อยากสงบอย่ามีเลือกตั้ง : คอลัมน์ ใบตองแห้ง
ดีใจไหมได้เลือกตั้ง ดีใจอะไรกัน
เลื่อนมาแล้วกี่ครั้ง ถ้าทำตามคำมั่นสัญญา อย่างช้ามีเลือกตั้ง พ.ย.61
ป่านฉะนี้คงมีรัฐบาลใหม่ แต่ทวงถามไม่ได้
คนอยากเลือกตั้งออกมาเรียกร้องก็กลายเป็นฝ่ายผิด ถูกจับกุมคุมขัง ถูกคุกคาม
ถูกหาว่าเป็นพวกรับจ้างสร้างความวุ่นวาย เป็นคนไม่กี่ร้อยในคนไทย 70 ล้าน
อ้าว ไหงพอมีเลือกตั้ง
กลับไชโยโห่ร้องกันทั้งประเทศ หุ้นก็ขึ้น
ทั้งที่พวกภาคธุรกิจนี่แหละชี้หน้าด่าคนอยากเลือกตั้งทำบ้านเมืองไม่สงบ
แต่ตัวเองรอรับอานิสงส์
นี่คือสังคมไทย อยากเลือกตั้งแทบตาย แต่ต้องรอผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต รอคำสั่งให้ดีใจได้ เอ้า ไชโยสิ ดีใจได้แล้ว ไชโย!
ทันทีที่มีเลือกตั้ง รัฐบาลก็ออกแถลงการณ์
ขอให้ประชาชนช่วยกันรักษาบรรยากาศแห่งความสงบ สามัคคี มาตามสูตร
“สามัคคีก่อนเลือกตั้ง” อย่าขัดแย้งพิพาทบาดหมางกันอีก
พรรคการเมืองก็หาเสียงด้วยการเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ประชาชนก็ขอให้รู้เท่าทัน ไปใช้สิทธิกันให้มากที่สุด
บลาๆๆ พูดยังกะเป็นพระมาโปรด
เป็นผู้ใหญ่มาสอนสั่ง ไม่ใช่คณะรัฐประหารที่ล้มล้างประชาธิปไตย
ยึดอำนาจไปจากประชาชน จนไม่ได้เลือกตั้งมา 5 ปี
คณะรัฐประหารที่ใช้ปืนใช้รถถังฉีกรัฐธรรมนูญ
ออกคำสั่งเป็นกฎหมาย ตั้ง สนช.มาปั๊มกฎหมาย ปั๊มองค์กรอิสระ
ตั้งตัวบริหารประเทศ ใช้ ม.44 แต่งตั้งโยกย้าย ตั้ง กรธ.มาร่างรัฐธรรมนูญ
แล้วทำประชามติข้างเดียวโดยไม่มีทางเลือก
มีสิทธิอะไรมาบอกให้ประชาชนเคารพเชื่อฟัง
เดินตามกฎกติกาที่กำหนดให้อย่างสงบ ยอมรับระบบ โครงสร้าง ที่ คสช.วางไว้
“อย่าทำลายรากฐาน” ทั้งที่เป็นการวางเสาเข็ม สถาปนาอำนาจรัฐรวมศูนย์ราชการ
ระบอบทหารและนักตีความกฎหมายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นปรปักษ์ประชาธิปไตย
ฝังรากไว้ในโครงสร้างประเทศ
หนำซ้ำยังไม่ใช่การวางรากตอกเสาเข็มแล้วถอยฉาก
ตัวเองยังอยากสืบทอดอำนาจผ่านพรรคการเมืองที่ดูด ส.ส.มารับใช้
ทำทุกวิถีทางให้ชนะ เอาเปรียบด้วยกลไกอำนาจและงบประมาณ
อย่างนี้หรือที่จะบอกให้ประชาชนอยู่ในความสงบ
พรรคการเมืองต่างๆ ก็หาเสียงกันไป ชูนโยบายขายฝัน เกิดปั๊บรับแสน
ส.ป.ก.ทองคำ แบ่งปันกำไรข้าว ฯลฯ อย่ามายุ่งกับรัฐธรรมนูญ ส.ว.แต่งตั้ง
กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายจัดระเบียบ รวมศูนย์อำนาจ มหาดไทย กองทัพ
กอ.รมน. และกฎหมายต่างๆ ที่ สนช.ปั๊มไว้เช่น พ.ร.บ.คอมพ์ กฎหมายไซเบอร์
พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ฯลฯ
พรรคการเมืองใดที่ไม่ประกาศนโยบายรื้อล้างโครงสร้าง
เสาเข็มที่ คสช.ฝังไว้
ก็อย่าบอกเลยว่าตัวเองเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ยึดมั่นในระบอบรัฐสภา
เพราะเท่ากับคุณยอมรับว่ารัฐประหารถูกต้องรัฐประหารวางรากฐานให้ประเทศเดินหน้า
(แล้วประชาธิปไตยมาทำเละเดี๋ยว 4-5 ปีก็ต้องรัฐประหารใหม่)
ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของความสงบ เคารพ
เชื่อฟัง เพราะประชาธิปไตยใช้กับสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ ที่มีความขัดแย้ง
มีความเห็นต่าง มีผลประโยชน์ที่แตกต่าง ของคนแต่ละกลุ่ม แต่ละชนชั้น
แต่ละสาขาอาชีพ ซึ่งต้องต่อสู้ต่อรองกัน
ประชาธิปไตยจึงต้องมีการเลือกตั้ง
มีหลักการเข้าสู่อำนาจของเสียงข้างมาก
มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพเสียงข้างน้อย เพื่อเป็นกติกาต่อรองผลประโยชน์
ซึ่งเป็นหัวใจของการเมือง
การเมืองคือเรื่องของการต่อสู้ขัดแย้ง
ต่อรองผลประโยชน์ โดยประชาธิปไตยคือระบอบเปิด
เพื่อให้ความขัดแย้งสามารถตกลงกันอย่างสันติ
เพื่อให้มีการใช้อำนาจอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่สังคมไทย ชนชั้นนำไทย
กลับปลูกฝังว่าประชาธิปไตยคือความวุ่นวาย คือการเอาอำนาจไปให้นายทุน
อย่าเชื่อประชาธิปไตย ต้องเชื่อธรรมาธิปไตย
คนไทยอย่าแก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์กัน
จงเชื่อคนดีที่มักจะขี่รถถังมาจัดสรรผลประโยชน์ให้
ซึ่งถ้าเชื่อว่าระบอบนี้ดี ก็อย่ามีเลือกตั้งสิ มีทำไม ถ้าเชื่อว่า คนดีคนเก่งต้องมาจากทหารจะเลือกตั้งไปไย
พวกเชื่อธรรมาธิปไตยนี่น่าจะหาพระไปเทศน์โปรด
ร.พ.เอกชน จะได้ไม่ต้องคุมราคา แต่เท่าที่เห็นมา ร.พ.เอกชนราคามหาโหด
กลับแจกหนังสือธรรมะ (สงสัยให้ทำใจ เงินทองเป็นของนอกกาย)
ความสงบในความหมายของผู้มีอำนาจ
คือให้ยอมรับโครงสร้างอำนาจ ที่จัดลำดับชั้นไว้แล้ว ควบคุมโดยชนชั้นนำ
ที่มาจากการแต่งตั้ง มาจากการไต่เต้าตามระบบราชการ จนเป็น
ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็นปลัด เป็นประธาน เป็นอธิการบดี เป็นเทคโนแครต
ที่อยู่ในคอนเน็กชั่น ร่วมกันจัดสรรผลประโยชน์ ให้คนระดับต่างๆ
ตั้งแต่สัมปทานรถไฟไปถึงบัตรคนจน
การเลือกตั้งที่ต้องเป็นไปอย่างสงบ
คือเปิดให้นักการเมืองเข้ามาสมทบในโครงสร้าง
แต่อย่ามารื้อล้างอย่ามากุมอำนาจตัดสินใจ กำหนดนโยบาย อย่างทักษิณ
ไทยรักไทย ถ้าประชาชนเลือกมาอย่างนั้นเมื่อไหร่ รถถังก็ต้องออกมาปกป้อง
“ธรรมาธิปไตย”
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar