ถ้าเรานับวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๘ ซึ่งสนธิ ลิ้มทองกุล ทำการ "เปิดตัว" หนังสือ "พระราชอำนาจ" ของประมวล รุจนเสรี โดยจัดอภิปรายใหญ่โตที่ธรรมศาสตร์ เป็น "จุดเริ่มต้น" ของวิกฤติครั้งนี้ (ความจริง หนังสือเริ่มออกมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม การอภิปราย "เปิดตัว" ที่ว่า เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง ที่มีคำของในหลวง "เราอ่านแล้ว เราชอบมาก" อยู่ตอนต้นของหนังสือ)
อีกไม่กี่สัปดาห์ - ไม่กี่วัน - วิกฤตินี้ก็จะครบ ๑๐ ปีเต็มๆแล้ว
เด็กที่เกิดตอนเริ่มวิกฤติ ขณะนี้ก็กำลังจะเข้าวัยรุ่นแล้ว เด็กที่เป็นวัยรุ่นตอนนั้น ตอนนี้ก็โตเป็นผู้ใหญ่ นักศึกษาที่เริ่มเข้าเรียนในปีนั้น ก็เรียนจบ ทำงานและเริ่มมีครอบครัว หรือมีลูกกันแล้ว ฯลฯ
ตลอด ๑๐ ปีนี้ แทบไม่มีสักวันเดียว ที่หน้า ๑ หนังสือพิมพ์รายวัน จะไม่มีข่าวที่เกียวข้องทางใดทางหนึ่งกับวิกฤติ
โดยพื้นฐาน นี่คือวิกฤติของการปะทะระหว่างอำนาจ ๒ แบบ ระหว่างกลุ่มอำนาจ (power bloc) ๒ กลุ่ม - พูดแบบชาวบ้านๆหน่อย คือระหว่าง กลุ่มทักษิณ กับ กลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับทักษิณ กลุ่มทักษิณ อาศัยอำนาจจากการเลือกตั้ง ขณะที่กลุ่มปฏิปักษ์ทักษิณ อาศัยอำนาจของสถาบันกษัตริย์ และองค์กรที่เป็นเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ (กองทัพ-ตุลาการ-องค์กรอิสระ) โดยมีพรรค ปชป เป็นส่วนที่อิงเลือกตั้งของกลุ่ม
๑๐ ปีที่ผ่านมา เรามีนายกฯ ๖-๗ คน (สมชาย ความจริง แทบไม่นับ เพราะอยู่ในตำแหน่งเพียง ๒ เดือนเศษ และแม้แต่ทำเนียบก็ไม่เคยได้เข้า) สลับกันจาก ๒ กลุ่ม ในกลุ่มทักษิณ ทุกคนเป็นนักการเมืองจากเลือกตั้ง ขณะที่ในกลุ่มปฏิปักษ์ทักษิณ มีทั้งที่ปรึกษากษัตริย์ ที่มาด้วยรัฐประหาร, นักการเมือง ที่อาศัยการ "รัฐประหารเงียบ" หลังฉาก โดยตุลาการบวกทหาร, และขุนศึก "ทหารของพระราชา" จากการรัฐประหาร
ข่าวร้าย สำหรับคนที่อยากเห็นการจบของวิกฤตินี้เสียทีคือ วิกฤตินี้จะยาวเกิน ๑๐ ปีแน่นอน และยังมองไม่เห็นทางออก
เหตุผลสำคัญมากอย่างหนึ่งที่ยังไม่จบ และยังไม่เห็นทางออก ก็เพราะมี "ปัจจัย" - ซึ่งอันที่จริงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของวิกฤตินี้โดยตลอด - ที่ทุกฝ่าย ทุกคน ยัง "รอ" ว่าจะ "ออกมา" อย่างไร
คือการเปลี่ยนรัชกาล
วิกฤติ ๑๐ ปีนี้ ปัญหาใจกลางจริงๆ อยู่ที่ว่า จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองอย่างไร (ในด้านกลับคือ อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีสถานะอย่างไร ในความสัมพันธ์และเปรียบเทียบกับอำนาจสถาบันกษัตริย์) ดังนั้น การเปลี่ยนรัชกาลจีงจะเป็นเหตุการณ์สำคัญในพัฒนาการของวิกฤตินี้
ทุกฝ่ายทุกคน คาดว่า เมื่อในหลวงสวรรคต และหากพระบรมฯขึ้นครองราชย์ จะเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ชัดว่า จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทุกฝ่ายทุกคนรู้ว่า พระบรมฯมีความใกล้ชิดกับทักษิณ (หลังรัฐประหารไม่นาน พระบรมฯยังพระราชทาน "ดินเนอร์" ให้คนสำคัญคนหนึ่งของกลุ่มทักษิณในยุโรป) แต่ความใกล้ชิดนี้ จะแปลเป็นรูปธรรมยังไง ถ้าทรงขึ้นครองราชย์ (อย่าลืมว่า พระบรมฯเคยตรัสกับทูตอเมริกัน วิจารณ์ทักษิณว่าเป็นเผด็จการที่มาจากเลือกตั้ง)
ทุกฝ่ายทุกคนรู้ด้วยว่า บุคคลระดับสูงในสถาบันกษัตริย์ และใกล้ชิดสถาบันกษัตริย์ (เปรม, อานันท์ ฯลฯ) ไม่ชอบพระบรมฯ และคงอยากเห็นพระเทพฯขึ้นครองราชย์มากกว่า แต่ทุกคนก็ตระหนักว่า มีเพียงในหลวงเท่านั้น ที่จะเปลี่ยนการกำหนดเรื่องนี้ได้ และไม่มีวี่แววว่าจะทรงเปลี่ยน และทุกฝ่ายทุกคนรู้ด้วยว่า ชนชั้นกลางในเมือง ที่เป็นฐานมวลชนสำคัญของกลุ่มปฏิปักษ์ทักษิณ ไม่ชอบพระบรมฯ แต่ชอบพระเทพฯ มากกว่า ดังนั้น จึงเป็นปัญหาใหญ่ว่า ถ้าพระบรมฯได้ขึ้นครองราชย์จริงๆ กลุ่มนี้จะมีท่าทีอย่างไร?
ที่เพิ่งพูดมาเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนรัชกาล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวิกฤตินี้ ก็บอกโดยปริยายว่า วิกฤตินี้จะยืดเยื้อต่อไป และยากจะหาทางลงอย่างสันติ หรืออย่างหลีกเลี่ยงปัญหามากขึ้นไปอีกได้
สาเหตุง่ายๆคือ เพราะทั้งหมดที่เพิ่งพูดมานี้ ห้ามพูดกันในประเทศไทย
ปัญหาอะไรที่ห้ามพูด ก็ไม่มีทางแก้ได้จริงๆ หรือไม่มีทางแก้ได้ อย่างหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นไปอีก
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar