“เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ผู้ใหญ่ในวันนี้คือผีในวันหน้า” จำได้ว่าล้อเลียนมาตั้งแต่ตัวเองยังเด็ก จนปีนี้อายุ 61 โลกของเด็กก็ไม่เคยเปลี่ยนไป คือยังถูกตีกรอบบงการและคาดหวังโดยผู้ใหญ่ ซ้ำร้าย ยิ่งหนักข้อขึ้นในสังคมสูงวัย
ว่าที่จริง โลกของเด็กเปลี่ยนไปเยอะมาก เห็นกันชัดๆ ในโลกยุคออนไลน์ แต่ผู้ใหญ่ยุคนี้ก็ไม่ตายง่าย ดันอายุยืน เสียด้วย 70-80 ยังฟิตปั๋ง ถ้าอยู่เป็นมิ่งขวัญลูกหลานก็น่า ชื่นใจ แต่บางคนอยู่เพื่อจุ้นจ้าน ตีกรอบให้ลูกหลาน วางอนาคตให้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ
ทั้งที่ไม่ใช่โลกของตัวแล้ว อีกไม่นานก็ตาย แต่คนรุ่นต่อๆ ไปก็ต้องอยู่ใต้กรอบ ใต้ระบอบโครงสร้างที่วางไว้ 20-30 ปี หรือชั่วกัลปาวสาน
ขณะเดียวกัน ความคาดหวังต่อเด็กก็ยิ่งสูงและบีบคั้น ในยุคที่ต้องแข่งขันเข้มข้น เยาวชนรุ่นใหม่ถูกคาดหวังว่าจะต้องแบกรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่เข้าสู่ยุค 4.0 เทคโนโลยี AI สมาร์ต สตาร์ตอัพ ฯลฯ ซึ่งพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือไอ้หนูอีหนูเอ๋ย เตรียมตัวเตรียมใจไว้เถิด โลกยุคต่อไปต้องเอาตัวให้รอด และรอดยาก เรียนจบปริญญาธรรมดาหา งานยาก ถ้าพ่อแม่ไม่ใช่เจ้าของกิจการ หรือพ่อแม่มีเส้นสายฝากเข้ารับราชการ ถ้าไม่ใช่ไอคิวเข้าขั้นอัจฉริยะ หรือพ่อแม่มีตังค์จ่ายค่าเทอม ร.ร.นานาชาติปีละ 8 แสน ก็ต้องขวนขวายสร้างเนื้อสร้างตัว โดยขายครีมออนไลน์
ผู้ใหญ่จึงเรียกร้องให้เด็ก “คิดเป็น” เพราะไม่งั้นเอาตัว ไม่รอด แต่ขณะเดียวกันก็ห้ามคิดเอง ห้ามคิดนอกกรอบ ไม่งั้นจะเป็นอันตรายต่อระบอบที่ผู้ใหญ่ครอบไว้ เด็กไทย จึงต้องท่องอาขยาน ปลูกฝังค่านิยมให้สัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม ถือลุงเป็นแบบอย่าง กตัญญู เชื่อฟังผู้ใหญ่ โตไปไม่โกง สวดมนต์ข้ามปี แต่เวลาเข้าสู่ระบบธุรกิจต้องแข่งขันฟาดฟัน แค่บนถนนก็ต้องขับรถปาดกัน เข้าสู่ระบบราชการก็อยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์ ถ้าหัวแข็ง เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีวันเติบโต
ถามว่าเด็กแต่ละรุ่นเปลี่ยนไปไหม เปลี่ยนสิ ตามค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนไป ความใฝ่ฝันในวิถีชีวิต อนาคต อาชีพการงาน ความสนใจในเรื่องต่างๆ ความเชื่อเรื่องศาสนา ศีลธรรม หรือแม้แต่ค่านิยมทางเพศ ก็ไปไกลลิบ แต่กรอบคิดที่กำหนดโดยผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจไม่ยอมเปลี่ยน
เด็กแต่ละรุ่นที่โตมาจึงต้องแสวงหาปรัชญาค่านิยมในการดำรงชีวิตของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมอยู่ใต้กรอบจารีตศีลธรรมของสังคม ทั้งที่บางทีขัดกัน แต่ก็ต้องทำแอบๆ หรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เช่น ค่านิยมทางเพศ ทุกวันนี้มีกี่คนวะที่เปิดบริสุทธิ์วันแต่งงาน แต่เราทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกันดีกว่า หรือความเชื่อทางศาสนา คนรุ่นใหม่ที่ไม่นับถือศาสนาน่าจะมีไม่น้อย แต่เรื่องอะไรจะทำให้ตัวเองเดือดร้อน ก็กรอก บัตรประชาชนว่า “พุทธ” และไปทำบุญกับญาติตามประเพณี
สังคมไทยเป็นอย่างนี้มาหลายสิบปี แต่สิบกว่าปีมานี้ เมื่อเกิดวิกฤตการเมืองภายใต้ความคิดความเชื่อว่าศีลธรรมอัน ดีงามถูกทำลายด้วยประชาธิปไตย “ทุนสามานย์” สิทธิเสรีภาพเป็นอันตรายต่อวัฒนธรรมความเป็นไทย โดยเฉพาะใน 3-4 ปีนี้ที่เป็นช่วงของการสถาปนาโครงสร้างอำนาจใหม่ โครงสร้างที่จะไม่กลับไปเป็นประชาธิปไตยแบบเดิมอีก ระบอบที่จะปกครองโดยรัฐแห่งความมั่นคงโดยประชาชนมีหน้าที่ให้ความร่วมมือ
ความพยายามปลูกฝังคนรุ่นใหม่ก็ยิ่งเข้มงวดบีบคั้น ทั้งที่สวนทางโลกสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็กลับต้องการให้พวกเขาโตมา “คิดเป็น” เป็น AI แบกภาระสังคมสูงวัย ทั้งที่คนแก่ทั้งหลายตีกรอบพันธนาการพวกเขาไว้ ทั้งรัฐธรรมนูญที่แก้ไม่ได้ ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งการปฏิรูปอะไรก็แล้วแต่ ที่กำหนดโดยคนอายุ 70 โดยเฉลี่ย
วันเสาร์นี้เป็นวันเด็ก 2561 น่าคิดว่า 12 ปีผ่านไป มีเด็กกี่รุ่นโตเป็นผู้ใหญ่ วันเด็กปี 2549 ไผ่ ดาวดิน, รังสิมันต์ โรม, จ่านิว, เนติวิทย์ นิสิตนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยจนถูกจับกุมคุมขัง ตอนนั้นอยู่ที่ไหน อายุเท่าไหร่ ถ้าไม่เกิดวิกฤต วันนี้ชีวิตพวกเขาจะเป็นอย่างไร …แล้วเด็กรุ่นต่อไปล่ะ
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar