tisdag 29 augusti 2017

ชิบหายแน่ ๆ.... มีข่าว พื้นที่เหมืองทองอัคราจะถูกพิจารณาให้เอกชน 10 ราย... ถ้าเป็นไปตามนี้จริง เหมือนกับไปปล้นของของเขามาแล้วมาแบ่งกันใหม่...

ที่มา FB
มิตรสหายท่านหนึ่ง เอาข่าวนี้มาให้ดูในโพสเฟสบุ๊ด้านล่างของผม

"แหล่งข่าวระบุว่า ล่าสุดพื้นที่ที่มีคำขออนุญาตสำรวจแร่ทองคำ เช่น จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.นราธิวาส ซึ่ง กพร.คาดว่าพื้นที่เหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่คาบเกี่ยว จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก รวมถึงพื้นที่เหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ จ.เลย คาดว่ามีสายแร่ทองคำอย่างแน่นอน เพราะพื้นที่ปัจจุบัน ประทานบัตรในพื้นที่เหมืองยังมีอายุเหลืออีก 10 ปี"

ถ้าเป็นไปตามนี้จริง จบเห่เลยครับ นี่มันเข้าข่ายเอามาตรา 44 ไปปล้นของของเขามาแล้วมาแบ่งกันใหม่เลย

ถ้ารัฐบาลไม่อยากเสียหายมากไปกว่านี้ ต้องยุติการดำเนินการตามข่าวนี้ทันที ห้ามทำโดยเด็ดขาด ถ้าทำไป แพ้คดีเละเทะ อ้างเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไม่ขึ้น

รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย อย่ามาเถียงเล่นถ้อยคำกันเลย ควรต้องนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร ว่า อย่าเอาประทานบัตรไปแจกจ่ายกันใหม่เด็ดขาด

นอกจากข้าราชการประจำที่ต้องแบกหน้าไปเจรจาจำกัดวงเงินค่าเสียหายแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเห็นใจ คือ เอ็นจีโอ งานนี้เหมือนโดนหลอกนึกว่าปิดเหมืองได้จริง

ooo


รัฐจ่อดัน 7 ยุทธศาสตร์เหมืองแร่ทองคำ ปิดปากกลุ่มค้าน ยันเอกชน 10 รายจ่อขออนุญาตสำรวจปริมาณ 3 หมื่นไร่




ที่มา MGR Online
8 สิงหาคม 2560


รัฐจ่อดัน 7 ยุทธศาสตร์ “เหมืองแร่ทองคำ” ประเมินสถานการณ์-ปิดปากกลุ่มค้าน เผยกรมอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ จ่อเปิดทางเอกชนกว่า 10 ราย ยื่นคำขออนุญาตสำรวจปริมาณกว่า 3 หมื่นไร่ หากกลุ่มค้านเห็นด้วย ยัน “เหมืองอัคราฯ” พื้นที่พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเหมืองทุ่งคาฮาเบอร์ จ.เลย ยังมีสายแร่ทองคำ แถมประทานบัตรยังมีอายุเหลือ 10 ปี ชี้แนวทางการบริหารจัดการแร่ทองคำ 7 ด้าน เน้นการบริหารจัดการแหล่งแร่ สร้างผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐและท้องถิ่น

วันนี้ (8 ส.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) รับความเห็นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งออกประกาศและจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ต่างๆ ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ จำนวน 7 ด้าน

ทั้งนี้ มติ ครม.เห็นชอบตามมติการประชุม คนร.ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่เพื่อให้ภาครัฐและท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำที่เหมาะสม ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำเพิ่มขึ้น ปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำลดลง ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำมีการประกอบกิจการที่มีมาตรฐานสากล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

มีรายงานว่า สำหรับกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ โดยคำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่

1. ด้านการบริหารจัดการแหล่งแร่ทองคำ กำหนดให้มีการประมูลสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ที่ภาครัฐสำรวจและมีข้อมูลเพียงพอ ห้ามมิให้ส่งออกโลหะผสมทองคำไปต่างประเทศ กำหนดเงื่อนไขการ จ้างงานชาวไทย ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุน ยกระดับการมีส่วนร่วมในเชิงนโยบายระหว่างผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่การผลิต

2. ด้านผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐและท้องถิ่น ปรับปรุงผลตอบแทนแก่รัฐให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และกระจายผลประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นและท้องถิ่นอื่นที่อยู่ติดกันด้วย จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่

3. ด้านความปลอดภัย การป้องกันรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ กำหนดให้มีการตั้งกองทุน วางหลักประกัน และการทำประกันภัยต่างๆ เพื่อเป็นหลักประกันในการเยียวยาแก้ปัญหาในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม การจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง และการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

4. ด้านการกำกับดูแลการประกอบการ มีการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดจากภาครัฐ โดยมีคณะกรรมการควบคุมเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งมีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียร่วมเป็นกรรมการ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการ

5. ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในขั้นตอนการขออนุญาต โดยการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ทั้งในขั้นตอนการขอประทานบัตรและการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนการประกอบกิจการ ซึ่งจะกำหนดให้มีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียของประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำด้วย

6. ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามและผ่านการทวนสอบมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมอุตสาหกรรมแร่ (CSR-DPIM) ยกระดับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำให้มีความรับผิดชอบตามมาตรฐานสากล (Responsible gold mining practice)

7. ด้านอื่นๆ กำหนดให้การขอต่ออายุประทานบัตรแร่ทองคำและการเพิ่มชนิดแร่ทองคำ ใช้นโยบายนี้โดยอนุโลม แต่ไม่ครอบคลุมถึงการร่อนแร่ทองคำ

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า กพร.จะนำมติ ครม.เพื่อไปติดตามท่าทีของประชาชนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน การประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ต่างๆ

“จะมีการประเมินสถานการณ์ หากผู้คัดค้านยอมรับในยุทธศาสตร์ 7 ด้านตามมติ ครม.และ ไม่มีการคัดค้านอีก ก็เตรียมจะพิจารณาคำขออนุญาตสำรวจแร่ทองคำ จากเอกชนที่มีเข้ามารวม 10 ราย คิดเป็นปริมาณพื้นที่สำรวจ 30,000 ไร่”

แหล่งข่าวระบุว่า ล่าสุดพื้นที่ที่มีคำขออนุญาตสำรวจแร่ทองคำ เช่น จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.นราธิวาส ซึ่ง กพร.คาดว่าพื้นที่เหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่คาบเกี่ยว จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก รวมถึงพื้นที่เหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ จ.เลย คาดว่ามีสายแร่ทองคำอย่างแน่นอน เพราะพื้นที่ปัจจุบัน ประทานบัตรในพื้นที่เหมืองยังมีอายุเหลืออีก 10 ปี

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar