torsdag 21 september 2017

หากคุณยิ่งลักษณ์ไม่สู้ อยู่อย่างเงียบๆ รีไทร์ทางการเมือง ก็ยิ่งดีเสียอีก

บทความของ ปิยบุตร แสงกนกกุล

หากคุณยิ่งลักษณ์ไม่สู้ อยู่อย่างเงียบๆ รีไทร์ทางการเมือง ก็ยิ่งดีเสียอีก เพราะนั่นหมายความว่า "การเมืองไทย" เดินหน้าเข้าสู่เฟสใหม่เสียที

จากบทความของ ปิยบุตร แสงกนกกุล ตีพิมพ์ที่ ประชาไท Fri, 2017-08-25 22:35 เรื่อง "เกี่ยวกับ 'Judicialization of Politics' และ การเมืองไทยต้องเดินหน้าสู่ยุคโพสต์-ชินวัตร"

(https://prachatai.com/journal/2017/08/72973?utm_source=dlvr.it&utm_medium=twitter)


1. หากไม่โกหกต่อตนเอง หากซื่อสัตย์ต่อตนเองอยู่บ้าง คงไม่มีใครคิดว่า "คดีจำนำข้าว" เป็นเรื่อง "กฎหมาย"
ผมเห็นว่าการเริ่มต้นกระบวนการในคดีนี้ คือ การ purge โดยผ่านปรากฏการณ์ "Judicialization of Politics" ดังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน, อินเดีย, ตุรกี, บราซิล, ฯลฯ และเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ 2549
เพียงแต่ว่า ที่นี่ แตกต่างจากที่อื่นๆ ตรงที่ว่า "ศาล" มี "เกราะคุ้มกัน" แน่นหนามากกว่าที่อื่นๆ ทำให้การตอบโต้ศาลทำได้อย่างยากลำบาก นานวันเข้า ดุลยภาพของอำนาจระหว่าง Political Actor (ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้ง ศาล และพลังทางการเมืองอื่นๆ) จึงไม่เกิดขึ้น
(โปรดอ่านความเห็นของผมในส่วนนี้ได้ในโพสก่อนๆ และคลิปการ Live ในเฟสบุ๊กตอนล่าสุด)

2. "Judicialization of Politics" เป็นเรื่องฝืนธรรมชาติของการเมือง นำเรื่อง "การเมือง" มาเป็นเรื่อง "กฎหมาย" ให้ศาลซึ่งมีความชอบธรรมจากอุดมการณ์แบบ "นิติรัฐ-เสรีประชาธิปไตย" เข้ามายุ่งเกี่ยวกับ "การเมือง"
"การเมือง" เป็นเรื่องของความไม่ลงรอยกัน เถียงกัน ขัดแย้งกัน ไม่มีวันจบ
"กฎหมาย" ต้องการให้ทุกๆสิ่งทุกๆอย่างยุติ ชี้ขาดให้จบสิ้น และการยุติก็ได้แรงสนับสนุนจากความคิดแบบ "นิติรัฐ-เสรีประชาธิปไตย"
มันจึงเป็นเรื่องที่ขัดกันอย่างยิ่ง
พลังของ "กฎหมาย" ไม่มีวันที่จะยุติ "การเมือง" ได้ ที่เห็นๆกัน มันเป็นแค่การยุติลงอย่างชั่วคราว เพราะถูกกลไกรัฐกดทับ ถูกกำลังทางกายภาพ กำลังทางอุดมการณ์กดทับ มากกว่า แท้จริงแล้ว "การเมือง" ยังคงดำรงอยู่ ยังไม่ลงรอยต่อไป และไม่มีวันที่จะลงรอยได้ด้วย
3. เมื่อ "Judicialization of Politics" กันมากขึ้น โอกาสที่จะถูก "บิดผัน" นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกวาดล้างกันทางการเมือง ก็มีมากขึ้น
ทุกความคิด-ทุกระบอบ ต่างก็มีโอกาสที่จะหยิบฉวย "Judicialization of Politics" ไปใช้เพื่อให้ความคิด-ระบอบของฝ่ายตนชนะ
"Judicialization of Politics" แบบ "ประชาธิปไตย" ก็ถูกนำไปใช้ไล่บี้พวกเผด็จการได้
"Judicialization of Politics"แบบ "นีโอลิบ" ก็ถูกนำไปใช้ไล่บี้พวกซ้ายได้
"Judicialization of Politics"แบบ "เผด็จการ" ก็ถูกนำไปใช้ไล่บี้ฝ่ายตรงข้ามกับเผด็จการได้
กรณีของประเทศไทยเป็นแบบใด ให้ท่านลองตรึกตรองพิจารณาดูกันเอาเอง
4. ในกรณีระบอบเผด็จการ นำ "Judicialization of Politics" มาใช้ ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องจัดการแก้ไข คือ เราจำเป็นต้องทำลายความศักดิสิทธิ์ของศาล ทำลายมายาคติ "ศาลเป็นใหญ่" สร้างปัจจัยบังคับกดดันไปที่ "ศาล" เพื่อฟื้นเอาดุลยภาพอำนาจกลับมาใหม่ ไม่ใช่ "ศาล" ครอบงำแบบเบ็ดเสร็จ ให้สังคมเห็นว่า "ศาล" ก็คือ Political Actor ตัวหนึ่ง ไม่ต่างกับนักการเมือง ไม่ต่างกับพลังทางสังคมกลุ่มต่างๆ ไม่ต่างกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆในชีวิตทางการเมือง
ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้อำนาจของศาลในระบอบเผด็จการ ตามแนวทาง "Judicialization of Politics" นั้น สูญเสียความชอบธรรม ไม่สามารถยึดครองจิตใจคนอีกต่อไป ที่ยังครองอำนาจได้อยู่นั้น มาจากกลไกปราบปรามของรัฐล้วนๆ ไม่ใช่เกิดจากการครองความเป็นใหญ่ผ่านอุดมการณ์ความคิด
5. กรณีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันนี้ ผมไม่เห็นว่าการไม่มาฟังคำพิพากษา และอาจออกจากประเทศนี้ไปแล้ว เป็นเรื่องผิดหลักการแต่อย่างไร
หากเราวินิจฉัยว่าทั้งหมด คือ "Judicialization of Politics" ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตามมา ก็คือ "การเมือง"
6. กรณีปัญหาว่า ถ้าเช่นนั้น ยอมรับเข้าสู่กระบวนการนี้ตั้งแต่แรกทำไม ทำไมไม่ "ชน" ตั้งแต่แรก? ผมเห็นว่า เงื่อนไขชีวิตและทางเลือกของแต่ละคน การประเมินของแต่ละคน แตกต่างกันไป
การพยายามต่อสู้ตาม "กระบวนการ" ที่พวกเขาขีดเส้นให้เดิน ด้านหนึ่ง ก็คือ การทำลายความชอบธรรมของ "กระบวนการ" เหล่านี้ไปด้วย ฉีกหน้ากากให้คนเห็น นำไปอธิบาย อภิปรายกันต่อได้ว่า นี่คือ การ purge โดยผ่านปรากฏการณ์ "Judicialization of Politics" จริงๆ
หากได้ตามข่าวกันบ้าง ก็คงทราบว่า การเดินของคดีนี้ ไปในทิศทางที่เล่นงานโครงการจีทูจี ของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อ "ชิ่ง" มาให้ถึงคุณยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ปล่อยปละเลยทำให้เสียหาย และที่ทำกันก็เพื่อประโยชน์ของพรรคเพื่อไทยในการเย้ายวนใจให้ประชาชนเลือกเป็นรัฐบาล
ผมคาดไว้อยู่แล้วว่า คุณบุญทรง เตริยาภิรมย์ และคุณภูมิ สาระผล ต้องถูกจำคุกจริงแน่นอน เพราะ ความผิดของสองคนนี้ ใช้ "ชิ่ง" มาให้ถึงนายกฯได้ แต่ที่เหลือเชื่อเกินคาด คือ ติดคุกยาวถึง 42 และ 36 ปี
เมื่อเห็นโทษจำคุกขนาดนี้ ก็น่าคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์จะโดนจำคุกหรือไม่ กี่ปี?
7. ผมคิดว่าคนจำนวนมาก ไม่ได้คาดคิดอยู่แล้วว่าคุณยิ่งลักษณ์มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำทางการเมืองในระยะหัวต่อหัวเลี้ยว หรือผู้นำทางการเมืองแบบปฏิวัติเปลี่ยนแปลงใหญ่ (แน่นอนว่า คงมีหลายคนหวัง แต่ก็เป็นความหวัง ความอยากเห็น เพื่อการต่อสู้ทางการเมืองมากกว่า โดยคาดว่าการเสียสละยอมเข้าคุกจะช่วยให้ "จุดติด" ขึ้นมาได้)
ผมไม่เคยคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์จะสามารถทำได้แบบที่อินทิรา คานธี, เบนาซีร์ บุตโต, อองซาน ซูจี, รุซเซฟ ทำ
การเข้าสู่วงการทางการเมืองของคุณยิ่งลักษณ์เป็นเช่นไร เกิดจากอะไร ทุกท่านก็คงทราบกันดีอยู่แล้ว
ต่อให้คุณยิ่งลักษณ์เข้าคุก ผมก็คิดว่าไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ในยามบ้านเมือง "เฉื่อยชา-ชิน" กับระบอบเผด็จการเช่นนี้ ไม่น่าจะมีเหตุการณ์อะไรที่จะเป็นชนวน "จุดติด" ขึ้นมาได้ คสช เองก็ตรึงกำลังไว้อย่างเต็มที่ ต้องยอมรับว่าระบอบเผด็จการกำลังติดตั้งได้สำเร็จแล้ว เวลาผ่านมา 3 ปีเศษแล้ว สถานการณ์การต่อสู้กับระบอบเผด็จการก็ทำได้ยากขึ้น และต่อให้มีเหตุการณ์ที่จุดติด จน คสช เสียท่า คสช ก็มีไพ่ใบสุดท้าย คือ การจัดให้มีการเลือกตั้ง ทันที
8. สำหรับผม ผมเห็นว่า หากพิจารณาจากบุคลิกลักษณะ การก่อรูปทางความคิด ที่มาที่ไปในการเข้าสู่วงการเมือง ตลอดจนเงื่อนไขความเป็นจริงของการเมืองไทยที่เธอต้องเผชิญแล้ว เท่าที่คุณยิ่งลักษณ์ได้ทำมาตั้งแต่รณรงค์หาเสียงการเลือกตั้ง 2554 จนถึงวันนี้ ผมคิดว่า ทำได้ดีเท่าที่จะทำได้แล้ว
ตั้งแต่หาเสียงโดยใช้เวลาไม่กี่วัน เดินสายไปทั่วประเทศ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน ก็เจออุทกภัยขนาดใหญ่จนเอาตัวแทบไม่รอด เจอ "การเมืองที่แท้จริงแบบไทยๆ" ต้องประนีประนอมกับกองทัพและชนชั้นนำจารีตประเพณีตลอดเวลา เจอการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เจอการชุมนุมของ กปปส เจอเรื่อง "เหมาเข่ง" เจอคดีความสารพัด ถูกปลดจากนายกฯ ถูกถอดถอนตัดสิทธิ ถูกรัฐประหาร เจอคดี "จำนำข้าว" ทั้งเอาผิดเข้าคุก และเอาเงินจนหมดตัว และอาจมีคดีอื่นๆตามมาอีกมาก
แน่นอน ผมไม่เห็นด้วยกับหลายๆเรื่อง เห็นว่าต้องทำมากกว่านี้ แรงมากกว่านี้ เดินหน้ามากกว่านี้ สู้มากกว่านี้ เคยวิจารณ์ทั้งในทางสื่อและทางเฟสบุ๊คก็หลายครั้งหลายหน แต่สุดท้ายแล้ว คนที่ตัดสินใจ ก็คือ คนที่อยู่ในสนามการเมือง เราเป็นผู้สังเกตการณ์ วิจารณ์ เมื่อเขาไม่ทำ เราก็ผิดหวัง และก็เรียกร้องต่อไป เรียกร้องคนอื่น และในอนาคต วันหนึ่ง หากไม่ได้ดังที่เราหวังเสียที ผมก็ต้องเรียกร้องต่อตนเองให้ลงไปทำเอง
9. ข้อเรียกร้องให้คุณยิ่งลักษณ์ เป็นผู้นำมวลชน เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยช่วยเสียสละอิสรภาพของตนเองเพื่อเป็น "สัญลักษณ์" คงเป็นเรื่องคาดหวังเกินจริง เป็นเรื่องเพ้อฝันไป
ถ้าคิดได้แบบนี้ ก็จะไม่ผิดหวังมากนัก
10. หากคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากแผ่นดินนี้ไปจริง ผมคิดว่า ก็มีข้อดี อยู่
หากคุณยิ่งลักษณ์ สู้ จากข้างนอก ก็อาจทำให้การต่อสู้ครั้งใหม่กลับมาคึกคักได้อีก
หากคุณยิ่งลักษณ์ ไม่สู้ อยู่อย่างเงียบๆ รีไทร์ทางการเมือง ก็ยิ่งดีเสียอีก นั่นหมายความว่า "การเมืองไทย"เดินหน้าเข้าสู่เฟสใหม่เสียที
โดยส่วนตัว ผมคิดว่า ไม่น่าจะมีการต่อสู้ใดๆจากคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีก หากจะมี ก็คงเป็นแค่แถลงการณ์ชี้แจงชิ้นสุดท้ายเท่านั้น แต่คงไม่มีการต่อสู้แบบต่อเนื่องยาวนาน
ถ้าความเห็นของผมไม่ผิด นี่ก็นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่การเมืองไทยกำลังก้าวสู้เฟสใหม่ คือ ยุค "โพสต์-ชินวัตร"
11. การเมืองไทยติดล็อคมานานหลายปี ส่วนหนึ่ง มาจากปัจจัยเรื่องครอบครัวชินวัตร ที่ฝ่ายตรงข้ามนำมาเล่นงาน สร้างเงื่อนไข สร้าง "ผี" เพื่อทำให้พวกเขาครองอำนาจไปได้เรื่อยๆ
ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยเอง จะเดินหน้าแบบก้าวรุดหน้ามากกว่าเดิม ก็ไปติดขัดการเมืองแบบพรรคการเมืองเดิม ต้องประคองตัวไปสู่การเลือกตั้ง ต้องเป็นรัฐบาล ต้องประนีประนอม แล้วก็วนกลับมาที่การชุมนุมต่อต้าน การยึดอำนาจ แบบนี้อีก
ถ้าการเมืองไทยเข้าสู่ยุค "โพสต์-ชินวัตร" ได้จริง นั่นหมายความว่าปัจจัยเรื่อง "ชินวัตร" ก็จะหายไป
การสร้าง "ผี" ชินวัตร ก็ทำไม่ได้หรือทำได้ยาก
การเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ก็สามารถทำได้เต็มที่ไม่ต้องติดเรื่องเงื่อนไขการเมืองแบบเดิม
12. การเมืองยุค "โพสต์-ชินวัตร" เป็นโอกาสอันสำคัญ เป็นพื้นที่ที่เปิดใหม่
ใครที่เห็นว่าการเมืองไทยจะเป็นแบบเดิมๆตลอด 12 ปีนี้ ไม่ได้อีกแล้ว
ใครที่เห็นว่าการเมืองไทยต้องหลุดพ้นจากความขัดแย้งชุดนี้ (ที่ทำให้ คสช เข้าสู่อำนาจและครองอำนาจได้อย่างสบาย) เพื่อไปสู่การสร้างระบบการเมืองใหม่
ใครที่เห็นว่าประเทศไทยสูญเสียโอกาสสำคัญไปกับ "ทศวรรษที่สูญหาย"
ใครที่เห็นว่าประเทศไทยจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกไม่ได้ คนรุ่นใหม่ คนรุ่นถัดไป ถัดถัดไป จะต้องไม่เจอและทนทุกข์กับสภาพเช่นนี้อีก
ต้องลงมาทำ ช่วยกันทำ ถึงเวลาแล้วที่ต้องลงมือ
พวกเขาเหล่านี้แหละ จะเป็นพลังสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลง
ขอให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เริ่มต้นทำอย่างจริงจัง สร้าง "ทางเลือกใหม่" อย่างแท้จริงให้กับสังคมไทย
รักษาเนื้อรักษาตัว ดูแลสุขภาพ พัฒนาความรู้ความคิดให้แหลมคม สนทนาแลกเปลี่ยนหารือประสบการณ์กับแวดวงต่างๆ ยึดมั่นในหลักการอย่างแน่วแน่อดทน
การเมืองที่มีวิกฤติ เปิดโอกาสให้ "ทางเลือกใหม่" ขึ้นมาเสมอ เมื่อยังไม่มีโอกาส ก็ต้องฝึกฝนตระเตรียมความคิดความพร้อมไว้ เมื่อโอกาสยังไม่มาเสียที ก็ต้องสร้างโอกาสขึ้นมา และเมื่อมีโอกาส ก็ต้องใช้มัน
ไม่มีอะไรต้องเสียใจ ไม่มีอะไรต้องผิดหวัง
เดินหน้าเพื่ออนาคต

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar