måndag 18 februari 2019

รธน.ปฏิปักษ์ ปชต. :คอลัมน์ ใบตองแห้ง


รธน.ปฏิปักษ์ ปชต.:คอลัมน์ ใบตองแห้ง

พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อหัวหน้า คสช. เป็นแคนดิเดต นายกฯ ทั้งที่มี ม.44 มีอำนาจเหนือระบบ
เป็นผู้กำหนดกติกา เป็นกรรมการเอง แล้วลงมาแข่งเอง แถมจะตั้ง 250 ส.ว. มาเลือกตัวเอง
ถามว่านี่เป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ “แล้วมันผิดตรงไหนหรือ ผมไม่เห็นผิดตรงไหน” ยืมคำพูดไพบูลย์ นิติตะวัน มาตอบก็ได้ ชูพระพุทธเจ้าหาเสียงก็ไม่ผิดอะไร ตราบใดที่เป็นพุทธ ศาสนิกชน

ปัดโธ่ ลุงตู่ไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญเลยสักข้อ ก็ลุงตั้ง กรธ.มีชัยมากับมือ ตั้ง สนช.มาเลือกป.ป.ช. เลือกกกต. มาเขียน กม.เลือกตั้ง กม.พรรคการเมือง
แล้วลุงตู่จะทำผิดได้อย่างไร เรื่องทั้งหลายที่หาว่าลุงเอาเปรียบ ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ลุงไม่ได้เจตนาเอาเปรียบเลยสักนิด แค่ได้เปรียบตามรัฐธรรมนูญ

ลุงเป็นสุภาพบุรุษอีกต่างหาก ไม่อยากไปดีเบตกับใคร เดี๋ยวจะได้เปรียบมากเกินไป เพราะลุงมีรายการทีวีให้พูดคนเดียวทุกช่องอยู่แล้ว ลุงไม่เคยไปหาเสียง แค่มีรถนำขบวนไปตรวจงาน แล้วมีชาวบ้านมาต้อนรับ พร้อมกับผู้สมัครพลังประชารัฐ ลุงไม่ถนัดการพูด แต่ถนัดทำงาน เช่นปั๊มนโยบายประชานิยมต่างๆ ออกมาในช่วงเลือกตั้ง
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรียกว่ากติกา ทุกคน ทุกพรรค ต้องเคารพกติกา ถ้าจะลงแข่งขัน ต้องยอมรับรัฐธรรมนูญ ยอมรับกฎหมายเลือกตั้ง บัตรใบเดียว ต่างเขตต่างเบอร์ ยอมรับอำนาจแบ่งเขตของ กกต. รวมทั้งอำนาจแจกใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ใบดำ กระทั่งส่งศาลยุบพรรค ยอมรับว่าต้องแข่งขันในสภาพไม่ปกติ ใต้อำนาจไม่ปกติ เพื่อแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส. มาโหวตนายกฯ ในขณะที่ลุงคนเดียว มีเสียงโหวตเท่ากับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 25 ล้านคน จากการตั้ง 250 ส.ว.

มันคือการแข่งขันที่ไม่ปกติ กติกาไม่ปกติ แต่ทุกคนจำต้องยอมรับเหมือนเป็นสิ่งปกติ แข่งในกระบวนการที่รู้อยู่ดีว่าใครจะเป็นนายกฯ

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของลุงคนเดียว เป็นเรื่องของเครือข่ายอำนาจที่ใหญ่โตเหนียวแน่น ปัดโธ่ ไม่งั้นวันที่ 8 ลุงถอนตัวไปแล้ว

น่าเสียดายเหมือนกัน ที่กระบวนการเลือกตั้งไม่ปกติ น่าจะเดินไปเสมือนเป็นปกติ ในโลกเสมือนจริง กติกาเสมือนจริง ปลุกเร้าประชาชนว่าฝ่ายไม่เอาลุงยังมีโอกาสชนะ
แต่บังเอิญหรือเปล่าไม่ทราบ พรรค ทษช.ดันทำตัวเอง จนกลายเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ปกติ ที่ทุกคนเห็นเด่นชัดตั้งแต่ต้น

อย่างน้อย ก็จะมีการพิจารณาคดียุบพรรคระหว่างเลือกตั้ง โทษฐานเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งพรรค ทั้งผู้สมัครเกือบ 300 คน อาจจะหายไปจากตัวเลือกของประชาชนทันที

ในขณะที่ใครไปร้องยุบพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร บอกแล้วไง เป็นไปตามกติการัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย หรือเป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ก็รู้อยู่
ส่วนอย่างมาก หรือมากกว่า หลังจากนี้ไม่มีใครตอบได้ รู้แต่ว่ากติกาเสมือนปกติ ถูกทำให้เห็นชัดแล้วว่านี่ไม่ใช่การเลือกตั้งปกติ วิกฤต 12 ปีไม่จบง่าย และกำลังเข้าสู่เขตแดนใหม่ จากความผิดเพี้ยนในโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญเป็นปัจจัยสำคัญ

อะไรที่มันจะเกิด ไม่ราบรื่นแน่นอน ไม่น่าจะเป็นไปตามความฝันของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น พลังประชาธิปไตยชนะ ฟ้าสีทองผ่องอำไพ หรือสืบทอดอำนาจอนุรักษนิยมได้ อมตะนิรันดร์กาล
โลกจริงของจริงมันน่าวิตกกว่านั้นเยอะ


ทษช.มันน่ากลัว?:ใบตองแห้ง

กกต.มีมติเอกฉันท์ ว่าการที่พรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 รายชื่อ คือเสนอทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน ราชกัญญาฯ “เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที เพื่อให้ยุบพรรค ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 92 ศาลจะวินิจฉัยรับไม่รับ ในวันวาเลนไทน์นี้

ซึ่งก็เป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง ว่ากกต.และพรรค ทษช.จะให้เหตุผลหักล้างกันในศาลอย่างไร ศาลจะมีคำสั่งยุบพรรคหรือไม่ ยุบเมื่อไหร่ ก่อนหรือหลังเลือกตั้ง

ถ้ายุบก่อน ก็มีคำถามว่าจะทำอย่างไร กับสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ ราว 300 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดสมัครก่อนวันที่ 8 ก.พ. ไม่ได้เกี่ยวข้องรู้เห็นกับการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรคเลย

อย่างเช่นจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ก็ยังงุนงง เพราะเข้าใจว่าจะได้เป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่พรรคไม่ส่งหนังสือมาให้เซ็น พอเหตุการณ์ตาลปัตร จะโดนยุบพรรค กลับต้องซวยไปด้วย จาตุรนต์ผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์ตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 มาจนเป็นนักการเมืองคนเดียวที่กล้าท้าทายรัฐประหาร 2557

กลับจะเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ปล่อยให้เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เข้าสภาไปข้างเดียว อย่างนั้นหรือ
แล้วคนที่อยากเลือกจาตุรนต์ล่ะ อยากเลือกผู้สมัครคนอื่นๆ ล่ะ อ.จอน อึ๊งภากรณ์ จึงบอกว่า “ไม่เห็นด้วยหากพรรคไทยรักษาชาติจะถูกยุบ เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง”
ประชาชนควรมีสิทธิเลือกทุกพรรค ผู้สมัครทุกคนที่เสนอตัว ไม่ใช่ถูกตัดหายไป เพราะศาลตัดสินว่ากรรมการบริหารผิด

ว่าที่จริง ก็สามารถให้ประชาชนตัดสิน ว่าจะยังเลือก ผู้สมัครของ ทษช.อยู่หรือไม่ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้คนจะเลือกเปลี่ยนใจก็ได้ บางคนอาจแอนตี้ คว่ำบาตร แม้บางคนอาจเห็นใจ หรือไม่เปลี่ยนใจ เพราะชอบผู้สมัครที่ยังเป็นคนเดิม

นี่เป็น dilemma ว่าจะมองคะแนนที่จะเลือก ทษช. เป็น “คะแนนพิษ” เสียหมดหรือไม่

ซึ่งแน่ละ ยังจะส่งผลทางการเมือง ว่าคะแนนจะกระจายไปพรรคไหน แต่ก็อาจกระตุ้นให้คนที่จะเลือกอยู่แล้ว รู้สึกคับแค้นใจ มุ่งมั่น เทให้พรรคต้านสืบทอดอำนาจด้วยกัน

แต่ละข้อๆ จะเป็นประเด็นน่าสนใจ และน่าลำบากใจแทนตุลาการ แม้กฎหมายใหม่ห้ามวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ แต่มันเกี่ยวพันผลการเลือกตั้ง สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งกระทบประชาชนทุกคน คงห้ามได้ยาก
ย้อนไปประเด็นหลักว่าเพียงเพราะมีหนังสือแจ้งชื่อ ทษช.ก็ผิดฐาน “เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบฯ” หรือไม่ ก็ยังมีช่องให้ต่อสู้คดีอีกเยอะ เช่น การเสนอชื่อนั้นเมื่อ กกต.ไม่ประกาศ ถือเป็นโมฆะหรือไม่ ถ้าเป็นโมฆะแล้วผิดอย่างไร

อันที่จริง ไม่ใช่แค่ผู้อยู่ขั้วตรงข้าม นักวิชาการประชาธิปไตยก็ไม่เห็นด้วยกับ ทษช. เพราะทูลกระหม่อมหญิงฯ ควรอยู่เหนือการเมือง หากได้รับการเสนอชื่อเป็น นายกฯ ก็ต้องเข้าสู่การแข่งขัน การวิพากษ์วิจารณ์ แต่ ทษช.ยืนยันว่าทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์แล้ว และมีหนังสือตอบรับ ครบถ้วนตามกระบวนการ
ตลอดทั้งวันจึงเต็มไปด้วยคำถาม ทษช.ทำอย่างนี้ได้หรือ กกต.ก็ตอบไม่ได้ จนกระทั่งมีพระราชโองการ ให้ความแจ่มชัด สร้างความปลื้มปีติ   แต่ในทางกฎหมาย ทษช.ก็จะสู้คดีว่า ก่อนหน้านั้นเขาคิดว่าทำได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จนมีพระราชโองการจึงน้อมรับ แล้ว กกต.ก็ประกาศเป็นโมฆะ เพียงเท่านี้จะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบเลยหรือ

พูดอย่างนี้ไม่ได้แถ เข้าข้าง แค่มองว่าจะเป็นประเด็นที่ถกกันกว้างขวาง และไม่จบง่าย
(หน้า 6)

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar