fredag 23 april 2021

จดหมายถึงประชาชนเรื่อง ถึงเวลาปฏิรูปศาล ประกาศจองกฐินศาลแต่เนิ่นๆ โดยไม่มีการร้องขอ ไม่มีการถวายฎีกา

 จดหมายถึงประชาชนเรื่อง ถึงเวลาปฏิรูปศาล ประกาศจองกฐินศาลแต่เนิ่นๆ โดยไม่มีการร้องขอ ไม่มีการถวายฎีกา



Atukkit Sawangsuk

7h ·


จดหมายถึงประชาชนเรื่อง ถึงเวลาปฏิรูปศาล

......................

(ฉบับร่าง นึกอะไรได้ก็เพิ่มกันเข้าไป)

คือไม่รู้จะเขียนจดหมายอ้อนวอนประธานศาลฎีกาไปทำไม

มาช่วยกันนำเสนอวิพากษ์วิจารณ์ปฏิรูปศาลกันดีกว่า

ให้เห็นว่าถ้าเปลี่ยนประเทศได้ ผู้พิพากษาที่ไร้ความยุติธรรมต้องถูกเอาคืน

....................

หนึง ต้องมีกฎหมายเอาผิดผู้มีอำนาจหน้าที่บิดเบือนความยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ไม่ใช่แค่ 157 เท่านั้น

โดยตั้งองค์กรตรวจสอบตำรวจ อัยการ ศาล ขึ้นต่างหาก รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน (อังกฤษมีองค์กรตรวจสอบศาลโดยตรง)

ไม่ใช่ให้ ก.ต. ก.อ. หรือจเรตำรวจ ตรวจสอบลงโทษกันเอง

....................

สอง มีองค์กรคัดเลือกคนเข้าเป็นผู้พิพากษา (นี่ก็แบบอังกฤษ) ไม่ใช่จัดสอบเองเป็นข้าราชการ เพราะเป็นถึง 1 ใน 3 อำนาจ (สอบผู้ช่วยอายุ 25 แล้วเอาไปอบรมให้มีความคิดตามกันต้อยๆ) การคัดเลือกต้องเน้นคนมีประสบการณ์ มีสัดส่วนที่เป็นทนายชาวบ้านทนายสิทธิ เข้าใจความเหลื่อมล้ำ คนด้อยโอกาสเมื่อตกเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรม

การจัดอบรมเนติบัณฑิิตก็ไม่ควรผูกขาดสถาบันเดียว ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน อัยการสูงสุดเป็นรอง ครอบงำความคิดตั้งแต่ต้น

.....................

สาม แก้รัฐธรรมนูญให้กลับไปเหมือน 40 แก้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตราคณากร "คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา" ห้ามแทรกแซง หากอธิบดีประธานศาลมีความเห็นแย้งก็ทำบันทึกประกบ แต่ห้ามสั่งแก้

........................

สี่ รื้อโครงสร้างยึดโยงประชาชน ประธานศาลฎีกาต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ผ่านการอภิปรายอย่างเปิดเผยในเนื้อหาสาระ ดูทัศนะย้อนหลังในคำพิพากษา การอธิบายให้เหตุผล ให้ความยุติธรรมกับประชาชน ไม่ใช่มักง่าย

รวมไปถึงการดำรงตนยึดมั่นประชาธิปไตย ไม่ใช่เคยไปม็อบนกหวีด 

ก.ต.องค์กรสูงสุดมี 17 คน รวมประธานศาลฎีกา 4 คนเป็นคนนอกมาจากการเลือกของรัฐสภา 12 คนมาจากผู้พิพากษาเลืือกกันเอง ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา ศาลละ 4 คน

(ปัจจุบันศาลชั้นต้นได้ 2 คน ศาลฎีกา 6 คน ผู้พิพากษาร่วมสองพันเคยเข้าชื่อขอแก้กฎหมายไม่สำเร็จ ส่วน ก.ต.อีก 2 คนรัฐธรรมนูญ 40 เคยให้มาจากรัฐสภา ปัจจุบันเป็นคนนอกที่ผู้พิพากษาเลือกเอง)

............................

ห้า แช่แข็งเงินเดือนศาล-อัยการ ลดนั่นแหละแต่การไปลดเงินเดือนมันยาก แช่แข็งสิบปีขึ้นไปให้ระบบเงินเดือนราชการตามทัน

แต่ขั้นต้น ตัดเบี้ยประชุมก่อน เงินเดือนก็รับ ทำไมประชุมยังต้องได้เงิน

ดั้งเดิมมาผู้พิพากษาเงินเดือนมากกว่าข้าราชการเพราะเขาห้ามรับจ็อบรับงานนอกที่อาจกระทบความเป็นกลาง ทำได้แค่แต่งตำรากฎหมายกับสอนหนังสือ (แต่เดี๋ยวนี้หลักสูตรพิเศษก็ใช่ย่อย)

พรบ.ศาลปี 43 บัญชีแนบท้ายเงินเดือน (รัฐบาลชวน) ทำเงินเดือนผู้พิพากษาสูงปรี๊ด แล้วสร้างความฉิบหายกับระบบ สูงไม่พอ ยังทำให้เกิดความลักลั่น อัยการ กฤษฎีกา นิติกร หน่วยงานทางกฎหมายของรัฐของเงินเพิ่มล้นหลาม อ้างว่าจะทำให้สมองไหลหนีไปสอบผู้พิพากษากันหมด นิติกร อบต.หนองอีแหนบยังได้เงินเพิ่ม 3 พัน 5 พัน กลายเป็นข้าราชการฝ่ายกฎหมายได้เงินเดือนมากกว่าข้าราชการทั่วไปที่ทำงานง่กๆ

เงินเดือนศาลมาจากการอ้างว่าประธานศาลฎีกาต้องได้เท่านายกฯ ประธานสภา รองประธานเท่ารัฐมนตรี แต่ศาลทำบัญชีเงินเดือนตัวเองติดกันพืดไปหมด มีเงินเดือน 5 ชั้น ป.ฎีกาชั้น 5 คนเดียว ที่เหลือตั้งแต่รองประธาน ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ฯลฯ ไม่รู้กี่ร้อยคน เป็นชั้น 4 เงินเดือนเท่ารัฐมนตรีหมด (1.3 แสน) รถประจำตำแหน่งก็ได้เท่าปลัดกระทรวง (แต่เบิกเป็นเงินเหมาจ่ายเดือนละ 41,000)

..................................

หก อื่นๆ ละเมิดอำนาจศาลใช้ในห้องพิจารณาเท่านั้น

ดูหมิ่นศาลต้องมีข้อยกเว้นการวิจารณ์เพื่อประโยชน์ยุติธรรม

ผู้พิพากษาต้องเคารพสิทธิของทนายของผู้ถูกกล่าวหา

องค์กรตรวจสอบศาลมีอำนาจตรวจวีดิโอในห้องพิจารณาคดีเมื่อมีการร้องเรียนว่าผู้พิพากษากร่าง ทำตัวไม่เหมาะสม แล้วเผยแพร่ให้ประชาชนตัดสิน

...................

ฉบับร่าง ยังไม่สมบูรณ์ คิดอะไรได้ก็เติมเข้ามา

อย่าปล่อยให้พวกอยุติธรรมลอยนวล

ประกาศจองกฐิน ไม่ใช่ร้องขอ


https://www.facebook.com/photo/?fbid=4004415606306905&set=a.117209745027530

.....

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar