนายแพทย์จาก รพ.จุฬาฯ รายนี้

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ชี้ว่าเนื่องจากในระลอกที่ 4 สถานการณ์ที่จะเจอคือเชื้อกลายพันธุ์เต็มรูปแบบ ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อกลายพันธุ์จากประเทศไทยเอง หรืออาจจะเป็นเชื้อกลายพันธุ์จากอินเดีย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ บราซิล ที่ระบาดเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งวัคซีนเองอาจไม่สามารถยับยั้งได้

"ระลอก 4 ถ้าไม่เกิดก็ดี แต่ถ้าเกิดแล้ววัคซีนที่พัฒนาเอาไม่อยู่ทั้งทุกการกลายพันธุ์ ตอนนั้นเองก็จะเกิดระลอกใหม่ซึ่งจะดุร้ายกว่าเก่า เพราะว่าภูมิคุ้มกันที่เราได้ขณะนี้อาจจะไม่ช่วย"

ศ.นพ. ธีระวัฒน์บอกด้วยว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก ที่มีการรายงานอาจมีการ "หลุดสำรวจ" เพราะเมื่อวิเคราะห์จากอัตราจำนวนผู้ป่วยหนักที่สูงขึ้น ตัวเลขที่เห็นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและไม่ได้เข้าระบบการตรวจ

ผู้ป่วยโควิดต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแบบไหน

นพ.จากโรงพยาบาลจุฬาฯ ยังอธิบายอาการของคนไข้และเครื่องช่วยหายใจที่ต้องใช้ในแต่ละระดับ โดยระดับอาการเป็นไปตามการวิเคราะห์ขององค์การอนามัยโรค แบ่งได้ 6 ระดับ

ระดับที่ 1 อาการเล็กน้อย แทบไม่ต้องทำอะไรเลย

ระดับที่ 2 อาการเริ่มเห็นชัดเจน แต่อาจจะไม่มีอาการทางปอด แต่มีไข้ ตัวร้อน อ่อนเพลีย

ระดับที่ 3 เริ่มมีอาการมากขึ้น ต้องเริ่มใช้เครื่องช่วยหายใจ ที่เป็นลักษณะเครื่องที่เสียบไว้ที่รูจมูกหรืออาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ตลอดเวลา

ระดับที่ 4 อาการอยู่ในขั้นที่อาจต้องใช้เครื่องปั๊มอากาศทางหน้ากาก ระดับนี้ถ้าคนไข้คงสภาพอยู่ได้หรือดีขึ้นก็หยุด หรือถ้าผ่านระดับที่ให้ออกซิเจนธรรมดา หรือให้เป็นชนิดหน้ากากอัดอากาศ แล้วยังช่วยไม่ได้ ก็จะต้องสอดท่อเข้าไปเพื่อให้เครื่องสามารถปั๊มอากาศเข้าไปได้ เพราะปอดเต็มไปด้วยน้ำ เต็มไปด้วยเสมหะเหนียว ๆ อยู่ก็จะไม่มีออกซิเจนเข้าไปในร่างกายได้

ระดับที่ 5 ต้องใส่ท่อหายใจและรักษาตัวในหอผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู)

ระดับที่ 6 อาการวิกฤต นอกจากใส่เครื่องช่วยหายใจแล้ว ยังต้องใส่เครื่องประทังชีวิตทุกชนิด รวมทั้งเครื่องที่ต้องอัดออกซิเจนเข้าไปในเลือด

สำหรับเครื่องช่วยหายใจที่ใช้เป็นมาตรฐานในไอซียู เป็นเครื่องใหญ่ ๆ ที่มีการต่อท่อออกซิเจนเข้าไปในระบบออกซิเจนของโรงพยาบาลหรือในกรณีโรงพยาบาลต่างจังหวัด อาจจะมีแทงก์ออกซิเจนอยู่ข้าง ๆ

ศ.นพ. ธีระวัฒน์อธิบายด้วยว่าตัวเลขที่ ศบค. รายงานจำนวนผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจคือผู้ป่วยวิกฤตอาจจะเป็นระดับ 5 หรือ 6