อำนาจในถ้ำ:ใบตองแห้ง
พบแล้ว 13 ชีวิต แม้ยังช่วยออกมาไม่ได้ คนส่วนใหญ่ ก็เบาใจ หันไปดราม่าหน้าถ้ำ เชิดชู สดุดี เล่าขาน ความซาบซึ้งประทับใจ แต่ก็ไม่วายตั้งคำถาม ถกเถียงกัน เช่น 13 ชีวิตเป็นฮีโร่หรือผู้ประสบภัย มหาดไทยย้ายผู้ว่าฯ ทำไม ครูบาบุญชุ่มเป็นผู้นำทางจิตใจ หรือไม่ควรเชื่อเรื่องงมงาย
คนเราก็เป็นอย่างนี้ เวลาเกิดภัยพิบัติ มักน้ำหนึ่งใจเดียว แต่พอเหตุการณ์ผ่านพ้น เวลาต้องสรุปข้อเท็จจริง เก็บรับบทเรียน ประเมินความเสียหาย จ่ายชดเชย ให้ความดีความชอบ ฯลฯ ก็ไม่ใช่ลงเอยกันง่าย
ใครที่ปลาบปลื้มว่าคนไทยร่วมแรงร่วมใจ เป็นจุดแข็ง ให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไป ก็ต้องเข้าใจความเป็นจริง การร่วมใจช่วยผู้ประสบภัย ไม่ใช่แปลว่าเรื่องอื่นร่วมกันได้ ความเห็นต่างความเห็นแตก ก็ยังแตกกันต่อไป เพียงแต่ระหว่างกู้ภัย คนทั่วไปไม่สามารถทำอะไรได้ ได้แต่เอาใจช่วยทีมกู้ภัยและรัฐบาล
แต่พอเหตุการณ์คลี่คลาย สังคมก็ย่อมกลับมาถกเถียงกันเรื่องต่างๆ เรื่องเลือกตั้ง เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ พลังดูดก็กลับมาพาดหัวข่าว จนชาวบ้านสงสัย ทำไมไม่ไปดูดน้ำในถ้ำบ้าง
ความขัดแย้งต่างๆ ไม่มีทางลงเอยง่าย เพราะเป็นเรื่องโครงสร้าง เรื่องของการจัดสรรแบ่งปันอำนาจ ให้คนไทยทุกกลุ่มทุกชั้นอยู่ร่วมกันได้ โดยต่างก็พึงพอใจระดับหนึ่ง ซึ่งแน่ละ ไม่มีใครได้อะไรทุกอย่าง แต่อย่างน้อยก็ยังรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียง ได้รับความเป็นธรรม
คือถ้ารำคาญนัก จะลบคำว่าสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ทิ้งไปก็ได้ แล้วคิดใหม่จากศูนย์ ว่าทำอย่างไร จะให้คน 60 กว่าล้านอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้กติกาเดียว ที่ทำให้ทุกคนมีโอกาส มีเศรษฐกิจปากท้องดีขึ้น ได้รับบริการสาธารณะ อย่างสะดวกเท่าเทียม โดยขณะเดียวกันก็อย่าลืมว่าคนยุคปัจจุบันไม่ใช่ยุคสฤษดิ์ ถนอม ผู้ใหญ่ลี ทุกคนมีมือถือให้ไลฟ์สดออกโซเชี่ยล แถมยังแยกสีแยกข้างแสดงพลังมาสิบกว่าปี ลงเอยที่เสียงข้างมากเป็นฝ่ายแพ้ คับแค้น อัดอั้น ไม่ได้รับความยุติธรรม
คิดอย่างไรก็ไม่สามารถคิดให้พ้นจากคำว่าเสรีภาพ ประชา ธิปไตย นิติรัฐ การปกครองด้วยระบบกฎหมายที่มีมาตรฐานเสมอหน้า ซึ่งรากฐานของทุกอย่างคืออำนาจมาจากเลือกตั้ง
อ.เกษียร เตชะพีระ ชี้ว่า “รัฐพันลึก” ชนชั้นนำไทย อยากเป็นแบบจีน คือสร้างระบอบการเมืองอำนาจนิยม ควบคุมสังคมเข้มงวด แต่เศรษฐกิจเป็นทุนนิยม ที่เติบโตไม่หยุดยั้ง เพื่อให้คนระดับล่างพอใจไม่ต่อต้าน แม้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมการแสดงความคิดเห็น
เท่าที่ดู ระบอบตู่ก็เป็นอย่างนั้น รักนะ ประชาชน แต่อย่าต่อต้าน กินอาหารกลางวันหัวละ 20 บาทในถาดหลุมกับเด็กนักเรียน แจกบัตรคนจน ประชารัฐ ไทยนิยม ทำทุกอย่าง หวังให้ ปากท้องประชาชนดีขึ้น จะได้ไม่เรียกร้องต้องการอำนาจ แต่ไม่รู้ทำไม ชาวบ้านบ่นว่าปากท้องแย่ และมองอย่างไร ก็ไม่เห็นโอกาสที่รัฐไทยจะทำได้แบบจีน หรือแบบรัสเซีย
ไม่ต้องพูดถึงบริบท ประวัติศาสตร์ จีนมาจากจุดต่ำสุด ยุคปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อ 42 ปีก่อน ที่แน่ๆ รัฐราชการไทย ชนชั้นนำไทย ไม่ได้เข้มแข็งเป็นเอกภาพมีประสิทธิภาพอย่างพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังเป็นรัฐล้มเหลวรัฐล้าหลัง แต่สร้างภาพใหม่หลังรัฐประหาร ให้เป็นรัฐยิ่งใหญ่รัฐศักดิ์สิทธิ์ผู้มีอำนาจชี้ขาด โดยอ้างกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ที่ปั๊มออกมามากมาย ในช่วง 4 ปี
เผลอแป๊บเดียว ดูอีกทีก็กลายเป็นรัฐพันธนาการ รัฐแห่งการออกคำสั่ง ไม่ใช่รัฐบริการ สร้างปัญหาตั้งแต่คนทำมาหากิน ไปถึงคนทำงานภาครัฐ และรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ที่เจอทั้งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ องค์กรอิสระ ส.ว.แต่งตั้ง
โธ่ถัง แค่รัฐบาลนี้จะสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟทางคู่ ก็ยังติดล็อกกฎหมายวินัยการคลัง
โครงสร้างทางการเมือง เอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องตลก จำใจต้องมี เลือกตั้ง แต่วางกลไกบังคับ ถ้าไม่สืบทอดอำนาจ หรือได้รับฉันทานุมัติ นักการเมืองจากเลือกตั้งชนะถล่มทลายก็บริหารประเทศไม่ได้
แต่ใครอยากสืบทอดอำนาจก็จำใจต้องเอาตัวเองเข้ามาอยู่ในระบบที่มีฝ่ายค้าน ที่ต้องมีฐานนักการเมือง ปากพูดเรื่อง ธรรมาภิบาล แต่ดูดอดีต ส.ส.เข้าถ้ำสามมิตร จนตัวเองก็ตกเข้าไปในหลุมดำ อ้าว ไหนว่าคนดี แต่ดูหน้าพวกที่หนุนแต่ละราย อ้าว ไหนว่าจะจัดเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
ทั้งหมดนี่มันเห็นกันชัดๆ ว่าไปทางไหนก็ลำบาก สืบทอด อำนาจก็อยู่ยาก ไม่สืบทอดก็ยุ่ง แต่อยู่เฉยๆ ไม่ได้ จำเป็นต้องดำน้ำ ดำลงไปแล้วจะคลำเชือกทางไหน ยังไม่รู้เลย
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar