tisdag 29 november 2011

ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลวิจารณ์นางธิดาว่าออกแถลงการณ์ไม่ตรงกับความจริง

สมศักดิ์ เจียมฯวิจารณ์ธิดา

ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขียนในเฟซบุ๊คว่า ไม่ได้อยากจะต้องมาคอยโต้แย้ง อ.ธิดา บ่อยๆ แต่ขอโทษเถอะว่า ถ้าอาจารย์เอาแต่ออกแถลงการณ์ที่ไม่ตรงความจริง และ ไม่เพียงพอ แบบนี้บ่อยๆ จะยิ่งชวนให้อาย ในฐานะทีชอบอ้างเป็น "กองหน้า" ของ "ขบวนการประชาธิปไตย" เปล่าๆ

แถลงการณ์วันนี้ ของ อ.ธิดา ที่เล่าเรื่องการไปยื่นหนังสือให้ ประชา เมื่อหลายวันก่อน มีข้อความ ที่ (ก) ไม่ตรงความจริง และ (ข) สะท้อน ความไม่เพียงพอ อย่างยิ่งต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

ผมจะพูดเฉพาะ 2 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้

(1) อ.ธิดา อ้างว่า "เป้าหมายทางยุทธศาสตร์" ของ นปช. "ไม่ต่างอะไรกับแนวทางนิติราษฎร" เรื่องนี้ ไม่เป็นความจริง ข้อความเต็มๆ ของ อ.ธิดา ในเรื่องนี้ (ซึ่งมีที่ "แขวะ" เป็นนัยๆ ถึงข้อวิจารณ์ของผมอยู่) มีดังนี้


"ถ้าคนที่ติดตาม นปช. ในการแถลงข่าวมาตลอดก็จะรู้เป้าหมายยุทธศาสตร์ ซึ่งมีอยู่นานแล้วว่า ไม่ต่างอะไรกับแนวทางนิติราษฎร และเราก็แถลงสนับสนุนมาตลอด จนบางคนกล่าวว่าเราเอากลุ่มนิติราษฏรมาผูกโยงกับ นปช. รึเปล่า บางคนไม่เห็นด้วย แต่เราได้แถลงเป็นประจำถึงเป้าหมายยุทธศาสตร์ นโยบาย และภาระหน้าที่ของ นปช. ซึ่งเราต้องปฏิบัติตามหลักการนี้ ไม่ใช่เรื่องสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนกลุ่มใด แต่เราเดินไปตามหลักการที่วางไว้ และได้รับการเห็นชอบมาก่อนแล้ว เมื่อเป็นไปตามแนวเดียวกัน การพูดสนับสนุนก็เป็นธรรมดาที่พูดกันเป็นประจำ ปัญหาเรื่องสนับสนุนนิติราษฎรหรือไม่ จีงมีเฉพาะผู้ที่ไม่ติดตามเรื่องราวของเราเท่านั้น จีงไม่ทราบหรือทราบแต่ตั้งใจจะให้ร้ายป้ายสีก็เป็นได้"

ข้อความนี้ เต็มไปด้วย ความไม่จริง ดังนี้

(1.1) เฉพาะข้อเสนอในวาระ 19 กันยา ที่ผ่านมาของ นิติราษฎร์ มีจุดที่ ต่างกันอย่างชัดเจน กับสิ่ง นปช. ทำอยู่จนถึงบัดนี้ คือ

- นิติราษฎร์ เสนอให้ยกเลิกผลการรัฐประหาร ซึ่งมีนัยยะว่า จะต้องนำตัวผู้ทำรัฐประหาร มาลงโทษ สิ่งที่ อ.ธิดา พูดมาตลอดหลังจากการเสนอของนิติราษฎร์ ก็มีแต่เพียงเรื่อง "ทำความจริงให้ปรากฎ" ซึ่ง มีนัยยะ หมายถึงเฉพาะเหตุการณ์ปีกลายเท่านั้น (เพราะถ้าหมายถึง การรัฐประหาร มีอะไรที่ จะ ยัง "ไม่ปรากฏ" บ้าง ว่าใครเป็นคนทำ? คมช. ก็เห็นกันอยู่ชัดๆ) ซึงแม้แต่เรื่องนี้เอง ณ ปัจจุบัน ก็ยังจำกัดแค่ "ทำความจริงให้ปรากฏ" เท่านั้น เรื่องลงโทษ อะไร ก็ไม่ได้เสนออย่างซีเรียสแล้ว (ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะ นปช. ผูกอยู่กับ "นโยบายทางการ" ของรัฐบาล คือ "ปรองดอง" มากไป)

แต่ทีสำคัญ จะเห็นว่า นปช. ไม่เคยเรียกร้อง ให้ลงโทษ คณะรัฐประหาร 19 กันยา ตามที่ นิติราษฎร์ เสนอแต่อย่างใด

(1.2) ทีชัดเจนยิ่งกว่านั้น ในข้อเสนอของ นิติราษฎร์ มีข้อเสนอเรื่องแก้ไข 112 อยู่ด้วย นปช. นั้น อย่าว่าแต่หยิบยกเรื่อง 112 มาอภิปรายเลย แม้แต่ที่ตอนนี้ ออกมารวมเอา ผู้ต้องหา 112 เข้าไว้ด้วย ก็เป็นการเพิ่งมาทำเหมือนกัน (หลังสุรชัย สมยศ โดยจับ เป็นเวลาหลายเดือน นปช. มีท่าทีอะไรหรือ? เห็นมีแต่บรรดา "ลูกศิษย์" และ "ลูกน้อง" สุรชัย สมยศ ไปจัดชุมนุม จัดอภิปรายกันเองทุกสัปดาห์)

ขอย้ำว่า จนถึงบัดนี้ หลังจาก คนอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พากันเรียกร้องจนเรื่อง 112 กลายเป็น "วาระสาธารณะ" โดยเฉพาะในต่างประเทศ ทีกลายเป็นประเด็นทีไทยถูกวิพากษ์อย่างหนัก นปช. จึงค่อยๆ มา "แตะ" เรื่อง 112 แบบ น้อย มากๆ คือ แค่ "รวม" เอาผู้ต้องหา 112 เข้าไว้ในรายการทียื่นต่อประชา (และนี่ ก็ยังต้องทำ ภายใต้การอ้าง "คนอื่น" คือ คอป. ด้วยซ้ำ ไม่ได้กล้าพอจะเสนอเป็นข้อเสนอของตัวเองมาก่อนเลย)

ขอให้สังเกตด้วยว่า แถลงการณ์นี้ อ.ธิดา เขียนวันนี้ (29 พฤศจิกายน) ที่ กรณี "อากง" เป็นเรื่อง "ช็อค" ไปทั่วโลก และในไทยเอง อ.ธิดา ก็ไม่รู้สึกว่า เป็นเรื่องเหมาะสม ที่จะหยิบประเด็น 112 มาอภิปราย และชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรมของกฎหมายนี้ ทีทำให้เกิดกรณีอย่าง "อากง" ขึ้น

(1.3) "แนวทางนิติราษฎร์" นั้น พวกเขากล่าวไว้ชัดเจน (เช่นเดียวกับ บรรดา เสื้อแดงกลุ่มย่อยๆอื่น และเสื้อแดง ระดับล่างๆอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน) คือ การ "กลับไปหา 2475" แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม คือ ให้ถือ รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ของ คณะราษฎร เป็นแนวทาง

รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับดังกล่าว มีจุดสำคัญที่เด่นชัดอย่างหนึ่ง เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญสมัยหลังๆ คือ ไมมีองคมนตรี

ปัญหา องคมนตรี นั้น จริงๆ แต่ไหน แต่ไร นปช. ไม่เคย เสนอเลย มีแต่ โจมตี องคมนตรีในแง่ตัวบุคคล ซึ่ง ก็ไม่ได้ทำมาเป็นปีๆแล้ว (ขออนุญาต เล่าอะไร "ส่วนตัว" เล็กน้อย ในต้นปี 2552 ผมพบกับพี่จรัล ซึงตอนนั้น เป็นแกนนำ นปช. คนหนึง ผมได้พยายามเสนออย่างจริงจังว่า แทนที่ นปช. จะเอาแต่ "ด่า เปรม" ควรเสนอให้แก้ไข รธน. หมวดพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะ คือ ยกเลิก ตำแหน่ง องคมนตรีเสีย แต่ พี่จรัล ก็ไม่ยอมรับ และ นปช. โดยรวม ก็ไม่เคยแตะ)

เฉพาะประเด็นองคมนตรี ประเด็นเดียว ก็ย่อมหมายถึงว่า ตาม "แนวทางนิติราษฎร์" จะต้องมีการแก้ไข "หมวดพระมหากษัตริย์" แน่นอน ซึงเป็นสิ่งที่ นปช. ไม่เคยแตะด้วยซ้ำ

ไม่ต้องพูดถึง "แนวคิด" ใหญ่ เกียวกับ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ที่เกิดขึั้น หลังรัฐธรรมนูญ คณะราษฎร เช่นกัน ซึ่งการที่ นิติราษฎร เสนอให้กลับไปสู่ รธน. คณะราษฎร ย่อมหมายถึง การต้องทบทวนแนวคิดนี้แน่นอน ...

ในประเด็น (1.2) และ (1.3) ที่เกี่ยวกับ 112 และสถานะของสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ (ซึ่งมีเรื่องการไม่มีองคมนตรี เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง) ผมจะไม่พูดละเอียดด้วยซ้ำว่า ไม่เพียง นปช. จะไม่พูด ไม่แตะ เท่านั้น วันดีคืนดี ดังทีรู้กันไปทั่ว นปช. ยังใช้ นโยบาย ให้การ์ด จับคนไปส่ง ตำรวจข้อหา 112 (จนมีคนโดนตัดสินติดคุกไปแล้ว อย่างน้อย 1 คน และเกือบจะโดนข้อหาอีกอย่างน้อย 1 คน) และวันดีคืนดี ยังออกมายืนยันเรื่อง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ในลักษณะไม่ต่างจากอุดมการณ์ของพวก "อำมาตย์" ที่ นปช. โจมตี ด้วยซ้ำ

[ยังมีประเด็นใหญ่ ประเด็นที่ 2 ต่อ - ขออภัย ไม่มีเวลาเขียนให้จบครั้งเดียว และเห็นว่า ค่อนข้างจะยาวมากแล้ว คืนนี้ มีเวลา จะมาเขียนต่อ ประเด็นที่ 2 เกียวกับเรื่องที่ อ.ธิดา ไปยื่น ประชา ครั้งนี้ คือ การย้ายที่คุมขัง ฯลฯ]

*********

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar