lördag 9 februari 2019

."มาตรา ๕" นั้น คือ "มาตรา ๗"....


ว่าด้วย "#ข่าว (ที่คงไม่ใช่แค่เรื่อง) #ลือ (แต่เป็นจริงแล้ว)" ว่ากษัตริย์องค์ใหม่ "มีปัญหาบางอย่าง" กับร่างรัฐธรรมนูญ และอาจจะไม่เซ็น - และถ้าปัญหาที่ว่า เป็นเรื่อง "มาตรา ๕" จะเป็นเรื่องอะไร?

อ่านการสัมภาษณ์ล่าสุดของวิษณุ (ตามภาพประกอบแรก) ที่นี่ goo.gl/TaKcNM
ผมคิดว่า จากที่วิษณุออกมาให้สัมภาษณ์นี้ แสดงว่าค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ที่มี "ข่าวลือ" มาเป็นเดือนว่า กษัตริย์ใหม่ "มีปัญหาบางอย่าง" กับร่างรัฐธรรมนูญและอาจจะไม่เซ็นนั้น น่าจะเป็นเรื่องจริงแล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงแต่ "ข่าวลือ" มิเช่นนั้น วิษณุคงไม่ออกมาพูดขนาดนี้ (ขอให้สังเกตข่าวที่ว่า องคมนตรี 3 คน ไพบูลย์, ดาว์พงษ์ และวิรัช เข้าพบประยุทธ์เมื่อวานด้วย - วิษณุอ้างว่า พบเพื่อถ่ายทอด "พระราชกระแสห่วงใยเรื่องน้ำท่วม" ผมคิดว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่เพียงแค่พูดเรื่องน้ำท่วม ลำพังเรื่องน้ำท่วม ไม่ต้องให้มาถึง 3 คนขนาดนี้ และเป็น 3 คนที่เพิ่งตั้งใหม่ ที่ผมเคยเสนอว่า จะทำหน้าที่เป็น "ตัวประสาน" กับกองทัพ-คสช ด้วย นี่คือตัวอย่างชัดๆของการทำหน้าที่ดังกล่าว)

ผมเคยเขียนพาดพิงถึง "ข่าวลือ" ที่ว่านี้อยู่ 2-3 ครั้ง ดังที่เคยเขียนไป(และหากใครตามแบบใกล้ชิดน่าจะเคยเห็น) "มติชน" เป็นฉบับเดียวที่พาดพิงถึงข่าวลือนี้ 2-3 ครั้งว่า มีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับร่างฉบับใหม่ ที่อาจจะต้องแก้ แม้ว่าตามกฎหมายที่มีอยู่ จะแก้ไม่ได้แล้วหลังผ่าน "ประชามติ" แต่แน่นอนว่า มติชน ไม่สามารถเขียนตรงๆว่า ปัญหาที่ว่ามาจากการที่กษัตริย์ใหม่ไม่ยอมเซ็น แต่เขียนไปว่า "มีอยู่หลายหมวดหมู่ ที่ แม่น้ำ 3 สาย อันได้แก่ 'คสช.-ครม.-สนช.' ไม่ค่อยเห็นด้วย" (ดูตัวอย่างรายงานนี้ "ลึกแต่ไม่ลับ : 'มาตรา 5' ส่งเค้า 'ยกเครื่องใหม่' บางส่วน" goo.gl/eIlrZG)

ล่าสุด ไม่กี่วันก่อน "ไทยรัฐ" ก็พูดพาดพิงเป็นนัยๆเรื่องนี้แล้ว goo.gl/C2Wc55
"ประเด็นที่พูดต่อกันอื้ออึงถึง 'สัญญาณ' ให้ สนช. 'สแตนด์บาย' รองานใหญ่ 'เรื่องสำคัญ' โยงไปกระทั่งเรื่องแก้กฎเกณฑ์กติกาใน 'ประเด็นสำคัญ'..."
...............
ถ้ากษัตริย์ใหม่ ไม่เซ็นรัฐธรรมนูญจริงๆ จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่าน "ประชามติ" มาแล้ว จะตกไป ต้องเริ่มกระบวนการร่างใหม่
นี่เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก และสะท้อนอีกครั้งถึงเรื่องที่ผมพูดไปหลายครั้งว่า กษัตริย์ใหม่มี "พระสไตล์" ที่ไม่ค่อยยอมทำตามระเบียบแบบแผน (แน่นอน มี "กติกา" หรือการกล่าวถึงความเป็นไปได้เรื่องกษัตริย์ไม่เซ็นรัฐธรรมนูญอยู่ แต่นี่เป็นอะไรที่คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และจริงๆก็ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์)

รายงาน "มติชน" ทั้งอันที่ยกมาข้างบนและอันอื่น เคยบอกว่า มีการพยายาม "หาทางออก" ในเรื่องนี้เหมือนกัน (ซึ่งก็เป็นไปตาม "พระสไตล์" ของกษัตริย์ใหม่ - เหมือนกรณีไม่รับตำแหน่งทันทีตามรัฐธรรมนูญและประเพณี - คือทรงทำอะไรตามแบบพระองค์ แล้วโยนเรื่องให้รัฐบาลหาทางออกกันเอาเอง) เช่นมีการเสนอว่า ให้กลับไปแก้ที่ตัว รธน ชั่วคราว 2557 ให้สามารถแก้ร่าง รธน ที่ "ผ่านประชามติ" แล้วได้ เป็นต้น รายงาน "ไทยรัฐ" ข้างต้น ที่กล่าวถึง สนช "สแตนด์บาย" คงหมายถึงทางเลือกนี้
ประเด็นที่น่าสนใจและผมจะพูดในที่นี้คือ อะไรคือมาตราที่กษัตริย์ใหม่ "มีปัญหา" ถึงกับจะไม่เซ็นและน่าจะเป็น "ปัญหา" อะไร?

ตามที่ "มติชน" รายงาน (และที่ผมได้รับการบอกเล่ามาหลายทาง) คือ "มาตรา ๕"
"มาตรา ๕" นั้น คือ "มาตรา ๗" เดิม ที่พันธมิตรฯใช้อ้างขอ "นายกฯพระราชทาน" ในปี ๒๕๔๙
ทุกคนคงพอคุ้นเคยกับ "มาตรา ๗" เดิม (ดูภาพประกอบ) มาตราดังกล่าวเขียนในลักษณะ "ครอบจักรวาล" ว่า ถ้าไม่มีบทบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ แล้วมีปัญหาอะไรขึ้นมา ให้ตีความไปตาม "ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" โดยไม่มีการอธิบายใดๆว่า อะไรคือ "ประเพณี" ที่ว่า

"มาตรา ๕" ในร่างใหม่ คือการเอาข้อความเดียวกันสั้นๆจากมาตรา ๗ มาเพิ่มเติม ใส่ "กลไก" (mechanism) ว่า ถ้ามีปัญหาที่ไม่มีระบุในตัวบทรัฐธรรมนูญ จะทำอย่างไร มาตรา ๗ เดิมนั้น เป็นการเขียนในเชิง "หลักการ" แบบกว้างๆ ให้ครอบคลุมทุกคนทุกฝ่าย อาจจะเป็นสภา, นายกฯ, ศาล ไปจนถึงกษัตริย์เอง - คงจำกรณีพันธมิตรฯ และที่ในหลวงภูมิพลออกมามีสปีช "ตุลาการภิวัฒน์" โยนเรื่อง-เปิดสวิชให้ "ศาล" เป็นคนแก้ปัญหา ซึ่งมีผลมาจนทุกวันนี้ได้
"มาตรา ๕" ในร่างใหม่ ได้ระบุไว้เลยว่า ถ้ามีปัญหาแต่ไม่มีในตัวบท ให้ประธานศาล รธน เรียกประชุม ประธานศาลฎีกา, ประธานสภาผู้แทน, ประธานวุฒิ, นายกฯ, ผู้นำฝ่ายค้าน, ประธานองค์กรอิสระ มาวินิจฉัย โดยให้มติที่ประชุมถือเป็นเด็ดขาด (ดูภาพประกอบ)
ถ้ากษัตริย์ใหม่ "มีปัญหา" กับมาตรานี้ จะมีปัญหาอะไร?

อันที่จริง irony หรือ "ตลกร้าย" อย่างหนึ่งของกรณีนี้คือ "มาตรา ๕" นั้น เหตุผลเบื้องหลังอย่างหนึ่งของการร่างออกมาเช่นนั้น คือเพื่อสร้างภาพให้กษัตริย์ในลักษณะที่ว่า "ไม่ยุ่ง-อยู่เหนือการเมือง" คือเมื่อเกิดวิกฤติ ก็ให้มี "กลไก" ออกมาแก้ ไม่ต้องให้กษัตริย์ออกหน้ามาแก้เอง มีเพื่อน "นักวิชาการท่านหนึ่ง" เคยเสนอด้วยว่า อีกเหตุผลหนึ่งของการร่างคือ คนร่างประเมินแล้วว่า กษัตริย์องค์ใหม่ คงไม่มีบารมีเท่ากษัตริย์ภูมิพล จึงพยายามสร้าง "ศูนย์กลาง" ใหม่ของการแก้วิกฤติ-รักษาระบอบขึ้นมาแทนที่ โดยยกให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นๆทำแทน - จะว่าไปแล้ว นี่คือการ institutionalize หรือ "ทำให้เป็นสถาบัน" ปรากฏการณ์ "ตุลาภิวัฒน์"

เท่าที่ผมลองประเมินดู (แน่นอน นี่เป็นการคาดการณ์ของผม ยังไม่สามารถยืนยันได้) ถ้ากษัตริย์ใหม่ มีปัญหากับ "มาตรา ๕" นี้จริงๆ ก็คงมาจากกรณีนี้แหละ คือ กษัตริย์ใหม่(และที่ปรึกษา)รู้สึกว่า ถ้าเขียนออกมาแบบนี้ จะเป็นการ "ตัดช่อง" การที่กษัตริย์จะเข้าแทรกแซงการเมืองโดยตรง และลดอำนาจ-บทบาทของกษัตริย์ใหม่ ในการจะแสดงตัวเป็น "ศูนย์กลาง" ของการแก้ไขวิกฤติ-รักษาระบอบ (ในลักษณะที่กษัตริย์ภูมิพล ว่ากันว่าเคยทำมาก่อน เช่นกรณี ๑๔ ตุลา หรือ พฤษภา ๓๕) 

Image may contain: text 

No photo description available.

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar