Thai E-News
ฟ้องอาญา ๑๑๒ เด็กอายุ ๑๔ ปี จะกระทำย่ำยีเพียงใด เช่นที่ตระบัดสัตย์คดีไผ่
อีกแล้ว ไม่เหมือนใครในสากลโลก “ฟ้อง ๑๑๒ กับเด็กอายุ ๑๔ ปี” โพสต์ของ อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โวย “ประเทศนี้มึงบ้าไปแล้ว”“เคสแรกในโลกที่มีการตั้งข้อหาหมิ่นฯ กับเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี” Bow Nuttaa Mahattana นักกิจกรรมใกล้ชิดกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ กล่าวถึงเรื่องเดียวกัน “#หยุดม112 #หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน”
จากคดีควบคุมตัวผู้ต้องหาเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ
ที่ขอนแก่น ๘ คน ที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุ ๑๘-๒๐ ปี เสร็จแล้วต่างโดนคดีอาญา
ม.๑๑๒ กันถ้วนหน้า ไม่สนกติกาแห่งมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล
นั่นก็ว่าทรามพอดูอยู่แล้ว ครั้นมาวันนี้ (๑๙ ส.ค.) ต่ำช้าหนักไปเสียยิ่งกว่า
เมื่อมีผู้ต้องหารายที่ ๙ ถูกส่งฟ้องในข้อหา Lèse-majesté
ที่โทษทางอาญาจำคุกกระทงละ ๑๕ ปี ด้วยอีกคน เป็นเยาวชนอายุเพียง ๑๔
ปี
ด.ช.อภิสิทธิ์ ชัยลี เด็กผู้ต้องหารายนี้ถูกทหารจับตัวไปควบคุมไว้ในข้อหาวางเพลิงเมื่อวันที่
๑๘ พฤษภาคม พร้อมกับผู้ต้องหาอื่นๆ อีก ๖ คน ที่เป็นชาวบ้านอำเภอชนบท
จังหวัดขอนแก่นเหมือนกัน เกือบอาทิตย์ให้หลังทหารถึงนำตัวผู้ต้องหาทั้งหกไปมอบให้ตำรวจ
ส่งตัวเข้าเรือนจำเมื่อ ๒๓ พ.ค.
เยาวชนอายุ ๑๔ ปีนั้นถูกควบคุมตัวที่ศาลเยาวชน อีก ๕
คนอยู่ที่ศาลจังหวัด จนกระทั่งมีการส่งฟ้องเมื่อสองวันก่อน
แต่ในตอนที่เริ่มฝากขังเมื่อเดือนพฤษภานั้น
ผู้ต้องหายังไม่มีการตั้งทนายแก้ต่างให้
องค์การฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน
“การควบคุมตัวเด็กผู้ชายวัย ๑๔ ปีแบบลับในค่ายทหารของไทย
ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ร้ายแรง” HRW แจ้ง “เยาวชนทั้งสี่คน (ในเบื้องต้น) ที่ถูกจับกุม
ไม่ควรถูกปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับการนำตัวไปขึ้นศาล
และไม่ควรถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร
โดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ไม่ว่าพวกเขาจะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาใดก็ตาม” นายแบรด
อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
“กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
กำหนดความคุ้มครองเป็นพิเศษสำหรับบุคคลทุกคนที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี”
ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
“อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the
Child - CRC) ระบุว่า ไม่ว่าในพฤติการณ์ใด การจับกุม
ควบคุมตัว หรือคุมขังเด็ก ให้กระทำเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย
และให้ทำในระยะเวลาที่สั้นสุดตามความเหมาะสม”
(https://www.hrw.org/th/news/2017/05/23/304108 และ https://www.facebook.com/OpSingleGateway/photos/a.424554611087545.1073741828.424552194421120/706122992930704/?type=3&theater)
ระเบียบปฏิบัติในบรรดาอารยะประเทศเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับการปฏิบัติตามจากรัฐบาลทหารไทยเท่าใดนัก
จะมีก็แต่บางครั้งอ้างด้วยปากอย่างเดียวว่า
ทำโน่นทำนี่ตามข้อผูกมัดสหประชาชาติที่ประเทศไทยลงนามบัญญัติไว้
การเอาผิด หลังจากบีบบังคับ ขู่เข็น จับกุม ควบคุมตัวแล้ว
เป็นกระบวนการที่มาตรฐานระบบยุติธรรมสากลจะจัดให้เป็นการทำร้าย
และนำบุคคลลงเป็นทาสเสียด้วยซ้ำ
ดั่งคดี ๑๑๒ ที่กระฉ่อนไปทั่วโลกจากการตัดสินไผ่ ดาวดิน
(ฉายานาม) นักศึกษากฎหมาย ม.ขอนแก่น นักกิจกรรมเพื่อสิทธิและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้าน
ที่กลายเป็นผู้ต้องหาหมิ่นกษัตริย์เมื่อเขาแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ ๑๐ โดยบีบีซีไทย
ที่เล่าข้อเท็จจริงละเอียดเกินไปกว่า ‘สถาบัน’ ต้องการ
ไผ่พยายามต่อสู้ด้วยใจแน่วแน่ว่าตนไม่ผิดทางอาญาใดๆ
เพียงต้องการพิสูจน์สิทธิมนุษยชนแห่งตนให้ประจักษ์ต่อสาธารณะ
แต่ก็จำต้องสยบหลังถูกกักขังโดยไม่รู้เป้าหมายบั้นปลายว่าคดีจะสิ้นสุดเมื่อไร
และไม่มีทางได้รับการประกันตัวปล่อยชั่วคราวออกไปสู้คดีนอกคุก
การบีบคั้นกดดันให้ผู้ต้องหายอมรับสารภาพ แม้วัดด้วยมาตรฐานกฎหมายสากลแล้วแน่นอนว่าไม่ผิดก็ตาม
เช่นนี้ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่า the Winston Syndrome
“ที่รู้กันดีก็คือ
การสารภาพจะช่วยย่นระยะเวลาในการพิจารณาและลดระยะเวลาติดคุก
การสารภาพแลกกับความหวังว่าจะได้ลดโทษ...
ปรากฏการณ์นี้แสดงว่าทุก ๆ ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้พิพากษา
และประชาชนทั่วไป ถือว่าผู้ต้องหา ๑๑๒ มีความผิดแน่นอนโดยไม่ต้องพิสูจน์
และต่อให้ผู้ต้องหาสามารถพิสูจน์ได้ว่าเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา
๑๑๒ นั้นเป็นความจริง ก็ยังถือว่าผิดอยู่ดี
ดังที่ผู้พิพากษาคนหนึ่งได้กล่าวกับทนายความในคดีหนึ่งว่า ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่น
ไม่จริง ก็ยิ่งโคตรหมิ่น”
ดร.ธงชัยนำการตีความนี้มาจากนิยายการเมืองเลื่องชื่อของจ๊อร์จ
ออร์เวล เรื่อง ‘1984’ ที่มีตัวละครสำคัญคนหนึ่งชื่อ Winston Smith โดยเปรียบเปรยว่า “สำหรับวินสตันและผู้ต้องหา ๑๑๒ การสารภาพในตัวมันเองคือการทรมานอย่างหนึ่ง
เพราะมาตรา ๑๑๒ เป็นอาชญากรรมทางความคิด
การทำลายความคิดอิสระจึงเป็นการทรมานยิ่งกว่าทรมานกาย...แม้ว่าการสารภาพจะเป็นทางเลือกซึ่งชาญฉลาดถูกต้องในสถานการณ์ที่เป็นจริง
เพื่อมีชีวิตอยู่รอดในโลกอัปลักษณ์ที่มีมาตรา ๑๑๒
และไม่ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนความคิดจริงหรือไม่ก็ตาม
การสารภาพเป็นการทำร้ายจิตใจลงย่อยยับ เป็นการกระทำที่สุดแสนจะทรมานสำหรับพวกเขา...
อิสระที่ได้รับหลังการสารภาพจึงเป็นเพียงอิสระทางกาย
เพราะจิตใจ ศักดิ์ศรี ความภาคภูมิใจในตัวของตัวเอง
ความเป็นมนุษย์ได้ถูกทำลายไปแล้ว...นี่คือความโหดร้ายของการสารภาพผิดต่อมาตรา ๑๑๒”
การสารภาพของไผ่ (หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) จึงเข้าข่ายดังกล่าวโดยไม่ต้องกังขา
เมื่อข้อเท็จจริงภายหลังการสารภาพและตัดสินผ่านไปแล้วหมาดๆ ปรากฏออกมาว่า
“ก่อนที่ศาลจะพิพากษาตัดสิน
ศาลได้เรียกไผ่และครอบครัวไปคุยเกี่ยวกับคดีความ
ก็ไม่ได้คุยแบบนี้แบบที่ตกลงกันในช่วงเช้า ที่คุยกันก็คือโทษจำคุกหากไผ่รับสารภาพไม่ใช่
๕ ปี” นี่เป็นคำพูดของนายวิบูลย์ พ่อของไผ่ ซึ่งกฤดิกร วงศ์สว่างพานิช
นำมาเขียนถึงใน ประชาไท
“ตอนนี้เราผิดหวังว่า
ที่เราได้คุยกันกับศาลจนไผ่รับสารภาพนั้น มันตระบัดสัตย์
ทั้งที่ปกติไผ่จะไม่รับสารภาพง่ายๆ แบบนี้”
ฟังดูเหมือนศาลลวงให้ผู้ต้องหา ๑๑๒ รับสารภาพเพื่อจะได้ตัดสินสิ้นเรื่องสิ้นราวจบๆ
ไป เนื่องจากคดีไผ่เป็นที่สนใจและจับตาอยู่ทั่วโลก
ในแง่ที่ว่ากระบวนการศาลไทยไม่ยึดถือมาตรฐานความยุติธรรมตามครรลองสากล
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar