onsdag 20 november 2019

Update วิกฤติการเมืองไทย... เป็นรัฐบาลก็ปกครองไม่ได้


ถ้าเรานับวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๘ ซึ่งสนธิ ลิ้มทองกุล ทำการ "เปิดตัว" หนังสือ "พระราชอำนาจ" ของประมวล รุจนเสรี โดยจัดอภิปรายใหญ่โตที่ธรรมศาสตร์ เป็น "จุดเริ่มต้น" ของวิกฤติครั้งนี้ (ความจริง หนังสือเริ่มออกมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม การอภิปราย "เปิดตัว" ที่ว่า เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง ที่มีคำของในหลวง "เราอ่านแล้ว เราชอบมาก" อยู่ตอนต้นของหนังสือ)

อีกไม่กี่สัปดาห์ - ไม่กี่วัน - วิกฤตินี้ก็จะครบ ๑๐ ปีเต็มๆแล้ว

เด็กที่เกิดตอนเริ่มวิกฤติ ขณะนี้ก็กำลังจะเข้าวัยรุ่นแล้ว เด็กที่เป็นวัยรุ่นตอนนั้น ตอนนี้ก็โตเป็นผู้ใหญ่ นักศึกษาที่เริ่มเข้าเรียนในปีนั้น ก็เรียนจบ ทำงานและเริ่มมีครอบครัว หรือมีลูกกันแล้ว ฯลฯ
ตลอด ๑๐ ปีนี้ แทบไม่มีสักวันเดียว ที่หน้า ๑ หนังสือพิมพ์รายวัน จะไม่มีข่าวที่เกียวข้องทางใดทางหนึ่งกับวิกฤติ
โดยพื้นฐาน นี่คือวิกฤติของการปะทะระหว่างอำนาจ ๒ แบบ ระหว่างกลุ่มอำนาจ (power bloc) ๒ กลุ่ม - พูดแบบชาวบ้านๆหน่อย คือระหว่าง กลุ่มทักษิณ กับ กลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับทักษิณ กลุ่มทักษิณ อาศัยอำนาจจากการเลือกตั้ง ขณะที่กลุ่มปฏิปักษ์ทักษิณ อาศัยอำนาจของสถาบันกษัตริย์ และองค์กรที่เป็นเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ (กองทัพ-ตุลาการ-องค์กรอิสระ) โดยมีพรรค ปชป เป็นส่วนที่อิงเลือกตั้งของกลุ่ม
๑๐ ปีที่ผ่านมา เรามีนายกฯ ๖-๗ คน (สมชาย ความจริง แทบไม่นับ เพราะอยู่ในตำแหน่งเพียง ๒ เดือนเศษ และแม้แต่ทำเนียบก็ไม่เคยได้เข้า) สลับกันจาก ๒ กลุ่ม ในกลุ่มทักษิณ ทุกคนเป็นนักการเมืองจากเลือกตั้ง ขณะที่ในกลุ่มปฏิปักษ์ทักษิณ มีทั้งที่ปรึกษากษัตริย์ ที่มาด้วยรัฐประหาร, นักการเมือง ที่อาศัยการ "รัฐประหารเงียบ" หลังฉาก โดยตุลาการบวกทหาร, และขุนศึก "ทหารของพระราชา" จากการรัฐประหาร
ข่าวร้าย สำหรับคนที่อยากเห็นการจบของวิกฤตินี้เสียทีคือ วิกฤตินี้จะยาวเกิน ๑๐ ปีแน่นอน และยังมองไม่เห็นทางออก
 
เหตุผลสำคัญมากอย่างหนึ่งที่ยังไม่จบ และยังไม่เห็นทางออก ก็เพราะมี "ปัจจัย" - ซึ่งอันที่จริงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของวิกฤตินี้โดยตลอด - ที่ทุกฝ่าย ทุกคน ยัง "รอ" ว่าจะ "ออกมา" อย่างไร  คือการเปลี่ยนรัชกาล วิกฤติ ๑๐ ปีนี้ ปัญหาใจกลางจริงๆ อยู่ที่ว่า จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองอย่างไร (ในด้านกลับคือ อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีสถานะอย่างไร ในความสัมพันธ์และเปรียบเทียบกับอำนาจสถาบันกษัตริย์) ดังนั้น การเปลี่ยนรัชกาลจีงจะเป็นเหตุการณ์สำคัญในพัฒนาการของวิกฤตินี้
 
ทุกฝ่ายทุกคน คาดว่า เมื่อในหลวงสวรรคต และหากพระบรมฯขึ้นครองราชย์ จะเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ชัดว่า จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทุกฝ่ายทุกคนรู้ว่า พระบรมฯมีความใกล้ชิดกับทักษิณ (หลังรัฐประหารไม่นาน พระบรมฯยังพระราชทาน "ดินเนอร์" ให้คนสำคัญคนหนึ่งของกลุ่มทักษิณในยุโรป) แต่ความใกล้ชิดนี้ จะแปลเป็นรูปธรรมยังไง ถ้าทรงขึ้นครองราชย์ (อย่าลืมว่า พระบรมฯเคยตรัสกับทูตอเมริกัน วิจารณ์ทักษิณว่าเป็นเผด็จการที่มาจากเลือกตั้ง)
 
ทุกฝ่ายทุกคนรู้ด้วยว่า บุคคลระดับสูงในสถาบันกษัตริย์ และใกล้ชิดสถาบันกษัตริย์ (เปรม, อานันท์ ฯลฯ) ไม่ชอบพระบรมฯ และคงอยากเห็นพระเทพฯขึ้นครองราชย์มากกว่า แต่ทุกคนก็ตระหนักว่า มีเพียงในหลวงเท่านั้น ที่จะเปลี่ยนการกำหนดเรื่องนี้ได้ และไม่มีวี่แววว่าจะทรงเปลี่ยน และทุกฝ่ายทุกคนรู้ด้วยว่า ชนชั้นกลางในเมือง ที่เป็นฐานมวลชนสำคัญของกลุ่มปฏิปักษ์ทักษิณ ไม่ชอบพระบรมฯ แต่ชอบพระเทพฯ มากกว่า 
 
ดังนั้น จึงเป็นปัญหาใหญ่ว่า ถ้าพระบรมฯได้ขึ้นครองราชย์จริงๆ กลุ่มนี้จะมีท่าทีอย่างไร?
ที่เพิ่งพูดมาเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนรัชกาล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวิกฤตินี้ ก็บอกโดยปริยายว่า วิกฤตินี้จะยืดเยื้อต่อไป และยากจะหาทางลงอย่างสันติ หรืออย่างหลีกเลี่ยงปัญหามากขึ้นไปอีกได้

สาเหตุง่ายๆคือ เพราะทั้งหมดที่เพิ่งพูดมานี้ ห้ามพูดกันในประเทศไทย
ปัญหาอะไรที่ห้ามพูด ก็ไม่มีทางแก้ได้จริงๆ หรือไม่มีทางแก้ได้ อย่างหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นไปอีก

ฉันทามติ 2 เรื่องใหญ่ ในประเทศไทยปัจจุบัน


ฉันทามติ 2 เรื่องใหญ่ ในประเทศไทยปัจจุบัน
ผมเสนอว่า ขณะนี้ มี 2 เรื่องใหญ่ที่มีคนเห็นตรงกันอย่างกว้างขวาง (แน่นอน ในสังคมสมัยใหม่ ไม่มีเรื่องอะไรที่ทุกคนจะเห็นตรงกันร้อยเปอร์เซนต์อยู่แล้ว เรากำลังพูดถึงการเห็นด้วยตรงกันอย่างกว้างขวางมาก)
เรื่องแรก: ประยุทธ์-คสช. ไม่ควรสืบต่ออำนาจตัวเอง กลับมาเป็นรัฐบาลอีกหลังเลือกตั้ง
เรื่องที่สอง: วชิราลงกรณ์ ไม่ใช่กษัตริย์ที่ดีนัก
ระดับการเห็นด้วยตรงกันของสองเรื่องนี้ ไม่เท่ากัน และแต่ละเรื่องก็มีความไม่ลงตัวที่ไม่เหมือนกัน
การเห็นตรงกันในเรื่องแรก มีระดับที่กว้างขวางมากกว่า
..............
เรื่องแรก ผมยังประเมินว่า ระดับความไม่พอใจของประชาชนทุกสีทุกฝ่าย ต่อประยุทธ์-คสช. ยังไม่น่าถึงระดับที่จะนำไปสู่การล้ม คสช.ได้ จุดที่จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ยังน่าจะเป็นช่วงจะมีเลือกตั้ง-ไม่มีเลือกตั้ง และเลือกตั้งแล้วจะกลับเข้ามาหรือไม่อย่างไร
ยกเว้น ถ้าจะเกิดก่อนหน้านั้น - การเมืองเป็นเรื่องการปฏิบัติที่ไม่มีใครเดาหรือกำหนดล่วงหน้าได้ทั้งหมด - ก็คือการที่ คสช.ทำพลาดขนาดใหญ่ในลักษณะที่มีการ "ช็อค" ต่อคนอย่างรุนแรง - นึกถึงกรณีในอดีตแบบสุจินดากลับคำ/จำลองอดข้าว ถึงเรื่องการขายชินคอร์ปให้เทมาเส็ก - ซึ่งผมยังมองไม่เห็น และไม่คิดว่า พวกเขาจะไม่ระมัดระวัง ทำอะไรที่แย่ใหญ่โต "ช็อค" คนขนาดนั้น
แม้ว่า "ฉันทามติ" เรื่องนี้ จะกว้างขวางมาก แต่ก็ยังมี "ความไม่ลงตัว" สำคัญอยู่ คือขณะนี้ คนรู้สึกไม่ชอบ คสช.อย่างกว้างขวาง มากพอจะทำให้ประเด็นว่า "ถ้าไม่ใช่ คสช.แล้ว ใครจะมาแทน" ลดความสำคัญในความรู้สึกไป ผมคิดว่าคนที่ไม่อยากให้ คสช.สืบอำนาจ (โดยเฉพาะพวกที่เคยเชียร์มาก่อน) คงคิดแบบคร่าวๆว่า อย่าให้เป็น ประยุทธ์-คสช.ก็แล้วกัน ให้ผลการเลือกตั้งตัดสินเอา (ดูผลโพลล์ล่าสุดเรื่อง "ไม่เอานายกฯคนนอก" เป็นตัวอย่าง)
ณ ขณะนี้ ดูเหมือนว่า โอกาสที่ คสช.จะ "รีเวิร์ซ" หรือ "กลับลำ" หันกลับเป็น "ขาขึ้น" หรือสร้างความนิยมอีก ดูริบหรี่ (หุหุ ยิ่งยังดันทุรังกรณีประวิทย์-นาฬิกาอยู่ ยิ่งมองไม่เห็น) แต่อย่างที่เพิ่งพูดไปข้างบน การเมืองเป็นเรื่องการปฏิบัติที่กำหนดล่วงหน้าทั้งหมดไม่ได้ แก้-เปลี่ยนได้จากการปฏิบัติและปฏิสัมพันธ์-ปะทะระหว่างพลังฝ่ายต่างๆ จากจุดนี้ไปถึงมีการเลือกตั้ง และมีผลเลือกตั้งออกมา คสช.คงพยายามดิ้นรนเต็มที่ ที่จะสร้างความนิยมยอมรับใหม่ เพื่อปูทางให้กับการสืบอำนาจต่อ
ผมอยากเสนอว่า บรรดาคนที่ต่อต้านรัฐประหาร ควรโฟกัสที่ประเด็น ("คำขวัญ") นี้: "คัดค้าน-ยับยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช." ซึ่งมีโอกาสของการสร้างฉันทามติที่กว้างขวางมากในขณะนี้
............

เรื่องที่สอง เรื่องนี้มีความซับซ้อนกว่าเรื่องแรกเยอะ ผมมองว่า มีความรู้สึกกัน(ในใจ)อย่างกว้างขวางจริงว่า วชิราลงกรณ์ไม่ใช่กษัตริย์ที่ดี แต่ระดับความรู้สึกแบบนี้ ยังห่างจากความรู้สึก "ต้องล้ม" หรือแม้แต่จะถึงระดับคิดให้ "ต้องเปลี่ยน" อย่างซีเรียส เรื่องแบบนี้เป็นอะไรที่ใหญ่เกินกว่าจะทำให้คนกล้าคิดในระดับนั้นอย่างกว้างขวางในเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะในหมู่คนรักเจ้า (อันที่จริง อย่างที่รู้กัน แม้แต่ในหมู่คนเสื้อแดง ก็มีคนเชียร์วชิราลงกรณ์อยู่ด้วยซ้ำ) สถานีวิทยุใต้ดินบางสถานีที่ชอบให้ความหวังคนฟัง ประเภทว่า ทุกวันนี้ คนไม่เอาเจ้ากันหมดแล้ว พร้อมจะล้มเจ้ากันแล้ว จะทำให้ "จบในปีนี้" อะไรแบบนั้น เป็นเพียง "พ่อค้าขายฝัน" เท่านั้น (เรื่องที่ว่า ในหมู่ชนชั้นนำเอง มีความพยายามจะ "เปลี่ยนตัว" - "ศึกชิงบัลลังก์" อะไรที่ว่า - ก็เป็นเพียงการมโนเพ้อพก)
ยังมีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งด้วยว่า ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ สองเรื่องดังกล่าว ไม่ได้ "คอนเน็ค" หรือเชื่อมต่อกันในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่สุด พูดง่ายๆคือ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่พอใจ คสช. ไม่อยากให้ คสช.สืบทอดอำนาจ เป็นรัฐบาลต่อไปหลังเลือกตั้ง ความไม่พอใจนี้ ไม่ได้โยงไปถึงความรู้สึกที่ว่า วชิราลงกรณ์เป็นกษัตริย์ที่ไม่ดี
วชิราลงกรณ์รวบอำนาจเกี่ยวกับกษัตริย์ก็จริง (ทรัพย์สินฯ, ราชการในพระองค์) แต่ที่ผ่านมาเขาทำตัวเป็น "แอ๊บเซ็นที คิง" (absentee king = กษัตริย์ที่ไม่อยู่) คนไม่ได้รู้สึกกันว่า (และเขาเองก็ไม่ได้ทำให้เห็นชัดว่า) ออกมาสนับสนุนถือหาง คสช.ชัดเจน เอาเข้าจริง อย่างที่พูดไป ในบรรดาเสื้อแดง ที่แอนตี้ คสช. ยังมีคนเชียร์วชิราลงกรณ์ด้วยซ้ำ

แต่วชิราลงกรณ์เอง อาจจะเป็นคน "คอนเน็ค" สองประเด็นนี้เข้าด้วยกันในอนาคตข้างหน้าก็ได้ มีข่าวที่เชื่อถือได้พอสมควรว่า เขา "นัดพบ" ใครต่อใครในแวดวงต่างๆหลายแวดวง นั่นคือ เขาติดตามแวดวงการเมืองใกล้ชิดกว่าที่เห็นกันภายนอก และอาจจะ prepared หรือเตรียมพร้อมจะ "เอ๊กเซอไซส์พาวเวอร์" ในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารและการจัดตั้งรัฐบาลโดยตรงในอนาคตได้ เช่น หากมีการเลือกตั้ง แล้วผลออกมาไม่ลงตัว หรือเขาอาจจะแสดง "เฟเวอร์" หรือความชอบว่า ต้องการให้ใครเป็นเมื่อถึงเวลานั้น ฯลฯ ฯลฯ
"แอ๊สเซ็ต" หรือ "ต้นทุนสะสม" ของ "ความเป็นเจ้า" และสถานะของสถาบันกษัตริย์ ทำให้วชิราลงกรณ์ได้เปรียบกว่า ประยุทธ์-คสช. เยอะ เขาสามารถใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ ในแง่สร้างบารมีให้ตัวเอง ลดความไม่ชอบเขา ได้มากกว่าที่ คสช.จะพยายามลดความไม่ชอบตัวเอง - แต่เขาจะถึงขั้นทำอะไรดีๆ ถึงระดับที่สุลักษณ์แสดงความฝันเมื่อวันก่อนหรือไม่ นี่ก็ยังมองไม่เห็น

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar