ประทับใจบทกวี เดือนวาด พิมวนา ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ขอสิ่งไม่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย อันได้แก่สามัญชนพลเมือง ผู้เป็นเจ้าของอำนาจ จงดลบันดาลให้ประเทศเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย สู่ระบอบที่มีสิทธิเสรีภาพเต็มใบ
ใช่เลย ประชาธิปไตยไม่เคยเกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เกิดจากชาวบ้านตาดำๆ ที่ใช้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง หนึ่งคนหนึ่ง เสียงเท่าเทียม ไม่ใช่อ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วยกตนเป็นคนดีมี ศีลธรรม สูงกว่าชาวบ้านทั่วไป แต่ตรวจสอบไม่ได้ ป.ป.ช. ไม่ยอม ตรวจสอบ
2562 เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง ปีแห่งการแสดงพลังความต้องการของประชาชน แต่อยู่ภายใต้กติกาไม่เป็นประชาธิปไตย การใช้อำนาจเอาเปรียบ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงยังไม่สามารถนำประเทศสู่ประชาธิปไตย ได้รัฐบาลที่ประชาชนต้องการ หากเป็นเพียงการแสดงพลังต่อต้าน (หรือจะยอมจำนน) การสืบทอดอำนาจรัฐประหาร
เป้าหมายของการเลือกตั้ง จึงต้องเป็นการแสดงพลังเพื่อนำไปสู้การแก้ไขกติกา เช่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ 244 ส.ว. ที่ คสช.แต่งตั้ง + 6 ผบ.เหล่าทัพ มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือมีอำนาจเท่า
ประชาชนครึ่งประเทศ (หรือยุบ ส.ว.แต่งตั้งไปเลยยิ่งดี) แก้ระบบบัตรใบเดียว ต่างเขตต่างเบอร์ ที่ทำให้ประชาชนยุ่งยากเข้าไว้ ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ปิดกั้นพรรคทางเลือก รื้ออำนาจ กกต.ที่สามารถแจกใบส้มใบแดงบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ตลอดจนยุทธศาสตร์พันธนาการชาติ อำนาจรวมศูนย์รัฐราชการ ปฏิรูปกองทัพ กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ
บางอย่างอาจแก้ได้ไม่หมด ก็แก้เฉพาะหน้า เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่ไม่อยู่ใต้ ม.44 นี่คือประเด็นสำคัญ
เป้าหมายประชาธิปไตย จึงไม่ใช่การเลือกรัฐบาล ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้วที่จะเลือกพรรคฝ่ายต้านการสืบทอดอำนาจเกิน 375 เสียง หรือเป็นรัฐบาลได้ก็อยู่ไม่รอด หากต้องแสดงพลัง เลือกให้ได้เกินครึ่งหรือใกล้เคียง เพื่อให้เกิด Dead Lock เกิดพลังที่จะบีบบังคับให้อำนาจอนุรักษ์ต้องเจรจาต่อรอง อย่างสันติ แก้กฎกติกากลับสู่ครรลองสอดคล้องความต้องการประชาชน แล้วเลือกตั้งกันใหม่
เป้าหมายนี้ไม่ง่าย นอกจากต้องต่อสู้กับอำนาจเอาเปรียบ “เงินหมา” หรือมาเฟียที่ถูกดูดไปสวามิภักดิ์ ยังต้องต่อสู้กับ “วัฒนธรรมอ่อนละมุน” ของสังคมไทย ที่หยวนยอมง่าย เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า โดยเฉพาะกลุ่มทุนธุรกิจ ที่หวังว่าหลังเลือกตั้งจะมีรัฐบาลใหม่ เข้มแข็ง เดินหน้า ต่อให้เป็นคนหน้าเดิมก็ดีใจ ขอให้มีเลือกตั้งเป็นพิธีเพื่อต่างชาติยอมรับ จะได้ตักตวงต่อไป
นอกจากนี้ ผู้รักประชาธิปไตย ยังต้องต่อสู้กับพรรคอีแอบทั้งหลาย ที่อ้างกระจายอำนาจ อ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. แต่หลังเลือกตั้งก็มีแนวโน้มจะกลืนน้ำลาย ร่วมรัฐบาลสืบทอดอำนาจได้อย่างหน้าไม่อาย
แต่ไม่ว่าผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไร ต่อให้สืบทอดอำนาจได้ รัฐบาลคนหน้าเดิมก็จะไม่สามารถครองอำนาจได้ยาวนาน ท่ามกลางความเสื่อมทรุดทั้งตัวบุคคล และระบอบอำนาจ
ผลการเลือกตั้งมีโอกาสที่จะเกิดได้หลายทาง
หนึ่ง พรรคต่อต้านการสืบทอดอำนาจได้เกิน 250 เสียง แสดงพลังประชาชนเลือกข้างท่วมท้น
สอง พรรคสืบทอดอำนาจได้ไม่ถึง 126 เจรจาพรรคใดก็ส่ายหน้า ไม่อยากถูกกระแสสังคมประณาม
สาม พรรคสืบทอดอำนาจได้เกิน 126 ตั้งนายกฯ ได้ แต่ไม่สามารถรวบรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ต้องตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย อยู่เฉพาะกาล (หรือจะฉวยโอกาสที่ยังมี ม.44 ใช้อำนาจตามอำเภอใจ นั่นยิ่งทำให้ประเทศวุ่นวาย)
สี่ พรรคสืบทอดอำนาจจูบปากพรรคอีแอบ ตั้งรัฐบาลได้ คุยฟุ้งว่าประชาชนรัก กลับมาในวิถีประชาธิปไตย แต่หลังจากนั้นก็จะได้รู้จักของจริง เศรษฐกิจปีนี้ไม่ใช่ปีทอง ส่งออกท่องเที่ยวลดลง งบผูกพันที่สร้างไว้ 5 ปีบานเบอะ ใครมาเป็นรัฐบาลก็ทุกขลาภ ในทางการเมือง ประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องต่างๆ แต่ถูกกดทับไว้ห้าปีเพราะให้ร้องแต่ศูนย์ดำรงธรรม ก็จะโผล่ออกมาทะลักทลาย ผู้นำที่เคยแต่สั่งสอนจะต้องหันมาเอาใจชาวบ้าน เอาใจนักการเมือง เจอการต่อรองผลประโยชน์ทั้งในและนอกพรรค ฯลฯ
ไม่เสื่อมก็เสื่อม เสื่อมอยู่แล้วก็อาการหนัก อย่างเก่งก็อยู่ได้ปีกว่า
ห้า … (จุดจุดจุด) ละไว้เผื่ออะไรก็เกิดขึ้นได้
ภายใต้ทิศทางเหล่านี้ ระบอบอำนาจนี้มีแต่เสื่อม องค์กรอิสระ ส.ว.แต่งตั้ง กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รัฐรวมศูนย์อำนาจราชการ ที่มีทหารเป็นเสาค้ำ เสื่อมเครดิตลงไปทุกวันในสายตาประชาชน ทุกวันนี้ ใครยังเห็น ป.ป.ช.เป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์บ้าง ยกมือขึ้น กกต.ก็แน่ใจนะว่าจะใช้อำนาจเป็น กลาง เมื่อมาจาก สนช.ตั้ง
การแก้รัฐธรรมนูญที่เคยคิดกันว่ายาก เมื่อถึงเวลาจะเป็นมติมหาชน
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar