รัฐประหารเมียนมา: รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมาเรียกร้องอาเซียนไม่เจรจา มิน อ่อง หล่าย หลังมีหมายร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมาของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร เรียกร้องให้อาเซียนเจรจากับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และไม่ให้การรับรองคณะรัฐประหาร หากต้องการช่วยหาทางออกจากวิกฤตนองเลือดของประเทศที่มีเหตุจากการรัฐประหารของกองทัพเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government-NUG) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยการร่วมกันของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรัฐประหาร นำโดยสมาชิกรัฐสภาจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางออง ซาน ซู จี ที่ถูกขับออกจากอำนาจ ร่วมด้วยผู้นำการชุมนุมที่สนับสนุนประชาธิปไตยและกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงนางซู จี ที่ถูกกักขังอยู่ในขณะนี้ด้วย

ความคืบหน้าล่าสุดของวิกฤตในเมียนมามาจากการเปิดเผยของรัฐบาลไทย เมื่อนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้นำรัฐประหาร จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่อินโดนีเซีย ในวันที่ 24 เม.ย. นี้

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่าประเทศบรูไน ในฐานะประธานอาเซียน ได้กำหนดให้มีการประชุมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ รวมถึง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ตอบรับการเข้าร่วมประชุมดังกล่าวแล้ว แต่ยังมีผู้นำอีกหลายประเทศที่ยังไม่ได้ยืนยันการเข้าร่วมการประชุม

ก่อนหน้านี้ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้พยายามในการหาทางออกจากการนองเลือดในเมียนมาที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุมและประชาชนฝ่ายต่อต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไม่มีสัญญาณใด ๆ จากรัฐบาลทหารเมียนมาในการเปิดทางเจรจากับรัฐบาลของนางซู จี ที่ถูกยึดอำนาจ

ส่วนรัฐบาลไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมการประชุมหรือไม่ โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกกับบีบีซีไทยว่า ยังไม่มีการเปิดเผยวาระการประชุมและอยู่ระหว่างรอรายละเอียดอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการต่างประเทศ

โม ซอว์ อู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐบาล ระบุว่า อาเซียนไม่ควรให้การรับรองคณะรัฐประหารเมียนมา

"หากอาเซียนพิจารณาว่าจะมีการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับกิจการในเมียนมา ผมบอกได้เลยว่าจะไม่มีทางเห็นผลถ้าไม่เจรจากับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและมีความชอบธรรมในทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์" โม ซอว์ อู กล่าวกับสำนักข่าววีโอเอ ภาคภาษาเมียนมาในการให้สัมภาษณ์ วันนี้ (18 เม.ย.)

เรียกร้องอาเซียน รับรองรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา ได้เรียกร้องต่อประชาคมนานาชาติให้รับรองรัฐบาลชุดนี้ในฐานะรัฐบาลที่มีความชอบธรรมในทางกฎหมาย และเรียกร้องให้อาเซียนเชิญรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ แทนการเชิญผู้นำทหารของกองทัพที่ยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

"มันสำคัญมากที่สภาของคณะรัฐประหารจะต้องไม่ถูกรับรอง" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา กล่าวและระบุว่ารัฐบาลที่จัดตั้งขึ้น ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ปฏิกิริยาภายหลังฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาล

ในช่วงสุดสัปดาห์ผู้คนจำนวนมากออกมารวมตัวบนท้องถนนในหลายเมืองของเมียนมาเพื่อแสดงการสนับสนุนกับการจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ

รอยเตอร์รายงานด้วยว่า กองกำลังฝ่ายความมั่นคงเมียนมาได้ยิงผู้ชุมนุมเสียชีวิต 2 คน ในเมืองโมกกซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องอัญมณีทางตอนเหนือของเมืองมัณฑะเลย์

Reuters

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผบ.สส.เมียนมาและผู้นำรัฐประหาร จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 24 เม.ย. นี้

ขณะที่ในนครย่างกุ้ง เกิดเหตุระเบิดขนาดเล็กหลายแห่ง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก แต่ยังไม่มีฝ่ายใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ ขณะที่ทหารได้กล่าวหาผู้ชุมนุมว่าเป็นฝ่ายลงมือโจมตี

"สหพันธรัฐประชาธิปไตย" เป้าหมายของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ

ในวิดีโอที่แถลงการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันศุกร์ มิน โก เนียง อดีตนักเคลื่อนไหวชาวเมียนมาประกาศว่า "โปรดให้การต้อนรับรัฐบาลของประชาชน"

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานคำพูดของ ดร.ซาซา ซึ่งระบุตัวเองว่าเป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงกิจการความร่วมมือระหว่างประเทศในฐานะโฆษกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ กล่าวถึงเป้าหมายของพวกเขาว่า คือการยุติความรุนแรง รื้อฟื้นประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ และก่อตั้งสหพันธรัฐประชาธิปไตย หลังจากที่กองทัพเป็นกลุ่มอำนาจหลักที่ยึดครองเมียนมามาอย่างยาวนาน

บรรดาผู้นำของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา ระบุว่าพวกเขาตั้งใจจะก่อตั้งกองทัพของสหพันธ์และอยู่ระหว่างการพูดคุยกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย

คณะที่ปรึกษาพิเศษกิจการเมียนมา ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญนานาชาติรวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ ตอบรับการก่อตั้งรัฐบาลชุดนี้โดยระบุว่าเป็น "ประวัติศาสตร์" และรับรองว่าเป็นรัฐบาลตามกฎหมาย