1 กุมภาพันธ์ 2555
เรื่อง หลักการประชาธิปไตย-เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ กับการ “เปิด-ปิด” พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียน อธิการบดี ศ. สมคิด เลิศไพฑูรย์ และคณะกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
เนื่อง ในโอกาสวันแห่ง “ความรัก” ที่เวียนมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ศกนี้ ผมขอส่งความปรารถนาดี มายังท่านอธิการบดี กับคณะ และขออวยพรให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทั้งนี้เพื่อจักได้ปฏิบัติงานเพื่อมหาวิทยาลัย และประเทศชาติ ประชาชนของเรา
สืบเนื่องจากการที่ท่านอธิการบดี กับคณะกรรมการบริหารฯ ได้แถลงว่า
“ที่ ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบัน มีมติเอกฉันท์ว่ามหาวิทยาลัยฯ คณะ สำนัก สถาบันจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยฯ เพื่อเคลื่อนไหวกรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยฯ หรือมหาวิทยาลัยฯ เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาวิทยาลัยฯ จนมหาวิทยาลัยฯ ไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคล และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยฯได้”
ผมในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมธรรมศาสตร์ และ ส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย ของสยามประเทศไทย ขอแสดงความคิดเห็นมาดังต่อไปนี้
หนึ่ง) ผมมีความเห็นว่าคำแถลงดังกล่าว ไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ และจิตวิญญาณของการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (The University of Moral and Political Sciences UMPS) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักประการที่ 6 ที่ว่า “จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ของ “คณะราษฎร” ที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ ราชาธิปไตย ให้เป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
สอง) คำแถลงดังกล่าว ไม่ถูกต้องตามขนบประเพณีของธรรมศาสตร์ ที่ยืนยันในหลักการของ “เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ” ที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยของผู้ประศาสตร์การปรีดี พนมยงค์ ตลอดจน ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ศ. สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเคยกล่าวเป็นหลักการหนึ่งของมหาวิทยาลัยว่า “ธรรมศาสตร์ มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” (อธิการบดี 2514-2516)
สาม) ข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์” ทั้ง 7 ข้อตามที่ทราบกันนั้น (ดูล่างสุด) ต้องการใช้หลัก “วิชาการ” เพื่อ “ปฏิรูป-แก้ไข” กฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ล้าหลัง
และ เป็นมรดกของระบอบอำนาจนิยม และในขณะเดียวกัน ก็เพื่อให้สถาบันกษัตริย์สยามประเทศไทยของเรามั่นคง สถาพร อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรฐานสากล ของนานาอารยประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก และ/หรือญี่ปุ่น ข้อเสนอดังกล่าว หาใช่เป็นการทำลาย หรือ ล้มล้าง-ล้มเจ้าไม่
สี่) เราในแวดวงวิชาการทั้งหลายทราบกันดีว่า สถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ ที่มั่นคง สถาพร อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรฐานสากลของโลก และนานาอารยประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก และ/หรือญี่ปุ่น นั้น เป็นสถาบันที่ใช้ “พระคุณ” หรือ “ความรัก”ความเมตตากรุณา (love) เป็นหลักปฏิบัติ และหลักกฎหมาย มากกว่าใช้ “พระเดช” หรือ “ความกลัว” ความเกลียดชัง (fear&hate) หรือการข่มขู่ ด้วยคุกด้วยตะรางอย่างเช่น รัสเซีย/ปรัสเซีย/ออตโตมันตุรกี/จีน/หรือ/เนปาล
ห้า) ข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์” ทั้ง 7 ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาให้สถาบันกษัตริย์ของเรามั่นคง สถาพร และเป็นสมัยใหม่นั้น สมควรที่จะได้รับการพิจารณาด้วยสติปัญญา และ ขันติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงทางวิชาการและมหาวิทยาลัย มากกว่าที่จะใช้ “โลภะ โทสะ โมหะ” กับ “ภยาคติ” หรือ “อวิชชา”
หก) ผมมีความเห็นว่าแทนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา จะ “ปิด” พื้นที่ในการแสวงหาแสงสว่างทางปัญญา ตามพุทธภาษิตที่ว่า “นตถิ ปญญา สมาอาภา” ด้วยการถกเถียง แลกเปลี่ยนทางวิชาการ ในกรอบของกฎหมาย ขนบประเพณี และรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนสถาบันทางการศึกษาและภูมิปัญญาทั้งปวงทั่วประเทศ จำเป็นที่จะต้อง “เปิด” พื้นที่เหล่านี้ เป็นอย่างยิ่ง
เจ็ด) ผมขอเสนอให้ท่านอธิการบดีเอง และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คณบดี ผู้อำนวยการ ฯลฯ) ได้ดำเนินการ “เปิด” พื้นที่ดังกล่าว โดยท่านอธิการบดี และ/หรือคณะผู้แทน จัดให้มีการถกเถียง แลกเปลี่ยน อภิปราย และดำเนินการหา “ทางออก” ให้กับสังคมและประเทศชาติของเราในยามนี้
คง ไม่มีเวลาไหน นับแต่เสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310 ที่สังคมของเราแตกเป็นก๊ก เป็นเหล่า เป็นสี มากมายเช่นนี้ แหล่งศึกษาและ/หรือมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นที่ใด ที่นี่ ที่ท่าพระจันทร์ ที่รังสิต ที่ลำปาง หรือ ที่ไหนๆ ในสยามประเทศไทย น่าจะต้องเป็นองค์กรกลางในการช่วยกันแก้ปัญหา และหาทางออก
การระดม ความคิด ทั้งสนับสนุน และคัดค้าน (แต่ต้องไม่ใช่ในรูปของการโต้วาที หรือไฮปาร์ค เอาชนะคะคาน) กันนั้น เป็นพันธกิจและภารกิจที่เร่งด่วนสุด และสำคัญสูงสุด
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง
นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ
(ข้าราชการบำนาญ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
1 กุมภาพันธ์ (ก่อนวันวาเลนไทน์ 2555/2012)
หมายเหตุ: ข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์”
1.ให้ยกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร
2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
4.เปลี่ยน บทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสามปีสำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกินสองปีสำหรับ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ
7.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น แทนพระองค์
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar