ปิยบุตร แสงกนกกุล : การเรียกร้องรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
https://www.matichonweekly.com/culture/article_64805
https://www.matichonweekly.com/culture/article_64805
ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (24) ย้อนอ่านตอนท …
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 พฤศจิกายน 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | นิติศาสตร์เพื่อราษฎร |
ผู้เขียน | ปิยบุตร แสงกนกกุล |
เผยแพร่ |
ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (24)
ย้อนอ่านตอนที่ (23) (22)
สิ่งใหม่ในทางกฎหมายสิ่งหนึ่งที่ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ได้มอบให้แก่เรา คือ รัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าการปฏิวัติอเมริกาได้สร้างรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่มีลักษณะปฏิวัติขึ้นเป็นครั้งแรก
แต่กรณีของสหรัฐอเมริกานั้น เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญของประเทศที่ประกาศอิสรภาพจากประเทศเจ้าอาณานิคม ในขณะที่กรณีของฝรั่งเศส เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองภายในประเทศเดียวกัน ใช้ในดินแดนเดียวกัน และใช้กับคนฝรั่งเศสที่อยู่ด้วยกัน
อีกทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญที่รักษาให้กษัตริย์ดำรงอยู่ต่อไปด้วย
ดังนั้น การจัดทำรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสจึงต้องผ่านการถกเถียงกันในเชิงข้อความคิดรัฐธรรมนูญอย่างมาก ระหว่างพลังแบบเก่าและพลังแบบใหม่ซึ่งอยู่อาศัยในดินแดนเดียวกัน
ในคำสาบานที่สนามเทนนิส Jeu de Paume มีข้อความสำคัญเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญว่า สภาแห่งชาติ “ถูกเรียกประชุมเพื่อกำหนดให้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร จัดการฟื้นฟูระเบียบสาธารณะกลับมาใหม่ และรักษาหลักการอันแท้จริงของสถาบันกษัตริย์”
ถ้อยคำที่ว่า “กำหนดให้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร” นี้ ในภาษาฝรั่งเศสคือ “fixer la Constitution du royaume”
ปัญหามีอยู่ว่า คำกริยา “fixer” หมายความอย่างไร?
เจตจำนงของสมาชิกสภาแห่งชาติคือ การยุติการปกครองแบบกดขี่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดระเบียบทางกฎหมายที่แน่นอนชัดเจนและมีเสถียรภาพ เพื่อสร้างหลักประกันว่าผู้ปกครองจะใช้อำนาจตามระเบียบกฎหมาย อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย มิใช่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ
ซึ่งระเบียบทางกฎหมายที่ว่านั้นก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้คำว่า “fixer” นั้นก็นำมาซึ่งปัญหาในการตีความ เพราะ คำว่า “fixer” นั้นมีหลายความหมาย
คำว่า “fixer” อาจแปลว่า “รักษา ปกป้อง ซ่อมแซม” หรืออาจแปลว่า “กำหนดให้มี” ก็ได้
ดังนั้น ถ้อยคำ “fixer la Constitution du royaume” จึงอาจหมายถึงกรณีมีรัฐธรรมนูญดำรงอยู่แล้ว และสภาแห่งชาติเข้ามาปกปักรักษารัฐธรรมนูญ หรืออาจหมายถึงกรณีที่ไม่มีรัฐธรรมนูญดำรงอยู่ แล้วสภาแห่งชาติเป็นผู้กำหนดให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นก็ได้
หากพิจารณาความเห็นที่ปรากฏในฎีการ้องทุกข์ (les cahiers de doleances) ไปจนถึงการอภิปรายของสมาชิกสภาแห่งชาติ ก็จะพบความเห็นที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับข้อความคิดรัฐธรรมนูญ
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนมีการสาบานตนที่สนามเทนนิส สมาชิกสภาฐานันดรได้อภิปรายประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยเลือกใช้คำกริยาแตกต่างกันไป ตั้งแต่ “ก่อตั้ง” “ก่อตั้งใหม่อีกครั้ง” “รักษา” “ให้” “มอบให้” “จัดวาง” “ทำ” ฯลฯ
ในขณะที่คำสาบานที่สนามเทนนิสกลับเลือกใช้คำว่า “fixer” ซึ่งหากเลือกใช้ความหมายแบบอนุรักษนิยมว่ามีรัฐธรรมนูญอยู่แต่ไม่ได้รับการเคารพจึงต้องการรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่หรือรักษารัฐธรรมนูญนั้นไว้ ก็จะตรงกับคำว่า “ก่อตั้งใหม่อีกครั้ง” (retablir) หรือ “รักษา” (maintenir)
แต่หากเลือกใช้ความหมายแบบก้าวหน้าว่า ณ เวลานั้นยังไม่มีรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ก็จะตรงกับคำว่า “ก่อตั้ง” (etablir) “ให้” (donner) “จัดทำ” (faire)
ในช่วงความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์กับศาลปาร์เลอมองต์ระหว่างปี 1750 จนถึงก่อนปฏิวัติฝรั่งเศสได้ไม่นานนั้น ประเด็นปัญหาใจกลางสำคัญที่ถกเถียงกันคือ ประเทศฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีดั้งเดิมอยู่หรือไม่
Le Paige ผู้สนับสนุนอำนาจของศาลปาร์เลอมองต์ได้กล่าวไว้ใน Lettres historiques ว่าการดำรงอยู่ของศาลปาร์เลอมองต์มีความเก่าแก่พอๆ กับสถาบันกษัตริย์
อำนาจและบทบาทของศาลปาร์เลอมองต์นี้มีสถานะเป็นกฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักร (les lois fondamentales du royaume) ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีดั้งเดิม
ในขณะที่ Mably เห็นไปไกลกว่าว่า ประเทศฝรั่งเศสไม่เคยมีระบบรัฐธรรมนูญอยู่เลย
ตรงกันข้าม มีแต่การปกครองแบบกดขี่ตามอำเภอใจและไม่มีความแน่นอนชัดเจนของผู้ปกครอง
ใน Observations dur l”histoire de France เล่มที่สอง ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงบริบทของการรัฐประหารยึดอำนาจศาลปาร์เลอมองต์โดย Maupeou เสนาบดีของหลุยส์ที่ 15 และต่อมาถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 1788 ช่วงของการเรียกร้องให้หลุยส์ที่ 16 เรียกประชุมสภาฐานันดร
เขายืนยันว่า คนฝรั่งเศสไม่เคยมีรัฐธรรมนูญ เพราะพวกเขายังไม่เคยได้แสดงเจตจำนงในการกำหนดรูปแบบของระบอบการเมืองที่ตนต้องการและในการปกป้องรักษาเสรีภาพของตน
แม้ความเห็นของ Le Paige และ Mably ต่างต้องการท้าทายอำนาจของกษัตริย์เหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดตรงที่ Le Paige ต้องการรื้อฟื้นให้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วในเรื่องของอำนาจศาลปาร์เลอมองต์ให้กลับมามีผลบังคับอย่างแท้จริง
ในขณะที่ Mably เห็นว่าประเทศฝรั่งเศสไม่เคยมีรัฐธรรมนูญอยู่เลย จึงจำเป็นต้องให้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่
ในช่วงหนึ่งปีก่อนการปฏิวัติ การถกเถียงในประเด็นว่าประเทศฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง ได้ขยายขอบเขตออกไปมากขึ้นไปจนพัวพันถึงการแบ่งแยกฐานันดรจนกลายเป็นความแตกแยกทางชนชั้นระหว่าง พระและขุนนาง ฝ่ายหนึ่ง และฐานันดรที่สาม อีกฝ่ายหนึ่ง
ฐานันดรที่สามกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอันสำคัญในการผลักดันให้ประเด็นรัฐธรรมนูญก้าวรุดหน้าขึ้นไป
พวกเขาไม่เพียงแต่ยืนยันว่าฝรั่งเศสไม่มีรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังอธิบายต่อไปถึงวัตถุประสงค์ของการมีรัฐธรรมนูญด้วยว่า ฝรั่งเศสจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาการปกครองโดยกดขี่และตามอำเภอใจของผู้ปกครอง
ในขณะที่ฐานันดรพระและฐานันดรขุนนางฝ่ายอนุรักษนิยมพยายามอธิบายว่าประเทศฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และเรื่องหนึ่งซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ก็คือการแบ่งฐานันดรและระบบอภิสิทธิ์ของฐานันดรพระและขุนนาง
ทั้งฐานันดรพระ ฐานันดรขุนนาง และฐานันดรที่สามต่างต้องการเรียกร้องให้กษัตริย์จำกัดอำนาจลงโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ
แต่ข้อเรียกร้องของพวกเขาต่างก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปตามผลประโยชน์ของแต่ละฐานันดร
ในสายตาของพวกฐานันดรพระและฐานันดรขุนนางแล้ว “รัฐธรรมนูญ” ได้แก่ กฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักร (les lois fondamentales du royaume) ซึ่งรับรองเรื่องการแบ่งแยกฐานันดร ระบบอภิสิทธิ์ของฐานันดรพระและขุนนาง และบทบาทของศาลปาร์เลอมองต์ในการตรวจสอบว่าพระบรมราชโองการหรือพระบรมราชวินิจฉัยของกษัตริย์มีความสอดคล้องกันกับคำพิพากษาบรรทัดฐาน กฎหมายจารีตประเพณี และหลักกฎหมายทั่วไปหรือไม่
ในเมื่อกษัตริย์ไม่ยอมเคารพกฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักรในส่วนนี้ พวกเขาจึงเรียกร้องให้รื้อฟื้น “รัฐธรรมนูญ” ในส่วนนี้กลับมา เพื่อให้พระและขุนนางกลับมามีบทบาททางการเมืองเคียงคู่ไปกับกษัตริย์ดังเดิม
ส่วนฐานันดรที่สามซึ่งไม่เคยมีบทบาททางการเมืองในฝรั่งเศสมาก่อนนั้น ต้องการให้มีระเบียบการเมืองใหม่ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้าไปมีส่วนร่วม พวกเขาจึงเรียกร้องให้มี “รัฐธรรมนูญ” ใหม่ที่ฐานันดรที่สามเป็นผู้กำหนด
Sieyes นักบวชผู้สนับสนุนฐานันดรที่สาม ได้ยืนยันไว้ใน Qu”est-ce que le Tiers Etat? ว่า
“เป็นเวลา 6 เดือนแล้วที่เราได้ยินแต่เสียงร้องของคนฝรั่งเศสว่า เราไม่มีรัฐธรรมนูญ และเราขอเรียกร้องให้ก่อตั้งรัฐธรรมนูญขึ้น วันนี้ ไม่เพียงแต่รัฐธรรมนูญเท่านั้นที่เราต้องการ แต่รัฐธรรมนูญเช่นว่ายังได้ยืนยันถึงหลักการสองประการอันเยี่ยมยอดและไม่อาจถูกโจมตีได้ ประการแรก การแบ่งแยกฐานันดร ประการที่สอง ความเสมอภาคของแต่ละฐานันดรในการก่อตั้งเจตจำนงแห่งชา
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar