ผอ.บีบีซีเวิลด์ ตอบกรณี ‘ไผ่ ดาวดิน’ การแชร์เป็นสิทธิในการเผยแพร่ข่าวสาร
ฟรานเชสกา อันส์เวิร์ธ (ขวา)
ผอ.บีบีซีเวิลด์ ตอบกรณี ‘ไผ่ ดาวดิน’ การแชร์เป็นสิทธิในการเผยแพร่ข่าวสาร
Thu, 2017-03-30 16:26
ที่มา ประชาไท
ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลกเผย รัฐบาลทั่วโลกกำลังหาช่องทางควบคุมสื่อเพื่อจัดการข้อมูลก่อนส่งถึงประชาชน ส่วนสื่อต้องมุ่งมั่นที่จะรายงานข้อเท็จจริงอย่างยุติธรรมและซื่อสัตย์ ตั้งใจรักษาเสรีภาพเพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นกลางให้โลกได้รับรู้ พร้อมตอบกรณีไผ่ ดาวดิน การกดแชร์เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนรับรู้ข่าวสาร เป็นสิทธิที่ทุกคนควรมี
29 มี.ค. 2560 ฟรานเชสกา อันส์เวิร์ธ ผู้อำนวยการบีบีซีภาคบริการโลก และรองผู้อำนวยการฝ่ายข่าว บรรยายเรื่อง เสรีภาพสื่อในยามที่โลกอำนาจนิยมเบ่งบาน ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ชั้น 2 ห้อง 205 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยชี้ว่า ความสัมพันธ์ของบีบีซีกับนักการเมือง ไม่ต่างกับการชักเย่อ ที่แต่ละฝ่ายควรจะต้องดึง ซึ่งความเป็นจริงก็เป็นกระบวนการตามหลักการประชาธิปไตย เพราะเป็นการทดสอบผู้ที่อยู่ในอำนาจ สื่อสามารถถูกตรวจสอบได้ หากสื่อมีอำนาจมากเกินไปจะส่งผลกระทบ สร้างความเสียหายต่อระบบการเมือง หากอ่อนแอเกินไปจะเสี่ยงต่อการถูกดึงไปทางใดทางหนึ่ง เสี่ยงต่อการสูญเสียเสรีภาพของสื่อ
ฟรานเชสกา เล่าจากประสบการณ์ในช่วงการรณรงค์ทำประชามติ กรณีสหราชอาณาจักรต้องการออกจากสหภาพยุโรป (EU) ว่า บีบีซีต้องสู้กับการปล่อยข่าวจากทั้งสองฝั่ง ที่พยายามอยากแก้ไขข่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายตนเอง ทั้งนี้เอง บีบีซีได้รับการยอมรับจากนักการเมืองว่าเป็นอิสระ และเราต้องคงความอิสระนั้นไว้ การทำประชามติครั้งนั้นเตือนให้เรารู้ว่าเส้นแบ่งระหว่างการตรวจสอบอย่างเหมาะสมและการแทรกแซงสื่อเป็นสิ่งที่เราต้องหวงแหน
ฟรานเชสกา เล่าต่อว่า ในการรักษาสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สื่อต้องมีความรับผิดชอบ รู้ถึงจุดกึ่งกลางระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสุดโต่งพร้อมผลกระทบที่จะตามมา ในกรณีประเทศไทยมีกฎหมายมาตรา 112 เพื่อปกป้องราชวงศ์ ตอนนั้นบีบีซีเกือบตกที่นั่งลำบากจากการนำเสนอบทความประวัติของในหลวงรัชกาลใหม่ลงสื่อออนไลน์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาที่ออฟฟิศบีบีซีกรุงเทพ ทำให้เนื้อหาที่นำเสนอถูกบล็อค แต่ความเป็นจริงแล้วบทความดังกล่าวเขียนขึ้นและตีพิมพ์ที่สำนักงานใหญ่บีบีซีที่ลอนดอน ซึ่งพนักงานในประเทศไทยต่างไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทความนั้น
ทั้งนี้ภายในห้องบรรยาย ได้มีผู้ตั้งคำถามถึงกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือไผ่ ดาวดินที่ถูกดำเนินคดี 112 หลังแชร์พระราชประวัติในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่บีบีซีนำเสนอ ฟรานเชสกา ตอบว่าบีบีซีเชื่อในหลักการสิทธิที่จะเผยแพร่ (The Right to Share) การกดแชร์เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนรับรู้ข่าวสาร เป็นสิทธิที่ทุกคนควรมี บีบีซีไม่มีเจตนาจะทำให้เกิดความไม่พอใจ และไม่ได้มาที่นี่เพื่อละเมิดกฎหมาย แต่เป็นการทำงานตามกรอบมาตรฐานของกองบรรณาธิการ
“ดิฉันไม่อยากจะพูดถึงประเด็นเก่าๆ ระหว่างเรา เราอยากมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย เราไม่อยากทำให้ประเทศไทยไม่พอใจ รวมถึงราชวงศ์ แต่บีบีซียืนยันในบทความดังกล่าวและเชื่อมั่นว่ามันตรงกับหลักการบรรณาธิการของบีบีซี และมันเลี่ยงไม่ได้ จะเป็นการดีด้วยซ้ำที่ในประเทศใดก็ตาม นักการเมืองและสื่อมวลชนจะเห็นไม่ตรงกันตลอด” ฟรานเชสกา กล่าว
ฟรานเชสกา เล่าต่อว่า ตอนนี้คำถามสำหรับสื่อและนักการเมืองคือ ใครเป็นผู้จำกัดเสรีภาพและเราควรถูกตัดสินอย่างไร ใครคือผู้กำกับดูแล และกฎกติกาในการกำกับดูแลคืออะไร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณว่าอยู่ส่วนไหนของโลก วัฒนธรรมของประเทศนั้นเป็นอย่างไร มุมมองด้านประชาธิปไตยและบทบาทของสื่อในระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยและเสรีภาพสื่อไม่สามารถเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน บางทีอาจไม่เกิดขึ้นเลย และจำเป็นต้องใช้เวลา
ฟรานเชสกา ระบุด้วยว่า ค่อนข้างเป็นกังวลสำหรับการคุกคามสื่อจากรัฐบาลบางประเทศ ตามรายงานขององค์กรสื่อไร้พรมแดน นักข่าวหลายร้อยคนถูกจำคุกในประเทศตุรกี หลังล้มเหลวในการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกรกฎาคม และนักข่าวอีกหลายร้อยคนถูกขังในประเทศจีน, 27 คนในประเทศอียิปต์, 24 คนในประเทศอิหร่าน รัฐบาลฮังการีจัดตั้งองค์กรสื่อจากฝ่ายการเมืองมีอำนาจในการเซ็นเซอร์การรายงานข่าว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กีดกันไม่ให้สื่อหลายสำนักเข้าฟังการแถลงข่าวของทำเนียบขาวและเลือกเฉพาะสื่อบางสำนักในการเข้าทำเนียบขาวเท่านั้น
“ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ รัฐบาลทั่วโลก กำลังหาทางควบคุมสื่อ หรือใช้อำนาจควบคุมข่าวสารที่จะส่งต่อถึงประชาชน ในบางครั้งยิ่งเราพูดถึงเสรีภาพสื่อมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งฟังดูว่างเปล่ามากเท่านั้น” ฟรานเชสกา กล่าว
(จากไทยอีนิวส์ )
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar