ทฤษฎีการแยกอำนาจของมองเตสกิเออร์ ( Montesquieu )
ทฤษฎีการแยกอำนาจของมองเตสกิเออร์
โดย ปรีดี พนมยงค์
จากหนังสือสังคมปรัชญาเบื้องต้น
รากฐานของสถาบันการเมือง
1
กายาพยพ หรือนัยหนึ่งร่างกายของสังคม คือสถาบันและระบบต่างๆของสังคม
ก็ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคม
สถาบันใหญ่น้อยและระบบปกครองของสังคมที่กล่าวกันว่ามีหน้าที่
ระงับทุกข์บำรุงสุขของราษฎรนั้น
ถ้าจะสาวไปถึงรากอันลึกซึ้งก็คือสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยนั่นเอง
เพราะความต้องการในการดำรงชีพ ไม่ว่าทางกายทางใจ ก็ต้องอาศัยชีวปัจจัย
แม้จะจำกัดให้น้อยลงได้เพียงใดก็ตาม ดั่งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้ว
2
เราจำต้องทำความเข้าใจเพื่อป้องกันการเอียงจัดเนื่องจากสูตรสำเร็จเพียงแง่เดียวไว้ด้วย
ว่า การที่สูตรสำเร็จอันหนึ่งกล่าวไว้ว่าเศรษฐกิจเป็นรากฐานการเมือง
และระบบการเมืองเกิดมาจากสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมนั้น
มีความหมายในการแสดงถึง ที่มา ของสิ่งเหล่านั้น
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมืองก็ดี
หรือระหว่างสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยกับทางการเมืองก็ดี
ย่อมมีผลสะท้อนถึงกัน คือเมื่อการเมืองต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจ
หรือตามสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยในขณะใดขณะหนึ่งแล้ว
สถาบันและระบบการเมืองใหม่ก็ก่อให้เกิดสภาพที่ทำให้สังคมพัฒนาต่อไปใหม่
เช่นสถาบันและระบบการเมืองซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ
พ.ศ. 2475
ได้ก่อให้เกิดสภาพที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์การผลิตหลายอย่างดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น
การเปลี่ยนแปลงสถาบันและระบบการเมืองในสังคมอื่นก็ทำนองเดียวกัน
ที่ก่อให้เกิดสภาพแห่งความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยอันเป็นรากฐาน
ไม่มีการอภิวัฒน์ใดที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตได้ในทันใดทุกอย่าง
แม้การอภิวัฒน์นั้นจะได้รับยกย่องว่าก้าวหน้าที่สุด
แต่ก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนแปลงโดยอาศัย สภาพใหม่ นั้น
3 สภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมเป็นอย่างไรสถาบันและระบบของสังคมก็เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ
3.1
ในสังคมระบบปฐมสหการ
ซึ่งสมาชิกแห่งสังคมมีความเป็นอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง
ระบบสังคมก็เป็นไปในลักษณะของสามัคคีธรรมภายในครอบครัว
คือไม่จำเป็นต้องมี อำนาจรัฐ
ประมุขแห่งสังคมเป็นบุคคลที่สมาชิกแห่งสังคมยกย่องนับถือประเป็นพ่อแม่ที่คอยดูแลความผาสุกของสมาชิกทั้งปวงโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับกดขี่
4
ในสังคมแห่งระบบทาส
ซึ่งบุคคลส่วนน้อยในสังคมที่เป็นเจ้าทาสมีสิทธิใช้ให้คนส่วนมากในสังคมทำงานเหมือนสัตว์พาหนะนั้น
ระบบสังคมก็ต้องเป็นระบบที่ เจ้าทาส มี อำนาจรัฐ
อย่างสมบูรณ์ที่สามารถบังคับกดขี่ทาสให้ทำงานได้
5
ในสังคมแห่งระบบศักดินา ซึ่งแม้ เจ้าศักดินา
จะได้ลดความกดขี่สมาชิกแห่งสังคมให้น้อยลงกว่าระบบทาสก็ดี
แต่เจ้าศักดินาก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมี อำนาจรัฐ
เพื่อบังคับคนส่วนมากในสังคมให้ทำงาน
สถาบันและระบบสังคมศักดินาจึงเป็นไปตาม อำนาจรัฐ นั้น
6 ในสังคมแห่งระบบธนานุภาพ
( ระบบทุนนิยม ผู้เรียบเรียง ) ซึ่งแม้ เจ้าสมบัติ
ใช้ปัจจัยการผลิตของสังคมใช้ให้คนส่วนมากในสังคมทำงานโดยมี ค่าจ้าง
ก็ตาม แต่เจ้าสมบัติยังมีความจำเป็นที่จะต้องมี อำนาจรัฐ
ในการบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของตน สถาบันและระบบสังคมธนานุภาพ (
ทุนนิยม ) จึงเป็นไปตาม อำนาจรัฐ นั้น
7
ในบางสังคมที่เข้าสู่ ระบบสังคมกิจ (สังคมนิยม )นั้น
แม้ในทางนิตินัยจะไม่มีวรรณะ ( ชนชั้น ผู้เรียบเรียง )
เนื่องจากไม่มีฐานะและวิธีดำรงชีพแตกต่างกันระหว่างสมาชิกของสังคมทางหลักการก็ดี
แต่นักปราชญ์วิทยาศาสตร์ทางสังคมก็กล่าวไว้ว่า
ซากแห่งความเคยชินและทรรศนะเก่ายังคงมีค้างอยู่อีกกาลหนึ่ง
ฉนั้นราษฎรส่วนมากในสังคมก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ อำนาจรัฐ
ในระหว่างกาละนั้น สถาบันระบบสังคมกิจ ( สังคมนิยม ) จึงเป็นไปตาม
อำนาจรัฐ นั้น
8 กล่าวมาแล้วข้างต้น
ผู้อ่านย่อมเห็นได้ว่า อำนาจรัฐ เป็นเครื่งมือของวรรณะ (ชนชั้น )
ที่ปกครองในสังคมที่สมาชิกแบ่งออกเป็นวรรณะ (ชนชั้น ) ต่างๆ
สถาบันและระบบสังคมซึ่งประกอบด้วยอำนาจรัฐหรือไม่ก็ดี
ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแห่งความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยเป็นรากฐาน
จริงอยู่ในทางนิตินัยอาจกล่าวกันว่าอำนาจรัฐเป็นของสมาชิกทั้งหลายแห่งสังคม
แต่ในทางพฤตินัยสมาชิกแห่งสังคมผู้ถืออำนาจรัฐก็คือวรรณะ (ชนชั้น )
ที่ปกครองสังคมซึ่งใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์แก่วรรณะ (ชนชั้น )
ของตนยิ่งกว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม
ดั่งนั้นการแบ่งอำนาจรัฐออกเป็นสามส่วนตามทฤษฎีของ มองเตสกิเออร์
ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแบบฉบับของระบบรัฐธรรมนูญมากหลาย
คือการแบ่งออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ, บริหาร, และตุลาการ,
นั้นเป็นเรื่องจำแนกกลไกแห่งอำนาจรัฐออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ
คล้ายกับการแบ่งกระทรวงทบวงกรมนั้นเอง เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ตัวอักษร
และสถาบัน ที่เป็นนามธรรม แต่อยู่ที่ บุคคลผู้มีอำนาจใช้กลไกนั้น
ว่าจะเป็นวรรณะ (ชนชั้น ) ใด หรือเป็นสมุนหรือซากของวรรณะ (ชนชั้น ) ใด
ความเป็นธรรมสำหรับสังคมอาจจะมีได้ในกรณีที่สมาชิกแห่งสังคมที่พิพาทกันเป็นคนแห่งวรรณะ
(ชนชั้น ) อื่นด้วยกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องพิพาทระหว่างคนในวรรณะ(ชนชั้น
)หนึ่งกับคนในวรรณะ (ชนชั้น )
เดียวกันกับผู้ถือกลไกหรือเป็นกลไกแห่งอำนาจรัฐแล้วความเป็นธรรมก็เกิดขึ้นยาก
เว้นแต่ผู้ถือกลไกหรือเป็นกลไกนั้นจะทรงไว้ซึ่งพรหมวิหาร
(ความเมตตาของท่านผู้เป็นใหญ่, ผู้เรียบเรียง ) อย่างแท้จริง
แต่มนุษย์ปุถุชนยังมีกิเลศตามวรรณะ (ชนชั้น )
หรือตามที่ปุถุชนนั้นเป็นสมุนของวรรณะ (ชนชั้น ).
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar