lördag 29 juli 2017

คอลัมน์ :ใบตองแห้ง ยึดเงินยิ่งลักษณ์ได้หริอ?


คอลัมน์ :ใบตองแห้ง
กรมบังคับคดีใช้อำนาจอายัดบัญชีเงินฝากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 16 บัญชี แถมถอนเงินออกจาก 5 บัญชี ไปถือไว้ ถามว่าทำกันอย่างนี้ได้หรือ

ได้สิครับ เป็นอำนาจที่ทำได้ตาม “กฎหมาย” แต่ชอบธรรมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

กระทรวงการคลังใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ออกคำสั่งเรียกค่าสินไหมจากยิ่งลักษณ์ 3.5 หมื่นล้าน ฐานเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้เกิดความเสียหายแก่โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นคนละคดีกับความผิดอาญามาตรา 157 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะตัดสินวันที่ 25 ส.ค.นี้

อธิบายแบบบ้านๆ คือความผิดอาญากับแพ่ง แม้มาจากโครงการรับจำนำข้าวเหมือนกัน แต่แยกเป็น 2 คดี 2 ศาล กระบวนการก็ต่างกัน คดีนี้รัฐบาลเป็นฝ่ายสั่งให้ชดใช้ แล้วยิ่งลักษณ์ต้องไปฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่ง ซึ่งยังต้องสู้กันจนคดีถึงที่สุด ให้ศาลสั่งว่าต้องจ่ายหรือไม่ จ่ายเท่าไหร่

ในระหว่างนี้ ยิ่งลักษณ์ก็ต้องไปขอคำสั่งศาลปกครองทุเลาการบังคับ เพราะกรมบังคับคดีมีอำนาจยึดอายัด ตามที่ ม.44 ให้ใช้อำนาจแทนกระทรวงการคลัง เมื่อศาลยังไม่สั่งทุเลา กรมบังคับคดีก็ยึดบัญชีได้ จะยึดบ้าน ไล่ออกจากบ้าน ยังได้เลย ไม่ผิดตรงไหน เพียงแต่วิษณุ เครืองาม บอกว่ายังไม่ทำเท่านั้นเอง

ในระยะเฉพาะหน้า จึงต้องรอว่าศาลปกครองจะสั่งทุเลาหรือไม่ จากที่ยิ่งลักษณ์ยื่นไปครั้งแรก แล้วศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ให้ยกคำขอ โดยชี้ว่ากระทรวงการคลังยังไม่ได้ใช้มาตรการบังคับ ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค.มีข่าวคลังจะอายัดบัญชี ยิ่งลักษณ์ก็ไปยื่นอีกครั้ง ศาลให้ทั้งสองฝ่ายชี้แจงเพิ่มเติมใน 15 วัน แต่ยังไม่ทันชี้แจง กรมบังคับคดีก็อายัดและถอนเงินไปเสร็จสรรพ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 10 เม.ย. นายภานุพันธ์ ชัยรัต รองอธิบดีศาลปกครองกลาง ตุลาการเสียงข้างน้อย ได้ทำความเห็นแย้งไว้ว่าศาลควรจะสั่งทุเลา โดยชี้ว่าคดีนี้มีการใช้ ม.44 แสดงว่ารัฐประสงค์จะดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ แตกต่างจากกรณีปกติ ขณะที่การประเมินความเสียหายทั้งที่ยังระบายข้าวไม่หมด ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่ยุติ ศาลยังต้องวินิจฉัยค่าเสียหายที่แน่นอน เมื่อรัฐสั่งให้ชดใช้เป็นเงินที่สูงมาก หากปล่อยให้ยึดหรืออายัดทรัพย์ไปก่อน ก็อาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ยากแก่การเยียวยาแก้ไขภายหลัง ทั้งต่อผู้ฟ้องและผู้ที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้อง

“เมื่อการออกคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุการณ์ฟ้องคดีดำเนินการภายใต้สถานการณ์การใช้กำลังยึดอำนาจการปกครองและมีการใช้อำนาจรัฐ ศาลปกครองในฐานะองค์กรตุลาการของรัฐซึ่งมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมทางปกครองต้องตระหนักและให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแทนรัฐ ให้เป็นไปในฐานะรัฐที่ดีตามหลักนิติธรรม เพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจ”

อธิบายแบบบ้านๆ คือการยึดทรัพย์ควรรอให้คดีถึงที่สุด ว่ายิ่งลักษณ์ต้องจ่าย 35,000 ล้าน หรือมากกว่า น้อยกว่า หรือไม่ต้องจ่ายเลย เพราะศาลต้องวินิจฉัยอีกทีว่าความเสียหายจริงๆ เป็นเท่าไหร่ (ที่มีเจ้าของโกดังโวยว่าข้าวดีถูกขายเป็นข้าวเสื่อม นี่จริงไหม ทำไมนักข่าวไปตรวจสอบแล้วถูกทหารด่าไอ้เฮีย ฯลฯ)
ที่สำคัญ ศาลจะวินิจฉัยว่ายิ่งลักษณ์ต้องรับผิดทางละเมิดไหม ซึ่งตามกฎหมายจะต้องรับผิดเมื่อทุจริต จงใจ หรือ “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” ประมาททั่วไปก็ยังไม่ใช่ เช่นข้าราชการขับรถหลวงไปชน ถือเป็นอุบัติเหตุไม่ต้องจ่าย ถ้าเมาแล้วขับจึงต้องชดใช้ ขนาด เริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติสู้ค่าเงินบาท ถูกฟ้อง 186,000 ล้าน ศาลก็เห็นว่าไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ

ฉะนั้นจะเอาเพียงการดำเนินนโยบายแล้วเกิดความเสียหาย มาเรียกค่าชดใช้ไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น เกิดรถไฟจีนเจ๊ง ตกราง ก็โดนเช็กบิลกันวุ่นวาย

แล้วในระหว่างพิจารณาคดี ศาลปกครองจะมีหลักข้อหนึ่งในการสั่งทุเลา คือถ้าปล่อยให้ยึดบ้านยึดที่ดินขายทอดตลาด ยึดบัญชีจนไม่สามารถทำธุรกิจธุรกรรม หากคดีพลิก ศาลสั่งไม่ต้องจ่าย ก็จะ “เกิดความเสียหายจนยากแก่การเยียวยาภายหลัง”

ข้อนี้แม้ศาลยังไม่สั่ง แต่ผู้ทำหน้าที่ก็ควรตระหนัก เพราะการออกคำสั่งทางปกครอง เรียกค่าเสียหายโดยอำนาจบริหาร แม้มีอำนาจ ก็ไม่มีความชอบธรรม และยังไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม

ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะซ้ำเติมความรู้สึกคนไปทำไม

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar