torsdag 11 januari 2018

อัพเดท -.บทความน่าสนใจควรอ่านและศึกษา

รองนายกรัฐมนตรี โดย กาหลิบ

คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง รองนายกรัฐมนตรี
โดย กาหลิบ

เห็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีส่วนหนึ่งที่ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ แล้วทำให้รู้ว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่ลืมพระราชพิธีและพิธีกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์แน่ จึงไม่จำเป็นต้องเตือนกัน ปัญหาคือจะลืมฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำสายเดียวกันคือมวลชนไทยหรือไม่เท่านั้น
มวลชน พลเมือง ปวงชนชาวไทย ฯลฯ เป็นเจ้าของประเทศไทยก็จริง แต่จำนวนเกือบเจ็ดสิบล้านและไม่ได้เห็นหน้ากันทุกคนทุกวันก็ทำให้รัฐบาลเผลอลืมไปได้เหมือนกัน ผิดกับผู้มีอำนาจในโครงสร้างเดิมที่ถูกบังคับให้ได้เห็นหน้าและมีความสัมพันธ์กันในกิจกรรมต่างๆ ตลอดปีนั้น รัฐบาลลืมไม่ลงแน่
วันนี้จึงขอทำหน้าที่พลเมืองอย่างหนึ่ง คือเตือนรัฐบาลไว้เสียแต่ต้นว่าเราคาดหวังอะไรจากแต่ละท่านในคณะรัฐมนตรี วันหลังจะได้ไม่ตอกกลับให้เจ็บใจว่า ทำไมไม่พูดเสียแต่แรก?
เอาแค่รองนายกรัฐมนตรีเสียก่อนก็ยังได้
ตำแหน่งที่เรียกว่า รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นั้น รู้สึกจะกระจายหน่วยงานควบคุมดูแลกันอยู่ คุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ์คงดูแลฝ่ายปกครองทั้งของรัฐและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นตามสายงานของกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจเอกโกวิทย์ วัฒนะ และ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ใครจะได้ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ยังไม่รู้ แต่ภาพที่ยังเบลอกว่านั้นคือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. ที่เปิดโอกาสให้กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐ (บาล) ได้ทุกเมื่อ ส่วนหน่วยงานเฉพาะกิจอย่าง ศอฉ. นั้นใครจะดูแลหรือใครจะสั่งปิดกิจการก็ยังไม่ชัดเจนเช่นกัน ยังไม่ต้องพูดถึงหน่วยงานข่าวกรองอย่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ หรือหน่วยที่มีลักษณะข้ามกระทรวงอย่างกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ซึ่งโดยทฤษฎีอยู่กับตำรวจแต่ในทางปฏิบัติอยู่กับผู้ที่มีอำนาจที่สูงส่งกว่านั้นมาก
ยังไม่ได้พูดถึงกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นผู้ดูแลความมั่นคงของรัฐซึ่งจะปล่อยให้ลอยเท้งเต้งไปตามใจของ มือที่มองไม่เห็นไม่ได้เป็นอันขาด
ไม่ต้องดูไกลนัก เอาแค่รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาก็พอ หน่วยงานทั้งหลายที่พูดมานี้ ล้วนอยู่ภายใต้คนๆ เดียวคือคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงที่มีอำนาจชนิดเบ็ดเสร็จที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์ระยะใกล้
คุณสุเทพฯ ใช้อำนาจได้มากขนาดไหน พวกเราที่ต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐจนล้มตายกันเป็นร้อยๆ ได้รับรู้มาแล้วด้วยประสบการณ์ตรงไม่ใช่หรือ
หากเราห่วงหน้าตารองนายกรัฐมนตรีจนเกินไป ถึงขนาดต้องเจียดหน่วยงานแบ่งกันคนละนิดคนละหน่อยเพราะกลัวน้อยใจบ้างอะไรบ้าง ฝ่ายประชาธิปไตยอาจเสียการควบคุมในสายงานด้านความมั่นคงไปได้ ยิ่งเขาเล่นเกมยื้ออำนาจไม่ยอมให้รัฐบาลของประชาชนได้มีอำนาจอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะเป็นผลร้ายมากขึ้นหากเรามาแตกแยกกันเอง
รวมความแล้ว นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจะต้องดูแลงานนี้ชนิดรวมศูนย์ ไม่เป็นเบี้ยหัวแหลกหัวแตก จับตามองพฤติกรรมความเคลื่อนไหวอย่างสมบูรณ์ และยึดเอาความเข้าใจและประสบการณ์เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ (การรัฐประหาร) ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ (พฤติกรรมปราบปรามประชาชนแบบพฤษภาทมิฬ) ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ (การปะทะกับประชาชน) และในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (การล้อมปราบประชาชน) เป็นที่ตั้ง
ส่วนจะบริหารในระดับโครงสร้างและปฏิบัติการ รวมถึงการวางกำลังกันอย่างไร คงไม่ต้องนำมาพูดในที่นี้
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประเด็นร้าวลึกๆ มาตั้งแต่ต้น ซึ่งไม่ใช่ร้าวกันในยุคเพื่อไทยเท่านั้น เรื่องนี้เป็นความร้าวเชิงโครงสร้างและอำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจโดยตรง
กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวแถวของกระทรวงเศรษฐกิจที่ไม่เคยอยู่ภายใต้อำนาจของรองนายกรัฐมนตรีคนใดโดยเบ็ดเสร็จมาก่อน แม้ในยุคที่ทหารเป็นใหญ่ในบ้านเมือง
แนวคิดโดยประเพณีคือ งานนโยบายเศรษฐกิจควรมีลักษณะถ่วงดุลและคานกัน ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมีอิทธิพลมากจนเกินไป
แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังถูกกำหนดให้เป็นหน่วยงาน ในกำกับของกระทรวงการคลัง ก็ยังถูกหุ้มด้วย อำนาจพิเศษนอกรัฐธรรมนูญตามแนวคิดว่านักการเมืองไว้ใจไม่ได้ สุดท้ายดูเหมือนจะกลายเป็นหน่วยงานประเภท untouchable ที่อยู่นอกวงโคจรของรัฐบาลไป
ประเด็นคือจะบริหารงานเศรษฐกิจที่ว่าด้วย ๑) การเงิน ๒) การคลัง ๓) การตลาด (ของชาติ) ให้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่เปิดโอกาสให้แต่ละยูนิตพลิกพลิ้วตามกลไกตลาดและตามสภาพเศรษฐกิจโลกได้อย่างไร
งานนี้แบ่งกันดูแลก็ไม่มีปัญหา แต่นายกรัฐมนตรีและ ที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีจะต้องเข้าควบคุมกลไกการบริหารด้วยตัวเอง แทนที่จะมอบรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในรูปแบบ ซาร์
การล้มละลายของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดของการกำหนดนโยบายต่อโลก
สุดท้ายคือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม ซึ่งอาจรวมถึงสื่อภาครัฐด้วย
โจทย์ใหญ่มีเพียงหนึ่งเดียวคือ จะส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมของคนไทยไปสู่ระบอบอะไร หากเตรียมขี้ข้ารุ่นใหม่ก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพียงรักษาความน้ำเน่าอย่างเดิมก็พอเพียง
แต่ถ้าเป้าหมายปลายทางคือ ความเป็นพลเมืองของระบอบประชาธิปไตย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สำนักงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ และอื่นๆ จะมีงานช้างรอให้ทำ
นายกรัฐมนตรีจะดูแลเอง หรือมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีเป็นโต้โผใหญ่สักหนึ่งคน ก็ได้ทั้งนั้น.
-----------------------------------------------

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar