ฉันทามติ 2 เรื่องใหญ่ ในประเทศไทยปัจจุบัน
ผมเสนอว่า ขณะนี้ มี 2 เรื่องใหญ่ที่มีคนเห็นตรงกันอย่างกว้างขวาง (แน่นอน ในสังคมสมัยใหม่ ไม่มีเรื่องอะไรที่ทุกคนจะเห็นตรงกันร้อยเปอร์เซนต์อยู่แล้ว เรากำลังพูดถึงการเห็นด้วยตรงกันอย่างกว้างขวางมาก)
เรื่องแรก: ประยุทธ์-คสช. ไม่ควรสืบต่ออำนาจตัวเอง กลับมาเป็นรัฐบาลอีกหลังเลือกตั้ง
เรื่องที่สอง: วชิราลงกรณ์ ไม่ใช่กษัตริย์ที่ดีนัก
ระดับการเห็นด้วยตรงกันของสองเรื่องนี้ ไม่เท่ากัน และแต่ละเรื่องก็มีความไม่ลงตัวที่ไม่เหมือนกัน
การเห็นตรงกันในเรื่องแรก มีระดับที่กว้างขวางมากกว่า
..............
เรื่องแรก ผมยังประเมินว่า ระดับความไม่พอใจของประชาชนทุกสีทุกฝ่าย ต่อประยุทธ์-คสช. ยังไม่น่าถึงระดับที่จะนำไปสู่การล้ม คสช.ได้ จุดที่จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ยังน่าจะเป็นช่วงจะมีเลือกตั้ง-ไม่มีเลือกตั้ง และเลือกตั้งแล้วจะกลับเข้ามาหรือไม่อย่างไร
ยกเว้น ถ้าจะเกิดก่อนหน้านั้น - การเมืองเป็นเรื่องการปฏิบัติที่ไม่มีใครเดาหรือกำหนดล่วงหน้าได้ทั้งหมด - ก็คือการที่ คสช.ทำพลาดขนาดใหญ่ในลักษณะที่มีการ "ช็อค" ต่อคนอย่างรุนแรง - นึกถึงกรณีในอดีตแบบสุจินดากลับคำ/จำลองอดข้าว ถึงเรื่องการขายชินคอร์ปให้เทมาเส็ก - ซึ่งผมยังมองไม่เห็น และไม่คิดว่า พวกเขาจะไม่ระมัดระวัง ทำอะไรที่แย่ใหญ่โต "ช็อค" คนขนาดนั้น
แม้ว่า "ฉันทามติ" เรื่องนี้ จะกว้างขวางมาก แต่ก็ยังมี "ความไม่ลงตัว" สำคัญอยู่ คือขณะนี้ คนรู้สึกไม่ชอบ คสช.อย่างกว้างขวาง มากพอจะทำให้ประเด็นว่า "ถ้าไม่ใช่ คสช.แล้ว ใครจะมาแทน" ลดความสำคัญในความรู้สึกไป ผมคิดว่าคนที่ไม่อยากให้ คสช.สืบอำนาจ (โดยเฉพาะพวกที่เคยเชียร์มาก่อน) คงคิดแบบคร่าวๆว่า อย่าให้เป็น ประยุทธ์-คสช.ก็แล้วกัน ให้ผลการเลือกตั้งตัดสินเอา (ดูผลโพลล์ล่าสุดเรื่อง "ไม่เอานายกฯคนนอก" เป็นตัวอย่าง)
ณ ขณะนี้ ดูเหมือนว่า โอกาสที่ คสช.จะ "รีเวิร์ซ" หรือ "กลับลำ" หันกลับเป็น "ขาขึ้น" หรือสร้างความนิยมอีก ดูริบหรี่ (หุหุ ยิ่งยังดันทุรังกรณีประวิทย์-นาฬิกาอยู่ ยิ่งมองไม่เห็น) แต่อย่างที่เพิ่งพูดไปข้างบน การเมืองเป็นเรื่องการปฏิบัติที่กำหนดล่วงหน้าทั้งหมดไม่ได้ แก้-เปลี่ยนได้จากการปฏิบัติและปฏิสัมพันธ์-ปะทะระหว่างพลังฝ่ายต่างๆ จากจุดนี้ไปถึงมีการเลือกตั้ง และมีผลเลือกตั้งออกมา คสช.คงพยายามดิ้นรนเต็มที่ ที่จะสร้างความนิยมยอมรับใหม่ เพื่อปูทางให้กับการสืบอำนาจต่อ
ผมอยากเสนอว่า บรรดาคนที่ต่อต้านรัฐประหาร ควรโฟกัสที่ประเด็น ("คำขวัญ") นี้: "คัดค้าน-ยับยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช." ซึ่งมีโอกาสของการสร้างฉันทามติที่กว้างขวางมากในขณะนี้
............
เรื่องที่สอง เรื่องนี้มีความซับซ้อนกว่าเรื่องแรกเยอะ ผมมองว่า มีความรู้สึกกัน(ในใจ)อย่างกว้างขวางจริงว่า วชิราลงกรณ์ไม่ใช่กษัตริย์ที่ดี แต่ระดับความรู้สึกแบบนี้ ยังห่างจากความรู้สึก "ต้องล้ม" หรือแม้แต่จะถึงระดับคิดให้ "ต้องเปลี่ยน" อย่างซีเรียส เรื่องแบบนี้เป็นอะไรที่ใหญ่เกินกว่าจะทำให้คนกล้าคิดในระดับนั้นอย่างกว้างขวางในเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะในหมู่คนรักเจ้า (อันที่จริง อย่างที่รู้กัน แม้แต่ในหมู่คนเสื้อแดง ก็มีคนเชียร์วชิราลงกรณ์อยู่ด้วยซ้ำ) สถานีวิทยุใต้ดินบางสถานีที่ชอบให้ความหวังคนฟัง ประเภทว่า ทุกวันนี้ คนไม่เอาเจ้ากันหมดแล้ว พร้อมจะล้มเจ้ากันแล้ว จะทำให้ "จบในปีนี้" อะไรแบบนั้น เป็นเพียง "พ่อค้าขายฝัน" เท่านั้น (เรื่องที่ว่า ในหมู่ชนชั้นนำเอง มีความพยายามจะ "เปลี่ยนตัว" - "ศึกชิงบัลลังก์" อะไรที่ว่า - ก็เป็นเพียงการมโนเพ้อพก)
ยังมีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งด้วยว่า ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ สองเรื่องดังกล่าว ไม่ได้ "คอนเน็ค" หรือเชื่อมต่อกันในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่สุด พูดง่ายๆคือ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่พอใจ คสช. ไม่อยากให้ คสช.สืบทอดอำนาจ เป็นรัฐบาลต่อไปหลังเลือกตั้ง ความไม่พอใจนี้ ไม่ได้โยงไปถึงความรู้สึกที่ว่า วชิราลงกรณ์เป็นกษัตริย์ที่ไม่ดี
วชิราลงกรณ์รวบอำนาจเกี่ยวกับกษัตริย์ก็จริง (ทรัพย์สินฯ, ราชการในพระองค์) แต่ที่ผ่านมาเขาทำตัวเป็น "แอ๊บเซ็นที คิง" (absentee king = กษัตริย์ที่ไม่อยู่) คนไม่ได้รู้สึกกันว่า (และเขาเองก็ไม่ได้ทำให้เห็นชัดว่า) ออกมาสนับสนุนถือหาง คสช.ชัดเจน เอาเข้าจริง อย่างที่พูดไป ในบรรดาเสื้อแดง ที่แอนตี้ คสช. ยังมีคนเชียร์วชิราลงกรณ์ด้วยซ้ำ
แต่วชิราลงกรณ์เอง อาจจะเป็นคน "คอนเน็ค" สองประเด็นนี้เข้าด้วยกันในอนาคตข้างหน้าก็ได้ มีข่าวที่เชื่อถือได้พอสมควรว่า เขา "นัดพบ" ใครต่อใครในแวดวงต่างๆหลายแวดวง นั่นคือ เขาติดตามแวดวงการเมืองใกล้ชิดกว่าที่เห็นกันภายนอก และอาจจะ prepared หรือเตรียมพร้อมจะ "เอ๊กเซอไซส์พาวเวอร์" ในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารและการจัดตั้งรัฐบาลโดยตรงในอนาคตได้ เช่น หากมีการเลือกตั้ง แล้วผลออกมาไม่ลงตัว หรือเขาอาจจะแสดง "เฟเวอร์" หรือความชอบว่า ต้องการให้ใครเป็นเมื่อถึงเวลานั้น ฯลฯ ฯลฯ
"แอ๊สเซ็ต" หรือ "ต้นทุนสะสม" ของ "ความเป็นเจ้า" และสถานะของสถาบันกษัตริย์ ทำให้วชิราลงกรณ์ได้เปรียบกว่า ประยุทธ์-คสช. เยอะ เขาสามารถใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ ในแง่สร้างบารมีให้ตัวเอง ลดความไม่ชอบเขา ได้มากกว่าที่ คสช.จะพยายามลดความไม่ชอบตัวเอง - แต่เขาจะถึงขั้นทำอะไรดีๆ ถึงระดับที่สุลักษณ์แสดงความฝันเมื่อวันก่อนหรือไม่ นี่ก็ยังมองไม่เห็น
61 กับ 16
ข้างล่างนี้ เป็นคอมเม้นท์ที่ผมไปเขียนในช่วง 2 วันนี้ ในกระทู้ของสหายบางท่าน ที่เขียนในเชิงเปรียบเทียบสถานการณ์ขณะนี้กับก่อน 14 ตุลา
................
แน่นอน ผมเองคิดถึงเรื่องในอดีตเยอะอยู่ ("โดยวิชาชีพ" น่ะ แหะๆ)
แต่สถานการณ์มันต่างกันเยอะ ที่สำคัญสองประการ
ประการแรก ถ้าดูดีๆ ก่อน 14 ตุลา ถนอม-ประภาส ไม่เคยตอบโต้มากขนาดนี้ เอาเข้าจริง ก่อน 14 ตุลา 2-3 ปี จนถึง 14 ตุลา #ไม่เคยมีการจับคนเข้าคุก (หรือพยายามจับเข้าคุก)
ทุ่งใหญ่ ไม่มีการจับ, กรณีประท้วงการไล่นักศึกษาราม ไม่มีการจับ, ก่อนนั้น การเคลื่อนไหวอย่างรณรงค์ต้านสินค้าญี่ปุ่น หรือประท้วง "ปว.299" ก็ไม่มีการจับ .... ไปจับเอาครั้งเดียวจริงๆคือ 13 กบฎ ที่เป็นชนวน 14 ตุลาโดยตรง นัยยะของเรื่องนี้คือ ก่อน 14 ตุลา มันมีเวลา(และเหตุการณ์) ให้ "มวลชน" ได้สะสมกำลังและความมั่นใจตัวเอง ...
จะเห็นว่า คสช.มัน "เรียนรู้ปวศ." มันพยายาม "ตัดไฟต้นลม" ตลอด คือมันใช้มาตรการที่ทำให้คนไม่กล้าออกมา (แค่ออกมานิดเดียว โดนคดี ซึ่งยุ่งยากในชีวิตอีกเป็นปี หรือกระทั่งโดนจับเลย ยิ่งต้องยุ่งยากลำบาก) ยังไม่ทันที่มวลชน จะมีโอกาสสะสมความม้่นใจและสะสมกำลัง แม้แต่ระดับที่เรียกว่า แอ๊คทีพ ไม่เพียงแกนนำไม่กี่คน แต่รวมถึงระดับมวลชนที่เป็นกลุ่มแรกๆที่มา - อย่างกรณีปัจจุบันคือพวกบ้านๆ "ป้าๆ" ที่เขามา แล้วไม่คิดว่าจะโดนจับหรือโดนหมายเรียก ยัดคดีให้
ประการที่สอง ก่อน 14 ตุลา ในหมู่ประชาชน "มีพวกเดียว" - เอาเข้าจริง #เผด็จการถนอมประภาสไม่เคยมีฐานมวลชนสนับสนุนจริงๆ ในขณะที่ คสช. ขึ้นมาบนฐานสนับสนุนของคนชั้นกลางในเมือง คือในหมู่ประชาชน มีทั้งพวกที่ต้าน คสช. กับพวกที่หนุน คสช.ตั้งแต่ต้น
ขณะนี้ เราผ่านประสบการณ์ "แตกเป็นสองขั้ว" ในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง อย่างรุนแรงมาเป็นสิบปี แม้ขณะนี้ จะเริ่มเห็นวี่แววของการผ่อนคลาย แต่ "ริ้วรอย" (จริงๆมากกว่า "ริ้วรอย") ของเรื่องนี้ ยังสูง มิหนำซ้ำ ผลจากการขัดแย้งติดกัน มีชุมนุม มี "ความวุ่นวาย" มาเป็นสิบปี ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความ "เบื่อหน่าย" สะสม "ไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวายอีก" อย่างลึกๆ .. ความรู้สึก "ไม่อยากกลับไปเหมือนก่อน รปห" มันมีอยู่จริง คือ ไม่อยากให้เกิดภาวะแบบนั้นในหมู่ประชาชนทั้งสองฝ่ายและประชาชนทั่วไป (ซึ่งแน่นอน คสช มันรู้ และพยายามพูด "เตือน" อยู่ประจำ "อยากกลับไปวุ่นวายเหมือนก่อนที่พวกกรูจะมาหรือ")
แน่นอนว่า ขณะนี้ เรียกว่า ประชาชนแทบทุกสีทุกฝ่าย เบื่อหน่าย คสช และไม่พอใจ โดยเฉพาะประวิตร (จริงๆ ผมนึกถึง "ตุ๊" ประภาส บ่อยในช่วงนี้) แต่มันเป็นความไม่พอใจในปริบทที่เพิ่งว่ามาทั้งสองประการ คือ ในปริบทที่ คสช. มันไม่เปิดโอกาสให้มวลชนสะสมกำลัง สะสมความมั่นใจมากขึ้นๆ (โดยไม่ต้องเสี่ยงโดนจับ โดนคุก) และในปริบทที่ ในหมู่ประชาขนมีความแตกแยกกว้างขวางมาเป็นเวลานาน มีพรรคการเมือง (สมัย 14 ตุลา ไม่มี) ที่ขัดแย้งแตกแยกกันมานาน (ชนิดที่ ถ้าไม่นับเรื่องนาฬิกาตอนนี้ เกือบทุกเรื่อง ถ้าเป็นประเด็นขึ้นมา จะต้องมีท่าทีแยกกันเป็นสองขั้ว)
...................
สิ่งที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้คือ ต้องดูว่า กลุ่มต่อต้าน รปห. สามารถดึงคนที่เคยสนับสนุน(หรือเคย"เป็นกลางๆ")ต่อ รปห ในอดีต ให้ "ออกมา" หรือไม่
เท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ยังไม่มีวี่แวว (มีคนอย่าง วีระ "ออกมา" นับว่าดี แต่นี่เป็นตัวคนเดียว)
อันที่จริง อย่างที่รู้กัน แม้แต่พวกที่เป็นกำลังต่อต้าน รปห เอง ก็ "ออกมา" น้อยมาก และยังไม่มีทีท่าจะเปลี่ยน #แต่คนที่เคยสนับสนุนหรือเป็นกลางๆต่อรัฐประหารเป็นหัวใจสำคัญ ถ้าเอาคนเหล่านั้น "ออกมา" ไม่ได้ ก็กดดัน คสช ไม่ได้
ความ "ล้า" "เบื่อหน่าย" ต่อ "ความวุ่นวาย" ในระยะสิบปีก่อน มันมีอยู่จริง และมีผลลึกซึ้งยาวนาน
"ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์รีโมทคอนโทรลเป็นประมุข" *
9 เดือนครึ่งที่ผ่านมา กษัตริย์วชิราลงกรณ์ใช้เวลาอยู่ในเยอรมัน 4 เดือนกับ 3 สัปดาห์
(* รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 2 ควรจะกล่าวไว้)
ไหนๆ ไม่กี่วันนี้ ผมพูดถึงการ "โนโชว์" ของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ แม้แต่ในวันเกิดตัวเอง (ที่ให้รัฐและสังคมทุ่มเงินมหาศาลจัด) เลยขอถือโอกาสอัพเดตข้อมูลเรื่องการไปอยู่ในเยอรมันของเขา
ตั้งแต่ในหลวงภูมิพลสวรรคตเมื่อ 9 เดือนครึ่งที่แล้ว (13 ตุลาคม 2559) วชิราลงกรณ์ไปอยู่เยอรมัน 5 ครั้ง ถึงวันนี้รวมเป็นเวลาประมาณ 4 เดือนกับ 3 สัปดาห์แล้ว ดังนี้
มาเยอรมันครั้งที่ 1 : วันที่ 28 ตุลาคม - 10 พฤศจิกายน 2559
มาเยอรมันครั้งที่ 2 : วันที่ 13 มีนาคม - 5 เมษายน 2560
มาเยอรมันครั้งที่ 3 : วันที่ 15 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2560
มาเยอรมันครั้งที่ 4 : วันที่ 13 พฤษภาคม - 7 กรกฎาคม 2560**
มาเยอรมันครั้งที่ 5 : วันที่ 10 กรกฎาคม - ปัจจุบัน**
**(ถ้าไม่นับว่า เขากลับไทยแค่ 2 วัน งานเข้าพรรษากับอาสาฬหบูชา วันที่ 8-9 เดือนนี้ ต้องนับว่า เขากำลังไปนานกว่าทุกครั้ง คือถ้านับจาก 13 พฤษภา ก็ 2 เดือนกว่าแล้ว)
ล่าสุด ผมได้รับการบอกมาว่า เขามีกำหนดการกลับไทยครั้งต่อไป วันที่ 7 สิงหาคม แต่เรื่องนี้ ก็ไม่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซนต์ (ทุกครั้งที่มีคนบอกเรื่องกำหนดการไป-กลับของเขา จะบอกสำทับด้วยว่า "He's unpredictable") ก็คอยดูกันต่อไปว่า จะใช่หรือไม่
(อันที่จริง ผมคุยเล่นๆกับบางคนว่า ถ้าเขาฉลาดหรือมีเซ้นซ์ของความรับผิดชอบหน่อย วันแรกที่มีเรื่องน้ำท่วมสกลนคร เขาควรรีบบินกลับมาทันที แต่อย่างว่านะ เขาขี้เกียจเกินไปน่ะ อยู่ขับเครื่องบินเล่นแถวยุโรปสบายกว่า)
อย่างที่ผมพูดไปหลายครั้ง ไม่มีประเทศใดในโลก (กรณีประเทศเครือจักรภพ ไม่นับ เพราะเป็นกรณีพิเศษ) ที่ยอมให้ประมุขของประเทศ ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศมากขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าพิจารณาถึงการรวบอำนาจ รวบสมบัติสาธารณะ และใช้จ่ายเงินงบประมาณสาธารณะอันมหาศาลแบบนี้
ระดับที่สังคมไทยยอมให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้ เป็นอะไรที่น่าอนาถ และเหลือเชื่อ เรียกว่าหาไม่ได้ในโลกแล้ว พูดแบบเปรียบเปรยได้ว่า เหมือนปล่อยให้กษัตริย์ตบหน้า ถ่มน้ำลายใส่ แล้วประชาชนยังก้มลงกราบ และเอาน้ำลายหรือรอยโดนตบไปบูชา
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar