onsdag 16 januari 2019

updated ..มาตราในรัฐธรรมนูญ ที่ว่ากันว่ากษัตริย์ใหม่ขอให้แก้: มาตรา ๕, ๑๗ และ ๑๘๒



มาตราในรัฐธรรมนูญ ที่ว่ากันว่ากษัตริย์ใหม่ขอให้แก้: มาตรา ๕, ๑๗ และ ๑๘๒

ในกระทู้ที่แล้ว (goo.gl/bVplv0) ผมได้พูดถึงข่าวที่ "ลือ" กันเป็นเดือนว่า กษัตริย์ใหม่ "มีปัญหาบางอย่าง" กับรัฐธรรมนูญใหม่ จึงยังไม่มีการเซ็นสักที จนล่าสุดวิษณุได้ออกมาพูดเป็นนัยๆของความเป็นไปได้ที่รัฐธรรมนูญอาจจะตกไปหลัง ๙๐ วัน ซึ่งเท่ากับยืนยันโดยปริยายว่า "ข่าวลือ" ทีว่า มีมูลเป็นไปได้จริง ผมยังกล่าวถึงว่า ตามรายงานของ "มติชน" มาตราที่ว่ากันว่า "มีปัญหา" คือมาตรา ๕ หรือ "มาตรา ๗" เดิม (ถ้าไม่มีตัวบทในรัฐธรรมนูญ ให้ถือตาม "ประเพณีการปกครองระบอบ ปชต ที่มีกษัตริย์เป็นประมุข")
มี "มิตรสหายบางท่าน" ได้บอกมาว่า มาตราที่กษัตริย์ใหม่ขอให้แก้ นอกจากมาตรา ๕ แล้ว ยังมีมาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘๒ ในที่นี้ ผมจึงคัดลอกทั้ง ๓ มาตรา มาให้ดูพร้อมๆกัน
ผมได้ชี้ให้เห็นในกระทู้ที่แล้วว่า มาตรา ๕ ในร่างใหม่นั้น ถ้าเทียบกับ "มาตรา ๗" เดิม มีลักษณะที่สร้างกลไกใหม่ขึ้นมา (การประชุมร่วมของประธานศาล รธน, ศาลฎีกา ฯลฯ) เพื่อแก้วิกฤติรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับเป็นการ "ตัด" หรือ "กัน" บทบาทของกษัตริย์ออกไป ทำให้กษัตริย์ไม่ต้องหรือไม่สามารถ "ออกหน้า" มาเมื่อมีปัญหารัฐธรรมนูญหรือวิกฤติสำคัญๆอีก
แม้เราจะไม่ทราบแน่ชัดว่า กษัตริย์ใหม่ต้องการแก้อย่างไร แต่ผมคิดว่าถ้าดูจากตัวเนื้อหามาตรา ๕ แล้ว ก็มีเหตุผลที่ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ที่กษัตริย์ใหม่มีปัญหากับการสร้าง "กลไก" ใหม่ในลักษณะนี้ขึ้นมา เพราะจะเป็นการ "ปิดช่อง" การที่กษัตริย์จะออกมาแสดงบทบาทแก้วิกฤติโดยตรง และเป็นไปได้ว่า กษัตริย์ใหม่ต้องการ "เปิดช่อง" ไว้สำหรับที่ตัวเองจะมีบทบาทโดยตรงได้

สำหรับกรณีมาตรา ๑๗ นั้น (ซึ่งเขียนมาเช่นนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔) เป็นการกำหนดว่า ถ้ากษัตริย์ไม่สามารถตั้งผู้สำเร็จฯเองได้ ก็ให้องคมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อ เช่นเดียวกัน เราไม่ทราบว่า #ถ้ากษัตริย์ใหม่มีปัญหากับมาตรานี้จริง จะต้องการให้แก้เป็นอย่างไร แต่จากข้อความเดิม ผมคิดว่า มีเหตุผลที่คาดการณ์ได้ว่า กษัตริย์ใหม่อาจจะต้องการตัดบทบาทขององคมนตรีในการเสนอชื่อผู้สำเร็จ และอาจจะให้กำหนดไปเลย เช่นว่า ให้เจ้าองค์ใดองค์หนึ่งเป็นผู้สำเร็จโดยอัตโนมัติ (สมมุติกษัตริย์มีการตั้งราชินีหรือรัชทายาทไว้ ก็ให้ราชินีหรือรัชทายาทเป็นโดยอัตโนมัติ หรือไม่ ก็อาจจะระบุว่า ให้เจ้าที่อาวุโสสูงสุดในครอบครัวรองลงมาจากกษัตริย์เป็นโดยอัตโนมัติ)

ส่วนมาตรา ๑๘๒ นั้น เดิมที่เขียนไว้คือ ให้มีผู้ลงนามรับสนองฯ ซึ่งถ้าดูจากเนื้อหาดังกล่าวแล้ว ก็เป็นไปได้ว่า #ถ้ากษัตริย์ใหม่มีปัญหากับมาตรานี้จริงๆ ก็อาจจะเป็นเพราะต้องการให้แก้ ในลักษณะ "เปิดช่อง" ให้มากขึ้น ให้กษัตริย์อาจจะมีบางกรณีที่สามารถเซ็นเอกสารได้เอง โดยไม่ต้องมีผู้รับสนอง
สรุปแล้ว #ถ้าเป็นไปตามที่ "ว่ากันว่า" นี้จริง คือกษัตริย์ต้องการให้แก้ มาตรา ๕, ๑๗ และ ๑๘๒ จะเห็นว่า ล้วนเกี่ยวข้องกับการที่มาตราเหล่านั้น มีความเป็นไปได้ของการที่จะ "จำกัด" หรือ "กัน" อำนาจของกษัตริย์ในบางระดับ #ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแต่อย่างใด

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar