måndag 7 januari 2019

เลือกตั้ง 2562 : วิษณุเปิดปฏิทินแจง ไม่ได้รัฐบาลใหม่ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

กกต. ยังไม่กำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ภายหลังมีข้อเสนอจากรองนายกฯ ให้เลื่อนไปจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 หรือ 31 มี.ค. เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนระหว่างกิจกรรมการเมืองกับกิจกรรมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 คน ที่มีนายอิทธิพร บุญประคอง เป็นประธาน ได้ประชุมร่วมกันเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (4 ม.ค.) ก่อนแจกจ่ายเอกสารข่าวแก่สื่อมวลชน โดยยืนยันความพร้อมอย่างเต็มที่ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดย กกต. จะกำหนดและประกาศวันเลือกตั้งเมื่อพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
การประชุมของ กกต. นัดนี้เกิดขึ้น หลังวานนี้ (3 ม.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานฝ่ายพระราชพิธี ในคณะกรรมการอำนวยการการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้เข้าชี้แจงการเตรียมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ กกต. รับทราบ เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจกำหนดวันเลือกตั้ง ภายหลังมีประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค. 2562

วิษณุแนะจัดเลือกตั้ง 24 มี.ค. หรือ 31 มี.ค.

นายวิษณุได้นำผลการหารือกับ กกต. รายงานให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบแล้ว นอกจากนี้รองนายกฯ ยังได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวผ่านสื่อมวลชนว่าการเลือกตั้งควรเกิดขึ้นภายในเดือน มี.ค. เพื่อไม่ให้วันประกาศผลเลือกตั้งไปทับซ้อนกับพระราชพิธี "หากกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มี.ค. หรือ 31 มี.ค. ก็จะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้หลังพระราชพิธี" และย้ำว่า "อยากให้ กกต. มาบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสม ไม่ให้ทับซ้อนกับการพระราชพิธี"
สิ่งที่นายวิษณุไปสื่อสารกับ กกต. คือการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่ได้เกิดขึ้นเพียง 3 วันเท่านั้น แต่ก่อนและหลังพระราชพิธีต้องมีกิจกรรมอื่นนำหน้ามาครึ่งเดือนและมีกิจกรรมตามหลังมาอีกครึ่งเดือน
"กกต. บอกว่าขอบคุณที่นำข้อมูลนี้มาเล่า เพราะเดิมเข้าใจว่าพระราชพิธีมีแค่ 3 วันแล้วก็จบ ถ้า 3 วันจบก็ไม่ควรกระทบอะไรทั้งสิ้น แต่ถ้ามีกิจกรรมก่อนนั้นและกิจกรรมหลังนั้น ตรงนี้ กกต. ก็จะนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจอีกทางหนึ่ง" นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุได้นำหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 5 พ.ค. 2493 ไปเทียบเคียงให้ กกต. เห็นภาพ ด้วยเพราะพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 10 จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 พ.ค. 2562 จึงอาจคำนวณพิธีกรรมต่าง ๆ ได้อย่างคร่าว ๆ ด้วยการนับถอยหลังไปหนึ่งวัน แต่ทั้งนี้จะมี "พระฤกษ์" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

รองนายกฯ เปิดปฏิทินพระราชพิธี/กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (กลาง เม.ย.-20 พ.ค.)

สมัย ร. 9
  • 18-19 มี.ค. 2493 : การตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก (ข้อมูลที่นายวิษณุแถลงข่าวคลาดเคลื่อนในส่วนของเดือน โดยระบุว่า 18-19 เม.ย. 2493)
  • 20-21 เม.ย. 2493 : พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่ ซึ่งต้องตั้งการพระราชพิธีที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ถ้ามีการสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระราชวงศ์พระองค์อื่น จะมีการจารึกพระสุพรรณบัฏเพิ่มขึ้น แปลว่าเพิ่มวัน)
  • 3 พ.ค. 2493 : พระราชพิธีถวายสักการะพระบรมอัฐิ พระอัฐิ พระราชบุพการี
  • 4 พ.ค. 2493 : มีการประกาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษกท่ามกลางมหาสมาคม
  • 5 พ.ค. 2493 : วันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
สมัย ร. 10
  • 4 พ.ค. 2562 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร (ขึ้นบ้านใหม่)
  • 5 พ.ค. 2562 : พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้น เสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค (ทางบก)
  • 6 พ.ค. 2562 : เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล
  • 6-20 พ.ค. 2562 : เป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่พระราชพิธี แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนและรัฐบาลจัด เช่น อาจจะเสด็จออกทรงรับผู้นำต่างประเทศที่มาร่วมพระราชพิธี ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าดำเนินการอย่างไร, กิจกรรมการสวดมนต์ถวายพระพรชัยมงคล, กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติจิตอาสา ด้วยการบูรณะแม่น้ำลำคลองทั่วประเทศ และอาจมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่คณะกรรมการอำนวยการฯ จะได้ประชุมหารือกัน เช่น การจัดงานสโมสรสันนิบาต
ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำแถลงของนายวิษณุ เครืองาม เมื่อ 3 ม.ค. 2562
เขาย้ำว่า วันเลือกตั้งมีเมื่อไร ไม่กระทบกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถึงอย่างไรเสียวันเลือกตั้งต้องมีขึ้นก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก "เลิกคิดเรื่องเลือกตั้งหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปได้เลย" เนื่องจากมีกรอบกฎหมายกำหนดว่าต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือภายในวันที่ 9 พ.ค. นี้

นายวิษณุบอกด้วยว่า หากใช้กำหนดการเดิม เลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. ก็ไม่ได้กระทบอะไรแม้แต่การหาเสียงก็ตาม แต่สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงคือช่วงเวลาหลังจากเลือกตั้งยังมีกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นต่อ เช่น กกต. ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หรือภายในวันที่ 24 เม.ย. ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นช่วงเวลาเดียวกับการประกอบพระราชพิธีทำน้ำอภิเษก เช่นเดียวกับพระราชพิธีเสด็จเปิดประชุมรัฐสภาภายใน 15 วันหลัง กกต. รับรองผล หรือภายในวันที่ 8 พ.ค. โดยที่ช่วงเวลาก่อนถึงวันที่ 8 ก็จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกวัน
"กิจกรรมการเมืองกับกิจกรรมการพระราชพิธีต้องถูกนำมาวางคู่กัน เพื่อไม่ให้เกิดการการทับซ้อนกันขึ้น และไม่ควรจะทับซ้อน" นายวิษณุระบุ

รองนายกฯ บอกด้วยว่า รัฐบาลยังไม่ได้รับร่าง พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้งทั่วไป หลังทูลเกล้าฯ ถวายไปเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2561 จากเดิมที่คาดการณ์ว่ารัฐบาลจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในวันที่ 2 ม.ค. เมื่อรัฐบาลยังไม่ได้ประกาศ พ.ร.ฎ. กกต. ก็ยังออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้งไม่ได้ ซึ่งก็เป็นการดีที่ กกต. จะได้มีข้อมูล และมีเวลาคิดให้รอบคอบ

รองนายกฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ก่อนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก "ไม่น่าจะได้รัฐบาลใหม่ แต่การได้ ส.ส. และ ส.ว. ใหม่เป็นไปได้"

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar