onsdag 13 februari 2019

ในหลวงวชิราลงกรณ์ ("พระบรมฯ") กับประชาธิปไตย


ในหลวงวชิราลงกรณ์ ("พระบรมฯ") กับประชาธิปไตย
แก่นหรือหัวใจของประชาธิปไตยคือ ประชาชน (สาธารณะ, สังคม) สามารถควบคุม ตรวจสอบ เอาผิด วิพากษ์วิจารณ์ และกำหนดทิศทางของรัฐและบุคคลากรผู้มีอำนาจรัฐได้

ปัญหาอำนาจทางการเมือง-กฎหมาย และทางวัฒนธรรม ของสถาบันกษัตริย์เป็นปัญหาใจกลางของประชาธิปไตยไทยมาโดยตลอด ก็เพราะอำนาจทุกด้านดังกล่าว เป็นสุดยอดสมบูรณ์ ของการ #ไม่สามารถ ควบคุม ตรวจสอบ เอาผิด วิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะได้เลย

องค์กรอำนาจรัฐส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ศาล องค์กรอิสระ ข้าราชการประจำ ฯลฯ ที่มีอำนาจที่ไม่สามารถตรวจสอบ ควบคุม เอาผิด วิพากษ์วิจารณ์ได้ ล้วนแต่อิงหรือขึ้นต่อ การมีสถานะที่ไม่สามารถตรวจสอบ ควบคุม เอาผิด วิพากษ์วิจารณ์ของสถาบันกษัตริย์ทั้งสิ้น
อันที่จริง แม้แต่นักการเมือง ก็ได้ประโยชน์จากสถานะควบคุม ตรวจสอบ เอาผิดไม่ได้ของสถาบันกษัตริย์ดังกล่าว

ประเด็นที่ "คนรักเจ้า-เกลียดนักการเมือง" ไม่เคยเข้าใจเลยคือ ถ้าไม่สามารถตรวจสอบ ควบคุม เอาผิด สถาบันกษัตริย์และส่วนอื่นๆของอำนาจรัฐที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯได้ ก็ไม่มีทางจะตรวจสอบ ควบคุม เอาผิด นักการเมืองได้เช่นกัน เพราะประชาชนที่สนับสนุนนักการเมืองไม่มีวันยอมให้มีการเอาผิด ตรวจสอบ ควบคุม ฝ่ายเดียว
(แม้แต่ข้ออ้างเรื่อง "กษัตริย์ทำงานหนัก" และ "ความจงรักภักดีของประชาชน" ถ้าไม่ผ่านให้มีการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์แบบเดียวกับที่ทำได้กับนักการเมือง แต่ใช้วิธีโปรแกรมฝังหัวทั้งทางระบบการศึกษาและทางสังคมวงกว้างอื่นๆ ก็ไม่มีทางจะอ้างได้ว่า เป็นข้ออ้างที่ชอบธรรมและสามารถทำให้ได้รับการยอมรับโดยแท้จริงทั้งสังคมได้)

วิกฤติไทยสิบปีที่ผ่านมา รวมศูนย์ใจกลางอยู่ที่ปัญหานี้
พูดแบบง่ายๆคือ คุณไม่มีทางเอาผิดชินวัตรโดยปกติสงบสุขได้ ถ้าคุณไม่ยอมให้มีการเอาผิดสถาบันกษัตริย์และกองทัพ ฯลฯ การพยายามดันทุรังเอาผิดฝ่ายเดียว ยกสถานะฝ่ายเดียวให้อยู่นอกเหนือการควบคุมตรวจสอบเอาผิด ("สองมาตรฐาน") ก็นำไปสู่ทางตัน ความไม่สงบสุขอย่างยืดเยื้อที่เห็นกัน

ทีนี้ มาถึงกรณีพระบรมฯหรือ "ในหลวงวชิราลงกรณ์" กษัตริย์องค์ใหม่
มีแนวโน้มหรือสัญญาณอะไรที่ส่อให้เห็นว่ากษัตริย์องค์ใหม่จะเปลี่ยนแปลงสถานะของสถาบันฯ ให้ไปในทางที่ตรวจสอบ ควบคุม เอาผิด วิพากษ์วิจารณ์ได้?  ที่ผ่านมา ต้องเรียกว่าเป็นศูนย์เลย หรือติดลบด้วยซ้ำ

เอาง่ายๆ พระบรมฯมีแนวโน้มจะเปิดให้มีการควบคุมตรวจสอบเอาผิด วิพากษ์วิจารณ์ การใช้จ่ายเงินสาธารณะจำนวนมหาศาลเพื่อซัพพอร์ตหรือสนับสนุน "ไลฟ์สไตล์" ของพระองค์ในหลายปีที่ผ่านมาหรือ? หรือให้ตรวจสอบกรณีการกวาดล้างบุคคลใกล้ชิดเช่นกรณีหมอหยอง (ที่มีคนตาย 3 ศพในระหว่างการคุมตัว) หรือ? ที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างรูปธรรม"เล็กๆ" ความจริง ยิ่งถ้าพูดไปให้ไกลถึงเรื่องสำนักงานทรัพย์สิน เรื่องกฎหมาย 112 เรื่องการยกเลิกการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับสถาบันฯ (ต่อพระราชบิดาที่สิ้นพระชนม์ ซึ่งพระองค์ได้ประโยชน์ และต่อพระองค์เองโดยตรงด้วย) ที่ทำอย่างระดับซึมลึกถึงอนุบาล ฯลฯ ยิ่งไม่มีวี่แววเลยแม้แต่น้อย (ติดลบด้วยซ้ำเช่นกัน)

กระแส "เชียร์พระบรมฯ" ที่เกิดขึ้นในหมู่คนที่คิดว่ากำลังต้องการต่อสู้เพื่อ "ประชาธิปไตย" จึงเป็นอะไรที่ถ้าไม่ชวนให้เศร้า ก็ชวนให้ตลก และเป็นเพียงภาพสะท้อนว่า ความเข้าใจเรื่อง อะไรคือ ประชาธิปไตย ของพวกเขา มีข้อจำกัดอย่างมาก
Image may contain: 4 people, people sitting

รัฐประหาร ๑๙ กันยา คือ รัฐประหารเพื่อสถาบันกษัตริย์
นี่เป็นคำนิยามของนักวิชาการท่านหนึ่งตั้งแต่หลายๆปีก่อน ซึ่งผมเห็นด้วย (ที่ไม่ระบุชื่อไม่ใช่เพราะไม่อยากให้เครดิต แต่คิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ระบุชื่อใครจะดีกว่า)
แต่ถ้าจะให้นิยามอย่างครบถ้วน ผมขอเสนอดังนี้
รัฐประหาร ๑๙ กันยา คือรัฐประหารเพื่อรักษาสถานะของสถาบันกษัตริย์ โดยสถาบันกษัตริย์และเครือข่ายเอง

บีบีซีไทย - BBC Thai (และรอยเตอร์ส) รายงานผิดว่า งบ "ราชการในพระองค์" ปีนี้ "ลดลง 14%" จากปีกลาย - ความจริง เพิ่มขึ้นประมาณ 27.8%
(ขอบคุณ "มิตรสหายท่านหนึ่ง" อย่างสูง ที่ช่วยจุดประเด็นและค้นหาข้อมูลต่างๆมาให้)
หลายคนคงเห็นรายงาน บีบีซีไทย - BBC Thai เรื่องงบประมาณปีนี้ ที่พาดหัวว่า "งบประมาณ2561: งบส่วนราชการในพระองค์ลด 14% กลาโหมเพิ่ม 4.2%" (ดูภาพประกอบที่ 1 ตัวรายงานอยู่ที่นี่ https://goo.gl/qoe7Xy)
บีบีซี อ้างรายงานของ รอยเตอร์ส มาอีกต่อหนึ่ง รายงานของ รอยเตอร์ส ดังกล่าว อยู่ที่นี่ https://goo.gl/PG89gF
ทีนี้ บีบีซี-รอยเตอร์ส เข้าใจว่า งบ "ราชการในพระองค์" (ซึ่งถือเป็นส่วนราชการใหม่ที่กษัตริย์เพิ่งให้ออกกฎหมายมาเร็วๆนี้) ได้งบประมาณลดลงจากปีกลาย เพราะ บีบีซี-รอยเตอร์ส ดูเอกสารงบประมาณ ซึ่งเขียนสรุปไว้ว่า "ส่วนราชการในพระองค์ 4,196,323,500" หรือราว 4.1 พันล้านบาท (ดูภาพประกอบที่ 2)
แล้ว บีบีซี-รอยเตอร์ส ก็เลยคิดว่า เนื่องจาก "ส่วนราชการในพระองค์" ใหม่ที่ว่า เกิดจากการโอน 5 หน่วยงานเดิมมาไว้ด้วยกัน คือ สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง กรมราชองครักษ์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และสำนักงานตำรวจราชสำนักประจำ
ก็เลยคำนวนโดยเอางบประมาณปีกลายของ 5 หน่วยงานเดิมนี้ มารวมกัน ได้ประมาณ 5.036 พันล้าน
ก็เลยบอกว่างบ "ราชการในพระองค์" ปีนี้ "ลดลงจากปีที่แล้ว 14%" (คือ 4.1 พันล้าน ลดลงจาก 5.036 พันล้าน)
..............
ปัญหาคือ บีบีซีไทย - BBC Thai - รอยเตอร์ส ดูไม่ละเอียดว่า ในเอกสารงบประมาณปีนี้ ที่เขียนว่า "ส่วนราชการในพระองค์" นั้น เขามี "เชิงอรรถ" (ตัวเล็กนิดเดียว) อธิบายเปรียบเทียบกับงบปีกลายว่า สำหรับปีกลายคือ "งบประมาณรายจ่ายปี 2560 จัดสรรไว้ที่ สำนักราชเลขาธิการ และสำนักพระราชวัง จำนวนทั้งสิ้น 4,037,215,00" (ดูภาพประกอบที่ 3 ที่ผมขีดเส้นใต้และทำเป็นลูกศรให้ดู ต้นฉบับจริง คือหน้า 51 ของเอกสารงบประมาณ เล่ม 13 ดูตัวจริง ได้ที่นี่ https://goo.gl/zUuawc)
นั่นคือ งบ "ส่วนราชการในพระองค์" ปีนี้ ที่ว่า 4.1 พันล้านนั้น #ไม่ใช่ งบที่เคยให้กับ 5 หน่วยงานเดิมทั้งหมดที่ถูกโอนมาเป็น "ราชการในพระองค์" คือ เป็นเฉพาะงบที่ปีกลายให้กับ สำนักราชเลขาธิการ และ สำนักพระราชวังเท่านั้น (ซึ่งเทียบกับปีกลายแล้ว ขึ้นมานิดหน่อย จาก 4.0 พันล้าน เป็น 4.1 พันล้าน)
แต่เรารู้ (และบีบีซี-รอยเตอร์สเองก็พูด) ว่า "ราชการในพระองค์" นั้น ความจริง มี กรมราชองครักษ์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และสำนักงานตำรวจราชสำนักประจำ โอนมาอยู่ด้วย (นั่นคือ มีส่วนที่เกี่ยวกับกำลังติดอาวุธส่วนพระองค์รวมอยู่ด้วย)
คำถามคือ ถ้างั้นงบประมาณส่วนนี้อยู่ไหน ถ้าไม่ใช่อยู่ในที่ระบุปีนี้ว่าเป็นงบ "ส่วนราชการในพระองค์" 4.1 พันล้าน (ซึ่งอย่างที่เพิ่งพูดว่ารวมเฉพาะงบที่เคยให้สำนักราชเลขาธิการและสำนักพระราชวังเท่านั้น)?
ถ้าดูที่งบประมาณ "สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม" ปีนี้ จะเห็นว่า มีงบที่เรียกว่า "การถวายความปลอดภัย การถวายพระเกียรติ และปฏิบัติตามพระราชประสงค์" อยู่ด้วย จำนวนเงิน 2,879,982,200 หรือราว 2.8 พันล้านบาท (ดูภาพประกอบที่ 4 หรือดูฉบับจริง อยู่ที่หน้า 334 ของเอกสารงบประมาณ เล่ม 2 ที่นี่ https://goo.gl/oU9A0Y)
และในงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีงบประมาณที่เรียกว่า "ถวายความปลอดภัยและสร้างจิตสำนักต่อสถาบันกษัตริย์" จำนวน 174.5340 หรือประมาณ 174.53 ล้านบาท (ดูภาพประกอบที่ 5 เอามาจากหน้า 60 ของเอกสารงบประมาณ เล่ม 10 ต้นฉบับจริง อยู่ที่นี่ https://goo.gl/Z9A5zG)
ผมค่อนข้างแน่ใจว่า งบสองส่วนที่อยู่ในกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาตินี้ คืองบที่ครอบคลุมส่วนราชการเดิม (ราชองครักษ์ ตำรวจ ฯลฯ) ที่เคยขึ้นกับสองหน่วยงานนี้ แต่ตอนนี้โอนไปเป็น "ราชการในพระองค์" อยู่ใน "หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์" ในปัจจุบัน
ดังนั้น ถ้ารวมงบประมาณ "5 หน่วยงาน" เดิม ที่ตอนนี้กลายมาเป็น "ราชการในพระองค์" ทั้งหมดของปีนี้ จะต้องรวมงบที่เขียนว่า "ราชการในพระองค์" 4.1 พันล้าน(ซึ่งคลุมแต่งานราชเลขากับสำนักพระราชวัง) + งบ "ถวายความปลอดภัย" ที่ยังอยู่ในกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจ เข้าด้วยกัน จะได้เป็น 4.1+2.8 (พันล้าน) + 174.53 ร้อยล้าน = ประมาณ 7,250.84 พันล้านบาท
นั่นคือ งบสำหรับ "ส่วนราชการในพระองค์" ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ปีนี้ ทั้งหมดแล้วประมาณ 7.2 พันล้าน เทียบกับงบปีกลายที่กระจายกันไปใน 5 หน่วยงานเดิม 5.036 พันล้าน
หมายความว่า ปีนี้ งบส่วนนี้ทั้งหมด เพิ่มขึ้นประมาณ 27.8% (ไม่ใช่ลดลง 14% อย่างที่ บีบีซีไทย - BBC Thai และรอยเตอร์ส เข้าใจและรายงานผิด)
..............
ความจริง งบประมาณที่เกี่ยวกับกษัตริย์ในเอกสารงบประมาณปีนี้ ยังมีมากกว่านี้อีกเป็นพันล้าน (เช่นงบเกี่ยวกับการดูแลซ่อมแซมวังซึ่งแยกมาต่างหาก ทั้งในปีก่อนๆและในปีนี้) แต่ผมยังไม่เอามารวมในที่นี้ คือนี่พูดเฉพาะงบสำหรับ "ส่วนราชการในพระองค์" ที่เกิดจากกฎหมายใหม่เร็วๆนี้ ที่รวมเอา 5 หน่วยงานเดิมเข้ามาด้วยกัน วันหลังผมค่อยหาโอกาสพูดถึงงบที่อยู่นอกจากนี้ออกไป
Image may contain: one or more people and text No photo description available.
Image may contain: text
No photo description available.No photo description available. 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar