“ผมเพียงแต่ถูกชวนไปทำบุญ”: เรื่องราวของ ‘นพฤทธิ์’ จำเลยมาตรา 112 คดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ
05/09/2016
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิในุษยชน
ปรากฏการณ์หนึ่งของการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
หรือข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557
คือมีการใช้ข้อกล่าวหานี้ดำเนินคดีกับบุคคลจำนวนมากที่ “แอบอ้าง”
พระนามของพระมหากษัตริย์หรือบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้
เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน
แม้ก่อนการรัฐประหารจะปรากฏกรณีลักษณะนี้อยู่บ้างแล้ว แต่การใช้มาตรา 112
ในคดีลักษณะแอบอ้างดังกล่าว กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหลังรัฐประหาร
ทั้งจำนวนมากเป็นการดำเนินการกับกลุ่มบุคคลสำคัญต่างๆ อีกด้วย เช่น
กรณีพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ พี่น้องอัครพงษ์ปรีชา และพวก, กรณี
“หมอหยอง” และพวก หรือล่าสุดในกรณีของ “หญิงไก่” และพวก
คดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเรียกผลประโยชน์
ที่จังหวัดกำแพงเพชร เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ปรากฏขึ้นหลังรัฐประหาร
ในคดีนี้นอกจากจะมีปัญหาทางกฎหมายในเรื่องการใช้ข้อกล่าวหาเรื่องมาตรา 112
กับลักษณะความผิดฐานแอบอ้างหาประโยชน์แล้ว
ยังมีปัญหาเรื่องสถานะของสมเด็จพระเทพฯ
ว่าเป็นบุคคลตามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 หรือไม่
เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นจากกรณีมีการปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ
กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
พร้อมนำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร
และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
มาร่วมในพิธีของวัดได้
โดยมีการกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวงไปร่วมงานของวัด
พร้อมมีการเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย
ต่อมา กรรมการของวัดดังกล่าวเข้าแจ้งความดำเนินคดี
ทำให้มีผู้ถูกจับกุมและตั้งข้อกล่าวหา 4 คน ได้แก่ นางอัษฎาภรณ์,
นายกิตติภพ, นายวิเศษ และนายนพฤทธิ์ (ขอสงวนนามสกุล)
ในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 และความผิดในการร่วมกันปลอมเอกสารราชการ
โดยนายกิตติภพและวิเศษยังถูกกล่าวหาในข้อหาสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการติดต่อจากญาติ
เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายหนึ่งในจำเลยในคดีนี้ ได้แก่ นายนพฤทธิ์
โดยญาติและตัวผู้ต้องหาเองให้ข้อมูลตลอดมาว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวแต่อย่างใด
เรื่องเล่าต่อจากนี้
เป็นเรื่องราวสำหรับทำความรู้จักกับผู้ชายคนหนึ่งที่ตกไปเป็นจำเลยร่วม
ที่มาที่ไปของคดีในแง่มุมที่เกี่ยวกับตัวเขา และ “วิบากกรรม”
ที่เขาและครอบครัวต้องประสบ
พร้อมกับคำยืนยันว่าเขาเพียงแต่ถูกอดีตรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยชักชวนไปร่วมเป็นเจ้าภาพในการทำบุญ
ไม่ได้ทราบเรื่องหรือร่วม การ “กระทำผิด” ใดๆ
แต่กลับถูกคุมขังในระหว่างการต่อสู้คดีมากว่า 1 ปีแล้ว…
จากหนุ่มนักมวยอุบลฯ สู่พนักงานบริษัทในกรุงเทพ
นพฤทธิ์ เป็นชายผิวคล้ำร่างเล็ก ปัจจุบันอายุ 29 ปี
พื้นเพครอบครัวเป็นคนอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี
พ่อและแม่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ทำนาทำไร่และเลี้ยงสัตว์ มีลูกชายทั้งหมด 4
คน แต่ละคนอายุไม่ห่างกันมากนัก โดยนพฤทธิ์เป็นลูกชายคนที่ 3
เขาเรียนจบชั้นประถมและมัธยมต้นในจังหวัดอุบลราชธานี
แล้วจึงเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนวัดในกรุงเทพฯ
ตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมปลาย นพฤทธิ์เริ่มหัดชกมวยสากลสมัครเล่น
จนได้เป็นนักกีฬาของโรงเรียน และได้โควตานักกีฬาเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย
ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระหว่างเรียน
เขายังคงชกมวยอยู่ในชมรมมวยสากล และได้เป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัย
โดยชกในรุ่นไลท์เวท น้ำหนักเกิน 57 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 60 กิโลกรัม
ในช่วงระหว่างเรียนและต่อเนื่องมาจากจนหลังเรียนจบ
นพฤทธิ์ยังเข้าทำงานเป็นดีเจเปิดเพลงในร้านอาหาร เพื่อลดภาระของครอบครัว
และหารายได้ในการเรียนของตนเอง
ต่อมา ด้วยทักษะภาษาอังกฤษค่อนข้างดี หลังเรียนจบ
นพฤทธิ์ได้เข้าทำงานเป็นพนักงานขายที่บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
ตั้งแต่ช่วงปี 2556
บริษัทดังกล่าวมีชื่อเสียงระดับเป็นผู้สนับสนุนทีมกีฬาฟุตบอลในยุโรป
โดยเขาได้เงินเดือนๆ ละ 30,000 บาท ทั้งในช่วงกลางคืน
นพฤทธิ์ยังไปทำงานเป็นดีเจเปิดเพลงในร้านค็อกเทลอีกด้วย
งานนี้ให้รายได้เขาอีกเดือนละ 25,000 บาท
กล่าวได้ว่ารายได้ต่อเดือนของเขาค่อนข้างพอเพียงกับการใช้ชีวิตในกรุงเทพ
และยังสามารถส่งเงินกลับไปดูแลพ่อกับแม่ที่อุบลราชธานีได้อีกจำนวนหนึ่ง
นพฤทธิ์ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางเมือง
หรือร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อสีใดๆ มาก่อน เขามุ่งมั่นทำมาหากิน
สร้างฐานะและครอบครัว ไม่เคยกระทำผิดทางอาญา
ทั้งไม่ได้สนใจใส่ใจเรื่องการเมืองของประเทศมากนัก
จึงไม่ได้รับรู้รับทราบเรื่องราวการใช้กฎหมายมาตรา 112
จนกระทั่งมาเผชิญกับตนเอง
ไม่นานก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เขาพบรักกับภรรยาสัญชาติญี่ปุ่น
ที่อายุน้อยกว่านพฤทธิ์หนึ่งปี
เธอทำงานเป็นพนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
และได้รู้จักกันขณะไปเที่ยวที่ร้านค็อกเทลที่เขาทำงานอยู่ หลังคบหากัน
ทั้งคู่ตกลงใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน โดยงานแต่งงานมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2558
ก่อนไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกันที่เขตบางรักเมื่อวันที่ 20
สิงหาคม….หนึ่งวันก่อนหน้าฝ่ายชายจะถูกจับกุม
เมื่อรุ่นพี่ชักชวนไปทำบุญ แต่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112
จากปากคำของนพฤทธิ์ เขาไม่เคยรู้จักนางอัษฎาภรณ์ จำเลยที่ 1 และนายกิตติภพ
จำเลยที่ 2 ในคดีนี้มาก่อน แต่รู้จักนายวิเศษ จำเลยที่ 3
ในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ในชมรมมวยสากล และเป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัยด้วยกัน
แต่ก็ไม่ได้ถึงกับสนิทสนมกันมากนัก หลังจากเรียนจบก็แทบไม่ได้พบกัน
จะมีโอกาสได้เจอกันบ้างตามงานเลี้ยงสังสรรค์หรืองานทำบุญของชมรมมวยสากล
แต่นายวิเศษนี่เองที่เป็นผู้ชวนเขาไปร่วมทำบุญ
จนเป็นที่มาของการถูกดำเนินคดีนี้
หลังจากไม่ได้เจอกันนาน นพฤทธิ์เล่าว่าในช่วงต้นปี 2558
วิเศษได้โทรศัพท์ติดต่อสอบถามเรื่องงานแต่งงานของเขา
และวันแต่งงานในเดือนมีนาคม 2558 นายวิเศษได้เดินทางไปร่วมงาน
โดยพากิตติภพ ที่ถูกแนะนำว่าเป็นเพื่อนร่วมงานมาด้วย
แต่ในวันนั้นยังไม่ได้มีการพูดคุยกันมากนัก เพียงทักทาย กล่าวอวยพร
และนายวิเศษได้เปรยสั้นๆ ขึ้นว่าจะชวนไปทำบุญด้วยกัน
จนหลังงานแต่งงานราว 2-3 อาทิตย์ วิเศษได้โทรศัพท์มาหานพฤทธิ์อีกครั้ง
โดยชักชวนให้ไปร่วมเป็นเจ้าภาพในการทำบุญโรงทานที่วัดในจังหวัดกำแพงเพชรในวันที่
26 เมษายน แต่การพูดคุยครั้งนั้น นพฤทธิ์ยังไม่ได้รับปากจะเดินทางไปด้วย
เนื่องจากติดภารกิจส่วนตัว
จนเมื่อใกล้วันทำบุญนายวิเศษได้โทรศัพท์มาชวนอีกครั้ง และวันที่ 25 เมษายน
วิเศษและกิตติภพได้มาพูดคุยชักชวนนพฤทธิ์ถึงที่ร้านค็อกเทลที่เขาทำงานอยู่
ด้วยความเกรงใจเห็นว่าเป็นเพื่อนรุ่นพี่ และยังออกปากชวนหลายครั้ง
ทำให้นพฤทธิ์รับปากเดินทางไปทำบุญด้วยในที่สุด
ในการเดินทางวันที่ 26 เมษายนนั้น
นพฤทธิ์เล่าว่าเขานอนหลับแทบตลอดการเดินทาง
เพราะงานที่ร้านค็อกเทลกว่าจะเลิกก็เกือบ 2.00 น.
และคนชักชวนได้นัดหมายนำรถตู้มารับตั้งแต่เวลา 3.00 น.
เพื่อไปให้ทันงานที่วัดในช่วงเช้า
ช่วงเช้าวันนั้น เมื่อเดินทางถึงกำแพงเพชร
วิเศษและกิตติภพได้พานพฤทธิ์ไปที่บ้านที่ระบุว่าเป็นบ้านญาติของกิตติภพ
และได้มีการแนะนำให้รู้จักกับอัษฎาภรณ์ โดยแนะนำว่าเธอเป็นน้าของกิตติภพ
แต่หลังจากวันนั้น เขาก็ไม่ได้พบกับเธออีก
จนกระทั่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีเดียวกัน
หลังทำธุระส่วนตัวต่างๆ ทั้งหมดจึงพากันเดินทางไปที่วัดไทรงาม เมื่อไปถึง
นพฤทธิ์จึงทราบว่าเป็นการทำบุญอายุวัฒนะครบรอบวันเกิดของเจ้าอาวาสวัด
และเขาก็เพิ่งเคยมาวัดแห่งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อไปถึง
ได้มีลูกศิษย์ลูกหาของทางวัดเข้ามารอต้อนรับ
ก่อนจะเชิญไปนั่งบริเวณที่นั่งประธานในพิธี
โดยวิเศษระบุกับนพฤทธิ์ว่ามานั่งที่ดังกล่าวเพราะเราเป็นเจ้าภาพร่วมกัน
หลังจากนั้นก็มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ
โดยมีการเชิญนพฤทธิ์ไปจุดธูปเทียนบูชา และพระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์
หลังเสร็จสิ้นพิธี ทั้งหมดจึงพากันไปเที่ยวชมโรงทาน
ก่อนเดินทางไปกินข้าวกลางวัน
และกล่าวลาญาติผู้ใหญ่ที่บ้านของญาติกิตติภพที่ได้มาในตอนเช้า
จากนั้นทั้งสามคนก็เดินทางกลับกรุงเทพในช่วงบ่าย
นพฤทธิ์เล่าว่าหลังจากเหตุการณ์ไปทำบุญครั้งนั้น ก็ไม่สามารถติดต่อวิเศษได้อีก และเขายังคงทำงานและใช้ชีวิตไปตามปกติ…
ข้อหาอัน “หนักหน่วง” กับการสูญเสียอิสรภาพ
วันที่ 21 สิงหาคม 2558
มันเป็นวันหลังจากที่เขาไปจดทะเบียนสมรสกับภรรยาชาวญี่ปุ่น วันนั้น
นพฤทธิ์ไปอบรมงานที่นอกสำนักงาน เมื่อถึงช่วงเที่ยงๆ
หัวหน้างานฝ่ายบุคคลที่บริษัทได้โทรศัพท์มาให้เขากลับเข้าไปพบโดยด่วน
แต่เมื่อไปถึง กลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ด้วยกับหัวหน้างาน
พร้อมกับแสดงหมายจับที่มีชื่อเขาอยู่บนหมายให้ดู
หมายดังกล่าวระบุข้อหาตามประมวลกฎหมายมาตรา 112…หมิ่นประมาท ดูหมิ่น
และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
“ความรู้สึกคือช็อกและตกใจมาก เพราะไม่รู้เรื่องเลย อยู่ๆ ก็มีหมายจับมา
เห็นข้อหาแล้วก็ยิ่งงง ตกใจมาก เพราะเป็นข้อหาที่หนัก
ไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเองถึงโดนข้อหาอาฆาตมาดร้ายแบบนี้ แทบตกเก้าอี้
ตกใจมาก” นพฤทธิ์เล่าถึงความรู้สึกตอนเห็นหมายจับดังกล่าว
เขาถูกควบคุมตัวทันที การจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่มีหมายเรียก
เจ้าตัวผู้ถูกจับเอง ก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนเองถูกกล่าวหาดำเนินคดี
และไม่ได้มีการหลบหนีใดๆ เขาถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจในเขตพื้นที่
ก่อนจะถูกคุมตัวเดินทางไปยังจังหวัดกำแพงเพชร
วันที่ 22 สิงหาคม
นพฤทธิ์ถูกควบคุมตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรไทรงาม
สถานีตำรวจเจ้าของคดีนี้ โดยระหว่างการสอบสวน
เขาไม่มีญาติและทนายความอยู่ด้วย
ข้อมูลตามข้อกล่าวหาระบุว่าตัวเขาร่วมกันกับผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้สามคน
แอบอ้างว่าเป็น “หม่อมหลวง” ไปหลอกลวงวัดไทรงาม
โดยการปลอมแปลงเอกสารสำนักพระราชวัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งมีการอ้างดำเนินการเรื่องการกราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี เพื่อเสด็จเป็นองค์ประธานงานพิธีตัดหวายลูกนิมิต
ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ
โดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้วัดและประชาชนหลงเชื่อ
นพฤทธิ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
และยืนยันว่าไม่เคยเห็นเอกสารที่อ้างว่าถูกปลอมแปลงดังกล่าว
และไม่เคยได้รับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ จากเรื่องราวดังกล่าวเลย
จากคำบอกเล่าของอภิชาติ พี่ชายคนโตของครอบครัว หลังจากน้องชายลูกจับ
นพฤทธิ์ได้ติดต่อแจ้งไปยังเพื่อนและน้องชายคนเล็ก
น้องชายคนเล็กจึงโทรมาแจ้งพี่ๆ ว่านพฤทธิ์ถูกจับในคดี “หมิ่นเบื้องสูง”
และถูกส่งตัวไปที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยทราบเพียงว่าไปทำบุญกับเพื่อน
ก็เลยโดนข้อหาไปด้วย
ทางพี่น้องพยายามประสานหาทนายความและเดินทางไปยื่นเรื่องขอประกันตัวในชั้นสอบสวน
โดยครั้งแรกใช้หลักทรัพย์ราว 5 แสนบาท แต่ก็ไม่ได้อนุญาตให้ประกันตัวออกมา
ทำให้นพฤทธิ์ต้องถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำกำแพงเพชร…ตั้งแต่วันนั้น
อิสรภาพของเขาก็หมดลง
ในช่วงแรกหลังการจับกุม ลูกๆ ตัดสินใจไม่บอกพ่อกับแม่ที่จังหวัดอุบลราชธานี
เพราะกลัวว่าทั้งคู่จะช็อกกับข่าวคราวนี้ แต่เมื่อผ่านไป 1 อาทิตย์
จึงตัดสินใจแจ้งพ่อกับแม่ให้ทราบ เพราะเห็นว่านพฤทธิ์ถูกคุมขังอยู่
และยังไม่ได้ออกมา
“พ่อแม่ช็อกไปอยู่พักหนึ่ง ตอนแรกกินข้าวไม่ได้ กินแล้วอยากจะอ้วกออกมา
เกิดความเครียด กลุ้มอกกลุ้มใจ กังวลตลอด ว่าลูกจะเป็นยังไง จะอยู่ยังไง
เหมือนกับลงแดง แล้วพอมาเจอลูกที่เรือนจำ พ่อเราร้องไห้
เราไม่เคยเห็นพ่อแม่เราร้องไห้ต่อหน้าเรามาก่อนเลย
“ถึงตอนนี้ แม่ก็ยังทำใจไม่ได้ แม่เคยมาเยี่ยมครั้งเดียว
ตอนที่มาศาลในนัดสมานฉันท์ ตอนกลับแกร้องไห้ไปตลอดทาง ทำใจไม่ได้
มาเห็นลูกตัวเองในสภาพนักโทษแบบนี้ เลยไม่ได้มาอีก
เพราะพ่อเห็นว่าถ้ามาเจอลูก จะยิ่งทุกข์หนักกว่าเดิม เลยให้พ่อมาแทน
แล้วค่อยไปเล่าให้แม่ฟัง” อภิชาติ พี่ชายของนพฤทธิ์
เล่าถึงสถานการณ์ของพ่อกับแม่หลังทราบเรื่องการถูกจับกุมคุมขังของลูกชาย
กว่า 1 ปี ของการคุมขัง และการสืบพยานที่ยังไม่เริ่มต้น
คดีนี้ถูกส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชรเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558
โดยมีนพฤทธิ์เป็นจำเลยที่ 4
โดยในชั้นสอบสวนและการถามคำให้การของศาลในครั้งแรก จำเลยทั้ง 4
คนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หากต่อมาในระหว่างรอคอยการเริ่มต้นสืบพยาน
กิตติภพและวิเศษได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอกลับให้การในคดี
โดยยอมรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทุกข้อกล่าวหา
30 พฤษภาคม 2559 ศาลกำแพงเพชรได้อ่านพิพากษาของจำเลยสองคนที่รับสารภาพ
โดยลงโทษทั้งคู่ตามความผิดมาตรา 112 ให้จำคุก 4 ปี
ความผิดข้อหาสวมเครื่องแบบของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ ให้ลงโทษจำคุก 4
เดือน และความผิดข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารราชการ ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี
รวมโทษจำคุก 7 ปี 4 เดือน แต่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
จึงลดโทษเหลือโทษจำคุกคนละ 3 ปี 8
เดือน…ศาลอ่านคำพิพากษาเฉพาะส่วนการกำหนดโทษของจำเลย
แต่ไม่ได้อ่านในส่วนรายละเอียดคดีและข้อวินิจฉัยทางกฎหมายต่างๆ
หลังจำเลยร่วมอีกสองคนรับสารภาพตามข้อกล่าวหา
ขณะที่อัษฎาภรณ์และนพฤทธิ์ยังยืนยันให้การปฏิเสธเช่นเดิม
ศาลได้ให้อัยการแยกฟ้องจำเลยทั้งสองคนเข้ามาเป็นคดีใหม่
กระบวนการดำเนินคดีจึงกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง…
ตลอด 1 ปี ของการถูกคุมขัง
ครอบครัวของนพฤทธิ์พยายามยื่นประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาลมาแล้วทั้งหมด
5 ครั้ง แต่ศาลยังคงไม่อนุญาต แม้ครั้งหลังๆ
จะยื่นด้วยหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินราคาประเมินกว่า 1.7 ล้านบาทก็ตาม
แต่ศาลยังคงปฏิเสธการให้ประกันตัว โดยระบุในลักษณะเดิมว่าคดีมีหลายข้อหา
และพฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี
หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน โดยในคำฟ้องคดีนี้
พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการประกันตัวของจำเลย
แต่ขอให้การปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ในดุลยพินิจของศาล
ทนายความของนพฤทธิ์ยังได้พยายามยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น
ว่าสมเด็จพระเทพฯ เป็นบุคคลตามความหมายแห่งมาตรา 112 หรือไม่
ซึ่งศาลเห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานปลอมเอกสารราชการด้วย
แม้จะวินิจฉัยเรื่องมาตรา 112 ก็ไม่ทำให้คดีแล้วเสร็จ
ยังคงต้องนำสืบพยานในข้อหาอื่นอีก
จึงเห็นควรให้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยให้เสร็จสิ้นก่อน
และรอวินิจฉัยพร้อมกับคำพิพากษา
ในคดีที่ถูกฟ้องมาใหม่นี้
ศาลกำแพงเพชรได้นัดตรวจพยานหลักฐานไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
และนัดหมายสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 22-24 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้
“ดีที่นพฤทธิ์เป็นคนปรับตัวง่าย คิดบวก และคิดดี ทำให้เขายังแข็งแกร่งอยู่
เพียงแต่เขาไม่เข้าใจว่าทำไมกระบวนการมันถึงล่าช้ามากแบบนี้
และทำไมถึงไม่ได้รับการประกันตัว เพราะเขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิด
เราเชื่อว่าคดีเราสู้ได้อยู่แล้ว แต่ขอให้เราได้ประกันตัว คดีจะ 2 ปี 3 ปี
เราก็พร้อมจะสู้ แค่ขอออกไปต่อสู้ เขาไม่เคยคิดจะหลบหนีเลย
“พอมาโดนจับแบบนี้ ติดต่อใครก็ไม่ได้ จะหาพยานหลักฐานก็ไม่สะดวก
ต้องให้ญาติข้างนอก ที่ก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไร ไม่ได้รู้ว่าใครเป็นใคร
ไปติดต่อแทน ทำให้การต่อสู้คดีมันยากมาก”
พี่ชายของนพฤทธิ์เล่าถึงปัญหาการหาหนทางช่วยเหลือน้องชายต่อสู้คดีขณะถูกคุมขัง
“วิบากกรรม” ของชีวิตลูกผู้ชาย
ครอบครัวหรือเพื่อนของนพฤทธิ์ไม่มีใครอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรเลย
พ่อกับแม่อยู่อุบลราชธานี ขณะพี่น้องก็ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ
และจังหวัดในภาคอีสาน ทำให้ต่างเดินทางมาเยี่ยมค่อนข้างลำบาก
แม้พี่ชายจะพยายามเดินทางมาเยี่ยมเดือนละหนึ่งครั้งก็ตาม ส่วนพ่อในวัย 69
ปี ก็ทำได้เพียงเดินทางมาเยี่ยมเมื่อมีนัดศาล
ซึ่งจะมีเวลาได้พูดคุยกับลูกชายมากกว่าเข้าเยี่ยมในเรือนจำ
ที่มีเวลาเยี่ยมเพียงครั้งละ 15 นาที
ในแต่ละนัด พ่อจะขับจากอุบลฯ มายังขอนแก่น เพื่อพบลูกชายคนโต
และเดินทางไปยังกำแพงเพชรด้วยกัน ทุกครั้ง พ่อจะพบลูกชายในชุดนักโทษ
มือเท้าถูกจองจำด้วยโซ่ตรวนและกุญแจมือ
ในห้วงเวลานั้น…ก้อนสะอื้นจะจุกในลำคอ มีหยาดน้ำตาซึมบางๆ และพูดอะไรไม่ออก
ได้แต่เข้าสวมกอดลูกในห้องพิจารณาคดี
“พูดแล้วมันแค้น เหมือนเป็นวิบากกรรม ไม่เคยทำอะไรเลยแท้ๆ
มาเจอแบบนี้…คุยกับเขา (ลูก) แล้ว มันกลั้นน้ำตาไม่อยู่ สงสารลูก
ไม่ได้ทำผิด แต่มาโดนแบบนี้ เหมือนไปทำบุญ แต่ได้บาป มันเป็นกรรมอะไรของเรา
เราไม่ได้หมิ่นเบื้องสูงอะไรเลย เราเพียงแต่โดนหลอกไปทำบุญ”
พ่อของนพฤทธิ์บอกเล่าถึงความรู้สึกเมื่อเห็นลูกชายในศาล
บิดานายนพฤทธิ์ ขณะรอเข้าเยี่ยมลูกชายทีห้องขังใต้ถุนศาล
ผลกระทบสำคัญของการถูกดำเนินคดีและถูกคุมขัง คือเรื่องหน้าที่การงาน
ในตอนแรกนพฤทธิ์และญาติเข้าใจว่าทางบริษัทที่ทำงานจะให้นพฤทธิ์ออก
แต่เมื่อครอบครัวประสานพูดคุยกับทางบริษัท
หัวหน้างานกลับยังเปิดโอกาสให้เขา โดยเห็นว่าที่ผ่านมาเขาเป็นคนดี
และทำงานเป็นพนักงานที่ดีคนหนึ่ง บริษัทจึงให้สถานะ
“ลางานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง” เอาไว้ ถ้าต่อสู้คดีจนพ้นผิด
ก็สามารถกลับมาทำงานตามเดิมได้ แต่หากถูกพิพากษาว่ามีความผิด
ก็จะต้องถูกให้พ้นสภาพงานไป
หากเรื่องที่นพฤทธิ์กังวลใจอย่างมากกลับเป็นครอบครัว
เรื่องแรกคือพ่อกับแม่ที่อุบลราชธานี ก่อนถูกจับ
เขาดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วนของพ่อกับแม่อยู่
และยังออกเงินผ่อนรายเดือนเพื่อซื้อรถให้กับพ่อได้ใช้ เมื่อถูกจับ
ทำให้พ่อต้องตัดสินใจขายทรัพย์สินที่บ้านบางส่วน
เพื่อนำเงินมาผ่อนชำระค่ารถยนต์ให้หมดไป ทั้งเดิม
นพฤทธิ์ยังวางแผนจะสร้างบ้านหลังใหม่ให้กับพ่อกับแม่
แต่ความคิดฝันนั้นก็ต้องสะดุดลง
อีกเรื่องหนึ่งของความกังวลใจ คือเรื่องภรรยาชาวญี่ปุ่น
เธอไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้
และยังเผชิญกับเรื่องที่เธอแทบไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับสามีที่เพิ่งแต่งงานกัน
ทั้งเธอก็ไม่ได้สนิทกับญาติของทางฝ่ายสามีมาก ช่วงแรกๆ
เธอยังพยายามเดินทางไปพบเขาในวันที่มีนัดศาลที่จังหวัดกำแพงเพชร
แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เธอค่อยๆ หายไป
โดยญาติของนพฤทธิ์ก็ไม่สามารถติดต่อได้…ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยคู่สามีภรรยายังแทบไม่ได้ใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน
“ภรรยาของนพฤทธิ์ไม่เข้าใจเลยว่ากระบวนการนี้คืออะไร
ไม่เข้าใจว่าทำไมแฟนเขาเจอแบบนี้ เขาไม่มีรถ เดินทางก็ไม่สะดวก
พูดไทยก็ไม่ค่อยได้ จะมาเยี่ยมที่กำแพงเพชรคนเดียวก็ไม่ได้ ตอนหลังๆ
ก็ติดต่อเขาไม่ได้เลย ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ทำให้น้องเราเครียดไปด้วย
ว่าแฟนไม่มาด้วย เราก็ได้แต่ปลอบใจ
“เขายังเสียชื่อเสียง เพื่อนร่วมงาน อาจจะสงสัยว่าเขาไปทำอะไร
แม้จะสู้ชนะคดี แต่มีภาพว่าไปติดคุก เสียทุกอย่าง แทบไม่เหลืออะไรเลย
ถ้าเขาไม่ใช่คนใจเข้มแข็ง เขาก็อาจมีชีวิตอยู่ไม่ได้แล้ว”
อภิชาติเล่าถึงสถานการณ์ที่น้องชายกำลังเผชิญ
เมื่อเล่าถึงเรื่องราวชีวิตของนพฤทธิ์ หลายคนที่รู้จัก
ล้วนบอกเล่าว่าชีวิตของเขากำลังไปได้ด้วยดี ลูกผู้ชายในวัยใกล้ 30 ปี
เรื่องหน้าที่การงานกำลังก้าวหน้า บริษัทกำลังขยายสาขาออกไป
เขาอาจจะได้ขยับตำแหน่งขึ้น เรื่องรายได้ที่กำลังค่อยๆ เก็บหอมรอมริบ
และเรื่องครอบครัว ที่กำลังเริ่มก่อร่างสร้างหนทางชีวิตด้วยกันกับภรรยา
วางแผนคิดฝันจะมีลูกด้วยกัน
เมื่อบอกเล่าเรื่องเหล่านี้
ตัวนพฤทธิ์เองจะทำมือเป็นกราฟเฉียงพุ่งขึ้นข้างบน
ก่อนจะทิ้งมือเป็นเส้นตรงดิ่งลงมาอย่างรวดเร็ว
ให้ภาพของเส้นทางชีวิตที่กำลังก้าวหน้าขึ้นไป
หากกลับถูกทำให้พังทลายลงในฉับพลันทันที
และยังไม่รู้จะเก็บกู้คืนได้อย่างไร
“ซวยจริงๆ เราไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาแค่ชวนให้ไปทำบุญ ผมก็ไป”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar