tisdag 2 januari 2018

คอลัมน์ ใบตองแห้ง: ปีขาลงในหม้อต้มกบ


ใบตองแห้ง

ธีรยุทธ บุญมี วิพากษ์รัฐบาลขาลง “ตู่ต้นเตี้ย” “ตู่เตี้ยลง” ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม หลังจากนั้นรัฐบาลยังถูกวิจารณ์หูอื้อฐานซื้อเรือดำน้ำจีน 13,000 ล้าน ถูกชาวบ้านค่อนประเทศต่อต้าน ม.44 ห้ามนั่งหลังรถกระบะ
แต่รัฐบาล คสช. ก็ยังอยู่ยงคงกระพันถึงสิ้นปี แม้มีอุบัติเหตุ “พี่ป้อมซ่อมไม่ตาย” ใส่ริชาร์ด มิลล์
ว่าที่จริง ธีรยุทธใส่เสื้อกั๊ก เห็น “ปฏิวัตินกหวีด” เป็น “ปฏิวัติประชาชน” ก็ทำให้คนไม่เชื่อถือนัก เพียงแต่สถานการณ์ในช่วงปลายปี 2559 ถึงครึ่งปีแรก 2560 ก็ดูเหมือนรัฐบาลผจญปัญหาค่อนข้างหนัก
ไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจที่สำรวจทุกครั้งก็ติดอันดับต้นๆ ทุกโพล ไม่ใช่เรื่องละเมิดสิทธิปิดกั้นเสรีภาพ ซึ่งกลายเป็นเรื่อง routine คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไม่แยแสสนใจ แต่หลัง ม.44 ห้ามนั่งท้ายกระบะ ก็ยังมี พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ที่ทำให้ผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศโวยวาย จนต้องออก ม.44 แก้ไข หลังซื้อเรือดำน้ำจีน โดยไม่แถลงมติครม. ยังตามมาด้วย ม.44 รถไฟจีน ยกเว้นกฎหมายฮั้วประมูล วิศวกรจีน สถาปนิกจีนไม่ต้องอยู่ใต้บังคับกฎหมายไทย
เหล่านี้คือการตัดสินใจที่ประชาชนไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าข้างสีใด พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวยังสะท้อนปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีผ่าน พ.ร.ก.แล้ว เพิ่งรู้ว่าสร้างปัญหาใหญ่โต ต้องให้ คสช.ใช้ ม.44 ยับยั้ง นี่ถ้าไม่มี ม.44 จะว่าอย่างไร
แต่ “ขาลง” ก็มีจังหวะคั่น ด้วยคดีดังที่ปลุก ความเกลียดชัง 2 ครั้งใหญ่ๆ ครั้งแรก ม.44 ล้อมวัด พระธรรมกาย ดีเอสไอตามจับ “ไอ้ขาเน่า” (ตามคำเรียกขานของพิธีกรทีวี) “พุทธแท้” สะใจที่สาวกธรรมกายฆ่าตัวตาย
ครั้งหลังคือคดีจำนำข้าว ซึ่งหลังจากต่อสู้ทางการเมืองมา 3 ปีจนมี 6 ล้านไลก์ ก็จบลงด้วย “ปูหนี” และ “กวีหู”
แม้จับธัมมชโยไม่ได้ แม้มีข้อกังขาว่ายิ่งลักษณ์หายตัวไปได้อย่างไร แต่ผลสะท้อนก็ไม่ใหญ่โต ไม่เท่าความเกลียดชังและสะใจที่ทำให้มรสุมรุมรัฐบาลสร่างซาไป
หลังจากนั้น ลุงตู่ไปจับมือทรัมป์ กลับมาให้คำมั่น เลือกตั้งตามโรดแม็ป พ.ย.61 ซึ่งลดแรงกดดันครั้งใหญ่ ประเทศเข้าสู่พระราชพิธี ที่พสกนิกรน้อมรวมจิตใจ
แต่จู่ๆ พอโหมดการเมืองกลับมาใหม่ ก็ “ขาลง” ไม่รู้เนื้อรู้ตัว จากกรณีน้องเมยถึง ครม.สัญจรใต้ กรณีปะทะม็อบต้านโรงไฟฟ้า กลายเป็นจุดเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลทหารกับภาคประชาสังคม NGO ที่ส่วนใหญ่ก็เคยใส่เสื้อเหลืองไล่ระบอบทักษิณ
สุดท้าย “ภาพถ่ายแห่งปี” ที่พี่ป้อมยกมือบังแดด แหวนเพชร นาฬิกา สะท้อนเข้าตาชาวบ้านระยิบระยับ ก็ไม่ใช่อุบัติเหตุเสียทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้มีหลายพฤติกรรมที่ประชาชนข้องใจ ทั้งเช่าเหมาลำไปฮาวาย และน้องชาย น้องสะใภ้ท่านผู้นำ

ปี 2561 ถูกคาดหวังเป็นปีไปสู่เลือกตั้ง ในด้านหนึ่ง ก็ดูจะลดแรงกดดันวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน แต่อีกด้านหนึ่งก็เพิ่มความหวาดระแวง “ต่อท่ออำนาจ” ซึ่งสะท้อนผ่าน 4 คำถาม 6 คำถามจนเชื่อกันว่าจะเกิดพรรคใหม่สนับสนุนคนที่คุณก็รู้ว่าใครเป็นนายกฯ คนนอก

ด้านหลังนี้ จะทำให้ “ถูกรุม” จากพรรคการเมืองทั้งสองขั้ว ประชาชนทั้งสองข้าง ทั้งนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และ NGO ซึ่งขัดแย้งกับรัฐหลายด้าน ตั้งแต่นโยบายพัฒนา ม.44 EEC ไปถึงแก้กฎหมายบัตรทอง ที่ยืดเยื้อมาครึ่งปี
ปีหน้าจะเป็นขาลงไหม ก็ลงอยู่แล้วไง ถ้ามี เลือกตั้ง แต่ถ้าไม่มี หรือถ้าถูกต่อต้านความพยายามต่อท่ออำนาจ ก็ระวังไว้ว่าไม่มี “ผู้ร้าย” แย่งซีนแล้วนะครับ
ไม่มียิ่งลักษณ์ ไม่มีทักษิณ แม้มีคดีลับหลัง แต่ถูกตัดสินจำคุกอีกกี่ปี ก็ไม่ส่งผลต่อการเมือง ซึ่งเข้าสู่ยุค “โพสต์ชินวัตร” ปีหน้าอาจเหลือแค่ผู้ร้ายตัวเล็กตัวน้อยให้สังคมได้ระบายอารมณ์ แบบอีเปรี้ยว กระทะโคเรียคิง ครูจอมทรัพย์
3 ปีกว่าใต้อำนาจ คสช. สังคมไทยอยู่ในภาวะ อัดอั้น ประชาชนเบื่อหน่าย แต่ไม่เห็นทางออก ความขัดแย้งแตกแยก ปลุกความเกลียดชังมาสิบปี ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่สั่งสมมาหลายสิบปี รวมไปถึงสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน ทำให้ทุกอย่างดูเหมือนมาถึงทางตัน ผู้คนมองไม่เห็นอนาคต นอกจากอยู่กันไปอย่างนี้ แม้ไม่ชอบระบอบปัจจุบัน แต่กลัวการเมืองวุ่นวาย แม้ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจ การตัดสินใจ แต่ไม่มีทางเลือก ต้องเลือกการอยู่รอดเฉพาะหน้า ซึ่งอาจทำให้วันหน้าวิกฤตกว่าเดิม
ซึ่งเป็นภาวะที่นักวิชาการเตือนว่า “วิกฤตกบต้ม” กบอยู่ในหม้อที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนตายไม่รู้ตัว
“ขาลง” ในหม้อต้มกบ ลงอย่างไรก็อยู่ได้ แต่น้ำเดือดเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้เหมือนกัน ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนแน่นอน ข้างใต้ลงไปซ่อนไว้ด้วยความแปรปรวนและไม่แน่นอน เพียงดูเหมือน “นิ่ง” มาช่วงหนึ่งเท่านั้น
โครงสร้างอำนาจใหม่ที่วางไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่ลงตัว ยังมีปัญหาการจัดสรรแบ่งปันใน หมู่ชนชั้นนำรัฐพันลึก และไม่มีพื้นที่ให้ประชาชน การเปลี่ยนผ่านไปสู่อำนาจหลังเลือกตั้งอาจไม่ราบรื่น ถ้ามีคลื่นลมเมื่อไหร่ ก็อาจขยายใหญ่โต
พูดง่ายๆ สังคมไทยที่แตกแยกมาสิบกว่าปียังไม่ได้รักษาแผล แค่อุดไว้เท่านั้น หวังกาลเวลาช่วยสมาน ถ้าเกิดรอยปริใหม่เมื่อไหร่ แผลเก่า ก็พร้อมลุกลาม เพียงแต่มันจะเกิดไหม เมื่อไหร่ก็มองอนาคตลำบาก เพราะความปรวนแปรไม่แน่นอนมีสูงมาก
ผู้มีอำนาจก็โปรดอย่าประมาท หากมีสติสัมปชัญญะ หิริโอตตัปปะ ธรรมาภิบาล ก็ต้องประคับประคองสถานการณ์ ระมัดระวังความรู้สึกชาวบ้าน อย่าเสี่ยงกับ “ขาลง” โลกเราวันนี้เปลี่ยนเร็วมาก คาดเดายาก อยู่ยาก อารมณ์คนก็เช่นกัน แถมยังดรามาล้นเกินอีกต่างหาก

สถานการณ์ปีหน้าอาจเดินไปตามโรดแม็ปตามคาด หรือผิดคาดก็ได้ ใครจะรู้ รู้แต่ว่าถ้าผิดคาด ละก็ น่ากลัว

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar