söndag 23 juli 2017

กษัตริย์แชมป์ลูกดกอันดับที่ ๒ ของประเทศ ในรอบ ๒๐๐ ปี


พอถึงปี ๒๔๑๑ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์แชมป์ลูกดกอันดับที่ ๒ ของประเทศ ในรอบ ๒๐๐ ปี ก็สืบราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๕ เองเป็นกษัตริย์ขณะที่เยาว์วัยอยู่ อำนาจทั้งปวงจึงตกอยู่ในมือขุนนางเก่า ภายหลังจึงพยายามรวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่ตนเอง ด้วยการดึงเอาอำนาจในการเก็บภาษีอากร มาไว้ที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ซึ่งพระองค์เป็นผู้ควบคุมอยู่ นอกจากนี้ยังพยายามสร้างทางรถไฟ เพื่อให้สามารถส่งกองทัพไปควบคุมขุนนางตามข้างเมืองและรวบอำนาจในการเก็บภาษีอากรตามข้างเมืองมาไว้ในมือของตนเอง ก่อนนั้นขุนนางตามข้างเมืองส่งภาษีให้กษัตริย์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งกษัตริย์ก็มิรู้จะทำอย่างไร เพราะการคมนาคมไม่สะดวก แต่หลังจากที่จุลจอมเกล้าสร้างทางรถไฟและลิดรอนอำนาจของขุนนางเก่าแล้ว ก็มีภาษีอากรหลั่งไหลเข้าท้องพระคลังมากมายกว่าเดิม
นโยบายดังกล่าวถูกต่อต้านจากขุนนางเก่ามาก โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในกรุงเทพฯ รวมทั้งกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ วังหน้าในสมัยนั้นด้วย เพราะก่อนหน้านั้นอำนาจในการเรียกเก็บภาษีอากร กระจายอยู่ตามกรมกองต่างๆ โดยขุนนางและพวกเจ้าที่คุมกรมกองเหล่านั้น จะส่งภาษีอากรให้กษัตริย์ในภายหลัง จึงมีโอกาสแบ่งปันภาษีอากรบางส่วนเป็นอาณาประโยชน์ส่วนตน ทำให้กษัตริย์สูญเสียผลประโยชน์ไปปีละไม่น้อย การที่รัชกาลที่ ๕ ให้หน่วยงานที่ตนกุมได้ เป็นผู้เก็บภาษี ทำให้พระองค์เป็นผู้เดียวที่ได้ประโยชน์จากภาษี ในขณะที่ผู้อื่นต่างสูญเสียผลประโยชน์
การเลิกทาสในปี ๒๔๑๗ และยกเลิกการเกณฑ์แรงงานไพร่ในปี ๒๔๒๑ ซึ่งพวกศักดินาทรงยกย่องว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญยิ่งในการปลดปล่อยปวงชนชาวไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จนรวมหัวกันถวายพระนามว่า “พระปิยมหาราช” นั้น ความจริงพระองค์มิได้มีเจตนาเช่นนั้นเลย เป้าหมายสำคัญเป็นไปเพื่อลดการซ่องสุมไพร่พลของบรรดาขุนนางใหญ่ในกรุงและหัวเมือง โดยเฉพาะขุนนางตระกูลบุนนาค (สมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์) เพราะเกรงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยที่พวกขุนนางจะหนุนเจ้าศักดินาอื่นขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพระองค์
ในช่วงนั้นทั้งเจ้าศักดินาและขุนนาง พากันไม่พอใจรัชกาลที่ ๕ อย่างมาก ที่ริดรอนอำนาจการปกครองและการเก็บภาษี ในที่สุดความขัดแย้งระหว่างพวกศักดินาก็ถึงจุดสูงสุด เมื่อรัชกาลที่ ๕ ลิดรอนอำนาจในการเก็บภาษีของวังหน้า และตัดทอนผลประโยชน์ที่วังหน้าเคยได้รับ พระองค์ก็ไม่ยอมส่งให้อีกต่อไป จนกระทั่งวังหน้าได้ยินข่าวลือว่าวังหลวงจะทำร้ายตน จึงหนีไปอยู่ใต้ร่มธงอังกฤษ โดยมีกงสุลนอกซ์เป็นผู้คุ้มครอง(๑)
การนิเอ กงสุลฝรั่งเศสขณะนั้น บันทึกว่า รัชกาลที่ ๕ ต้องการรวบอำนาจมาอยู่ในมือตัวเอง จึงวางแผนที่จะจับวังหน้า โดยแสร้งก่อไฟไหม้วังหลวง ซึ่งตามระเบียบแล้ววังหน้าต้องคุมทหารมาช่วยดับไฟจะได้หาว่าวังหน้าเป็นกบถ และยึดตัวไว้ให้สละตำแหน่ง ถ้าไม่ยอมจะสำเร็จโทษ แผนการที่ ๒ คือ พระองค์เตรียมให้เจ้าฟ้ามหามาลาไปบอกวังหน้าว่า วังหลวงจะไปเยี่ยม ให้วังหน้าขนทหารไปจากวัง แล้วพระองค์ก็จะนำทหารไปจับวังหน้า แต่ในที่สุดใช้วิธีแรก คือทำให้เกิดไฟไหม้ในวังหลวง แต่บังเอิญวังหน้าไม่ยอมไปช่วยดับไฟ เพราะเป็นรูมาติซั่ม รัชกาลที่ ๕ จึงถือโอกาสกล่าวหาว่าวังหน้า มีแผนการจะยึดวังหลวงและเอาปืนใหญ่หันไปทางวังหน้า โดยล้อมวังหน้าไว้ทุกด้าน ทางแม่น้ำก็มีเรือปืนเฝ้าไว้ ถึงกระนั้นวังหน้าก็ลงเรือหนีออกไปได้พร้อมกับครอบครัวในตอนกลางคืน(๒)
เมื่อรัชกาลที่ ๕ เห็นวังหน้าหนีไปอยู่กับอังกฤษ ก็ขอให้ข้าหลวงอังกฤษที่สิงคโปร์ไกล่เกลี่ยนโยบายที่เสี่ยงภัยของพวกศักดินา ในการชักเอาไทยต่างด้าวท้าวต่างแดนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการแย่งผลประโยชน์ประดุจเด็กอมมือ ทำให้อธิปไตยของไทยแขวนอยู่บนเส้นด้าย ฝรั่งเศสและอังกฤษส่งเรือรบของตนเข้ามาที่กรุงเทพ อ้างว่าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกตน นอกจากนี้ถึงกับมีการพูดกันระหว่างกงสุลอังกฤษและฝรั่งเศสว่า ควรแก้ปัญหาด้วยการแบ่งไทยเป็นสามส่วน ให้รัชกาลวังหน้าและสมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ปกครองกันคนละส่วน(๓) อันจะเป็นผลให้อังกฤษและฝรั่งเศสสามารถแทรกแซงประเทศเราได้สะดวกยิ่งขึ้นในเวลาต่อไป แต่เป็นคราวเคราะห์ดีที่ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่สิงคโปร์ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าถ้าทำเช่นนั้น ฝรั่งเศสจะได้ภาคตะวันออกของไทย ส่วนอังกฤษได้เพียงฝั่งตะวันตก ซึ่งทำเลค้าขายสู้อีกฝั่งหนึ่งไม่ได้ ซ้ำจะทำให้การค้าของอังกฤษซึ่งครอบงำไทยได้อยู่แล้วต้องเสียหายไปอีก(๔) จึงตกลงใจเข้าข้างรัชกาลที่ ๕ บีบบังคับให้วังหน้า ต้องออกจากกงสุลอังกฤษ กลับวังด้วยความคับแค้นใจ
นโยบายที่ละโมบของรัชกาลที่ ๕ ทำให้ส่วนพระองค์ได้รับรายได้จากภาษีอากรมากกว่าเดิมมากมาย ภาษีอากรที่ได้เพิ่มขึ้นนี้ถูกพระองค์นำไปใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุลและหม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล เล่าว่า วังหลวงสมัยนั้นมีแต่ความฟุ่มเฟือย พวกเจ้ามีชีวิตที่เหลวไหล อยู่ท่ามกลางงานสังสรรค์ และการแต่งแฟนซี หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล เล่าว่า “...ในสมัยนั้นโปรดการแต่งแฟนซีมาก มักจะมีเสมอ เมื่อเลี้ยงที่สวนศิวาลัย...”(๕) หม่อมเจ้าพูนพิสมัย ดิศกุล ก็เล่าว่า “...มักจะมีงานสนุกๆเสมอ...”(๖) “...เจ้านายฝ่ายในทรงมีเวลาว่างมาก ก็เสด็จไปเยี่ยมเยียนกันตามตำหนัก บางทีก็เสวยด้วยกันบ้าง กระนั้นพอเย็นลง ทุกคนก็แต่งตัวสวยๆออกเดินกันเต็มถนนในวัง...”(๗)
โดยเฉพาะรัชกาลที่ ๕ นั้น “....คิดทำอะไรให้แปลกๆและสนุกอยู่เสมอ เช่น งานปีใหม่ งานขึ้นพระที่นั่ง ขึ้นพระตำหนัก แม้ต้นพะยอมที่ทรงปลูกออกดอก ก็จะมีการออกร้าน ของกิน เฉลิมฉลองกันอยู่ใต้ต้นพะยอมนั้น”(๘) ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ไร้สาระมาก ที่จัดงานเลี้ยงพร่ำเพรื่อ ขนาดต้นพะยอมออกดอกก็เฉลิมฉลองกัน
หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล เล่าต่อไปว่า “ข้าพเจ้าจำได้ชัดเจนดี การแต่งแฟนซีปีใหม่ มีเจ้านายทรงแต่งเป็นพระยาวอก องค์หนึ่งถึงวันพระยาระกาจะมา มีการเสด็จออกรับรองกันสนุก ทั้งสองฝ่ายตกแต่งเป็นไทยโบราณรับรองกัน สนุกทั้งสองฝ่าย มีบริวารตกแต่งเป็นไทยโบราณด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เดินกระบวนแห่ มาพบกันที่พระที่นั่งอัมพรสถาน” (๙)
น่าสังเกตว่าในรัชกาลนี้เองที่มีการสร้างปราสาทราชวัง เปลืองเงินทองของประเทศ เพื่อใช้ประดับเกียรติยศของกษัตริย์มากที่สุด พระที่นั่งจักรีแบบวิกตอเรียขนาดใหญ่ ยอดปราสาทไทยก็ดี พระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเป็นหินอ่อนอิตาลีทั้งหลังก็ดี ล้วนสร้างขึ้นในรัชกาลนี้ทั้งสิ้น
ส่วนบุคคลอื่นที่ใกล้ชิดกับรัชกาลที่ ๕ นั้น ก็นำเอาภาษีอากรของประชาชนมาบำรุงบำเรอความสุขของตนเช่นกัน ดูพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มเหสีของรัชกาลที่ ๕ เอาเถิด ซึ่งมิได้ทำคุณประโยชน์อันใดแก่แผ่นดินเลย กลับมีเงินทองใช้สอยสุรุ่ยสุร่าย บนความทุกข์ยากของประชาชนส่วนใหญ่ คุณอุทุมพร วีระไวทยะ (นางอมร คุรุณารักษ์ อ. สุนทรเวช) ข้าราชสำนักของพระศรีพัชรินทราฯ เล่าว่า ราชินีองค์นี้สนใจสะสมเครื่องเพชรและ “ลงโปรดแล้ว ก็ทรงศึกษาหาความรู้ พร้อมทั้งเต็มพระทัย จับจ่ายซื้อหาเท่าที่ทรงเห็นสมควร โดยไม่ลังเล” (๑๐) ฉะนั้นจึงเป็นที่เล่าลือทั่วไปว่า “ไม่เคยมีสมเด็จพระอัครมเหสี-เทวีพระองค์ไหน ในรัชกาลใดๆ แห่งราชวงศ์จักรี ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จะได้ทรงเป็นเจ้าของเครื่องราชอาภรณ์ ที่เป็นเพชรนิลจินดาค่าควรเมืองที่งดงามหลากสี หลายตระกูล ขนาดต่างๆ นานาชนิดเหมือนกับของสมเด็จ จนอาจจะกล่าวได้ว่า กระบวนเครื่องอาภรณ์ เพชรพลอย ที่เป็นอัญมณีชั้นยอด เท่าที่จะมีอยู่ในประเทศแถบตะวันออกนี้แล้ว เป็นอันไม่มีของใครจะงดงามเท่า หรือ สะสมไว้มากเท่าเทียม แม้แต่ครึ่งหนึ่งของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถแห่งกรุงสยาม” (๑๑) เครื่องเพชรค่าควรเมืองชุดใหญ่เป็นพิเศษเหล่านี้ ประกอบด้วยชุดเพชรรูปกลมเม็ดใหญ่ ๒ ชุด ชุดเพชรรูปหยดน้ำ ชุดทับทิมล้อมเพชร มรกตล้อมเพชร นิลสีน้ำเงินแก่ล้อมเพชร กล่าวกันว่านิลเม็ดใหญ่เม็ดเดียวก็มีค่านับล้าน(๑๒) นอกจากนี้ยังมีไข่มุกตั้งแต่สั้นจนยาวถึงสะเอวไม่ต่ำกว่าพันเม็ดต่างสีและต่างขนาดกัน เม็ดที่มีค่ามากที่สุดนั้นสีเหลืองน้ำผึ้ง ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ซื้อมาจากยุโรป ด้วยมูลค่าที่จุลจอมเกล้าเองก็ออกปากว่า “ราคาแพงเต็มที” (๑๓)
หลังปี ๒๔๗๕ ได้มีผู้พยายามนำเอาเครื่องเพชรเหล่านี้มาเก็บไว้เป็นของแผ่นดิน หรือทำให้กลายเป็นสมบัติของประชาชนทั้งชาติ แต่ถูกพวกศักดินาคัดค้านอย่างหนัก จนถึงรัชกาลที่ ๙ พวกศักดินาที่เป็นทายาทของสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ จึงได้รับการจัดสรรปันส่วนทรัพย์สมบัติเหล่านี้ไปจนหมดสิ้น(๑๔)
การที่บรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามของรัชกาลที่ ๕ ได้รับผลประโยชน์จากพระองค์แตกต่างกันไปตามความพอใจของพระองค์นั้นทำให้ หลานเจ้าจอมของพระองค์ทะเลาะเบาะแว้ง แบ่งแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่าเพราะต่างก็อิจฉาริษยา และแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันอย่างหนัก เช่น เจ้าจอมหม่อมห้ามที่ขึ้นอยู่กับพระศรีพัชรินทรฯ มีเจ้าจอมมรว.แป้น มาลากุล, เจ้าจอมมรว.แป้ม มาลากุล, เจ้าจอมมรว.แป้ง มาลากุล, เจ้าจอมเลื่อน, เจ้าจอมชุ่ม, เจ้าจอมแส, เจ้าจอมอ้นและเจ้าจอมศรีพรหมา ส่วนเจ้าจอมที่สังกัดกับเจ้าจอมมารดาแพพระสนมเอกมี เจ้าจอมก๊ก อ. ๕ คน พี่น้องตระกูลบุนนาค คือ เจ้าจอมอ่อน, เจ้าจอมเอี่ยม, เจ้าจอมเอิบ, เจ้าจอมอาบและเจ้าจอมเอื้อม สำหรับเจ้าจอมที่ขึ้นกับพระนางเจ้าสว่างวัฒนาบรมราชเทวีนั้นมี เจ้าจอมมรว.เนื่อง สนิทวงศ์, เจ้าจอมมรว.ข้อ สนิทวงศ์, เจ้าจอมพร้อมและเจ้าจอมเรียม เป็นต้น(๑๕)
การที่เจ้าจอมหม่อมห้ามทั้งหลายแตกเป็นก๊กเป็นเหล่าเช่นนี้ ทำให้แต่ละก๊กต่างก็วิวาทบาดหมางกัน ไม่ผิดพวก “ไพร่” ที่พวก “ผู้ดี” ทั้งหลายเหยียดหยามว่าต่ำทราม หมื่นพิทยาลาภเล่าไว้ในงานชื่อคุณท้าววรจันทร์ ในหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์ของท่านว่า บางครั้งความกินแหนงแคลงใจระหว่างนางในราชสำนักก๊กต่างๆ ทำให้คู่ขัดแย้งแต่ละข้างถึงกับยกพวกเข้าตบตีกันเป็นโกลาหล โดยมิได้เกรงพระราชอาญา
ขณะที่รัชกาลที่ ๕ และเหล่าราชนิกุลเสพย์สุขอยู่ในวัง และทะเลาะเบาะแว้งไร้สาระนั้น ประชาชนส่วนใหญ่กลับมีสภาพยากจน อดมื้อกินมื้อ ต่างไปจากพวกผู้ดีอย่างฟ้ากับดิน
พระสุริยานุวัติ เล่าในหนังสือทรัพย์ศาสตร์ ให้เห็นถึงชีวิตของชาวไร่ชาวนา คนกว่า ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ของประเทศในเวลานั้นว่า “ราษฎร์ที่ยากจนขัดสนด้วยทุน ต้องออกแรงทำงานแต่ลำพังด้วยความยากลำบากเพียงใด ย่อมจะเห็นปากฎอยู่ทั่วไปแล้ว ในเวลาที่ทำนาอยู่ เสบียงอาหารและผ้านุ่งห่มไม่พอ ก็ต้องซื้อเขาโดยเสียราคาแพง หรือถ้ากู้เขาไปซื้อก็ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างแพงเหมือนกัน เมื่อเกี่ยวข้าวได้ผลแล้ว ไม่มีกำลังและพาหนะพอจะขนไปจากลานนวดข้าว หรือไม่มียุ้งฉางสำหรับเก็บข้าวไว้ขาย เมื่อเวลาข้าวในตลาดจะขึ้นราคา ก็จำเป็นต้องขายข้าวเสียแต่เมื่ออยู่ในลานนั้นเอา จะให้ราคาต่ำสักเท่าใด ก็จำใจขาย มิฉะนั้นจะไม่มีเงินใช้หนี้เขาทันตามกำหนดสัญญา ต้องเสียเปรียบเพราะมีทุนน้อยเช่นนี้.....แรงที่ได้ออกไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยและทรมานกาย อุตส่าห์ตากแดดฝนทนลำบากเป็นหนักหนานั้น ก็ไม่ทำให้เกิดเป็นผลทรัพย์ของตัวเองได้ เท่ากับออกแรงทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นฝ่ายเดียวเป็นแท้ ดูเป็นน่าสมเพชนัก....”
ในขณะที่ประชาชนทุกข์ยากถึงเพียงนี้ รัชกาลที่ ๕ กลับมิได้เหลียวแลเลย จนพระยาสุริยานุวัตรอดีตเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ อดไม่ได้ที่จะวิจารณ์ว่า “พระเจ้าแผ่นดินไม่ต้องทำอะไร เพราะไม่มีความกังวลในศึกสงคราม ก็มีแต่จะแสวงหาความสุข แบ่งปันเอาเงิน ผลประโยชน์แผ่นดินไปใช้เป็นส่วนพระองค์...” (๑๖) ซ้ำยังวิจารณ์อีกว่า “....รายได้ของแผ่นดินต้องเสียไปสำหรับพระมหากษัตริย์มากมายดังกล่าวแล้ว รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาใช้บำรุงความเจริญของบ้านเมืองได้ตามความปรารถนาของราษฎร ขาดการศึกษา การอนามัย และขาดความสงเคราะห์ทุกอย่างแก่การกสิกรรม อุตสาหกรรม พานิชยกรรม เป็นต้น ถ้าท่านไม่เอาเงินแผ่นดินไปใช้เสียมากมายเช่นนั้น ฐานะของพลเมืองคงจะดีกว่าทุกวันนี้เป็นอันมาก....” (๑๗)
การที่พระยาสุริยานุวัตรว่ามานี้เป็นความจริงทุกประการ สมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น ราชสำนักซึ่งประกอบด้วยกษัตริย์และเจ้าจอมหม่อมห้ามหยิบมือเดียว ได้รับงบประมาณถึง ๑/๗ ของรายจ่ายของรัฐ ในขณะที่ประชาชนหลายล้านต้องเสียภาษีอากร เป็นรายได้ทั้งหมดของแผ่นดิน แต่กลับได้รับการจัดสรรรายจ่ายของรัฐตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น รถไฟ ถนน เขื่อน และการศึกษาเพียง ๑/๖ ของรายจ่ายแผ่นดิน ซึ่งมีจำนวนพอๆกับรายจ่ายสำหรับกษัตริย์เพียงคนเดียว(๑๘)
ภายใต้ภาวะเช่นนี้ ชาวไร่ ชาวนา คนส่วนใหญ่ของประเทศถูกศักดินาขูดรีดอย่างหนัก ชาวนาภาคกลางต้องเสียภาษีต่างๆ ดอกเบี้ยและค่าเช่า รวมกันถึง ๓/๕ ของผลผลิตทั้งหมด(๑๙) ซึ่งกษัตริย์เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่สุด เพราะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากภาษีอากรมากที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าที่ดินใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งขูดรีดเอาค่าเช่าจากชาวนาของเขาถึง ๕๐,๐๐๐ ไร่เป็นอย่างน้อย ส่วนชาวนาในภาคอื่นนั้น แม้ไม่เช่าที่ดินกันมาก แต่ก็ทำกินในที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์ ได้ผลผลิตพอยังชีพเท่านั้น เพราะไม่มีชลประทาน โดยเฉพาะในปีที่มีภัยธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง ชาวนาจะมีข้าวไม่พอกิน จนต้องขายลูกเมียและตนเองลงเป็นทาส(๒๐) การเก็บเกี่ยวที่ไม่ได้ผลในบางปีทำให้คนถึงกับอดตาย เหตุการณ์ที่น่าเศร้านี้ส่วนมากเกิดขึ้นในภาคเหนือและอีสานซึ่งดินไม่อุดมสมบูรณ์(๒๑) ชาวนาอีสานต้องเร่ร่อนไปยังที่ต่างๆเพื่อหาอาหาร และบ่อยครั้งที่ต้องบริโภคกลอยแทนข้าว(๒๒) โดยไม่ได้รับการนำพาจากกษัตริย์เลย
ในปี ๒๔๓๓ และ ๒๔๕๒ ชาวนาที่ขัดสนถึงกับรวมตัวกันยื่นฎีกา ขอกู้เงินหลวงเพื่อนำไปซื้ออาหารรับประทาน แต่รัชกาลที่ ๕ กลับปฏิเสธ(๒๓) ทั้งที่รัชกาลที่ ๕ มักจะยอมปล่อยเงินกู้ให้แก่พ่อค้าจีน(๒๔) เพราะได้ดอกเบี้ยคุ้มเงินที่เสียไป
นี่แหละคือน้ำใจของผู้ที่เจ้าขุนมูลนายยกย่องว่าเป็น “ปิยมหาราช” แต่เดิมนั้นชาวนาไทยยังพออดทนอยู่ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสภาวะกลับเลวร้ายลงทุกที เพราะราคาข้าวเริ่มตกต่ำลง นอกจากนี้การที่รัชกาลที่ ๕ ใช้เงินจำนวนมาก บำรุงบำเรอความสุขของตนเองและเจ้าจอมหม่อมห้าม อันไม่ก่อประโยชน์ให้แก่ประเทศเลย ได้ทำให้เศรษฐกิจโดยส่วนรวมเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ ดังจะเห็นข้อเท็จจริงได้จากการวิจารณ์ของพระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ หลังจากที่รัชกาลที่ ๕ สวรรคตไปแล้วว่า “การค้าขายและการเพาะปลูกในเมืองไทยนั้น ตกต่ำ ทรุดโทรมมาแต่ปลายรัชกาลก่อนแล้ว(คือรัชกาลที่ ๕-ผู้เขียน) ราษฎรได้รับความคับแค้น อับจนต่างๆ
  
 หลักฐานอ้างอิง   
 ๑. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม เรื่องเดิม หน้า ๔๘๖
๒. มล.มานิจ ชุมสาย ประวัติศาสตร์ญวน-ไทย ในเรื่องเขมร-ลาว (รวบรวมจากเอกสารกระทรวงต่างประเทศรัฐบาลฝรั่งเศส) พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางเจิม ชุมสาย ณ อยุธยา วันที่ ๑๘ เม.ย. ๒๕๒๒ หน้า ๖๓-๖๔
๓. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม เรื่องเดิม หน้า ๖๓๔-๖๓๕
๔. เรื่องเดิม หน้า ๖๓๔-๖๓๕
๕. มจ.จงจิตรถนอม ดิศกุล “คำปรารภ” พระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์ (เรื่องเดิม) หน้า ๗๖
๖. มจ.พูนพิสมัย ดิศกุล “ชิงนาง” พระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์ (เรื่องเดิม) หน้า ๘๙
๗. มจ.พูนพิสมัย ดิศกุล “ความสนุกในพระบรมมหาราชวัง” พระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์ (เรื่องเดิม) หน้า ๙๔
๘. เรื่องเดิม หน้า ๙๕
๙. เรื่องเดิม หน้า ๙๕
๑๐. อุทุมพร พระราชประวัติสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ เล่ม ๖ (คุรุสภา,๒๕๑๔) หน้า ๑๓๓
๑๑. เรื่องเดิม หน้า ๑๓๔
๑๒. เรื่องเดิม หน้า ๑๔๑-๑๔๙
๑๓. เรื่องเดิม หน้า ๑๔๐-๑๔๙
๑๔. เรื่องเดิม หน้า ๑๔๕
๑๕. อุทุมพร เรื่องเดิม หน้า ๔๘-๕๑
๑๖. พระยาสุริยานุวัตร เศรษฐวิทยา เล่ม ๓ (พิมพ์ที่ระลึกงานศพ นางกุณฑลี วรศะวิน ๒๕ พ.ค. ๒๕๑๙) หน้า ๒
๑๗. เรื่องเดิม หน้า ๒
๑๘. คำนวณจาก Statiscal year book of Kingdom of Siam.1916
๑๙. คำนวณโดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และสุธี ประศาสน์เศรฐ “ระบบเศรษฐกิจไทย” ๑๘๕๑-๑๙๑๐ (สร้างสรรค์, ๒๕๒๔) หน้า ๑๕๑
๒๐. เอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ต่อไปเรียกกจช.) เลขที่ กษ๓.๑/๑๒ พระยาวงศานุประพัทธิ์ ทูล ร.๕ วันที่ ๑๘ ส.ค. รศ.๑๒๘
๒๑. กจช.เอกสารสมัย ร.๕ เลขที่ ม๒.๒๕/๓ Mr.Henry M.Jones (of the British Legation) To Prince ๑๘๙๒ กจช.เอกสารรัชกาลที่ ๕ เลขที่ ม๒.๒๕/๓๙ กรมดำรง ทูล กรม สมมติ อมรพันธ์ ๒๕ ก.ย. รศ.๑๒๒
๒๒. กจช.เอกสารสมัย ร.๕ เลขที่ ม๒.๒๕/๓๖ และ ม๒.๒๕/๓๕ การโต้ตอบของกรมดำรง กรม สมมติ อมรพันธ์และกรมหมื่นปราจิณกิติบดี รศ.๑๒๒ และรศ.๑๒๖
๒๓. กจช.เอกสาร ร.๕ ก.ย. ๓.๑/๓ ฎีการาษฎร รศ.๑๐๙ และเอกสาร ร.๕ ก.ย. ๓.๑/๑๒ เจ้าพระยาวงศานุประพัทธิ์ ทูล ร.๕รศ.๑๒๘
๒๔. ดู สิริลักษณ์ ศักดิ์เกรียงไกร ต้นกำเนิดชนชั้นนายทุนในประเทศไทย (พ.ศ.๒๓๙๘-๒๔๕๓) (สร้างสรรค์, ๒๕๒๓) หน้า ๕๔
๒๕. กจช.เอกสาร รัชกาลที่ ๖ หมายเลข บ.๑๗/๑๑ พระยาวิสุทธิ์ สุริยศักดิ์ ทูล ร.๖ วันที่ ๔ มี.ค. รศ.๑๓๐

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar