‘ปรัชญาการตุ๋นไข่พะโล้’ กับ ‘ปรัชญาซิกู้’ พระราชทานโดยรัชกาลที่ ๑๐
Rises to the
occasion. ท่ามกลางความอื้ออึงของการ ‘ธำรงวินัย’ โรงเรียนเตรียมทหาร
ซึ่งมีอันให้นักเรียนชั้นปีหนึ่งคนหนึ่งเสียชีวิต หลังจากถูกรุ่นพี่ ‘ซ่อม’ หนักติดต่อกันหลายครั้งหลายหน
ได้มีคำสั่ง ‘ด่วนมาก’ จาก กพ.ทหาร ให้ส่วนราชการในกองบัญชาการกองทัพไทย
ทั้งหน่วยฝึก หน่วยการศึกษา และหน่วยขึ้นตรง บก.ทท. ทำการฝึกทหารใหม่ นักเรียนทหาร
และกำลังพลประจำการ ตาม ‘คู่มือการฝึก/แบบฝึก’ พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลกงรณ์
บดินทรเทพยวรางกูร ตั้งแต่ผลัด ๒/๖๐ เป็นต้นไป
คู่มือเหล่านั้นประกอบด้วย หลักปรัชญาของพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่
กับ ‘คู่มือการฝึกพระราชทาน ว่าด้วยแบบฝึกบุคคลท่ามือเปล่า’ และ ‘คู่มือการฝึกพระราชทาน ว่าด้วยแบบฝึกบุคคลท่าอาวุธ’
สำหรับสองคู่มือหลังนั้นจะขอละเว้นไม่กล่าวถึง
ทิ้งไว้ให้ท่านทั้งหลายที่มีความสนใจเป็นพิเศษ และ/หรือช่ำชองเรื่องทำนองนั้น ดาวน์โหลดเพื่อศึกษาหรือชื่นชมรายละเอียดกันได้จาก
ที่นี่ http://j1.rtarf.mi.th/new/download/hand.pdf และที่นี่ http://j1.rtarf.mi.th/new/download/armor.pdf ตามลำดับ
การนี้ขอขอบคุณ Somsak Jeamteerasakul นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกิจแห่งราชวงศ์
ที่นำมาเล่าสู่กันให้พสกนิกรได้ซาบซึ้งความเป็นไปในต้นสมัยแห่งรัชกาลที่ ๑๐ นี้
โดยเฉพาะเกี่ยวกับหลัก ‘ปรัชญาพระราชทาน’ อันเกิดจาก “พระราชวิริยะอุตสาหะในการฝึกฝนพระองค์เอง
จนเกิดเป็นความรู้อย่างแท้จริง”
ในเอกสารพระราชประวัติ
และพระราโชบายด้านการฝึก นั้นกล่าวถึงหลักปรัชญาของพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ไว้ ๕
อย่างซึ่งจะได้รับความนิยมชมชอบในหมู่พสกนิกรท่วมท้นจนมาแทน
‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ของพระราชบิดาดังที่ สศจ. ตั้งปุจฉาไว้ไหม ต้องดูต่อไปในภายภาคหน้า
ในบรรดาปรัชญาทั้งห้าของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่
๑๐ ดูเหมือนว่ามีสองอย่างที่โดดเด่น น่าที่จะได้ทำความรู้จักกันไว้โดยถ้วนหน้า
นั่นคือ ‘ปรัชญาการตุ๋นไข่พะโล้’ กับ ‘ปรัชญาซิกู้’
กรณีหลังนี้ปรับปรุงมาจากพระราชกรณีกิจที่ทรงปฏิบัติต่อรถ
SIKU อันเป็นยี่ห้อรถยนต์ของเล่นจำลองขนาดเล็กที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
โปรดตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์
ส่วนกรณี ‘ปรัชญาการตุ๋นไข่พะโล้’ หรือ การ Simmer นั้น “ทรงเปรียบเทียบลักษณะการฝึกอบรมทหารเหมือนกับการตุ๋นไข่พะโล้ให้มีรสชาติอร่อย”
นั่นคือ “ใช้ความร้อนและเวลาที่เหมาะสม น้ำพะโล้จึงจะค่อยๆ
แทรกซึมเข้าไปยังเนื้อไข่
เปรียบเสมือนกับการฝึก
หากฝึกอบรมแบบไม่จริงจัง ปฏิบัติแบบยวบยาบ เน้นแต่ภาพลักษณ์ที่ดูสวยงาม
แต่ไม่เน้นเนื้อหาสาระ ไม่เคี่ยว ไม่อบ
ไม่กลั่นให้ผู้รับการฝึกได้มีความรู้อย่างแท้จริง ก็จะไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้”
ทางด้าน ‘ปรัชญารถซิกู้’
นั้นเกิดจากเมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ทรง “ทดสอบทุกคันด้วยพระองค์เอง หากรถ SIKU คันใดมิได้มาตรฐาน
ระบบขับเคลื่อนยังไม่ดี เข็นรถแล้ววิ่งไม่ตรงทิศทาง เอียงซ้ายเอียงขวา
ก็จะทรงถอดชิ้นส่วนนำมาปรับแต่ง”
คู่มือพระราชทานระบุว่า “เปรียบเสมือนการที่ครูผู้ฝึกสอนจะต้องหมั่นสังเกตุ
ให้คำแนะนำเคี่ยวเข็ญ ให้ผู้รับการฝึกสามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง”
ปรัชญาอื่นๆ อีกสามอย่างที่พระราชทานลงมาให้บุคคลากรในแวดวงทหารทุกหน่วยเหล่าถือปฏิบัติ
นั่นก็แสดงถึงความเป็นอัจฉริยะของพระองค์ในกิจการทหารอย่างแม่นมั่น
ดังที่ระบุในอีกตอนของปรัชญาพระราชทานว่า
“จะไม่ทรงโปรดความหย่อนยาน ความยวบยาบ
หรือความไร้ระเบียบวินัย” ดังเช่นเรื่อง ‘ปรัชญาทหารมหาดเล็กฯ’ กล่าวถึงการตั้งเป้าหมาย หรือ objective ในการฝึก
ทรงโปรดให้ตั้งมาตรฐาน “เพิ่มขึ้นไปเสมอ เกินกว่า ๑๐๐%”
ในด้านปรัชญามาตรฐานหน่วย ทม.รอ. (มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์)
กำหนดให้ต้องรักษามาตรฐานระดับสูงไว้เสมอ ประดุจดังสินค้าแบรนด์เนมฉันนั้น
ปรัชญา ร.๑๐ ประการสุดท้ายเรียกว่า ‘ปรัชญารากหญ้า’ พระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ์ฯ
ทรงกำชับข้าราชบริพารให้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งในรายละเอียดเกี่ยวกับ “ระดับพื้นฐานหรือระดับล่าง
ที่ทรงเปรียบเทียบกับคำว่ารากหญ้า”
เพื่อที่เมื่อได้เป็นใหญ่เป็นโตแล้วจะได้เข้าใจผู้ใต้บังคับบัญชา
สามารถให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือ “ร่วมทุกข์ร่วมสุข พร้อมทั้งดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี
เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา” ต่อไป
หลังจากได้อ่านเนื้อหาปรัชญาพระราชทานของรัชกาลที่
๑๐ เหล่านี้แล้ว บ่องตงว่าสามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย ไม่ต้องขบมาก
ไม่ซับซ้อนหลากหลายความหมายจนต้องตั้งเป็นหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมก็ได้
ทรงมีพระราชประสงค์ให้ข้าราชบริพารปฏิบัติการให้
“เป็นไปตามพระราชประเพณี
พระราโชบาย และพระราชนิยม” อย่างเคร่งครัดและเกินกว่าที่มุ่งหวังเสมอ
และหากทรงทอดพระเนตรเห็นข้าราชบริพารผู้ใดประพฤติไม่เหมาะสม ก็จะมิทรงนิ่งเฉยเป็นเด็ดขาด
ณ บัดนี้พระราชปรัชญาดังกล่าวมาได้ถูกประกาศบังคับใช้แต่ในแวดวงทหารผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์
และหากคณะทหารที่ยึดอำนาจแล้วทำการปกครองประเทศมาเป็นเวลาเกือบจะสี่ปี
ยังคงอำนาจกว้างขวางต่อไปอีก ๕-๒๐ ปีตามยุทธศาสตร์ชาติแล้วไซร้
Going forward ในระยะเวลาอันไม่ไกลนัก พสกนิกรโดยทั่วไปอาจได้สัมผัสผลแห่งปรัชญาพระราชทานอันแข็งแกร่งเหล่านั้นด้วยบ้างก็ได้
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar