torsdag 16 november 2017

ความดีฟีเวอร์ : คอลัมน์ ใบตองแห้ง.




ความดีฟีเวอร์ :ใบตองแห้ง

ความดีแปลว่าอะไร คนไทยรู้กันอยู่ แต่ฟีเวอร์แปลว่าอะไร เปิดพจนานุกรมแปลว่า “เป็นไข้” เปิด google อธิบายว่า (ภาษาปาก) คลั่ง คลั่งไคล้
 ความหมายฟังเหมือนไม่ค่อยดี แต่ความดีฟีเวอร์ ก็ดีเสมอในสังคมไทย ไม่เหมือนฟีเวอร์อื่นๆ ซึ่งมักจบไม่สวย เช่น ทักษิณฟีเวอร์ สนธิฟีเวอร์ (ยกเว้นลุงตู่ฟีเวอร์)

ปรากฏการณ์ “พี่ตูนฟีเวอร์” นับเป็นความดีฟีเวอร์โดย ไม่ต้องสงสัย สื่อบางฉบับยกให้เป็นซูเปอร์ฟีเวอร์ด้วยซ้ำ ซึ่งไม่รู้จะแปลอย่างไร เพราะถ้าแปลว่า “เป็นไข้ความดีหนักมาก” ก็แปลกอยู่
เข้าใจตรงกันนะ ความดีไม่มีใครเถียง แต่ฟีเวอร์นี่สิ อย่างน้อยก็น่าคิดวิเคราะห์ เมื่อจบปรากฏการณ์ ตูนวิ่งฝ่าคลื่นมหาชนล้นหลามจากใต้จรดเหนือ น่าจะมีนักวิชาการทำวิจัย ว่าปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ส่งผลต่อสังคมอย่างไร ทั้งด้านความดีและด้านฟีเวอร์
“ตูนฟีเวอร์” ให้แง่คิดวิเคราะห์ว่า กลไกวัฒนธรรมป๊อป กระแสสื่อ กระแสโซเชี่ยล เรียลลิตี้ เฟซบุ๊กไลฟ์ ฯลฯ สามารถเชิดชูปัจเจกชนขึ้นเป็น Saint ได้โดยไม่ต้องพึ่งกลไกรัฐ แม้ที่ผ่านมา จะมีการยกย่องเชิดชูคนดี แต่ไม่มีครั้งไหนยิ่งใหญ่เท่าครั้งนี้
แน่ละ ตูนมีหัวใจยิ่งใหญ่ แต่ก็ได้อานิสงส์จาก “วัฒนธรรม เซเลบ” คือความคลั่งไคล้ซุป”ตาร์ ซึ่งเติบโตมาเป็นฟีเวอร์สังคมไทย ในยุควัฒนธรรมบริโภคไหลท่วม ชอบดูละครไม่พอ ต้องตาม IG ตามข่าว ตามดูรายการเยี่ยมบ้านถึงห้องน้ำ

คนไทยคลั่งดาราเสียจนลุงบางคนบ่นว่า น่าจะสนใจฟังลุงพูดเรื่องบ้านเมืองบ้าง อย่ามัวแต่สนใจข่าวดาราจะรักจะเลิกกัน อยากให้เขากลับมาคืนดีกัน ทั้งที่ตัวเองผัวยังทิ้งอยู่เลย
ใช่ละ ตูนไม่เคยอยู่ในกระแสข่าวกากๆ อย่างนั้น แต่ ตูนพลิกวัฒนธรรมเซเลบมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม อันทำให้คนยกย่องว่า เป็นถึงซุป”ตาร์ จะนอนกระดิกเท้าสุขสบายอยู่บ้านก็ไม่มีใครว่า อุตส่าห์เสียสละมาวิ่งจากใต้จรดเหนือเพื่อโรงพยาบาล
ถ้าเป็นนาย ก. นาย ข. คงไม่มีคนตื้นตันขนาดนี้ นี่ไง ประโยชน์จากวัฒนธรรมเซเลบ เพียงแต่เมื่อมีรากจาก วัฒนธรรมเซเลบ เมื่อขับเคลื่อนด้วยกลไกวัฒนธรรมป๊อป มันก็มีฟีเวอร์ติดมาด้วย ซ้ำดูเหมือนจะอยู่ในช่วงสังคม โหยหาคนดี กระแสฟีเวอร์จึงไปกันใหญ่ ยิ่งกว่าครั้งบางสะพานหลายเท่า (อย่างที่ตูนก็คงไม่คาดคิดไว้)
ถามว่าความดีกับ(เซล)ฟีเวอร์ มันจะแค่พอดีๆ ได้ไหม ครั้งนี้คงไม่ได้แล้ว ตูนก็ต้องวิ่งโอบกอดคนแก่ ถ่ายภาพกับ เด็กเป็นกำลังใจ โตมาจะได้เป็นคนดี แต่บางทีก็ถูกรุมจนมีคนพลาดเหยียบเท้า เป็นอย่างนี้ไปจนถึงแม่สาย
ทำไมจะต้องวิเคราะห์วิจารณ์ฟีเวอร์ ในเมื่อประชาชนเขาอยากให้กำลังใจคนทำความดี ว่าที่จริง กระแสมหาชนอาจถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ ใครๆ ก็อยากออกมา แต่กระแสสื่อ กระแส Movement ดูเน้นไปที่การสร้างฟีเวอร์ สร้างอีเวนต์ จนเป็นด้านที่ท่วมท้นกว่า เรื่องอื่นๆ เช่นจะแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดแคลนอย่างไร ซึ่งน่าจะมีคนสนใจบ้าง กลับถูกกลืนหายไป

ถามว่าเมื่ออีเวนต์นี้จบ เราจะได้เงิน 3-4 พันล้านกับได้ตูนเป็นซูเปอร์ไอดอลความดี (ซึ่งที่จริงก็เป็นแล้วตั้งแต่บางสะพาน) เท่านั้นหรือ ในขณะที่ปัญหาต่างๆ ก็กลับไปเหมือนเดิม
ปัญหาของความดีฟีเวอร์ คือแยกจากกันไม่ได้ จนใครวิจารณ์ฟีเวอร์ก็กลายเป็น “ขัดขาคนดี” บางคนคิดว่าดีล้นดีเกินสิยิ่งดี จะได้มีเงินบริจาคเยอะๆ กระนั้นก็น่าจะมีคนไม่น้อยเลยละ ที่เห็นด้วยกับความดีที่
ตูนทำ หรือไม่ได้แอนตี้ แต่อึดอัดกับวัฒนธรรมฟีเวอร์ รู้สึกเป็นการตอกย้ำวัฒนธรรมเซเลบ หรือบางครั้งก็รู้สึกว่าการโหมโปรโมต ที่คนอื่นๆ เฮโลมาช่วยกันทำ “เว่อร์ไป”
ขณะเดียวกันก็ยังมีของแถมเหวี่ยงใส่คนเห็นต่าง เช่น อ.ชาญวิทย์ต้องแก้ความเข้าใจผิด ไม่ได้พูดว่า “ไม่บริจาคซักบาทเดียว” ไม่เช่นนั้นจะโดนด่าว่าใจดำ ไอ้แก่นี่เคยทำความดีอย่างพี่ตูนหรือเปล่า ทั้งที่ อ.ชาญวิทย์ก็ทำอะไรไว้มากมาย เพียงแต่ไม่เท่าตูนหรอก เพราะไม่ใช่เซเลบ

ว่าที่จริงในภาพรวมก็น่าเห็นใจตูน ซึ่งคงไม่อยากเป็น Saint เป็นนักบุญ ที่ใครแตะต้องไม่ได้ แค่อยากวิ่ง ด้วยสปิริตแล้วกลับไปใช้ชีวิตปกติ คงไม่คิดว่าจะฟีเวอร์ขนาดนี้ 
                                                            
                                                      ............................... 
ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ !! เปิด3สิ่งของมหามงคล..."ตูน บอดี้สเเลม" เเละทีมงาน "ก้าวคนละก้าว" เข้ารับพระราชทานจาก "ในหลวงร.10" (รายละเอียด)

วันเเห่งความปลื้มปีติ ของ ตูน บอดี้สเเลม เเละคณะทีมงาน โครงการ ก้าวคนละก้าว
"ถึงไม่เคยรู้จัก แต่รักหนู" คุณยายบริจาคเงินให้ตูน บอดี้สแลม ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้เลยว่าตูนเป็นใคร!! โครงการ "ก้าวคนละก้าว" (รายละเอียด)



Inga kommentarer:

Skicka en kommentar