เมื่อรัชกาลที่ ๑
ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงเทพแล้ว
ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเองไม่มีข้อบกพร่อง
ไม่เคยกระทำสิ่งใดผิดพลาด
เป็นเอกบุรุษที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยบุญญาบารมีและบริสุทธิ์กว่าผู้อื่นทั้งแผ่นดิน
เพื่อให้สมกับที่ตนเองได้เป็นพระโพธิสัตว์และเทวดาแล้ว โดยเสแสร้งทำเป็นลืมไปว่า
ในโลกแห่งความเป็นจริงพระองค์มิได้วิเศษกว่าบุคคลอื่น
ตรงที่เป็นมนุษย์เดินดินกินข้าวแกงเหมือนกัน
และที่สำคัญทำเป็นจำไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้พระองค์ก็เป็นสามัญชน
ที่มิได้มีเลือดสีน้ำเงิน แม้พ่อจะได้ชื่อว่าเป็นขุนนาง ก็จัดอยู่ในชั้นปลายแถว
แม่ก็เป็นเพียงหญิงเชื้อสายจีนพ่อค้า(๑)
มิได้เลิศเลอไปกว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ตนเหยียดหยามเป็นไพร่ราบพลเลวเลย
จุดบอดที่รัชกาลที่ ๑
เห็นว่าสร้างความอัปยศให้แก่ตนเองมากคือ
ความปราชัยในการรบกับอะแซหวุ่นกี้ที่พิษณุโลก ในรัชกาลพระเจ้าตากสิน
การรบคราวนั้นศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช สรุปจากพงศาวดารที่แต่งโดย Sir Arthur Phayre
และจากจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี น้องสาวรัชกาลที่ ๑ เอง ได้ความว่า
แม้อะแซหวุ่นกี้รบชนะเมืองพิษณุโลกที่มีรัชกาลที่ ๑ เป็นแม่ทัพฝ่ายไทย
แต่ก็ถูกกองทัพของพระเจ้าตากสินหนุนเนื่องขึ้นมาโจมตีจนแตกพ่ายยับเยิน
จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี (เพิ่งถูกค้นพบสมัยร.๕)
บันทึกว่าฝ่ายไทยสามารถ “จับได้พม่าแม่ทัพใหญ่ ได้พม่าหลายหมื่น
พม่าแตกเลิกทัพหนีไป” หลักฐานฝ่ายพม่าก็ปรากฏว่า
อะแซหวุ่นกี้ถึงกับถูกกษัตริย์พม่าถอดจากยศ “หวุ่นกี้”
และเนรเทศไปอยู่ที่เมืองจักกายด้วยความอัปยศอดสู(๒)
ทั้งที่อะแซหวุ่นกี้เคยได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษที่รบชนะกองทัพจีนมาแล้วก็ตาม
หลังจากที่ปราบดาภิเษกสำเร็จและปลงพระชนม์พระเจ้าตากสินรวมทั้งขุนนางฝ่ายตรงข้ามไปกว่า
๕๐ ชีวิตแล้ว คราใดที่ระลึกถึงเหตุการณ์ที่เมืองพิษณุโลก
หัวใจก็เหมือนถูกชโลมด้วยยาพิษ ใจหนึ่งนั้นแสนจะอัปยศอดสูที่ต้องล่าทัพหนีพม่า
อีกด้านก็ริษยาพระเจ้าตากสินที่สามารถปราบกองทัพพม่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงธนบุรี
และกำหราบอะแซหวุ่นกี้ที่เอาชนะทั้งกองทัพจีนและพระองค์มาแล้ว
พระองค์จึงใช้เล่ห์เพทุบายบังคับให้อาลักษณ์แก้ไขประวัติศาสตร์ทุกฉบับ
บิดเบือนว่าอะแซหวุ่นกี้มิได้รบกับพระเจ้าตากสิน แต่ต้องถอยทัพไป
เพราะกษัตริย์พม่ามีหมายเรียกตัวกลับบ้าน(๓)
พงศาวดารฉบับราชหัตถเลขาถึงกับบิดเบือนว่า พออะแซหวุ่นกี้กลับพม่า
ก็ได้รับบำเหน็จรางวัลจากกษัตริย์พม่าในฐานะที่ปราบหัวเมืองเหนือของไทยได้สำเร็จ(๔)
เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าอะแซหวุ่นกี้นั้นมิใช่ย่อยๆ
หาไม่แล้วที่ไหนเลยจะเอาชนะรัชกาลที่ ๑ ได้ จึงมิใช่เรื่องอับอายเลยที่รัชกาลที่ ๑
รบแพ้อะแซหวุ่นกี้
พงศาวดารฉบับพระนพรัตน์ถึงกับบันทึกไว้อย่างน่าขบขันว่า รัชกาลที่ ๑
ได้สำแดงความเป็นเสนาธิการชั้นเซียนเหยียบเมฆ
ด้วยการแต่งอุบายให้เอาพิณพาทย์ขึ้นตีบนกำแพงลวงพม่าเหมือนขงเบ้ง
ตีขิมลวงสุมาอี้ในเรื่องสามก๊ก แล้วรัชกาลที่ ๑
ก็ชิงโอกาสตีแหกทัพพม่าที่ล้อมเมืองพิษณุโลกหนีออกมาได้
ก็ขนาดเรื่องใหญ่เช่นนี้รัชกาลที่ ๑ ยังกล้าให้อาลักษณ์บิดเบือนกันถึงเพียงนี้
ทำนองเดียวกับเหตุการณ์ที่อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีนั้น
ก็กล่าวได้ว่าเป็นความเท็จอีกเช่นกัน
เพราะจะมีแม่ทัพชาติไหนกันที่จะขอดูตัวแม่ทัพอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อสรรเสริญว่า
เก่งกาจสามารถเป็นเยี่ยม
เนื่องจากการทำเช่นนี้ย่อมทำลายขวัญสู้รบของทหารฝ่ายตนให้พังพินท์ไป อาจารย์นิธิ
เอียวศรีวงศ์วิจารณ์ไว้ชัดเจนว่า
“ถ้าจะมองจากกฎหมายของไทยและพม่าแล้ว
ถ้าพระยาจักรีและอะแซหวุ่นกี้เจรจากันดังที่ศักดินาจักรีอวดอ้างแล้ว ทั้ง ๒
ฝ่ายน่าจะมีความผิดถึงขั้นขบถเลยทีเดียว(๕) ทั้งนี้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล
กฎหมายตราสามดวงที่ว่า อนึ่ง
ผู้ใดไปคบหาxxxเมืองxxxxราชทูตเจรจาโทษถึงตาย”
สำหรับเรื่องที่มีผู้รู้เห็นมากมาย รัชกาลที่ ๑
ยังกล้าใช้ให้อาลักษณ์แต่งพงศาวดารกลับดำให้เป็นขาว
ดังนั้นสิ่งที่เป็นเรื่องส่วนตัวไม่มีผู้อื่นรู้เห็นด้วย เช่น เรื่องของซินแสหัวร่อ
ทำนายว่า พระยาจักรีกับพระยาตากสินจะได้เป็นกษัตริย์นั้นจึงวินิจฉัยได้ไม่ยากว่า
เป็นสิ่งที่รัชกาลที่ ๑ เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาเอง
ซึ่งพวกศักดินาจักรีจะอ้างไม่ได้ว่าเรื่องนี้เกิดจากคำเล่าลือของคนรุ่นหลัง
เพราะรัชกาลที่ ๑
เองนั่นแหละที่เป็นผู้ออกปากเล่าความให้เจ้าเวียงจันทร์กับพระยานครศรีธรรมราชฟังในวัดพระแก้ว
จนกระทั่งมีผู้ได้ยินได้ฟังด้วยกันหลายคน(๖) การที่รัชกาลที่ ๑
กล้าโป้ปดมดเท็จถึงเพียงนี้
ก็เพราะพระองค์กำลังอยู่บนบัลลังก์เลือดของกษัตริย์องค์ก่อน
จึงต้องล่อลวงให้ผู้อื่นเข้าใจว่า พระองค์มีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศ
มีปัญญาอภินิหารกว่าผู้อื่นในแผ่นดินรวมทั้งพระเจ้าตากสินด้วย
นี่เป็นการพยายามสร้างเหตุผลเพื่อรับรองว่า
การปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์องค์ใหม่เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
ภายในจิตใจลึกๆของสองพี่น้อง คือรัชกาลที่ ๑
กับกรมราชวังบวรมหาสุรสีหนาถ
มีทั้งความพยาบาทชิงชังและความไม่พอใจในตัวพระเจ้าตากสินไม่น้อย
ทั้งที่พระเจ้าตากสินได้ทำนุบำรุงให้พี่น้องคู่นี้มีอำนาจวาสนากว่าขุนนางทั้งหลายในกรุงธนบุรี
ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากว่า กรมพระราชวังบวรฯนั้น เคยถูกพระเจ้าตากสินโบยถึง ๖๐
ทีเพราะมีพฤติกรรมซุ่มซ่าม คลานเข้าถึงตัวพระเจ้าตากสินขณะกรรมฐานอยู่ที่ตำหนักแพ
กับสมเด็จพระวันรัตน์(ทองอยู่) โดยมิได้ตรัสเรียก(๗)
กรมพระราชวังบวรฯจึงมีจิตอาฆาตแค้นเป็นหนักหนา ส่วนรัชกาลที่ ๑
ก็เคยถูกพระเจ้าตากสินโบยถึง ๒ ครั้ง คราวแรกในปี ๒๓๑๓ เพราะรัชกาลที่ ๑
รบกับเจ้าพระฝางด้วยความย่อหย่อนไม่สมกับที่เป็นขุนนางใหญ่ จึงถูกโบย ๓๐ ที(๘)
และในปี ๒๓๑๘ รัชกาลที่ ๑ ได้รับคำสั่งให้ทำเมรุเผาชนนีของพระเจ้าตากสิน
แต่เมรุนั้นถูกฝนชะเอากระดาษปิดทองที่ปิดเมรุร่วงหลุดลงหมดสิ้น พระเจ้าตากจึงว่า
“เจ้าไม่เอาใจใส่ในราชการ ทำมักง่ายให้เมรุเป็นเช่นนี้ดีแล้วหรือ” ทำให้รัชกาลที่ ๑
ถูกโบยอีก ๕๐ ที
ความสัมพันธ์ระหว่างรัชกาลที่ ๑ กับพระเจ้าตากสิน
มิได้สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ รัชกาลที่ ๑ ได้ถวายบุตรสาวเป็นสนมของพระเจ้าตากสิน
ซึ่งศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ตั้งข้อสังเกตว่า
สนมพระเจ้าตากสินผู้หนึ่งที่ถูกประหารชีวิตเพราะมีชู้
ก็น่าจะเป็นบุตรสาวของรัชกาลที่ ๑ นี่เอง(๙) ด้วยเหตุนี้ รัชกาลที่ ๑
จึงเคียดแค้นพระเจ้าตากสินมาก เมื่อมีโอกาสคราใดก็จะประณามอย่างตรงไปตรงมา
คราวหนึ่งถึงกับประณามไว้ในสารตราตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๗
เพื่อประจานพระเจ้าตากสินว่าเป็นผู้ที่ “กอรปไปด้วย โมหะ โลภะ”(๑๐)
ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า
พระเจ้าตากสินเป็นผู้นำในการรวบรวมผู้คนที่แตกระส่ำระสาย
ในภาวะที่บ้านเมืองไม่มีขื่อแป อดอยาก และพม่าเข้ากวาดต้อนข่มเหงผู้คนไปทั่ว
รวบรวมกำลังทีละน้อยรบกับพม่าและคนไทยขายชาติบางกลุ่ม รบกันหลายสิบครั้ง
ผลัดแพ้ผลัดชนะ จนสุดท้ายมีกำลังปราบพวกพม่าและชิงกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้
จากนั้นก็ปราบก๊กต่างๆจนสามารถรวบรวมเป็นประเทศได้อีกครั้งหนึ่ง นี่ย่อมหมายความว่า
พระเจ้าตากสินต้องมีบุคลิกของความเป็นผู้นำ มีลักษณะรักชาติ
กอรปด้วยจิตใจที่กล้าหาญดีงาม
จึงจะสามารถเป็นศูนย์รวมของชาวไทยในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด
จนสามารถนำชาวไทยไปกอบกู้บ้านเมืองได้สำเร็จในช่วงเวลาเพียงปีเดียว
นอกจากนั้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น
เอกสารของบาทหลวงสมัยนั้นกล่าวว่า พระเจ้าตากมีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ
แม้แต่ปราสาทราชวังหลังเดียวก็ไม่ปรากฏขึ้นในกรุงธนบุรี
อนุสรณ์ที่พระเจ้าตากสินสร้างไว้เป็นเพียงท้องพระโรงที่พระราชวังเดิม
ซึ่งดูๆไปก็ไม่วิจิตรพิสดารไปกว่าโบสถ์ขนาดย่อมหลังหนึ่ง
จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะวินิจฉัยเอาเองว่า ใครกันแน่ที่กอรปด้วยโลภะ
โมหะ
หลังจากรัชกาลที่ ๑
ได้ผลิตผลงานชิ้นเอกด้วยการปลอมแปลงประวัติศาสตร์ของชาติแล้ว
พระองค์ก็หันมาฟื้นฟูพุทธศาสนาครั้งใหญ่ โดยการแสดงตนเป็นพระโพธิสัตว์ผู้รู้แจ้ง
ด้วยการกล่าวร้ายคณะสงฆ์ไทยอย่างสาดเสียเทเสีย เช่น
หาว่า”ทั้งสมณะและสมเณรมิได้รักษาพระจตุบาริยสุทธิศีล” (๑๑) บ้าง
“มิได้กระทำตามพระวินัยปรนิบัติเห็นแต่จะเลี้ยงชีวิตผิดธรรม” (๑๒) บ้าง
นอกจากนี้ยังโมเมว่าพระภิกษุ “มิได้ระวังตักเตือนสั่งสอนกำกับว่ากล่าวกัน” (๑๓)
บ้าง ทั้งๆที่สมัยพระเจ้าตากสินเพิ่งมีการฟื้นฟูพุทธศาสนาหลังภาวะสงครามครั้งใหญ่
และพระองค์ทรงส่งเสริมการปฏิบัติธรรมอย่างกว้างขวาง
ด้วยพระองค์เองก็ทรงมั่นในวิปัสสนาธุระ
สภาพของสงฆ์จึงอยู่ในกรอบพระธรรมวินัยได้เคร่งครัด
ดังนั้นการกล่าวร้ายจึงไม่อาจมองเป็นอื่นไปได้
นอกจากการสร้างเรื่องเพื่อหาช่องทางเข้าไปควบคุมศาสนจักร
เพื่อเสริมอำนาจการครองราชย์ของพระองค์ให้เข้มแข็งขึ้น
จึงมีการควบคุมจิตสำนึกของสังคมด้วยการบีบบังคับพระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่
ไม่ให้มีโอกาสคัดค้านการนำเอาพระพุทธศาสนา
ไปกระทำปู้ยี่ปู้ยำเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของกษัตริย์จักรี
พระมหากรุณาธิคุณของพระมหาราชองค์นี้
ในด้านการฟื้นฟูพุทธศาสนาคือ ให้ตำรวจวังไปเอาสมเด็จพระวันรัต(ทองอยู่)
วัดบางหว้าใหญ่
ซึ่งเป็นพระอาจารย์วิปัสสนาธุระของพระเจ้าตากสินและเป็นพระอาจารย์ของลูกฟ้าฉิม
(รัชกาลที่ ๒) ให้สึกออกแล้วลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๑๐๐ ที
และมีดำรัสให้ประหารชีวิตเสีย(๑๔) เพราะแค้นพระทัยมานานแต่ครั้งสมเด็จพระวันรัต
เคยทูลให้พระเจ้าตากสินลงโทษ
พระองค์เคราะห์ดีที่ลูกฟ้าฉิมทรงทูลขอไว้ชีวิตอาจารย์ของตนไว้
พระแก่ๆที่เคร่งในธรรมจึงได้รอดชีวิตมาอย่างหวุดหวิด
การที่พระองค์ทรงบังอาจลงโทษด้วยการทำร้ายพระสงฆ์ชราผู้มั่นในโลกุตรธรรมอย่างรุนแรง
นับเป็นพฤติกรรมที่ชั่วร้ายมาก อันชาวบ้านสามัญชนถือเป็นบาปมหันต์
ไม่น้อยกว่าการฆ่าบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้า แต่ด้วยโมหะจริตที่พยาบาทอาฆาตมานาน
และด้วยอำนาจอันยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน ทุกสิ่งที่พระองค์กระทำ
จึงเป็นความถูกต้องชอบธรรมทุกประการ
แต่เดิมนั้นกษัตริย์จะควบคุมสงฆ์ไว้เพียงระดับหนึ่ง
แต่ในรัชกาลนี้ การควบคุมกลับเข้มงวดกว่าเดิม
กษัตริย์จะให้ขุนนางในกรมสังฆการีมีอำนาจปกครองสงฆ์และเป็นผู้คัดเถระแต่ละรูปว่าควรอยู่ในสมณะศักดิ์ขั้นใด
นอกจากนี้ยังให้กรมสังฆการีดูแลความประพฤติของสงฆ์และคอยตัดสินปัญหาเวลาที่พระภิกษุต้องอธิกรณ์
โดยจะเป็นทั้งอัยการและตุลาการ
สิ่งนี้ทำให้กษัตริย์และกลุ่มคนดังกล่าวมีอำนาจเหนือพระ(๑๕)
ในที่สุดคณะสงฆ์ไทยก็ต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะที่น่าอเนจอนาถใจเพราะถูกครอบงำโดยพวกศักดินาจักรี
อันเป็นฆราวาสซึ่งมีเพศที่ต่ำทรามกว่า บางครั้งถึงกับถูกควบคุมโดยพวกลักเพศ
เช่นคราวหนึ่งคณะสงฆ์ทั้งอาณาจักร ต้องตกอยู่ใต้การปกครองของกรมหลวงรักษ์รณเรศ
โอรสของรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นพวกลักเพศ ชอบมั่วสุมกับเด็กหนุ่มๆ
แต่ได้รับการมอบหมายจากกษัตริย์ให้บังคับบัญชากรมสังฆการี
แม้ว่ารัชกาลที่ ๑
รวมทั้งศักดินาอื่นจะถือตนว่าเป็นพระโพธิสัตว์และหน่อพุทธางกูร
จนก้าวก่ายเข้าไปในศาสนจักรอย่างน่าเกลียด ก็มิอาจปกปิดธาตุแท้ที่โลภโมโทสันได้
พวกเขาต่างก็ปัดแข้งปัดขากันเองอุตลุต
เพื่อแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์ที่ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพวกศักดินาในรัชกาลที่
๑ เกิดขึ้นระหว่างกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทหรือวังหน้ากับรัชกาลที่ ๑
หรือวังหลวง สองพี่น้องซึ่งต่างก็ไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กันและกัน
คราวหนึ่งวังหน้าจะสร้างปราสาทมียอดขึ้นประดับเกียรติยศ
ทั้งที่รู้ว่าปราสาทยอดเป็นของหวงห้ามไว้สำหรับกษัตริย์เท่านั้น ในปี ๒๓๒๖
จึงเกิดมีผู้ร้ายแปลกปลอมเข้าไปในวังหน้าจะฆ่ากรมพระราชวังบวรฯขณะทรงบาตร
บังเอิญผู้ร้ายเหล่านี้ถูกจับได้เสียก่อน
ซึ่งก็ปรากฏว่าเป็นคนในวังหลวงเป็นส่วนใหญ่(๑๖) วังหน้าจึงรู้ว่า
“ที่พระองค์มาทรงสร้างปราสาทขึ้นในวังหน้า เห็นจะเกินวาสนาไป จึงมีเหตุ
จึงโปรดให้งดการสร้างปราสาทนั้นเสีย” (๑๗)
เหตุการณ์ได้รุนแรงยิ่งขึ้นหลังจากที่วังหน้าขอให้วังหลวง
เพิ่มผลประโยชน์จากภาษีอากรให้วังหน้ามากกว่าเดิม แต่วังหลวงไม่ยินยอม
วังหน้าจึงโมโหหัวฟัดหัวเหวี่ยง จนไม่เข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๑ พอถึง พ.ศ.๒๓๓๙
พวกวังหน้าได้เห็นขุนนางวังหลวงขนปืนใหญ่ขึ้นป้อม
จึงตั้งปืนใหญ่หันไปทางวังหลวงบ้าง จนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง
ทำให้พี่สาวรัชกาลที่ ๑ ต้องเล้าโลมวังหน้าให้เข้าเฝ้า
เหตุการณ์จึงสงบลงได้(๑๘)
โดยพื้นฐานแล้วพวกวังหน้ามักดูถูกดูหมิ่นพวกวังหลวงว่าไม่เอาไหน
สู้พวกตนไม่ได้ เมื่อคราวทำสงครามที่เชียงใหม่ในปี ๒๓๓๙-๒๓๔๕
พวกขุนนางวังหลวงจึงถูกวังหน้าซึ่งเป็นแม่ทัพบริภาษติเตียนว่า
รบไม่ได้เรื่อง(๑๙)
พอถึงปี ๒๓๔๔ วังหน้าป่วยหนักด้วยโรคนิ่ว
อาการกำเริบ จึงให้คนหามเสลี่ยงเดินรอบวังหน้า แล้วสาปแช่งว่า “ของใหญ่ของโตก็ดี
ของกูสร้าง นานไป ใครไม่ใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง
ขอผีสางเทวดาจงดลบันดาล อย่าให้มีความสุข” (๒๐)
เพราะทั้งนี้รู้อยู่เต็มอกว่าของเหล่านั้น “ต่อไปจะเป็นของท่านอื่น” (๒๑)
ครั้นมาถึงวัดมหาธาตุ ทรงเรียกเทียนมาจุดxxxxxมาติดที่พระแสง
แล้วเอาพระแสงจะแทงพระองค์ พระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต
พระโอรสใหญ่ทั้งสองเข้าปลุกปล้ำแย่งชิงพระแสงไปได้
วังหน้าทรงกันแสงกับพื้นและตรัสว่า “สมบัติครั้งนี้
ข้าได้ทำสงครามกู้แผ่นดินขึ้นมาได้ก็เพราะข้านี่แหละ
ไม่ควรให้สมบัติตกไปได้แก่ลูกหลานวังหลวง
ใครมีสติปัญญาก็ให้เร่งคิดเอาเถิด”
พอวังหน้าสวรรคต
พวกวังหน้าจึงตั้งกองเกลี้ยกล่อมหาคนที่มีวิชาความรู้ฝึกปรืออาวุธกัน
ทำนองจะเป็นกบฏ โดยมีพระองค์เจ้าลำดวนและอินทปัตเป็นหัวหน้า
แต่เป็นคราวเคราะห์ดีของรัชกาลที่ ๑ ที่ความแตกก่อน
จึงสามารถจับคนเหล่านี้ไปฆ่าจนหมดสิ้น(๒๒) ราชบังลังก์ของรัชกาลที่ ๑
จึงยังคงตั้งอยู่ได้บนคราบเลือดและซากศพของหลานตนเอง
หลังจากนั้นไม่นาน
จะมีการประกอบราชพิธีกรรมทางศาสนา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับพระอนุชาร่วมพระอุทร
แต่รัชกาลที่ ๑ ทรงไม่หายกริ้วเรื่องอดีตถึงกับตรัสว่า “บุญมา
เขามันรักลูกยิ่งกว่าแผ่นดิน ให้สติปัญญา ให้ลูกกำเริบถึงคิดร้ายต่อแผ่นดิน
ผู้ใหญ่ไม่ดี ไม่อยากเผาผีเสียแล้ว” (๒๓)
พวกเจ้าศักดินาไม่ว่าจะอยู่ระดับสูงหรือต่ำไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือปัจจุบันต่างก็มีความคิดตื้นๆอยู่เสมอว่า”ใครก็ตามที่คิดร้ายต่อข้า
เขาผู้นั้นคิดร้ายต่อแผ่นดิน” เพราะพวกเขาคิดว่า
แก่นแท้ของความถูกต้องก็คือตัวเขานั่นเอง
จะอย่างไรก็ตาม
เหตุการณ์สุดท้ายที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งน่าจะหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง
เพื่อตัดสินว่ากษัตริย์เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทั้งหลายนั้นมีศีลธรรมจรรยา
สมกับที่ตั้งตนเองเป็นเทวดาและพระโพธิสัตว์ หรือไม่ ก็คือเรื่องคาวๆฉาวโฉ่
ที่สร้างรอยด่างให้กับราชสำนัก รัชกาลที่ ๑
ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่เจ้าฟ้าฉิม(ซึ่งต่อมาเป็นรัชกาลที่ ๒)
เกิดมีจิตปฏิพัทธ์กับเจ้าฟ้าบุญรอดหลานสาวของรัชกาลที่ ๑
จนถึงขั้นลักลอบเสพสังวาสกันในพระบรมมหาราชวัง
โดยไม่นึกถึงขนบธรรมเนียมของปู่ย่าตายาย ที่สั่งสอนให้สตรีไทยรักนวลสงวนตัว
หนังสือขัตติยราชปฏิพัทธ์สมุดข่อยที่พวกศักดินาบันทึกไว้
ได้เปิดเผยว่าหลังจากที่เจ้าฟ้าบุญรอดท้องถึง ๔ เดือน ความจึงแตก
เพราะเรื่องอย่างนี้ถึงอย่างไรก็ปิดไม่มิด(๒๔)
เมื่อเหตุการณ์อันน่าอับอายขายหน้าของพวกเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินถูกเปิดเผยขึ้นมา
รัชกาลที่ ๑ ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟที่หน่อพุทธางกูรกระทำการอุกอาจถึงในรั้ววังหลวง
ซึ่งพวกศักดินาถือว่าศักดิ์สิทธิ์
จึงขับไล่เจ้าฟ้าบุญรอดออกไปจากวังหลวงทันทีที่รู้เรื่อง
และห้ามไม่ให้เจ้าฟ้าฉิมเข้าเฝ้าอีกเป็นเวลานาน(๒๕)
นับเป็นบุญของเจ้าฟ้าฉิมที่ไม่ถูกลงโทษมากกว่านี้ เพราะโอรสของรัชกาลที่ ๑
นี้เคยถูกราชอาญาของพ่อถึง ๓๐ ปี
เพราะบังอาจไปหลงสวาทพี่สาวของตนเองเข้าให้(๒๖)
๑. เป็นคำอธิบายของรัชกาลที่ ๔ที่ให้ไว้แก่จอห์น เบาริ่ง ดู นิธิ
เอียวศรีวงศ์ ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา (สถาบันไทยคดีศึกษา
ธรรมศาสตร์,๒๕๒๓) หน้า ๓๙
๒. ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช
ข้อมูลประวัติศาสตร์สมัยบางกอก (ภาควิชาประวัติศาสตร์ม.ศรีนครินทรวิโรฒน์
ประสานมิตร ๒๕๑๘) หน้า ๕๔-๕๗
๓. เรื่องเดิม หน้า ๓๘
๔. เรื่องเดิม หน้า
๕๔
๕. นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่องเดิม หน้า ๔๕
๖. ดู “อภินิหารบรรพบุรุษ”
(เป็นสมุดข่อยพบในสมัยรัชกาลที่ ๗) อินทุจันทร์ยง เรียบเรียง (ประพันธ์สาสน์,
๒๕๑๗-๒๕๒๐) หน้า ๓๐
๗. เรื่องเดิม หน้า ๕๖-๕๘
๘. เรื่องเดิม หน้า ๔๙
๙.
ขจร สุขพานิช เรื่องเดิม หน้า ๖๓
๑๐. นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่องเดิม หน้า
๔๓
๑๑. “กฎพระสงฆ์” กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๔ (คุรุสภา,๒๕๐๕
๑๒. เรื่องเดิม
หน้า ๑๙๓
๑๓. เรื่องเดิม หน้า ๑๗๘
๑๔. ประกอบ โชประการ, ประยุทธ สิทธิพันธ์,
สมบูรณ์ คนฉลาด พระมหากษัตริย์ไทย หน้า ๕๕๖
๑๕. อัจฉรา กาญจโนมัย
การฟื้นฟูพุทธศาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
(มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๒๕) หน้า ๒๑
๑๖.
กรมหลวงนรินทรเทวี จดหมายเหตุความทรงจำ (คุรุสภา, ๒๕๐๗) หน้า ๗
๑๗.
กรมดำรงราชานุภาพ ตำนานวังหน้า ประชุมพงศาวดารเล่ม ๑๑ (คุรุสภา, ๒๕๐๗) หน้า
๒๗
๑๘. เรื่องเดิม หน้า ๓๘
๑๙. เรื่องเดิม หน้า ๓๘-๕๑
๒๐. เรื่องเดิม หน้า
๔๗
๒๑. เรื่องเดิม หน้า ๔๖
๒๒. เรื่องเดิม หน้า ๔
๒๓. ประกอบ โชประการ,
ประยุทธ สิทธิพันธ์, สมบูรณ์ คนฉลาด พระมหากษัตริย์ไทย หน้า ๕๕๑-๕๕๓
๒๔. บรรเจิด
อินทจันทร์ยง (รวบรวม) ขัตติยราชปฏิพันธ์ พงศาวดารกระซิบ (ประพันธ์สาสน์ ๒๕๒๑) หน้า
๑๑๘
๒๕. เรื่องเดิม หน้า ๑๑๙
๒๖. เรื่องเดิม หน้า
๑๑๗