โควิด-19: ผลสอบสวน สธ. ชี้ 6 จนท. รพ.ระยอง เกิดอาการคล้ายโรคหลอดเลือดทางสมอง หลังรับวัคซีนซิโนแวค

กระทรวงสาธารณสุขแถลงผลการสอบสวนกรณีพบบุคลากรสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลระยอง 6 คน เกิดอาการคล้ายโรคอัมพฤกษ์หลังฉีดวัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวค โดยผลการสอบสวนชี้ว่า เป็นอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก ซึ่งทั้งหมดมีอาการแค่ชั่วคราวที่หายภายใน 1-3 วัน พร้อมย้ำยังเดินหน้าฉีดวัคซีนซิโนแวคล็อตผลิตนี้ต่อ

กระทรวงสาธารณสุข ระดม 4 นายแพทย์ใหญ่ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเมื่อเวลา 15.00 น. ที่ผ่านมา โดยกรณีนี้ถือได้ว่าเป็นการพบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์แบบเป็นกลุ่มก้อนครั้งแรก นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.

"เราคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน เพราะว่าเกิดภายใน 5-10 นาที หลังจากการฉีดวัคซีนเป็นส่วนใหญ่ จะมีบางรายที่เกิดช้าหน่อย" ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุ

บุคลากรสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ของ รพ. ระยองทั้ง 6 คน เป็นเพศหญิงทั้งหมด อายุระหว่าง 21-54 ปี มีอาการไม่พึงประสงค์หลายอาการ ตั้งแต่ ปวดตึงต้นแขน ปวดศีรษะท้ายทอย เจ็บหน้าอก ใจสั่น อ่อนแรง ขาไม่มีแรง พูดไม่ชัด ชาครึ่งซีก ไปจนถึงอาการสมองสั่งการช้า ทั้งนี้มี 1 รายที่มีโรคประจำตัวเป็นมะเร็ง และอีก 1 ราย มีน้ำหนักเกิน

ทั้งหมดเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคระหว่างวันที่ 5-9 เม.ย. ที่ผ่านมา

กรณีถูกเปิดเผยเมื่อ ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เอกสารสอบสวนโรคเบื้องต้นของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ชลบุรี บนเฟซบุ๊ก วานนี้ (20 เม.ย.)

ในการแถลงของ สธ. ศ.พญ. กุลกัญญา ให้รายละเอียดว่าทั้ง 6 ราย มีอาการทางระบบประสาทมากน้อยแตกต่างกัน แต่เป็นอาการชั่วคราวที่หายภายใน 1-3 วัน บางรายมีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนโรคและติดตามอาการ คณะกรรมการสรุปว่าอาการที่เกิดขึ้นในกลุ่มนี้ยังบอกไม่ได้แน่ชัดถึงสาเหตุ แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน

"สิ่งที่เกิดขึ้นยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เพราะว่าพอสแกนเอ็มอาร์ไอสมองพบว่าปกติ จึงถือว่าเป็นกลุ่มอาการคล้าย สโตรกที่เกิดชั่วคราว และส่วนใหญ่เกิดกับผู้หญิงที่อายุไม่เยอะเท่าไหร่ ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงสโตรคมาก่อน และมีอาการที่ปน ๆ กัน โดยรวมกลุ่มอาการทางระบบประสาท "

tnp

ที่มาของภาพ, Thai news pix

แพทย์หญิงจาก รพ.ศิริราช ย้ำว่าทั้ง 6 รายมีอาการที่ "เป็นชั่วคราวและกลับมาเป็นปกติดังเดิมทุกอย่าง" แต่ระบุว่ายังจำเป็นต้องเฝ้าติดตามในผู้รับวัคซีนรายอื่น ๆ ว่าจะเกิดอาการเช่นนี้หรือไม่

ศ.พญ. กุลกัญญา กล่าวว่าหลังจากเกิดเหตุดังกล่าว ทางคณะกรรมการได้ตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนล็อตนี้ทันที ซึ่งไม่พบว่ามีความผิดปกติ ทั้งนี้ วัคซีนล็อตผลิตนี้ไม่ได้มีการฉีดแค่จังหวัดเดียว แต่ได้กระจายใช้ทั่วประเทศจำนวน 5 แสนโดส มีผู้รับวัคซีนไปแล้วประมาณ 300,00 ราย แต่ไม่ได้พบปัญหาเหมือนกรณีนี้

ศ.พญ. กุลกัญญา ระบุด้วยว่า คณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุขลงความเห็นว่า ยังสามารถใช้วัคซีนซิโนแวคล็อตนี้ต่อไปได้ เนื่องจากวัคซีนนี้ยังมีประโยชน์มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผลข้างเคียงที่พบ และอัตราการเกิดผลข้างเคียงยังไม่ชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่จะเฝ้าระวังต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการใช้วัคซีนซิโนแวคในต่างประเทศ ยังไม่ได้เกิดปัญหาคล้ายคลึงกับกรณีนี้มาก่อน

"คณะกรรมการลงความเห็นว่าสามารถใช้วัคซีนล็อตนี้ต่อไปได้ เนื่องจากว่าประโยชน์ของวัคซีนมากกว่าอาการข้างเคียงซึ่งเป็นชั่วคราว

สำหรับวัคซีนโคโรนาแวคของบริษัท ซิโนแวค ประเทศไทยนำเข้ามาแล้ว 2 ล้านโดส และมีกำหนดนำเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส ในช่วงเดือน เม.ย. ถึง พ.ค.

เอกสารของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ชลบุรี ที่เข้าถึงได้ในโพสต์สาธารณะบนเฟซบุ๊กของ ศ.นพ. ธีระวัฒน์ ระบุด้วยว่า ยังมีผู้ป่วยอีกหนึ่งราย ที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ซึ่งแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาทให้ยาละลายลิมเลือดและกลับมาเป็นปกติแล้ว โดยยืนยัน ด้วยผล สแกนเอ็มอาร์ไอ

เกิดอะไรขึ้นที่ระยอง หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค

ข้อมูลจากเอกสารฉบับนี้ ระบุว่าเหตุการณ์พบอาการไม่พึงประสงค์ในกลุ่มผู้รับการฉีดวัคซีนเกิดที่โรงพยาบาลระยอง ซึ่งดำเนินการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ระหว่างวันที่ 5-9 เม.ย. ที่ผ่านมา จำนวน 3,029 ราย พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ 72 ราย คิดเป็น 2.37%

ในจำนวนนี้ เป็นอาการไม่พึงประสงค์กรณีเหตุการณ์ร้ายแรงจำนวน 6 ราย ภายหลังรับวัคซีน ทั้งหมด

เอกสารระบุว่า ผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ได้รับการฉีดวัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวค เลขที่ผลิต Lot.No. J202103001m6dik เดียวกัน จำนวน 76 กล่อง วันหมดอายุ 1 ก.ย. 2564 แต่ละกล่องมี 1 ซีเรียลนัมเบอร์ โดยทั้ง 6 ราย ได้รับวัคซีนคนละซีเรียลนัมเบอร์

สแกนเอ็มอาร์ไอสมองทุกราย ไม่พบความผิดปกติ

พญ. ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รอง ผอ.ด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ทั้ง 6 ราย ได้รับการรักษาและวินิจฉัยตามมาตรฐาน โดยการเอ็กซเรย์สมองคอมพิวเตอร์สมอง ไม่พบอาการผิดปกติ แต่ได้ให้ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีปัญหาหลอดเลือดสมอง โดยกรณีที่รักษาช้าที่สุดใช้เวลา 3 วัน

"การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม มีการทำเอ็กซเรย์เอ็มอาร์ไอสมองเพิ่ม เพื่อดูความผิดปกติของเนื้อสมองกับดูหลอดเลือด ก็ยังไม่พบความผิดปกติของเนื้อสมองว่ามีเนื้อสมองตาย หรือขาดเลือด หรือว่ามีหลอดเลือดสมองที่ตีบหรืออุดตันไป"

พญ. ทัศนี้ ชี้ว่าอาการทั้ยังเป็นเพียงคล้ายกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจสัมพันธ์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน โดยตามรายงานไม่ได้พบได้บ่อย จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกไป เนื่องจากเป็นอาการชั่วคราว

ส่วนอีกกลุ่มอาการที่พบบ่อย คือ อ่อนเพลีย ง่วงนอน เป็นอาการชั่วคราวเช่นเดียวกัน

"สาเหตุของคลัสเตอร์นี้ที่ระยอง เบื้องต้นเราคิดว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่สาเหตุลึกลงไปคงต้องมีการศึกษาวินิจฉัยเพิ่มเติม"

6 ราย มีอาการอย่างไรบ้าง

ตามเอกสารของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ชลบุรี ได้ระบุอาการไม่พึงประสงค์ "ชนิดรุนแรง" ของเจ้าหน้าที่ รพ. ระยอง บีบีซีไทยรวบรวมมาโดยสรุป โดยแต่ละคนมีประวัติของโรคประจำตัวแตกต่างกัน

รายที่ 1 เพศหญิง อายุ 29 ปี (5 เม.ย.) ปวดต้นต้นแขนหว่าหลังฉีดระยะแรก หลังจากนั้นราว 1 ชม. เริ่มมีอาการปวดตึงท้ายทอย พูดไม่ชัด เอกสารระบุประวัติจากหน้าป้ายมี มุมปากตก 1 ข้าง รักษาตัวที่ รพ. 3 วัน

รายที่ 2 เพศหญิง อายุ 33 ปี (6 เม.ย.) มีอาการปวดศีระษะท้ายทอยหลังฉีดไป 10 นาที หลังจากนั้นในวันเดียวกันมีอาการเจ็บหน้าอกด้านซ้ายเป็นพัก ๆ ใจสั่น อ่อนแรง ชามากบริเวณแขนซ้ายที่ฉีดวัคซีน รักษาตัวที่ รพ. 2 วัน

รายที่ 3 เพศหญิง อายุ 21 ปี (8 เม.ย.) เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่มหลังฉีด 5 นาที (ก่อนฉีดมีอาการเจ็บหน้าอกซ้าย) หลังจากนั้นในวันเดียวกัน ปวดตึงต้นแขนซ้าย ชาปลายมือซ้าย ขึ้นไปต้นแขน

รายที่ 4 เพศหญิง อายุ 54 ปี (8 เม.ย.) มีผื่นแดงขึ้นที่แขนทั้งสองข้างหลังฉีดราว 10 นาที ตามด้วยชาปลายเท้าแบบสมมาตรทั้งสองข้าง ชาที่ปาก ลิ้นแข็ง สมองสั่งการช้า ตาฝ้าคล้ายควันขาวบังทั้งสองข้าง ทั้งนี้รายนี้มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม

รายที่ 5 เพศหญิง อายุ 25 ปี (9 เม.ย.) หลังฉีดราว 1 ชม. มีอาการชาที่ต้นคอ ปวดแขนซ้าย พูดไม่ชัด ขาไม่มีแรงทั้งสองข้าง

รายที่ 6 เพศหญิง อายุ 27 ปี หลังฉีดราว 1 ชม. มีอาการง่วงซึมลง

รายงานการสอบสวนโรคกรณีฉีดวัคซีนแล้วพบอาการไม่พึงประสงค์ "ชนิดรุนแรง" ที่ จ.ระยอง ของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน COVID-19 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ชลบุรี

ที่มาของภาพ, facebook/ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

คำบรรยายภาพ,

รายงานการสอบสวนโรคกรณีฉีดวัคซีนแล้วพบอาการไม่พึงประสงค์ "ชนิดรุนแรง" ที่ จ.ระยอง ของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน COVID-19 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ชลบุรี

หากแพ้รุนแรงในวัคซีนเข็มแรก แนะเปลี่ยนเข็มสอง

สำหรับข้อสงสัยที่ว่า ผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนเข็มแรก จะยังคงได้รับวัคซีนชนิดเดียวกันในเข็มที่สองได้หรือไม่ หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนไปรับวัคซีนชนิดอื่นแทนหรือไม่ นั้น

ศ.พญ. กุลกัญญา อธิบายว่า อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน สามารถเกิดขึ้นได้กับการรับวัคซีนทุกชนิด ทั้งที่เป็นอาการข้างเคียงซึ่งพบเป็นส่วนใหญ่ คืออาการน้อย อย่างปวดเมื่อย ท้องเสีย เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการที่ประเมินไว้อยู่แล้ว ในเวลาไม่เกิน 2 วันก็จะกลับมาแข็งแรงตามปกติ

อาการไม่พึงประสงค์อีกกลุ่มหนึ่ง คือ การแพ้วัคซีน ซึ่งมีทั้งที่แพ้เบา อย่างมีผื่นโดยไม่มีอาการอื่น ๆ ศ.พญ. กุลกัญญา ชี้ว่า แพทย์ก็จะมีอาการพิจารณาว่าจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงหรือไม่ แต่หากเป็นอาการแพ้รุนแรง อย่างอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออกร่วม ส่วนใหญ่แพทย์ก็จะแนะนำให้เปลี่ยนวัคซีนที่ฉีดในเข็มถัดไป

bbc

ผู้ติดเชื้อรายใหม่หลักพันต่อเนื่อง

สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชั่วโมง จากการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีข้อมูลสำคัญดังนี้

  • พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 1,458 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,454 ราย (โดย 1,346 รายพบจากการเฝ้าระวัง, จากการค้นหาเชิงรุก 108 ราย) และอยู่ในสถานที่กักของรัฐ 4 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 46,643 ราย
  • ผู้ป่วยสะสมการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่ 1 เม.ย. มีผู้ป่วยสะสม 17,780 ราย ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิต 0.09% มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมที่ 110 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ให้รายละเอียดผู้เสียชีวิต ดังนี้

  • ผู้เสียชีวิตรายที่ 109 เป็นหญิงอายุ 56 ปี มีประวัติเป็เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง และโรคอ้วน เมื่อยืนยันติดเชื้อเข้ารับการรักษา ก่อนที่จะเหนื่อยหอบ พบปอดอักเสบรุนแรงก่อนเสียชีวิต
  • ผู้เสียชีวิตรายที่ 110 เป็นชายไทย อายุ 32 ปี มีโรคประจำตัว คือภูมิแพ้ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า ก่อนที่อาการแย่ลงจากปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว

ยอดผู้ติดเชื้อ 5 อันดับแรกของประเทศในวันนี้ตามรายงานของ ศบค.ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (365), เชียงใหม่ (134), ชลบุรี (80), ประจวบคีรีขันธ์ (47), นนทบุรี (69)