tisdag 9 januari 2018

วชิราลงกรณ์ พยายามออกแนว "ไทยๆ"

วชิราลงกรณ์ พยายามออกแนว "ไทยๆ"

วชิราลงกรณ์ พยายามออกแนว "ไทยๆ"
วันปีใหม่ ผมตั้งข้อสังเกตแบบขำๆว่า การ์ตูน "สคส." วชิราลงกรณ์ที่อวยพรให้ประชาชนไทยมีความสุข "ทุกฤดูกาล" ออก "ฝรั่งจ๋า" มาก คือ มีวาดบ้านปล่องไฟ หิมะ ตุ๊กตาหิมะ (ดูกระทู้นั้นได้ที่นี่ https://goo.gl/ZT76AV) ซึ่งประเทศไทยไม่มีฤดูหนาวหิมะ หรือไม่มีบ้านปล่องไฟ ไม่ว่าฤดูไหน
สามวันต่อมา (4 ม.ค.) ข่าวราชการประกาศว่า วชิราลงกรณ์ให้พิมพ์ "สคส." ออกมาชุดหนึ่ง มี 4 ภาพ เป็นชุด "การละเล่นไทย" - ตัว สคส.กว่าจะออกวางจำหน่ายจริง วันที่ 5 (และผมถามคนที่เมืองไทยแล้ว วันที่ 5 ก็วางกันไม่เต็มที่)
ผมไม่อยากจะคิดมากถึงขั้นว่า นี่เป็นการ "ตอบ" ข้อสังเกตของผม แม้จะอดคิดขำๆไม่ได้ ความเป็นไปได้ มีไหม? ก็มีอยู่เหมือนกัน - เขาและคนของเขาตามเฟซบุ๊คผมใกล้ชิด อันนี้แน่นอน - ในแง่เวลา ถ้าจะทำให้ทันจริงๆก็ทำได้ใน 3-4 วัน เพราะการ์ตูนวาดวันเดียวก็ได้ (สมมุติวาดวันที่ 2) และถ้าเขาสั่ง ภายใน 2-3 วัน (วันที่ 2-4) ก็พิมพ์ออกมาได้ แต่อันนี้ ก็ไม่ได้อ้างหรือยืนยันอะไรนะครับ
คือจริงๆ มันมีประเด็นน่าสนใจบางอย่างจริงๆกับการออก สคส.ชุด "การละเล่นไทย" ครั้งนี้ เพราะนี่เป็นครั้งแรกจริงๆ ที่การ์ตูนวชิราลงกรณ์ (พยายาม) นำเสนอภาพ "แบบไทยๆ"
(ไทม์มิ่งของการออก สคส.มาติดๆกันแบบนี้ ก็ไม่เคยมีและแปลกเหมือนกัน - ดูเพิ่มเติมเรื่องปีกลายข้างล่าง)
.................
ตอนปีใหม่ที่ผมตั้งข้อสังเกตแบบขำๆว่า การ์ตูน สคส.ปีใหม่ของวชิราลงกรณ์ "แปลก" ที่ทำรูปบ้านปล่องไฟ หิมะ-ตุ๊กตาหิมะ มาแทน "สามฤดู" ให้ประชาชนไทย ก็มีบางท่านมาแย้งว่า "ไม่เห็นแปลก"
ผมยืนยันว่า แปลกแน่ครับ คือต้องคำนึงถึงว่า นี่คือการ์ตูนที่ #กษัตริย์ไทย #วาดให้ประชาชนไทยในประเทศไทย รัชกาลที่แล้ว ไม่เคยมีภาพวาดในลักษณะนี้เลย มีแต่ภาพหมา งู ปลา แบบไทยๆ ไปถึงมหาชนก (ผมบอกว่า "แปลก" ไม่ใช่บอกว่า ดี หรือไม่ดี - หลายคนคงเข้าใจว่าผมกำลังบอกไม่ดี - แต่แปลกนี่ยืนยันแน่นอนว่าแปลกแน่)
ก็มี "มิตรสหายท่านหนึ่ง" ได้กรุณาเตือนความจำผมว่า ถ้าดูการ์ตูนที่ผ่านมาของเขา ก็มีลักษณะแบบนี้ (ผมต้องสารภาพว่า ที่ผ่านมา ผมให้ความสนใจด้านที่อาจจะเรียกว่าเป็น "ผลงานรังสรรค์" ของวชิราลงกรณ์ไม่มาก เทียบกับรัชกาลทีแล้ว ซึ่งผมศึกษาทั้งสปีช งานเขียน ภาพวาด อย่างใกล้ชิดมาก แต่วชิราลงกรณ์นี่ ที่ผ่านมา ไม่ได้คิดถึงเขาในแง่นี้เท่าไร เพราะเขาเองก็ไม่ค่อยมีด้วย มีแต่การใช้ "อำนาจดิบ" เสียเยอะ สงสัยต่อไปต้องหันมาสนใจด้านนี้มากขึ้น)
ผมเลยลองเช็คทบทวนดู ก็จริงอย่างที่ "มิตรสหายท่านนั้น" ว่า และอันที่จริง ยิ่งเป็นการคอนเฟิร์มข้อสังเกตขำๆของผมตอนปีใหม่ด้วยว่า การ์ตูนวชิราลงกรณ์ "แปลก" ในแง่ เป็นแบบ "ฝรั่งจ๋า" มาก คือสะท้อนว่า ในจินตนาการหรือในใจเขา เวลานึกเรื่องบ้านช่อง เรื่องฤดูกาล เขามีภาพเมืองฝรั่งในใจมากกว่า (บางท่าน ถึงกับเสนอว่า การ์ตูนทั้งหมด "องค์ที" เป็นคนวาด ซึ่งจะเม้กเซ้นซ์ในแง่ที่ว่า องค์ทีโตในเยอรมัน ให้วาดการ์ตูนก็ออกมาแบบนั้น ตรงนี้ผมยังไม่แน่ใจ และขอเขียนในแง่ถือว่าเป็นฝีมือวชิราลงกรณ์เองไปก่อน)
ภาพประกอบกระทู้ ผมได้รวบรวมเอาการ์ตูนของวชิราลงกรณ์ และวันที่เผยแพร่มาให้ดู
การ์ตูนชุด "การละเล่นไทย" ที่เพิ่งทำขึ้นมา (หลังผมตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ หุหุ) เป็นครั้งแรกจริงๆที่เขาวาดออกมาแบบ "ไทยๆ" บ้านก็หลังคาทรงไทย ไม่มีบ้านปล่องไฟแล้ว รวมถึงตีมทั้งหมดด้วย
สำหรับใครที่ยังไม่เห็นชัดหรือต้องการดูชัดๆ ดูภาพชุด "การละเล่นไทย" ทั้ง 4 ภาพ ได้ที่นี่ https://goo.gl/Y7b7Mp (หรืออยากดูรายงานเป็นข่าวทีวี ดูได้ที่นี่ https://goo.gl/XYR95s
ถ้าเราเปรียบเทียบกับปีกลาย (2560)
ตอนปีใหม่ วชิราลงกรณ์มี สคส.ออกมา แต่ไม่มีภาพการ์ตูน (ดูได้ที่นี่ https://goo.gl/ZdzzEG)
แต่ตอนปลายเดือน (21 มกราคม 2560) วชิราลงกรณ์ได้ออกภาพการ์ตูนในลักษณะ สคส. ออกมา 4 ภาพ บอกว่าเพื่อหาเงินช่วยน้ำท่วม (ดูข่าวและภาพได้ที่นี่ https://goo.gl/7j3mnR
ภาพชุดนี้ ยิ่ง "ฝรั่งจ๋า" กว่า สคส.ปีใหม่ปีนี้อีก คือ นอกจากบ้านปล่องไฟ หิมะ-ตุ๊กตาหิมะ ยังมี "เตาผิงไฟ" ด้วย
ภาพทั้งสี่นี้ อีกสามเดือนต่อมา (เมษายน) ได้รวมพิมพ์ (พร้อมภาพเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย) ในรูป "ไดอารี่" (https://goo.gl/nZ66QH) ดูที่เป็นข่าวทีวีได้ที่นี่ https://goo.gl/cjSGsg และดูที่เป็นภาพชัดๆได้ที่นี่ https://goo.gl/u4nDas
ถ้าดูย้อนหลังขึ้นไป การเผยแพร่การ์ตูนของวชิราลงกรณ์ ก็อย่างที่ทำเป็นภาพประกอบกระทู้นี้ คือ
ครั้งแรกสุด งาน "Bike for Dad" 9 ธันวาคม 2558 (https://goo.gl/zm7koZ) แล้วก็ภาพ 4 ภาพที่ต่อมาทำเป็นไดอารี่ที่เพิ่งกล่าวถึง หลังจากนั้น ในช่วงปีกลาย มีออกมาเป็นภาพประกอบในหนังสือ "บทเจริญพระพุทธมนต์" ที่แจกในวาระต่างๆ โดยเฉพาะถ้าดูฉบับที่ออกวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งแม้จะมีภาพ "ทุ่งนา" ในลักษณะ "ไทยๆ" มีกองฟาง แต่ตัวบ้าน ยังอุตส่าห์เป็น "บ้านปล่องไฟ" อยู่ ซึ่งดูพิลึกดี (ดูภาพชัดๆที่นี่ https://goo.gl/KE2TVr)
...................
ผมคิดว่า ไม่มีปัญหาว่า ภาพชุด "การละเล่นไทย" ที่เพิ่งออกมา เป็นครั้งแรกที่วชิราลงกรณ์พยายามวาดการ์ตูนในลักษณะ "ไทยๆ" จริงๆ ("บ้านปล่องไฟ" ที่เคยมีอยู่ในทุกภาพในอดีต ไม่ปรากฏเลย)
งาน "อุ่นไอรัก คลายความหนาว" ที่ผม "แซว" วันก่อน (https://goo.gl/dCvqaF) ว่าออกจะฝรั่งๆ เพราะเดือนกุมภา-มีนา ของไทย ไม่มี "ความหนาว" ให้ "คลาย" อะไรแล้ว (แต่มิวนิกยังมี) ก็มี "ตีม" ว่า "ย้อนยุค" ให้แต่งชุดไทยโบราณอะไรทำนองนั้น
พูดถึงเรื่องนี้ ความจริง เราคงต้องพูดกันยาวกว่านี้อีก แต่สั้นๆในที่นี้คือ น่าสนใจในภาพกว้างออกไปว่า การพยายาม "คอนเน็ค" กับประชาชน ของวชิราลงกรณ์ในหลายปีนี้ สะท้อนความแตกต่างกับรัชกาลที่แล้วอย่างสำคัญอยู่ คือ เขาไม่ได้ และคงจะไม่ได้ใช้เรื่อง "โครงการในพระราชดำริ" เดินทางไปโน่นนี่ ที่มี "โครงการ" แล้วถ่ายรูป ทำข่าวเผยแพร่แบบพ่อ
ขอให้สังเกตว่า ในงานต่างๆ ไม่ว่างาน "ไบ๊ค์" สองงาน หรือเรื่อง "ดนตรีลานพระรูป" มาถึง "อุ่นไอรัก" นี้ วชิราลงกรณ์มีลักษณะของการ "จัดอีเว้นท์" มากกว่า ซึ่งในรัชกาลที่แล้ว ไม่ใช่แบบนี้
ในแง่หนึ่ง ก็อาจจะบอกว่า นี่เป็นวิธี "ทันสมัย" เข้ากับยุคนี้มากกว่า แต่ผลที่ตามมาในแง่ภาพรวมระยะยาว เรื่องสถาบันกษัตริย์จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อ
Image may contain: 1 person

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar