fredag 1 februari 2019

พลังประชารัฐ ไม่ใช่พรรคแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกมองว่าเป็น "พรรคร่างทรงทหาร"

บีบีซีไทย - BBC Thai

         จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้นำคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2514 (ที่สามจากขวา) ปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกในวันที่ 19 พ.ย. 2514 ว่าจะบริหารประเทศจนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในการแถลงข่าวครั้งนี้ยังมี (จากซ้าย-ขวา) พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์, พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์, พลเอกประภาส จารุเสถียร, นาย พจน์ สารสิน และพลเอก กฤษณ์ สีวะรา เข้าร่วมด้วย

คำบรรยายภาพ จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้นำคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2514 (ที่สามจากขวา) กล่าวต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกในวันที่ 19 พ.ย. 2514 พร้อมแถลงว่าจะบริหารประเทศจนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในการแถลงข่าวครั้งนี้ยังมี (จากซ้าย-ขวา) พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์, พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์, พลเอกประภาส จารุเสถียร, นาย พจน์ สารสิน และพลเอก กฤษณ์ สีวะรา เข้าร่วมด้วย

การเปิดตัวของพรรคพลังประชารัฐอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ถูกจับตาจากสาธารณชนด้วยคำถามว่าเป็นพรรคที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช. หรือไม่ เพราะหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรคอีก 2 คน เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ท่ามกลางความคิดของรัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการรัฐประหารและต้องการให้มีการปฏิรูปการเมืองไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบยั่งยืน พรรคพลังประชารัฐ จะเป็นเพียง พรรคชั่วคราวเพื่อการสืบทอดอำนาจ หรือ จะกลายเป็นสถาบันการเมืองต่อไป
การตั้งพรรคเพื่อสืบทอดอำนาจทหารไม่ใช่เรื่องใหม่ในการเมืองไทย เพราะมีพรรคเกิดขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจการรัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง แต่พรรคเหล่านี้กลายเป็นพรรคเฉพาะกิจ และในหลายครั้ง ได้กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรัฐประหารในเวลาต่อมา

จอมพล ป. "พลร่ม ไพ่ไฟ" กับ เสรีมนังคศิลา

"Frienemies" ภาพยนตร์สารคดีซึ่งย้อนรอยความสัมพันธ์ รัก-ชัง ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม(ซ้าย) และนายปรีดี พนมยงค์ 
คำบรรยายภาพ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซ้าย) และนายปรีดี พนมยงค์ ภาพนิ่งจากภาพยนตร์สารคดี "Frienemies"
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรไม่ได้ให้ความสนใจในการตั้งพรรคการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ได้บัญญัติให้มี ส.ส. ประเภทที่สองที่แต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นฐานอำนาจในสภาให้กับรัฐบาลอยู่แล้ว
พรรคทหารเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในการเมืองไทย ในปี 2498
หลังจากที่ใช้อำนาจจากการรัฐประหารอย่างยาวนาน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เตรียมเข้าสู่กลไกอำนาจต่อเนื่องผ่านการเลือกตั้ง โดยประกาศ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2498 ซึ่งถือเป็นกฎหมายพรรคการเมืองฉบับแรกของประเทศไทย
ในวันรุ่งขึ้น ได้มีการจัดตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา โดยมีหัวหน้าพรรค คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เลขาธิการพรรคคือ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และรองหัวหน้าพรรค คือ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก และพลตรีประภาส จารุเสถียร รองแม่ทัพภาคที่ 1 โดยมีที่ทำการพรรคอยู่ที่บ้านมนังคศิลา ใกล้ทางรถไฟยมราช
มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พรรคเสรีมนังคศิลา ได้ ส.ส. จำนวน 85 คน จาก 160 คน ทำให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งในการตั้งรัฐบาล แต่ก็เกิดการกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก มีการใช้อำนาจรัฐในการสนับสนุนการเลือกตั้ง เช่น ใช้เครื่องบินของทางราชการโปรยใบปลิวโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นพรรคคู่แข่ง และเกิดการทุจริต เช่น ในวันเลือกตั้งมีการเวียนเทียนลงคะแนนที่เรียกว่า "พลร่ม" หรือใส่บัตรลงคะแนนเพิ่มหลังปิดหีบที่เรียกว่า "ไพ่ไฟ" ตลอดจนใช้เวลาในการนับคะแนนนานถึง 7 วัน
ดังนั้นในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 จึงเกิดการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก จากนิสิต นักศึกษา ประชาชน จนทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองในเวลาต่อมาจนนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500

จอมพลสฤษดิ์: ชายหลายพรรค

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ขวา) ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี้ หรือ "อาร์เอฟเค" รัฐมนตรียุติธรรมและน้องชายของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ เมื่อครั้งเยือนประเทศไทย 
คำบรรยายภาพ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ขวา) ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี้ หรือ "อาร์เอฟเค" รัฐมนตรียุติธรรมและน้องชายของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ เมื่อครั้งเยือนประเทศไทย
หลังการรัฐประหาร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ พร้อมกับให้นายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ซึ่งพรรคเสรีมนังคศิลาได้ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งอีกครั้ง ในขณะเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ ได้มอบหมายให้นาย สุกิจ นิมมานเหมินท์ จัดตั้งพรรคสหภูมิ ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองที่ต้องการสืบทอดอำนาจของทหารพรรคที่สอง ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคสหภูมิ ได้ ส.ส. จำนวน 44 คน จาก 160 ขณะที่พรรคประชาธิปตย์ได้ 29 คน และพรรคเสรีมนังคศิลาเหลือ ส.ส. เพียง 4 คน
จากผลการเลือกตั้ง แม้พรรคสหภูมิจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยเสียงที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งในสภา ทำเกิดปัญหาในการบริหารประเทศ จอมพลสฤษดิ์ จึงตัดสินใจยุบพรรคสหภูมิ และตั้งพรรคชาติสังคมขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2500 โดยมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าพรรคเอง มีพลโทถนอม กิตติขจร นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นรองหัวหน้าพรรค และพลโทประภาส จารุเสถียร เป็นเลขาธิการพรรค
แต่รัฐบาลใหม่ที่มี พลโท ถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศด้วยความยากลำบาก ในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงได้ทำรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พร้อมกับออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ส่งผลให้ทั้งพรรคเสรีมนังคศิลา พรรสหภูมิ พรรคชาติสังคม ต้องสิ้นสุดลง

จอมพลถนอม: ตั้งพรรคเอง แล้ว ปฏิวัติรัฐบาลตัวเอง

จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ รวม 4 สมัย รวมเป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน ก่อนถูกประชาชนขับไล่ให้พ้นจากหน้าที่ 
คำบรรยายภาพ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ รวม 4 สมัย รวมเป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน ก่อนถูกประชาชนขับไล่ให้พ้นจากหน้าที่
ต่อมาได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ใช้เวลาในการร่างนานถึง 10 ปี เมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ได้ประกาศใช้ ก็ได้มีการออกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 และเพื่อเข้าสู้กลไกการเลือกตั้ง จึงได้มีการจัดตั้งพรรคสหประชาไทยขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2511 โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าพรรค
พรรคสหประชาไทย มีรองหัวหน้าพรรค 3 คน คือ พลเอกประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ผู้บัญชาการทหารบก พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ และนาย พจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมี พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค พลเอก กฤษณ์ สีวะรา พลโท แสวง เสณาณรงค์ พลตำรวจโท พิชัย กุลละวณิชย์ เป็นรองเลขาธิการพรรค
การเลือกตั้งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พรรคสหประชาไทย ได้ ส.ส.จำนวน 75 คนจาก 219 คน แม้จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยเสียงที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา จึงทำให้ต้องหาเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นๆ ตลอดจน ส.ส. อิสระที่ไม่สังกัดพรรคที่มีจำนวนถึง 56 คน จึงทำให้เกิดการต่อรองเรื่องผลประโยชน์ของ ส.ส. ทั้งในพรรคสหประชาไทย และพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2515 ทำให้จอมพลถนอมแก้ปัญหาด้วยทำการรัฐประหารตนเองใน วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายอำนาจของระบอบถนอม-ประภาส ในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ "14 ตุลา" หรือวันมหาวิปโยค ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่นักศึกษาและประชาชนได้ลุกฮือ เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร นำไปสู่คำสั่งใช้กำลังเข้าปราบปราม จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก สุดท้ายรัฐบาลเผด็จการต้องลาออกจากตำแหน่ง 
คำบรรยายภาพ เหตุการณ์ "14 ตุลา" หรือวันมหาวิปโยค ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่นักศึกษาและประชาชนได้ลุกฮือ เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร นำไปสู่คำสั่งใช้กำลังเข้าปราบปราม จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก สุดท้ายรัฐบาลเผด็จการต้องลาออกจากตำแหน่ง
รสช. พรรคสามัคคีธรรม เสียสัตย์เพื่อชาติ
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 แม้จะเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า พลเอกกฤษณ์ สีวะรา มีบทบาทในการสนับสนุนพรรคธรรมสังคม แต่ก็ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจของกองทัพ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2534 เมื่อ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2535 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 ได้มีความคิดที่จะสืบทอดอำนาจของ รสช. โดยการจัดตั้งพรรคสามัคคีธรรมใน วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2535 ซึ่งมีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และ นาวาอากาศตรีฐิติ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการพรรค
พรรคสามัคคีธรรม ดึง ส.ส. เก่ามาเข้าพรรคได้เป็นจำนวนมาก ผลการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคสามัคคีธรรม ได้ ส.ส. จำนวน 79 คน จาก 360 คน ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและเสนอชื่อ พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้เคยประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เปลี่ยนใจภายหลังด้วยวลีที่เป็นที่จดจำจนทุกวันนี้ คือ "เสียสัตย์ เพื่อชาติ"

สุจินดา คราประยูร 
คำบรรยายภาพ พลเอก สุจินดา คราประยูร
การกลับคำพูดของ พล.อ.สุจินดา ได้เกิดกระแสต่อต้านจากสังคมมากมาย จนนำไปสู่การชุมนุมใหญ่และกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือด "พฤษภาทมิฬ" ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535
หลังเหตุการณ์ความรุนแรง พรรคสามัคคีธรรมซึ่งได้รับการเรียกขานว่า "พรรคมาร" ได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคเทิดไท แต่ก็ต้องยุติการดำเนินงานการเมือง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2535 โดยการลาออกของคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งคณะ

 18 พฤษภาคม 2535 ทหารยืนเฝ้ากลุ่มผู้ประท้วงที่ถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้า สะพานผ่านฟ้าลีลาศ หลังจากรัฐบาลของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร สั่งให้ปราบปรามผู้ประท้วงอย่างเด็ดขาด
คำบรรยายภาพ 18 พฤษภาคม 2535 ทหารยืนเฝ้ากลุ่มผู้ประท้วงที่ถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้า สะพานผ่านฟ้าลีลาศ หลังจากรัฐบาลของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร สั่งให้ปราบปรามผู้ประท้วงอย่างเด็ดขาด
ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย?
จากบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จะพบว่า พรรคที่ถูกสร้างเพื่อการสืบทอดอำนาจของทหาร ล้วนแล้วแต่มีอายุไม่ยืนนาน เช่นพรรคเสรีมนังคศิลา มีอายุ 2 ปี 83 วัน พรรคสหภูมิ มีอายุ 6 เดือน พรรคชาติสังคมมีอายุ 1 ปี พรรคสามัคคีธรรมมีอายุ 7 เดือน
บทเรียนนี้จะถูกเรียนรู้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์รอการบันทึก

...................................................
บีบีซีไทย - BBC Thai
Image may contain: 2 people, people sitting and suit
(พลังประชารัฐ "พปชร".)
ประยุทธ์ ยังอุบไต๋ หลัง พลังประชารัฐ (พปชร.) ส่งเทียบเชิญ เป็น "นายกฯ ในบัญชี"
เมื่อ 16:30 น. ของวันที่ 1 ก.พ. นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเชิญ พล.อ. ประยุทธ์ เป็น "นายกฯ ในบัญชี" ของพรรค แต่ หัวหน้า คสช. ยังไม่ให้คำตอบทันที บอกว่า ขอพิจารณาก่อน และจะให้คำตอบก่อนกำหนดเส้นตายของกฎหมาย คือวันที่ 8 ก.พ.
นักวิจารณ์การเมืองมองว่า พปชร. คือ "พรรคร่างทรงทหาร" แต่ในประวัติศาสตร์เกือบ 90 ปี ของประชาธิปไตยไทย เรามีพรรคการเมืองเช่นนี้มาแล้วกี่พรรค  
คลิกหาคำตอบที่นี่ https://bbc.in/2UE6be3

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar