onsdag 10 oktober 2018

ภูมิพลคือตัวการอยู่เบื้องหลังให้พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ยึดอำนาจ 6 ตุลาคม 2519

ภูมิพลคือตัวการอยู่เบื้องหลังให้พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ยึดอำนาจ 6 ตุลาคม 2519 จากหลักฐานข่างล่าง.



ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

สงัด ชลออยู่, ธานินทร์ กรัยวิเชียร และแผนรัฐประหารปี 2519

ในหนังสือ บันทึกการปฏิวัติ 1-3 เมษายน 2524 กับข้าพเจ้า (2525), บุญชนะ อัตถากร ได้ตีพิมพ์เป็นหนึ่งในภาคผนวก บันทึกช่วยจำที่เขาเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2520 เกี่ยวกับการสนทนาระหว่างเขากับพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ระหว่างงานศพพล.อ.แสวง เสนาณรงค์ ที่มีขึ้นในคืนก่อนหน้านั้น เนื้อหาของบันทึกดังกล่าว (หน้า 186-187) มีดังนี้:
ระหว่างสวดพระอภิธรรม ข้าพเจ้าได้คุยกับพลเรือเอกสงัด เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน คำบอกเล่าต่างๆของคุณสงัดในฐานะเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูป 6 ตุลาคม 2519 และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นความรู้ซึ่งคงไม่ค่อยมีคนทราบ ข้าพเจ้าจึงขอบันทึกไว้ดังต่อไปนี้….
คุณสงัดเล่าให้ฟังว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 มีข่าวลืออยู่ทั่วไปว่า จะมีทหารคิดก่อการปฏิวัติ เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ฝ่ายซ้ายกำลังฮึกเหิมและรบกวนความสงบอยู่ทั่วไป จึงได้กราบบังคมทูลขึ้นไปยังในหลวงที่เชียงใหม่ซึ่งประทับอยู่ภูพิงค์ราชนิเวศน์ในขณะนั้นว่า จะขอให้คุณสงัดซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (กับพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการฯ) กับพลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้บัญชาการทหารบก พลอากาศเอกกมล เตชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารอากาศขึ้นไปเฝ้า แต่ในหลวงโปรดเกล้าฯให้คุณสงัดเข้าเฝ้าคนเดียว ทั้งๆที่ตั้งใจว่าถ้าเข้าเฝ้าทั้ง 3 คนก็จะได้ช่วยกันฟังนำมาคิดและปฏิบัติโดยถือว่าเป็นพรสวรรค์
เมื่อคุณสงัดไปเฝ้าในหลวงที่ภูพิงค์ราชนิเวศน์นั้นได้ไปโดยเครื่องบิน เข้าเฝ้าคนเดียวอยู่ราว 2 ชั่วโมงครึ่งในตอนบ่าย ไปวันนั้นและกลับในวัน   เดียวกัน คุณสงัดบอกว่าไม่เคยเข้าเฝ้าในหลวงโดยลำพังมาก่อนเลย คราวนี้เป็นครั้งแรก ได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงสถานการณ์บ้านเมืองว่าเป็นที่น่าวิตก ถ้าปล่อยไปบ้านเมืองอาจจะต้องตกอยู่ในสถานะอย่างเดียวกับลาวและเขมร จึงควรดำเนินการปฏิวัติ
คุณสงัดเล่าต่อไปว่า อยากจะได้พรจากพระโอษฐ์ให้ทางทหารดำเนินการได้ตามที่คิดไว้ แต่ในหลวงก็มิได้ทรงรับสั่งตรงๆ คงรับสั่งแต่ว่าให้คิดเอาเองว่าจะควรทำอย่างไรต่อไป
คุณสงัดเห็นว่า เมื่อไม่รับสั่งตรงๆก็คงดำเนินการไม่ได้ จึงกราบบังคมทูลว่า ถ้าทางทหารยึดอำนาจการปกครองได้แล้วก็มิได้ประสงค์จะมีอำนาจเป็นใหญ่ต่อไป จึงอยากจะให้ฝ่ายพลเรือนเข้ามาบริหารประเทศ สมมุติว่า ถ้ายึดได้แล้วใครจะควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนั้น เสร็จแล้วคุณสงัดก็ได้กราบบังคมทูลรายชื่อบุคคลที่น่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีทีละชื่อ เพื่อจะได้พระราชทานความเห็น
คุณสงัดเล่าว่า ได้กราบบังคมทูลชื่อไปประมาณ 15 ชื่อ รวมทั้งคุณประกอบ หุตะสิงห์ หลวงอรรถสิทธิสุนทร คุณประภาศน์ อวยชัย คุณเชาว์ ณ ศีลวันต์ด้วย  แต่ก็ไม่ทรงรับสั่งสนับสนุนผู้ใด
เมื่อไม่ได้ชื่อบุคคลที่น่าจะเป็นนายกได้และเวลาก็ล่วงไปมากแล้ว คุณสงัดก็เตรียมตัวจะกราบบังคมทูลลากลับ แต่ก่อนจะออกจากที่เฝ้า ในหลวงได้รับสั่งว่า จะทำอะไรลงไปก็ควรจะปรึกษานักกฎหมาย คือ คุณธานินทร์  กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาศาลฎีกาเสียด้วย คุณสงัดบอกว่าไม่เคยรู้จักคุณธานินทร์มาก่อนเลย  พอมาถึงกรุงเทพฯก็ได้บอกพรรคพวกทางทหารให้ทราบแล้วเชิญคุณธานินทร์มาพบ
คุณสงัดบอกว่าได้ถามคุณธานินทร์ว่า ได้คุ้นเคยกับในหลวงมานานตั้งแต่เมื่อใด คุณธานินทร์บอกว่าไม่เคยเข้าเฝ้าในหลวงใกล้ชิดเลย แต่อย่างไรก็ดีคุณสงัดก็ได้เริ่มใช้ให้คุณธานินทร์เตรียมคำแถลงการณ์ต่างๆและเอกสารต่างๆให้พร้อม พิจารณาแล้วก็เก็บไว้ในตู้นิรภัยอย่างเอกสารลับ เพื่อจะนำไปใช้หลังจากการปฏิวัติแล้ว
คุณสงัดบอกต่อไปว่า ได้รอคอยโอกาสที่จะยึดอำนาจการปกครองอยู่เรื่อยๆแต่ก็ไม่ได้จังหวะ จนในที่สุดก็เกษียณอายุต้องออกจากราชการ เมื่อ 1 ตุลาคม 2519 เพื่อนฝูงนายทหารผู้ใหญ่ก็หาว่าคุณสงัดเตะถ่วง ซึ่งความจริงจะว่าจริงก็ได้ เพราะยังไม่มีเหตุผลหรือเหตุการณ์จะให้ทำเช่นนั้นได้ง่ายๆและในหลวงก็ไม่ได้รับสั่งสนับสนุน
โดยที่คุณธานินทร์ได้ร่วมงานก่อการมาด้วยกันดังกล่าว คุณสงัดบอกว่า จึงไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะไม่กราบบังคมทูลให้ในหลวงตั้งคุณธานินทร์เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนข่าวลือที่ว่าคุณสงัดเสนอ 3 ชื่อ คือ คุณประกอบ คุณประภาศน์ และคุณธานินทร์ และในหลวงเลือกคุณธานินทร์นั้น ก็เป็นเรื่องเล่าๆกันไปอย่างนั้นเอง
ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ยืนยันต่อยศ สันตสมบัติ (ในหนังสือ อำนาจ บุคลิกภาพ และผู้นำการเมืองไทย, 2533, หน้า 136) ว่า “ผมไม่เคยเข้าเฝ้าหรือได้รับพระราชกระแสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องนี้มาก่อนเลย แต่ผมก็ได้รับทราบจากคุณสงัด ชลออยู่ตามนั้น” คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดจึงทรงแนะนำให้พล.ร.อ.สงัดไปปรึกษากับธานินทร์ทั้งๆที่ฝ่ายหลัง “ไม่เคยเข้าเฝ้าใกล้ชิดเลย”?
ธานินทร์เกิดปี 2470 (ปีเดียวกับปีพระราชสมภพ) สำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายจากประเทศอังกฤษ แล้วเริ่มรับราชการในกระทรวงยุติธรรมตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในปี 2499 แล้วย้ายมาเป็นหัวหน้ากองการคดี (ดูประวัติส่วนตัวของเขาก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะในแง่ที่เหมือนและต่างกับ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ใน “ป๋วย อึ๊งภากรณ์, สล้าง บุนนาค, ธานินทร์ กรัยวิเชียร” ในหนังสือเล่มนี้) ตามคำบอกเล่าของเขา (ยศ, อำนาจ, หน้า 130):
ผมเองมีความสนใจในปัญหาเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมากมาตั้งแต่ปี 2501 ตั้งแต่ตอนที่คุณพระดุลยพากย์สุวมันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีบัญชาให้ผมค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์และผลของการใช้กฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งต่อมาในปี 2504 กระทรวงยุติธรรมได้ส่งผมไปเรียนวิชาสงครามจิตวิทยาอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันภัยทางการเมืองจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์ที่กระทรวงกลาโหม  และจากนั้นมาทางราชการกระทรวงกลาโหมก็ได้มอบหมายให้ผมเป็นผู้บรรยายในเรื่องของลัทธิและวิธีการของคอมมิวนิสต์และการใช้กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์ในสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติหลายแห่งเป็นเวลา 10 ปีเศษ ผมได้เรียบเรียงคำบรรยายประกอบการสอนเรื่องเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหลายเล่มด้วยกัน….
นับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา ธานินทร์ (ตามคำสรุปของยศ สันตสมบัติ) “ได้เริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของผู้ที่ทำงานด้านความมั่นคงและกลุ่มอนุรักษ์นิยมในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและนักต่อต้านคอมมิวนิสต์คนสำคัญ” ธานินทร์เริ่มต้นแสดงบทบาททางการเมืองในช่วงหลัง 14 ตุลา โดยออกมาต่อต้านสิ่งที่เขามองว่าเป็นการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ทั้งนอกรัฐสภาและในรัฐสภา (ซึ่งเขายืนยันว่าการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ดังกล่าว “เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีผู้ใดจะบิดผันให้เป็นอื่นไปได้ รายงานการประชุมของรัฐสภาขณะนั้น ระบุชัดเจนว่าใครทำอะไรหรือไม่ทำอะไรบ้าง”) เขาได้ร่วมกับดุสิต ศิริวรรณ ออกอากาศรายการโทรทัศน์ “สนทนาประชาธิปไตย” เรื่อง “ความมั่นคงของชาติและความผาสุกของประชาชน” เพื่อให้ “สังคมไทยอยู่รอดและคงความเป็นไทยไว้โดยปลอดจากภัยคอมมิวนิสต์” แต่รายการดังกล่าวถูกรัฐบาลคึกฤทธิ์สั่งระงับในเดือนมกราคม 2519 หลังจากออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ของรัฐบาลได้เพียง 4 ครั้ง อย่างไรก็ตาม พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เสนาธิการทหาร “ตระหนักในภัยจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์” จึงจัดให้ไปออกอากาศต่อทางช่อง 5 ของกองทัพบกอีก 6 ครั้ง รวมเป็น 10 ครั้ง
จากข้อมูลเหล่านี้ น่าจะมีเหตุผลเพียงพอที่จะตั้งสมมุติฐานว่า ในหลวงทรงสามารถแนะนำให้ พล.ร.อ.สงัดไปปรึกษาธานินทร์ได้ทั้งๆที่ธานินทร์ “ไม่เคยเข้าเฝ้าใกล้ชิด” มาก่อน เพราะได้ทรงติดตามผลงานด้านหนังสือและ/หรือรายการโทรทัศน์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ของธานินทร์ดังกล่าวนั่นเอง
ธานินทร์เล่าว่า เมื่อได้รับพระราชกระแสแล้ว “ทางทหารจึงได้มาติดต่อกับผม แล้วเขาถึงได้ให้ผมช่วยวางแผนให้ว่า ถ้าเผื่อมีการปฏิวัติจะจัดอย่างไร ในแง่ของกฎหมายจะมีการประกาศของคณะปฏิวัติอย่างไร และแผนการที่จะเป็นรัฐบาลควรจะเป็นในรูปใด” แผนการดังกล่าวซึ่งธานินทร์กับอีกบางคนร่วมกันร่างขึ้นนำเสนอต่อฝ่ายทหารและได้รับการเห็นชอบจากฝ่ายหลัง ถูกธานินทร์เรียกว่า “แผนแม่บท” หรือ Master Plan “คือหลักการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เราจัดทำกัน 3-4 คน….ไม่ต้องรู้ก็แล้วกันว่ามีใครบ้าง คำว่า การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก็เริ่มจากตรงนี้ เริ่มจากหลักการปฏิรูปอันนี้”
ธานินทร์เล่าว่า แผนแม่บท หรือ Master Plan นี้ ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 8 ประการ (ดูรายละเอียดใน ยศ, อำนาจ, หน้า 279-286) ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ เราอาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะเป็นหลักการทั่วไปแบบนามธรรม เช่น “ดำเนินงานทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย”, “สร้างรากฐานประชาธิปไตย โดยส่งเสริมคนดี”, “ทุกคนในคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินซึ่งเป็นฝ่ายทหารต้องมีอุดมการณ์แน่วแน่ กระทำการเพื่อความอยู่รอดของชาติและความผาสุกของประชาชน ไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทนเป็น “การส่วนตัว”, ฯลฯ
ส่วนที่มีลักษณะเป็นแผนปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้แก่ ตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อรับมอบภาระการบริหารราชการจากคณะปฏิรูปโดยสิ้นเชิง คณะปฏิรูปให้คงอยู่ดูแลด้านความมั่นคง แต่จะดำเนินการใดๆก็ต่อเมื่อรัฐบาลชั่วคราวร้องขอเท่านั้น หมายความว่าฝ่ายทหารยึดอำนาจแล้ว ไม่เข้าบริหารเอง ยกให้คนอื่นที่ทาบทามมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง “ควรจะเป็นพลเรือน” และต้องเป็นคนที่ “เลื่อมใสต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, มีประวัติและการทำงานดีเด่น ไม่เห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้งมีความรู้ความสามารถสูงและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย”; ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2517 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารมากขึ้น; ยุบสภาที่มีอยู่ ตั้ง “สภาปฏิรูป” จากบุคคลสาขาอาชีพต่างๆ; รัฐบาลชั่วคราวและสภาปฏิรูปอยู่ในตำแหน่ง 4 ปี จึงให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังให้มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและมีอำนาจเท่ากันดำรงอยู่อีกอย่างน้อย 4 ปี (ในที่สุด รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2519 ซึ่งธานินทร์เป็นผู้ร่วมร่างและประกาศใช้หลังการรัฐประหาร กำหนดให้มี “แผนพัฒนาประชาธิปไตย” 12 ปี โดยในระยะสี่ปีที่สามให้ “ขยายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรให้มากขึ้นและลดอำนาจของวุฒิสภาลงเท่าที่จะทำได้”)
ยศ สันตสมบัติเขียนว่า ในการพูดถึงแผนแม่บทนี้ “ประเด็นที่อาจารย์ธานินทร์เน้นย้ำอยู่เสมอๆก็คือ แผนการดังกล่าวได้รับการเห็นชอบจากฝ่ายทหารหรือคณะปฏิรูปฯทั้งหมด พูดง่ายๆก็คือ แผนการดังกล่าวเป็นข้อตกลงร่วมกันของทุกฝ่ายและเป็นหลักการในการที่จะดำเนินงานต่อไปภายหลังจากการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลอาจารย์เสนีย์เรียบร้อยแล้ว และรัฐบาลของอาจารย์ธานินทร์ก็ได้ทำตามแผนการที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่เบี่ยงเบนไปจากข้อตกลงหรือ Master Plan นี้”
อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าฝ่ายทหารที่มาติดต่อขอให้ธานินทร์ช่วยเตรียมการรัฐประหาร ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “แผนแม่บท” ของธานินทร์ มากเพียงใด ในคำบอกเล่าต่อบุญชนะ อัตถากร, พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ กล่าวแต่เพียงว่าเขา “ได้เริ่มใช้ให้คุณธานินทร์เตรียมคำแถลงการณ์ต่างๆและเอกสารต่างๆให้พร้อมพิจารณาแล้วก็เก็บไว้ในตู้นิรภัยอย่างเอกสารลับ เพื่อจะนำไปใช้หลังจากการปฏิวัติแล้ว” และเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงได้ว่าสงัดซึ่ง “ไม่เคยรู้จักคุณธานินทร์มาก่อนเลย” ให้การ “เห็นชอบ” กับแผนแม่บทของธานินทร์เพราะเห็นชอบด้วยจริงๆหรือเพราะ “ในหลวงทรงรับสั่งว่าจะทำอะไรลงไปก็ควรจะปรึกษานักกฎหมายคือคุณธานินทร์ กรัยวิเชียรเสียด้วย”
แน่นอนว่ามาตรการรูปธรรมที่ธานินทร์วางไว้ได้รับการปฏิบัติตามหลังการยึดอำนาจ: ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่มีอยู่และประกาศใช้รัฐธรรมฉบับใหม่ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารมากเป็นพิเศษ, ตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นพลเรือน (คือตัวธานินทร์เอง) และแต่งตั้งสภานิติบัญญัติใหม่ที่มีสมาชิกจาก “ทุกสาขาอาชีพ” (ในความเป็นจริง สมาชิกสภาปฏิรูป 190 คนจาก 340 คนเป็นทหารตำรวจทั้งในและนอกราชการ). แต่มาตรการเหล่านี้ก็เป็นมาตรการในลักษณะที่การรัฐประหารแทบทุกครั้งต้องทำอยู่แล้ว อาจกล่าวได้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ธานินทร์ มอบให้กับการเตรียมรัฐประหารปี 2519 คือคิดชื่อใหม่ให้กับการรัฐประหารและคณะรัฐประหาร: “คณะ/การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”แทนที่จะเป็น “คณะ/การปฏิวัติ” การที่ธานินทร์ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “แผนแม่บท” ของตน ซึ่งอันที่จริงถ้าตัดเนื้อหาส่วนใหญ่ที่มีลักษณะนามธรรมลอยๆดังกล่าวข้างต้นออกแล้ว ก็เหลือเพียงมาตรการรูปธรรมที่ไม่ต่างจากการรัฐประหารอื่นๆนั้น น่าจะสะท้อนให้เห็นลักษณะพาซื่อและอ่อนประสบการณ์ของธานินทร์เองมากกว่าอย่างอื่น

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar