ทำดีต้องมี Gimmick:ใบตองแห้ง
ตูน บอดี้สแลม ออกวิ่งวันแรก ได้เงินบริจาคแล้ว 40 ล้าน แต่รวมเงินประเดิมจากคิงเพาเวอร์ 24 ล้าน กัลฟ์เอนเนอร์จี 10 ล้าน เป็นเงินชาวบ้านรายย่อย 6 ล้านเท่านั้น
แหงสิครับ ถึงแม้ร็อกสตาร์อยากเห็นคนไทย 70 ล้านคน ร่วมแรงร่วมใจคนละ 10 บาท ให้ได้ 700 ล้าน ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาล แต่ก็รู้กันว่าเงินก้อนใหญ่จะมาจาก บริษัทห้างร้าน โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งจะปิดบัญชีปลายปี สามารถบริจาคหักภาษีได้ 2 เท่า เพราะเป็นการบริจาค เข้ามูลนิธิ ร.พ.พระมงกุฎฯ
ตลอดระยะเวลา 55 วัน สิ่งที่เราจะเห็นควบคู่กับภาพแฟนคลับคล้องพวงมาลัย ใบละ 100 ใบละ 20 ก็คือการประกาศบริจาคเงินก้อนใหญ่ ของภาคธุรกิจ ที่จะเลือกทำ CSR ในจังหวะที่เหมาะสม
มองในแง่นี้ งานวิ่ง “ก้าวคนละก้าว” ของ “พี่ตูน” จึงวิ่งดุ่มๆ รับพวงมาลัยไปเรื่อยไม่พอ อย่างน้อยๆ ทีมงาน ก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เป็นข่าวต่อเนื่อง 55 วัน แม้แน่ละ วันแรกๆ เริ่มได้สวย มีสื่อแห่ตาม ทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ เฟซบุ๊กไลฟ์ แถมคนบันเทิงเชียร์สนั่น แต่ตามหลักวิชาข่าว ถ้าวิ่ง 55 วันไม่มีอะไรต่างกัน มันก็ไม่เป็นข่าว ไม่เรียก คนสนใจ มันต้องมีสีสัน มีช่วงเวลาสะเทือนใจ มีภาพตื้นตัน มีเสียงหัวเราะ มีน้ำตา รวมทั้งมีวาทกรรม
พูดหยั่งงี้ เดี๋ยวโดนข้อหาเอาจิตใจคนต่ำช้าไปวัดจิตใจวิญญูชน “พี่ตูน” วิ่งด้วยความบริสุทธิ์ใจ ยังยุยงให้ดราม่า ปัดโธ่ ต้องดูสิว่าเราอยู่ในสังคมอะไร ถึงจะเป็นการรณรงค์ให้คนทำความดี ก็ต้องมีศาสตร์และศิลป์ ต้องเข้าใจกระแสสังคม ต้องรู้จักชง พยุง หรือชูกระแส โดยทำตามความเหมาะสม ไม่ได้บอกให้เสแสร้งซักหน่อย
“พี่ตูน” เริ่มต้นดีมีชัยไปครึ่งหนึ่ง เช่นพูดว่า “ถึงตาย ก็ไม่เสียดาย” ใครวิจารณ์ก็ช่าง “ผมทำมากกว่าพูด” แฟนคลับ น้ำตาซึม แต่ช่วงเวลามันยาว จากนี้ไปถึงคริสต์มาส ทุกคนต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ ให้พาดหัวข่าวได้ทุกวัน เช่นมวลมหาดารานักร้องที่อยากเป็นคนดี ต้องสลับคิวไปช่วยวิ่ง แต่ละอำเภอแต่ละจังหวัดที่ “พี่ตูน” ผ่านก็ต้องสร้างสีสันแปลกๆ กันไป หมอ พยาบาล คนไข้ ช่วยสร้างภาพตื้นตันสะเทือนใจ นักการเมืองก็ไม่ห้ามนะ วิ่งชูป้ายได้ (โดนด่ายิ่งดี ทำให้สื่อมีประเด็นขายข่าว)
คนดีเด่นดังก็ฟิตร่างกายไว้ เพื่อร่วมทำดี เช่นมาถึง สุราษฎร์ฯ ก็ให้ลุงกำนันร่วมวิ่ง มาถึงกรุงเทพฯ ลุงตู่รับ ไม้ผลัด ไม่แน่นะ อาจได้เกิน 3 พันล้าน ขึ้นกับวิธีบริหารจัดการ ให้สังคมมีอารมณ์ร่วม
เราอยู่ในสังคมที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้น ผู้คนบริโภคสื่อแบบฉาบฉวย เปลี่ยนใจง่าย มีดราม่าใหม่ๆ ทุกวัน ยุคนี้สมัยนี้ทำดีไม่มีคนเห็นไม่พอนะ ต้องชวนคนอื่นทำดีไป ด้วยกัน ฉะนั้น ปิดทองหลังพระก็ต้องเซลฟี่ จะได้มีคน ปิดทองหลังพระเยอะๆ ไง
เรื่องพวกนี้ นักรณรงค์ทางสังคมรู้ดี รู้พอๆ กับ PR นักโฆษณา หรือ IO อย่างน้อยต้องเจนจบวิชา “ดราม่า 101” เช่นยุคนี้สมัยนี้ถ้าอยากขาย “สินค้า” ก็ต้องขาย “สตอรี่” ตั้งแต่สารต้านอนุมูลอิสระ เครื่องสำอาง อาหารเสริม ไปจน รณรงค์รักษ์โลก รักษ์เต่า บริจาคเข้ามูลนิธิ
เมื่อ 2-3 ปีก่อนเคยมีข่าว มูลนิธิแห่งหนึ่งให้คนชั้นกลางในเมืองรับอุปการะเด็กยากไร้ ทุกปีเด็กเขียนจดหมาย มาขอบคุณ แต่พอตามไปถึงที่ เด็กไม่รู้เรื่องเลย อันที่จริงมูลนิธิไม่ได้โกง โปร่งใสทุกบาทสตางค์ เพียงใช้ Gimmick ดึงดูดใจ (แต่พอความจริงปรากฏก็ทำให้เสียเส้น)
เราอยู่ในยุคที่คนทำดีต้อง PR เพื่อขยายผลแห่งกรรมดี ขณะเดียวกัน ความดีก็ “ขายได้” มันก็เลยจะสับสนหน่อยๆ เช่น คำว่าเติมเต็ม แบ่งปัน คิดบวก ธุรกิจเพื่อสังคม ฯลฯ ทุกวันนี้กลายเป็นวาทกรรมทำเงินของบริษัทโฆษณา
ซุปตาร์ดารานักร้องสมัยนี้ ก็ต้องหัดทำไร่ไถนา พาลูกดำนา อยู่กะธรรมชาติ เข้าวัด ปฏิบัติธรรม เดินจงกรมเหยียบขี้หมา ฯลฯ ถามว่าจริงใจหรืออยากอัพเกรด ก็แยกยากเหมือนกัน เพราะมันกลายเป็น “วัฒนธรรมป๊อป” ไปแล้ว
การทำความดีสมัยนี้ จึงแยกจากกระแสลำบาก แต่กรณี “พี่ตูน” ก็คือจริงใจซะอย่าง ปัดโธ่ ไม่จริงใจคงไม่วิ่ง 2 พันกิโล ส่วนคนอื่นๆ จะช่วย Gimmick อย่างไรก็เป็นธรรมดา
(หน้า 6)
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar