อันนี้ พูดจริงๆนะ โดยส่วนตัว ผมยังคิดว่า หลังพระบรมฯขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็คงไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เห็น อย่างน้อยเป็นปีๆ ปีแรกนี่เป็นปีไว้อาลัย คงไม่มีอยู่แล้ว หลังจากนั้น ต่อให้จะมีความเปลี่ยนแปลง
ก็ไม่น่าจะเห็นกันเร็ว คืออาจจะต้องเลย 2-3 ปีแล้ว ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้น
ทำไมคนจึงคาดกันว่า ถ้าพระบรมฯขึ้น มีโอกาสของการมีปัญหา ความไม่มีเสถียรภาพทางสังคม หรือการเมือง? การที่ คสช มาคุมสถานการณ์เข้มงวดในขณะนี้ เหตุหลักก็มาจากความกลัวเรื่องนี้
(มีคนถามกันว่า ทำไมหุ้นต้องผันผวน เวลามีข่าวทำนองในหลวงเจ็บหนัก อาจจะใกล้สวรรคตเต็มที ก็คือ
ปัญหาที่กำลังจะพูดนี้)
ผมว่า ก่อนอื่นเลย ก็เริ่มมาจาก "พระสไตล์" ของพระบรมฯ คือทรงทำอะไรโดยไม่ค่อย "ทรงพระแคร์" ต่อระเบียบแบบแผน หรือสายตาคนนัก อันนี้ ตัวอย่างเมื่อเร็วๆนี้ก็คงเห็นแหละ เรื่องปลดวัชโรทัยนี่ ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมายอะไรทั้งสิ้น แม้แต่เรื่องใส่ชุด "คร้อปท็อป" อะไรต่อหน้าเจ้าหน้าที่เป็นสิบๆที่มิวนิค ก็ไม่ทรงรู้สึกว่าต้องห่วงอะไร (เพราะถือว่า สำหรับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น พระองค์ทรง untouchable ไม่มีใครกล้าเอาไป "พูดต่อ" อยู่แล้ว - บังเอิญฝรั่งช่างภาพ มันไม่ได้รู้สึกแบบเดียวกัน)
ไม่ต้องพูดถึงกรณีเรื่อง เดี๋ยวถอดยศ เดี๋ยวคืนยศ เดี๋ยวเลื่อนยศ คนใกล้ชิด อย่างชนิดที่เรียกว่า "ชอบกลๆ" หรือยิ่งไปกว่านั้น กรณีหมอหยอง - อัครพงศ์ปรีชา ที่ก็เห็นกันว่า ลงเอยยังไง
คนเขาก็คาดกันว่า เมื่อพระองค์เป็นกษัตริย์ มีอำนาจมากขึ้นมหาศาลแล้ว จะยิ่งแสดงออกซึ่ง "พระสไตล์" ที่ว่านี้ใหญ่ แล้วก็เลยอาจจะถึงจุดที่มีหลายๆกรณีแบบที่ว่านี้ (ซึ่งเกิดในขณะที่ยังไม่ได้ทรงมีพระราชอำนาจเต็มที่ด้วยซ้ำ) ขึ้นมาอีก และมากกว่าเดิม จนทำให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นมาได้
"มิตรสหาย" ในต่างประเทศของผมบางคน เชื่อซีเรียสจริงๆว่า ถึงเวลาพระบรมฯขึ้นครองราชย์ ลักษณะ "พระสไตล์" ในการใช้อำนาจที่ว่านี้ จะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นสักวัน - ผมเองโดยส่วนตัว ไม่ถึงกับแน่ใจนักนะ
ประการต่อมา - ซึ่งมีส่วนต่อเนื่องจากประเด็นที่เพิ่งพูด - เป็นที่รู้กันว่า แม้แต่ในแวดวงชั้นสูง ก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไมได้ "ศรัทธา" พระองค์นัก ไม่ใช่เฉพาะกรณีองคมนตรีชุดเดิม (ซึ่งคงถูกให้ออก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่) แต่รวมถึงในอีกหลายแวดวง เช่น ธุรกิจ ศาล หมอ ฯลฯ (ที่ผมสนใจเคยโพสต์ไปว่า ใครบ้างจะเป็นคนมาคอย "ประสาน" กับวงการเหล่านี้ให้พระบรม แทนคนเดิมๆที่เคยทำงานให้ในหลวง)
ทีนี้ ความไม่ค่อย "ศรัทธา" ที่ว่านี้ ก็อาจจะนำมาซึ่งความไม่มั่นคงในหมู่กลไกหรือแวดวงต่างๆได้ เช่น ศาล ที่ผ่านมา ผู้พิพากษา ทำ "ตุลาการภิวัฒน์" ก็เพราะรู้สึกว่าตัวเองกำลังตัดสินคดีแทนในหลวง "ในพระปรมาภิไธย" ของในหลวง ในอนาคต ถ้าเป็นรัชสมัยพระบรมฯ ความรู้สึกแบบนี้ จะยังคงเข้มข้นอยู่หรือไม่? มีนักวิชาการที่ผมรู้จักบางคน ถึงกับคิดว่า มีความเป็นไปได้ด้วยซ้ำที่แม้แต่ในกองทัพเอง ก็อาจจะเกิดการ "แข็งขืน" ต่อพระบรมฯได้
ในภาพที่กว้างออกไป เป็นที่รู้กันดีว่า ในหมู่ชนชั้นกลางกรุงเทพ (ซึ่งในหลายทศวรรษหลังนี้เป็น "ฐานมวลชน" สำคัญที่สุดของในหลวง) ก็อาจจะเกิดความไม่พอใจ จนถึงระดับที่ไม่สนับสนุน status quo หรือ"สถานภาพเดิม" ระบบสังคมการเมืองเดิมๆ ภายใต้พระบรมฯก็ได้
โดยส่วนตัว ผมยังรู้สึกว่านี่เป็นการประเมินแบบ "คาดหวังมากไป" (optimism) ในเรื่องความเปลี่ยนแปลง โดยธรรมชาติผมเป็นคนประเมินอะไรในทางร้าย (pessimism) ไว้ก่อน ดังนั้น ผมก็ไม่ถึงกับประเมินถึงระดับที่ว่านี้
อีกประการหนึ่ง ก็เป็นที่รู้กันว่า พระบรมฯทรงเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทักษิณ (แต่ไม่กี่ปีหลังนี้ ห่างกันออกไป ไม่ได้ติดต่ออะไรกันแล้ว - อันนี้ผมยืนยันได้ - แม้แต่ตัวทักษิณเอง ก็ยังเชื่อว่า ถึงเวลาในหลวงไม่อยู่ พระบรมฯขึ้น เขาสามารถหาทาง "ดีล" กับพระบรมฯได้ - อันนี้เป็นอะไรที่ผมยืนยันได้เช่นกัน) ซึ่งในแง่นี้ ก็มีความกังวลกันในหมู่คนที่ไม่ชอบทักษิณ (หรือคนที่กลัวความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ถ้าทักษิณกลับ) ว่าอาจจะนำไปสู่ปัญหาได้
..............
ผมยังเห็นว่า (ดังที่เคยเขียนไป) ยุทธศาสตร์ใหญ่สุดในเรื่อง "เปลี่ยนผ่าน" ของ คสช คือ ทำยังไง ที่จะสร้างสภาพ Monarchy without THE monarch หรือ "ระบอบกษัตริย์นิยม ที่ไม่มีในหลวง" (ซึ่งสำหรับพวกเขาและสังคมไทยอีกเยอะ ถือว่าเป็น THE monarch ไม่ใช่แค่ A monarch) คือพระบรมฯก็เป็นกษัตริย์แทนนั่นแหละ มีกษัตริย์องค์ใหม่ มีระบอบกษัตริย์นิยม แต่โดยที่ "ไม่มีกษัตริย์" คือไม่มีในหลวงอยู่สำหรับแสดงบทบาทแบบเดิมที่ผ่านๆมา ซึ่งพวกเขาก็หวังว่า จะใช้กลไกต่างๆที่มีอยู่ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ กองทัพ ฯลฯ เป็นตัว "ศูนย์กลาง" คอยแก้ปัญหาต่างๆแทน
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar