"With great power comes great responsibility"
"[สนธิ บุญยรัตกลิน] กล่าวว่าในหลวงทรงผ่อนคลายและมีความสุข ทรงยิ้มตลอดเวลาการเข้าเฝ้า"
บันทึกการสนทนาทูตสหรัฐกับสนธิ โทรเลขวิกิลีกส์ 06BANKOK5811 (20 กันยายน 2549)
...................
สิ่งที่เป็น biggest irony หรือ ตลกร้ายใหญ่สุด ของวิกฤติปัจจุบันของไทยคือ ถ้าจะมีใครสักคนที่สามารถ "ปลดล็อค" วิกฤติได้ คือในหลวง --- เมื่อประมาณ 7-8 ปีก่อน (แม้แต่ปัจจุบันนะ ถ้าไม่นับว่าในหลวงทรงไม่รู้สึกตัวแล้ว และแม้จะไม่ได้รับการยอมรับในทางเป็นจริงจากฝ่ายหนึ่งอย่างมากแล้ว แต่ด้วยสถานะที่ยังมีอยู่ ก็ยังทรงเป็นคนเดียวที่ทำได้)
"ปม" ใหญ่ที่สุดของวิกฤติปัจจุบันคือ ไม่มีบุคคล, องค์กร, สถาบัน, กระบวนการ หนึ่งใด ที่ได้รับการยอมรับโดยแท้จริงของทั้งสองฝ่าย/ทุกฝ่าย: ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์, ศาล, การเลือกตั้ง, ฯลฯ ไม่มี "ฉันทามติ" เรียกว่าในทุกเรื่องสำคัญทางการเมือง - หรือพูดในภาษาทางทฤษฎีหน่อย ไม่มี "อำนาจนำ" (hegemony) ใดๆ ในสังคมไทยขณะนี้
ในรอบสิบปีนี้ ในหลวงตัดสินใจผิดพลาดทางการเมืองสำคัญๆอย่างน้อย 2-3 ครั้งใหญ่ๆ (เวลาผมพูดว่า "ผิดพลาด" นี่ ใช้บรรทัดฐานของการรักษาสถานะของสถาบันกษัตริย์เองเลยนะ คือ ทำให้สถาบันฯอยู่ในสภาพที่เสื่อมทรุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน - ซึ่งแน่นอน โดยตัวเองเรื่องนี้ไม่ใช่อะไรที่ผมมาเศร้าโศกแทน แต่ปัญหาคือ ความผิดพลาดนั้น มันไม่ใช่ส่งผลในเชิงความเสื่อมของสถาบันฯ แต่ส่งผลโดยรวมต่อทั้งสังคมด้วยในแง่ที่ว่า ทำให้วิกฤติถึงทางตันมากขึ้นๆ จนแก้ไม่ได้ในทุกวันนี้)
เป็นความจริงที่ว่า ค่ายทักษิณเอง ตัวทักษิณ ตัดสินใจผิดพลาดทางการเมืองสำคัญๆ อย่างน้อย 2-3 ครั้งเช่นกัน
ทั้งในหลวงทั้งทักษิณ แชร์สภาพที่เป็นปัญหาสำคัญมากอย่างหนึ่ง ซึ่งสะท้อนปัญหาความสัมพันธ์ทางสังคม-วัฒนธรรมของไทยที่ใหญ่มาก คือ ทั้่งคู่ ไม่มีคนที่สามารถคุยด้วยได้จริงๆ (ไม่มี "ที่ปรึกษา" ในความหมายที่สามารถให้คำปรึกษา เถียง วิจารณ์ กับทั้งคู่ได้ ทำให้ทั้งคู่ยอมฟัง เปลี่ยนความตั้งใจได้ - สมัยก่อน ครั้งหนึ่ง ขนาดสัญญา ธรรมศักดิ์ ไม่เห็นด้วยกับการที่ในหลวงจะเอาถนอมกลับเข้ามา ยังไม่กล้าเถียงหรือบอกในหลวงตรงๆเลย .. ครั้งนั้นโชคดีที่ในหลวงรู้สึกตัวทัน และเปลี่ยนใจเองก่อน แต่ถ้าเกิดไม่เปลี่ยนใจเอง ก็ไม่มีใครกล้าหรือสามารถบอกได้ว่า ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ ... กรณีทักษิณก็เหมือนกัน ตัดสินใจโง่ๆเรื่องเหมาเข่ง โดยที่ทั้งพรรคที่เต็มไปด้วยเสือสิงห์กระทิงแรดมีประสบการณ์ทางการเมือง ไม่มีใครกล้าหรือสามารถเถียงให้เปลี่ยนใจได้)
และทั้งหมดนี้ โชคร้ายก็ตกอยู่กับสังคมไทยและประชาชนโดยเฉพาะระดับธรรมดาๆทั่วไป
..............
ปารีส, ฝรั่งเศส
19 กันยายน 2559
ความขัดแย้งภายในวัง (พ่อ-ลูก, พี่-น้อง, องคมนตรี-ลูก)
ความขัดแย้งระหว่างวังกับทหาร
ความขัดแย้งภายในทหารด้วยกันเอง
#ไม่เคยมีลักษณะรุนแรงถึงขนาดเป็นความขัดแย้งที่มีการจัดตั้ง คือแบ่งเป็นก๊กเป็นพวกที่ชัดเจน (organized faction) มาแต่ไหนแต่ไร อย่างมากที่สุด เป็นเพียงเรื่องของการเข้าหน้ากันไม่สนิท คาแรกเตอร์ไม่ค่อยลงรอยกันในระดับตัวบุคคล ซึ่งโดยภาพรวมก็น้อย ไม่ได้มีมากอะไร
โดยเฉพาะนับตั้งแต่หลังทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา (คือร่วม 30 ปีแล้ว) การที่ก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2520 มีร่องรอยหรือการแสดงออกของความขัดแย้งใน 3 ลักษณะนั้นมาก (ในวัง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ภายในครอบครัวมีความ "ระหองระแหง" มากที่สุด หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีอะไรแล้ว ในกองทัพ มีการพยายามทำรัฐประหารหลายครั้ง) ที่สำคัญส่วนหนึ่ง เป็นผลสะเทือนมาจากการลุกขึ้นสู้ 14 ตุลา กล่าวคือการลุกขึ้นสู้ของประชาชนครั้งนั้น ได้ทำให้ "เกิดรอยร้าว" ในองคาพยพส่วนสำคัญๆของรัฐ เช่นการเกิด "ยังเติร์ก" หรือนายทหารชั้นผู้น้อย ที่ไม่ยอมขึ้นต่อการบัญชาการระดับบน แต่นั่นเป็นเพียงประวัติศาตร์ช่วงสั้นที่ผ่านมานานแล้ว
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar