torsdag 2 februari 2023

ใบตองแห้ง: ปฏิรูปศาล(แบบ)ด่วน

“ปฏิรูปศาล” ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าการอดน้ำอดอาหารของตะวัน-แบม ลงเอยอย่างไร นี่จะเป็นกระแสร้อนแรงยิ่งๆ ขึ้นไป ในไม่กี่ปีข้างหน้า

ศาลต้องเป็นอิสระ นักการเมืองจะมาแทรกแซงไม่ได้ ที่เรียกร้องปฏิรูปศาลนี่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงหรือเปล่า

ระบอบประชาธิปไตยแยกอำนาจ 3 ฝ่าย นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เพื่อตรวจสอบถ่วงคาน ใช่เลย ศาลต้องเป็นอิสระ แต่ไม่ใช่อิสระจนตรวจสอบไม่ได้ และไม่ใช่อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของปวงชน

ระบบศาลทั่วโลกจึงมีทั้งด้านที่เป็นอิสระและด้านที่ยึดโยงประชาชน เช่นอเมริกา ประธานาธิบดีเสนอชื่อผ่านวุฒิสภา แม้มีปัญหาเช่นทรัมป์-รีพับลิกัน ชิงตั้งฝ่ายขวาต้านทำแท้ง แต่ก็มีการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ หรือด่าสนั่นทั้งสังคม (โดยไม่โดนข้อหาหมิ่นศาล)

ยึดโยงประชาชน ในแบบอเมริกาจึงแปลว่าตรวจสอบได้วิจารณ์ได้ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาจากไหน

หันไปดูอังกฤษ ประเทศแม่แบบไทย แต่เดิมให้เนติบัณฑิตยสภา ซึ่งมี 4 แห่ง เสนอชื่อแต่งตั้ง ซึ่งต่างจากเรา 2 ประเด็นคือ หนึ่ง เขามีเนติบัณฑิตยสภา 4 แห่ง เรามีแห่งเดียว ประธานศาลฎีกาเป็นนายกสภา อัยการสูงสุดเป็นรอง ไม่มีความแตกต่างทางหลักคิด สอง เราให้ศาลและอัยการจัดสอบคัดเลือกเอง จากคนจบเนฯ ที่อายุ 25 ขึ้นไป (ใครสอบได้ที่หนึ่ง ถือว่าอาวุโสสูงสุด ถ้าได้ที่หนึ่งตอนอายุ 25 อีก 40 ปีเป็นประธานศาลฎีกา)

อังกฤษปฏิรูปใหญ่เมื่อปี 2548 ตั้งคณะกรรมการอิสระ 15 คนคัดเลือกผู้พิพากษา คัดเลือกไม่ใช่สอบข้อเขียน คัดเลือกจากทนายชื่อเสียงดี มั่นคงในหลักกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ตั้งสำนักงานร้องทุกข์ศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นอิสระจากศาล รับเรื่องร้องเรียนผู้พิพากษา

เท่านั้นไม่พอ อังกฤษยังตั้งผู้ตรวจการ มารับเรื่องร้องเรียน 2 หน่วยงานข้างต้นอีกที ว่าคัดเลือกผู้พิพากษามีเส้นสายหรือไม่ ลูกใครหรือเปล่า ส่วนที่สอบสวนผู้พิพากษา กลั่นแกล้งกันไหม

นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ปูชนียบุคคลของตุลาการ เขียนบทความ “การปรับปรุงศาลยุติธรรม” ไว้ตั้งแต่ปี 2551 ไม่ยักมีใครเอามาใช้

พูดง่ายๆ ว่าในแง่หลักคิด ปรัชญาประชาธิปไตยถือว่าศาลไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้พิพากษาก็เป็นมนุษย์ มีรักโลภโกรธหลง โมหะโทสะ อคติบังตาได้ แม้ต้องให้อิสระ แต่ก็ต้องตรวจสอบเข้มข้นหลายชั้น และต้องวิจารณ์ได้

การปฏิรูปศาลไทยเป็นเรื่องใหญ่มโหฬาร เพราะมีปัญหาทั้งทัศนคติต่อศาล ทัศนคติผู้พิพากษา ต้องรื้อระบบที่ไม่เคยถูกตรวจสอบเลยตั้งแต่ก่อตั้ง แม้กระทั่งหลัง 2475 ปัจจุบันยังมีองค์กรอิสระ “อำนาจที่สี่” ที่เอาความผิด “เชื่อได้ว่า” มาให้ศาลคัดสิน หรือเอาผู้พิพากษาไปนั่งเป็นองค์กรอิสระ

การปฏิรูปศาลในทางหลักการจึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งยากมาก ยากกว่าเอา 250 ส.ว.ออกไปเสียอีก ผู้พิพากษาจะคัดค้าน นักการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าแตะ สังคมไทยก็กลัวศาล พร้อมกับไม่ไว้วางใจนักการเมือง

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะปฏิรูปศาล “ฉบับด่วน” ทำทีละขั้น ก็พอมีแนวทางคือแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับศาลให้กลับไปเหมือนยุคหลังรัฐธรรมนูญ 2540 

กฎหมายศาลที่ถูกแก้ไขในประเด็นสำคัญ หลังรัฐประหาร 2549 คือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม 2543 กับ พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลยุติธรรม 2543

ฉบับแรก กำหนดให้คณะกรรมการตุลาการ ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการแต่งตั้งโยกย้ายลงโทษวินัย มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษาแต่ละชั้นศาล ศาลละ 4 คน มาจากผู้ที่วุฒิสภา (ซึ่งตอนนั้นมาจากเลือกตั้ง) คัดเลือก 2 คน และประธานศาลฎีกาเป็นประธาน รวม 15 คน

แต่หลังรัฐประหาร 49 มีการแก้ไขให้ ก.ต. มาจากศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน ศาลชั้นต้น 2 คน ต่อมาหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ให้ ก.ต.คนนอก 2 คน มาจากการเลือกของผู้พิพากษาทั่วประเทศ

พ.ร.บ.ปี 2543 ให้อธิบดีศาลชั้นต้นมาจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้น แล้วค่อยเลื่อนไปเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่หลังรัฐประหาร 49 ตุลาการที่เข้าร่วมรัฐประหารดิสเครดิต “ผู้พิพากษาเด็ก” แก้กฎหมายให้ตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาลงมาเป็นผู้บริหารศาลชั้นต้นได้ พร้อมกับขยายอายุเกษียณจาก 60 เป็น 70 (ตอนหลังกลับไป 65)

ส่วนการแก้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ก็คือหนึ่งในสาเหตุกดดันให้ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ฆ่าตัวตาย เพราะแก้ไขให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ อธิบดีศาล มีอำนาจตรวจสำนวนคดีแล้วทำความเห็นแย้ง ซึ่งไปกดดันอิสระผู้พิพากษา

ย้ำอีกที 3 ประเด็นที่เชื่อว่าผู้พิพากษาจำนวนมากก็อยากเห็น โดยเฉพาะผู้พิพากษารุ่นใหม่ในศาลชั้นต้น คือหนึ่ง แก้ไขให้ ก.ต.กลับไปมีศาลละ 4 คนเท่ากัน ประเด็นนี้เคยมีข่าวผู้พิพากษาเข้าชื่อร่วมสองพันคน แต่คงถูกปรามจนเงียบไป 

สอง ให้ผู้บริหารศาลมาจากผู้พิพากษาในศาลชั้นเดียวกัน และสาม ให้ผู้พิพากษามีอิสระแท้จริง  โละอำนาจตรวจสำนวน ทั้งสองประเด็นนี้จะทำให้ผู้พิพากษาตัดสินคดีอย่างมีอิสระ ไม่ถูกกดดัน

นี่ไม่ใช่เลือกข้าง ผู้พิพากษารุ่นใหม่อาจจะเป่าปรี๊ดๆ ไม่ให้ประกันผู้ต้องขังทางการเมืองก็ได้ แต่ให้เขามีอิสระในการตัดสินใจ ให้เจ้าของสำนวนรับผิดชอบ แล้วไปวัดใจกัน

นี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง เพราะเป็นเรื่องอำนวยความยุติธรรมกับทุกคน ทำให้ในศาลเองมีประชาธิปไตย มีความเสมอภาคเท่าเทียม ในเบื้องต้น

ซี่งถ้าจะแก้กฎหมาย ลองทำโพลหรือซาวเสียงผู้พิพากษาก่อน เผลอๆ เห็นด้วยล้นหลาม

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar