“ตระกูลชินวัตร” อาจเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลในยุคการเมืองระบบนายทุน สามารถสถาปนานายกฯ นามสกุล “ชินวัตร” ได้ถึง 4 คน หนึ่งคือ “ทักษิณ ชินวัตร” สองคือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ไม่นับรวมคนในเครือญาติชินวัตร 1 คน คือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายกฯ นอกเครือญาติอีก 1 คน คือ สมัคร สุนทรเวช
แต่นายกฯ ที่สถาปนาโดย “ตระกูลชินวัตร” เหมือนกับถูกต้องคำสาป เพราะต้องเก็บอาการร้อนรุ่ม ยื่นต่อสู้คดีความหน้าบัลลังก์ศาลมาแล้วทุกคน
นายกฯ จากชินวัตร ชื่อ “ทักษิณ” ผู้เอ่ยวลี “รวยแล้วไม่โกง” กลับต้องเผชิญคดีด้วยข้อหา “ซุกหุ้น” ถึง 2 ครั้ง และถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี คดีทุจริตที่ดินรัชดา
โดยเฉพาะ “ซุกหุ้นภาคแรก” ในปี 2554 ถ้าครั้งนั้นเขาถูกตัดสินว่าผิด อาจไม่มีชื่อ “ทักษิณ” เป็นนายกฯ คนที่ 23 หลังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ชี้มูลความผิด
“ทักษิณ” ข้อหา “จงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความที่เป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง
วันแถลงปิดคดี “ทักษิณ” กล่าวต่อหน้าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งว่า
“ฐานะ ของผมที่มั่นคงขึ้นจนสมัยหนึ่งมีคนกล่าวขานถึงว่า มีหลักทรัพย์มาก มียอดเงินฝากสูง มีกิจการใหญ่โตและอยู่ในลำดับต้น ๆ ของผู้เสียภาษีมากที่สุดนั้น ไม่ได้เกิดจากการที่ผมเป็นตำรวจได้ยศ พ.ต.ท. ไปรีดไถใครมา และไม่ได้เกิดจากการที่ผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และกอบโกยจากการประมูลหรือการจัดซื้อจัดจ้าง หากแต่เกิดจากการประกอบธุรกิจที่สุจริตและชอบด้วยกฎหมาย”
กระทั่งวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2544 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน มีเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียง ให้ “ทักษิณ” พ้นข้อกล่าวหา “ซุกหุ้น”
แต่มนต์ขลัง “ประชานิยม” ฉบับทักษิณก็ถึงคราวล่มสลาย
วลี “รวยแล้วไม่โกง” ก็ถูกหักล้างด้วยผลคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการ เมือง สั่งพิพากษาจำคุก 2 ปี ด้วยข้อหาผลประโยชน์ทับซ้อน ในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกจำนวน 33 ไร่ มูลค่า 772 ล้านบาท
โดยคำพิพากษา ตอนหนึ่งระบุว่า “ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 (ทักษิณ) ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมายไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยที่ 1 กลับฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายทั้งที่จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตาม จริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับการไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่ง จึงไม่สมควรรอการลงโทษ และพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 (1) วรรคสาม และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี”
“ทักษิณ” ต้องเปลี่ยนจากสถานะนายกฯ มาเป็นนักโทษหนีคดี อย่างไรก็ตาม นโยบายประชานิยมต้นตำรับทักษิณ ก็ส่งต่อมาถึงมืออดีตนายกฯ ผู้น้อง-ยิ่งลักษณ์ เข้ามาสานต่อนโยบายประชานิยม ของนายกฯ ผู้พี่
โดยเฉพาะ “นโยบายจำนำข้าว” ได้ลากพา “ยิ่งลักษณ์” ต้องต่อสู้ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่นเดียวกับพี่ชาย เพียงแค่ต่างกรรม…ต่างวาระ แต่ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกันคือการ “ทุจริต”
ซึ่งคดีของ “ยิ่งลักษณ์” นั้น อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือ หน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท มีอัตราจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี
“ยิ่งลักษณ์” ใช้เวลาต่อสู้คดีมากว่า 2 ปี 4 เดือน ยิ่งลักษณ์วิ่งขึ้นศาล 26 นัด
ในวันแถลงปิดคดีด้วยวาจา ช่วงหนึ่ง “ยิ่งลักษณ์” กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ดิฉันทำ คือ การใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่เกิดในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับรู้ สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกพวกเขาว่า เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และเรียกร้องให้คนไทยทุกคน เกื้อหนุนดูแล และดิฉันก็ได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าว”
แต่จากนี้ไปนโยบายจำนำข้าวจะกลายเป็นอดีตไปตลอดกาล
ขณะที่ “สมัคร” ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เนื่องจากการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” เป็นการกระทำเข้าข่ายกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267
ส่วน “สมชาย” ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องกรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 แต่ก็เป็นนายกฯ ถูกทำให้มีแผลไปแล้ว
และทุกครั้งที่ “หัวโขน” ของพรรคตระกูลชินวัตรมีอันเป็นไปทางการเมือง สิ่งที่ตามมาก็คือฝุ่นตลบในพรรค เพราะจะมีการ “ชิงการนำ” เกิดขึ้น ระหว่างกลุ่มในตระกูลชินวัตร และกลุ่มที่อยากให้กลุ่มชินวัตรยุติบทบาทนำในพรรค
สถานการณ์พรรคของทักษิณ นับตั้งแต่พรรคพลังประชาชนมาจนพรรคเพื่อไทย มีสถานการณ์ฝุ่นตลบเรื่อง “ผู้ถือธงนำพรรค” ในการเลือกตั้ง-ชิงประมุขตึกไทยคู่ฟ้ามาแล้ว 2 ครั้ง
ครั้งแรกเกิดขึ้นหลังการพ้นไปของ “สมัคร สุนทรเวช” จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกฯ เพราะจัดรายการชิมไปบ่นไป
กลุ่มเพื่อนเนวิน อันมีกลุ่ม ส.ส.ในก๊วนของ “เนวิน ชิดชอบ” เบื้องหลังขุมกำลังเสียงของ “สมัคร สุนทรเวช” พยายามผลักดัน “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” ลงนั่งเก้าอี้นายกฯ แทนสมัครสู้กับ ส.ส.นอกกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่หนุนนายกฯ “สายชินวัตร” ที่ผลักดันให้ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” รับเก้าอี้นั้นแทน
แม้ว่ากลุ่มเพื่อนเนวินจะมีพลัง ส.ส.มากกว่า 70 เสียง หนุนหลัง “หมอเลี๊ยบ” ทว่าศึกครั้งนั้นก็ต้องพ่ายไปกับพลัง “สายตรงนายใหญ่” ที่เลือก “สมชาย” เป็นนายกฯ คนที่ 26
และสุดท้าย “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ก็พลิกขั้วไปตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ครั้งสอง ช่วงปลายปี 2553 ต่อเนื่อง 2554 “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” ขึ้นมาเป็นคู่ท้าชิงตัวแทนเพื่อไทยลงสู้ศึกเลือกตั้งกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นทั้งผู้นำอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์ เป็นทั้งหัวหน้ากลุ่มมิ่งขวัญที่มี ส.ส.อีสานสนับสนุนหลายสิบคน
แต่มิ่งขวัญหรือจะสู้ “สายตรงชินวัตร” เมื่อ “ทักษิณ” สั่งข้ามประเทศ กดปุ่มให้ที่ประชุม ส.ส.เลือก “ยิ่งลักษณ์” เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่ง ประกาศชิงเก้าอี้นายกฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 พ.ค. 2554 ในภารกิจ “แก้ไข…ไม่แก้แค้น”
ส่วน ส.ส.ที่เคยสนับสนุนมิ่งขวัญ กินแห้ว-หลุดขบวนไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ถูก “นายใหญ่” ขึ้นบัญชีว่าเป็นพวก “ไม่น่าไว้ใจ” บางคนหลุดพื้นที่ ไปลุ้นชะตากรรมการเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
กระทั่งปัจจุบัน นอกจากกลุ่มชินวัตร ยังมีกลุ่ม ส.ส.ที่เคยหนุน “มิ่งขวัญ” บางส่วน หันไปหนุน “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เป็นหัวขบวนพรรคคนต่อไป เพราะไม่ต้องการได้ผู้นำพรรคจากนามสกุลชินวัตร ที่ถูกต้องคำสาปทางการเมือง
ขับเคี่ยวกับอีกฟากหนึ่งคือ กลุ่มจากบ้านชินวัตร ที่มีกำลัง ส.ส.อยู่ในมือเช่นกัน ถึงคราวจะต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะส่งคนในเครือญาติลงนำพรรคต่อไป หรือจะเปลี่ยนให้คนนอกเครือญาติชินวัตร แต่มีสายตรงคอนเน็กชั่น กับกลุ่มวังบัวบาน ของเยาวภา วงศ์สวัสดิ์-จันทร์ส่องหล้าของสายดามาพงศ์ และนายใหญ่ เข้ามาถือธงนำ
ดังนั้น ศึกภายในพรรคชินวัตรยังต้องดุเดือดเข้มข้น หลังคำพิพากษาจำนำข้าว
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar