ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ผู้ประท้วงวิ่งหนีแก๊สน้ำตาที่กองกำลังความมั่นคงยิงใส่ ระหว่างการประท้วงในนครย่างกุ้ง 2 มี.ค. 2021

รัฐประหารเมียนมา : ผู้นำอาเซียนจะขอ มิน อ่อง หล่าย ให้หยุดฆ่าประชาชนได้ ?

  • บิลล์ เฮย์ตัน
  • นักวิชาการประจำราชสถาบันกิจการระหว่างประเทศ

เป็นเวลาเกือบสามเดือนแล้วหลังเกิดเหตุรัฐประหารขึ้นที่เมียนมา และในที่สุดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN) ก็ได้ฤกษ์จัดการประชุมสุดยอดเพื่อหาทางยุติวิกฤตการณ์ดังกล่าว ในวันเสาร์ที่ 24 เม.ย. ที่จะถึงนี้ โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ชายผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารได้ประกาศว่าจะมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ด้วย

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าตัวเขาเองและบรรดาผู้ต่อต้านฝ่ายประชาธิปไตย ต่างยังไม่มีทีท่าว่าต้องการจะประนีประนอมรอมชอมกัน จึงน่าสงสัยว่าการประชุมสุดยอดครั้งนี้จะมีผลออกมาอย่างไร และจะช่วยยุติเหตุนองเลือดได้อย่างที่หวังกันหรือไม่

เมื่อการประชุมเปิดฉากขึ้นในวันเสาร์นี้ ที่อาคารสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งใหม่ในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย มีความเป็นไปได้ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก จนอาจไปถึงราว 800 ราย ความรุนแรงยกระดับสูงขึ้นเกือบทุกวัน โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมากองทัพใช้จรวดอาร์พีจียิงเข้าใส่พลเรือน ทั้งยังใช้เครื่องบินรบโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านอีกด้วย ทำให้ผู้สังเกตการณ์หลายรายมองว่า เมียนมานั้นใกล้จะเป็น "รัฐล้มเหลว" เข้าไปทุกขณะแล้ว

ด้วยความที่ตระหนักดีว่า มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบเพียงน้อยนิดในวงจำกัดต่อบรรดาผู้นำกองทัพเมียนมา รัฐบาลของชาติต่าง ๆ ในยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชียตะวันออก จึงพากันสนับสนุนให้รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นแสดงบทบาทนำในการแก้ไขปัญหา ซึ่งหากมองดูเผิน ๆ พวกเขาก็มีเหตุผลอันสมควรที่จะต้องก้าวเข้ามารับบทบาทนี้อย่างมาก เพราะสถานการณ์ในเมียนมานั้นถือเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุดต่อความมั่นคงของภูมิภาค นับแต่เหตุขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อสิบกว่าปีก่อนเป็นต้นมา

ผู้ประท้วงในมัณฑะเลย์ เมียนมา

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

ผู้ประท้วงออกมาเดินขบวนและชูสามนิ้วต่อต้านรัฐประหารในเมืองมัณฑะเลย์ เมียนมา 19 เม.ย. 2021

แม้มีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับวิกฤตสงครามกลางเมืองในเมียนมา รวมทั้งปัญหาผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมหาศาลที่จะทะลักเข้ามาในเขตแดนของตน แต่สิบชาติสมาชิกของอาเซียนก็ยังคงมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ แม้แต่ในเรื่องที่ว่าจะจัดการประชุมสุดยอดขึ้นดีหรือไม่ สัญญาณของความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายนั้นเห็นได้ชัดเจน ระหว่างรัฐบาลของประเทศที่ประสงค์จะเข้าร่วมจัดการแก้ไขปัญหา กับรัฐบาลของประเทศที่ไม่ต้องการจะมีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น

มีอยู่ 4 ประเทศในอาเซียนที่เรียกร้องให้ดำเนินการแทรกแซงอย่างใดอย่างหนึ่งมาโดยตลอด โดยเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมามีรายงานว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้เดินทางไปจีนเพื่อหารือเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา ส่วนรัฐบาลบรูไนซึ่งกำลังดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนก็ได้เคลื่อนไหวเช่นกัน โดยเป็นผู้ร่างแถลงการณ์ร่วมแสดงความกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา

มาเลเซียนั้นปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐบาลทหารของเมียนมาอย่างชัดเจน โดยถือว่าไม่ใช่รัฐบาลที่มีสถานะอันถูกต้องชอบธรรม ในแถลงการณ์มาเลเซียเรียกคณะรัฐประหารว่า "คณะเจ้าหน้าที่ของกองทัพในเมียนมา" ทั้งยังคงเรียกร้องให้ปล่อยตัว "ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ" ซึ่งเป็นชื่อตำแหน่งทางการของเธอก่อนเกิดรัฐประหารขึ้น ส่วนนายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ระบุว่าการปราบปรามผู้ประท้วงในเมียนมานั้นเป็นเรื่องที่ "ไม่อาจยอมรับได้"

ออง ซาน ซู จี เดินกับ นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ช่วงร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน 6 ก.ย. 2016

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

นางออง ซาน ซู จี ผู้นำของเมียนมา และนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ ขณะเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ในกรุงเวียงจันทน์ ของลาว 6 ก.ย. 2016

มีรัฐบาลของไม่กี่ประเทศที่นิ่งเงียบเมินเฉยต่อเรื่องนี้ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทหารเมียนมาพยายามต่อต้านการแทรกแซงทุกรูปแบบจากอาเซียน แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามว่าแท้จริงชาติสมาชิกอาเซียนในแถบภาคพื้นทวีปอย่างไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามนั้น คิดอย่างไรกันแน่

หลายฝ่ายมุ่งให้ความสนใจต่อไทยและเวียดนามเป็นพิเศษในขณะนี้ นักวิเคราะห์ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้หนึ่งบอกว่า นักการทูตจากประเทศของเขากล่าวโทษรัฐบาลไทยและเวียดนามว่าเป็นต้นเหตุ ทำให้อาเซียนไม่สามารถเห็นพ้องและแสดงจุดยืนที่เป็นหนึ่งเดียวกันได้เสียที

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ได้ตัดสินใจส่งนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นผู้แทนไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าวสอดคล้องกับที่ ศ.ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า

มิน อ่อง หล่าย

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

นักการทูตระดับแนวหน้าของชาติหนึ่งในอาเซียนเชื่อว่าพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะยอมเห็นพ้องกับอาเซียนเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น

"ที่ผ่านมารัฐบาลของประยุทธ์ค่อนข้างจะเงียบเฉยในเรื่องนี้ มีปัจจัยสองประการที่อยู่เบื้องหลังความคิดดังกล่าวของประยุทธ์ หนึ่งคือตัวเขาเองก็เป็นนายพลที่ยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารมาก่อน สองคือแหล่งผลประโยชน์มหาศาลของไทยในเมียนมาตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ซึ่งแหล่งผลประโยชน์เหล่านี้ไม่ได้มีแค่การนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของไทยถึง 30% เท่านั้น"

รศ. ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการชาวไทยแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตของญี่ปุ่น ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยที่โดดเด่นคนหนึ่งบอกว่า "ไทยกับเมียนมาก็เหมือนฝาแฝดที่พลัดพรากจากกันตั้งแต่เกิด กองทัพของทั้งสองประเทศต่างก็ยึดถืออีกฝ่ายเป็นแบบอย่าง เลียนแบบวิธีการที่จะเข้าฝังตัวยึดครองอำนาจทางการเมือง ผมมองว่าพวกเขากำลังพยายามสร้างแนวร่วมพันธมิตรแห่งความไม่เป็นเสรีนิยมในภูมิภาคอยู่"

ส่วนจุดยืนของเวียดนามเรื่องเมียนมานั้น ทำความเข้าใจได้ยากกว่าของไทยมาก บรรดาผู้นำของเวียดนามมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำของเมียนมาอย่างยิ่ง บริษัทเวียตเทล (Viettel) กิจการโทรคมนาคมที่กองทัพเวียดนามเป็นเจ้าของ มีโครงการร่วมทุนขนาดใหญ่หลายโครงการที่ดำเนินงานร่วมกับกองทัพเมียนมา คิดเป็นมูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นายดั่ง ดิ่นห์ กวี๋ เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำสหประชาชาติ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วยระบุว่า เวียดนามคัดค้านการที่นานาชาติจะใช้มาตรการคว่ำบาตรกับเมียนมา ทั้งกล่าวย้ำว่า "เราจำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมาเข้ามามีส่วนร่วม เราจะไม่ทำให้ใครก็ตามต้องรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยว"

ทั้งเวียดนามและไทย รวมถึงลาว จีน อินเดีย บังกลาเทศ รัสเซีย และปากีสถาน ต่างก็ส่งเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลอง "วันกองทัพเมียนมา" เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา แม้จะมีผู้ประท้วงหลายสิบคนถูกยิงเสียชีวิตตามท้องถนนในเมืองใหญ่หลายแห่งก็ตาม

ทหารเมียนมา

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ทั้งเวียดนามและไทย รวมถึงลาว จีน อินเดีย บังกลาเทศ รัสเซีย และปากีสถาน ต่างก็ส่งเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลอง "วันกองทัพเมียนมา" เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา แม้จะมีผู้ประท้วงหลายสิบคนถูกยิงเสียชีวิตตามท้องถนนในเมืองใหญ่หลายแห่งก็ตาม

สำหรับประเทศที่มักจะถูกประชาคมนานาชาติวิจารณ์ตำหนิเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง วิกฤตของเมียนมาครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสหรือโชคถึงสองชั้นเลยทีเดียว อย่างแรกคือช่วยเปิดโอกาสให้อาเซียนได้ใช้เวลานี้เน้นย้ำจุดยืน "ไม่แทรกแซง" กิจการภายในของชาติสมาชิก อย่างที่สองคือบางประเทศเช่นกัมพูชา อาจมีโอกาสหลบเลี่ยงการตำหนิกดดันจากต่างชาติได้ชั่วคราว เนื่องจากกระแสความสนใจที่มุ่งไปยังเมียนมา ทำให้บรรดานักการทูตชาวยุโรปพากันมาขอให้ประเทศเหล่านี้ รวมถึงนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ช่วยสนับสนุนมาตรการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา

ดูเหมือนว่าชาติสมาชิกอาเซียนกำลังถูกแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายด้วยตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประเทศที่อยู่ในแผ่นดินใหญ่หรือภาคพื้นทวีปซึ่งใกล้กับจีน มีแนวโน้มจะคัดค้านการเข้าแทรกแซงเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมามากกว่า ในขณะที่ประเทศในภาคพื้นสมุทรซึ่งอยู่ห่างไกลจีน มักจะสนับสนุนให้ต่างชาติลงมือช่วยจัดการปัญหาโดยตรงมากกว่า

ในบรรดาชาติต่าง ๆ ที่อยู่ในกลุ่มหลัง อินโดนีเซียเป็นผู้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อเข้าช่วยแก้วิกฤตเมียนมาอย่างแข็งขันมากที่สุด โดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้พูดสนับสนุนให้ผู้นำจากประเทศอื่น ๆ เห็นพ้องกับกรอบการทำงานที่มีอาเซียนแสดงบทบาทนำ เพื่อเข้าไปยุติเหตุรุนแรง ส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และรื้อฟื้นการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายขึ้นมาใหม่

ดร. อีแวน ลักษมาณา นักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์ศึกษากลยุทธ์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CSIS) ที่กรุงจาการ์ตาบอกว่า ผลของการประชุมสุดยอดอาเซียนที่น่าจะออกมาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในครั้งนี้ "คือการตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้กระบวนการยุติความขัดแย้งดำเนินไปได้"

จุดเทียนไว้อาลัยหน้าสำนักงานเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ,

นักเคลื่อนไหวในอินโดนีเซียจุดเทียนตั้งไว้ข้างรูปผู้เสียชีวิตจากการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา ระหว่างการประท้วงหน้าสำนักงานเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา เมื่อ 12 มี.ค. 2021

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม สภาพการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ได้เช่นกัน "ก็คือการหยิบยื่นความชอบธรรมให้กับคณะรัฐประหาร ด้วยการเชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย มาร่วมประชุม แต่กลับไม่สามารถสร้างข้อตกลงผูกมัดที่บังคับใช้ได้จริง เพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมาและรื้อฟื้นการเจรจาขึ้นมา"

สำหรับอินโดนีเซียและประเทศอื่น ๆ ที่อยากเห็นกระบวนการเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ในเมียนมาเป็นจริงขึ้นมา ภาพลักษณ์ของการประชุมครั้งนี้ที่ออกสู่สายตาชาวโลกสำคัญอย่างยิ่ง นักการทูตระดับแนวหน้าของอีกประเทศหนึ่งในอาเซียนกล่าวว่า "เราหวังว่าอาเซียนจะสามารถทำให้ภาพลักษณ์ของการประชุมครั้งนี้ เป็นยิ่งกว่าการเชิญผู้นำรัฐบาลของอีกประเทศหนึ่งมาเฉย ๆ แต่ควรเป็นเหมือนกับการเจาะจงเรียกตัวให้มาเจรจากันมากกว่า"

ด้วยเหตุนี้ภาพหมู่ของบรรดาผู้นำอาเซียนที่จะได้จากการประชุมสุดยอดครั้งนี้ อาจมีความสำคัญไม่แพ้ข้อตกลงที่จะเขียนไว้บนกระดาษเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นักการทูตผู้นี้เชื่อว่าพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะยอมเห็นพ้องกับอาเซียนเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น "เขาจะยื่นข้อเสนอในแบบของเขา เผยถึงกรอบเวลาสำหรับกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ได้วางเอาไว้แล้ว และอาจอนุญาตให้คณะทำงานของต่างชาติเข้าประเทศเพื่อตรวจสอบในวงจำกัดได้ แต่เขาจะไม่ยอมทำอะไรที่มากไปกว่านั้น"

ในอดีตอาเซียนภาคภูมิใจในความสามารถด้านการชักจูงชาติสมาชิกให้คล้อยตาม แทนที่จะใช้กำลังบังคับ แต่ความสามารถนั้นจะอ่อนด้อยลงอย่างมาก หากว่าองค์กรระหว่างประเทศแห่งนี้ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การพยายามหว่านล้อมให้ชาติสมาชิก 9 ประเทศ มีจุดยืนที่เป็นเอกภาพนั้น เรียกได้ว่ายากลำบากและท้าทายพอกับการเกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลทหารเมียนมาลดระดับความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้ลง

บิลล์ เฮย์ตัน เป็นอดีตผู้สื่อข่าวของบีบีซีในเวียดนาม และเคยเป็นผู้ฝึกอบรมให้กับแผนก BBC Media Action ในเมียนมา ปัจจุบันเขาเป็นนักวิชาการประจำราชสถาบันกิจการระหว่างประเทศ (Royal Institute of International Affairs) หรือ Chatham House ในกรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักร