ประชุมรัฐสภา: สรุป 10 สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับผ่านรัฐสภา

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย หลังใช้เวลาพิจารณาข้ามปี

การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระที่ 2 เริ่มต้นเมื่อเวลา 11.47 น. ของวันนี้ (22 มิ.ย.) ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตรา เริ่มตั้งแต่มาตรา 54 จนจบมาตรา 67 รวมทั้งสิ้น 14 มาตรา

นี่ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่ ส.ส. และ ส.ว. ต้องมาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ในวาระที่ 2 หลังจำต้องปิดประชุมอย่างกะทันหันเมื่อ 18 มี.ค. เนื่องจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย พลิกมาชนะโหวตมาตรา 9 ที่กำหนดว่าการทำประชามติทำได้ 5 กรณี จากร่างเดิมให้ทำได้ 2 กรณี จึงจำเป็นต้องรื้อเนื้อหาของมาตราที่เหลืออยู่ แล้วปรับปรุงให้สอดคล้องกัน ก่อนนำร่างกลับเข้ารัฐสภาอีกครั้งวันที่ 7-8 เม.ย. แต่แล้วก็เกิดเหตุองค์ประชุมหวิดล่มขณะพิจารณาถึงมาตรา 53 จนประธานต้องชิงสั่งปิดประชุม ก่อนกลับมาพิจารณากันต่อในวันนี้

รัฐสภาใช้เวลาเพียง 3 ชม. ในการพิจารณาวาระ 2

จากนั้นได้พิจารณาวาระ 3 ต่อทันที และมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ด้วยคะแนนเสียง 611 ต่อ 4 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1

ขั้นตอนหลังจากนี้ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ซ้าย) ขึ้นนั่งประกบนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ,

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ซ้าย) ขึ้นนั่งประกบนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ

10 สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ประชามติ

ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เป็นหนึ่งในกฎหมายปฏิรูป ตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ต้องพิจารณาในที่ประชุมร่วมกับของรัฐสภา ต่างจากร่างกฎหมายปกติที่จะพิจารณาทีละสภา

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ สรุปได้ ดังนี้

1. เปิดทางให้ทำประชามติได้ 5 กรณี

  • ประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  • ประชามติกรณีเมื่อ ครม. เห็นว่ามีเหตุอันสมควร
  • ประชามติตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง
  • ประชามติกรณีที่รัฐสภามีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียง และได้แจ้งเรื่องให้ ครม. ดำเนินการ
  • ประชามติกรณีประชาชนเข้าชื่อ 50,000 ชื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง
parliament

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

2. กำหนดให้ใช้เขตจังหวัด เป็นเขตออกเสียงประชามติ แบบเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.

3. เปิดทางให้ใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักรได้เป็นครั้งแรก โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิออกเสียง ณ ประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่

4. เปิดทางให้ลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ และลงคะแนนด้วยเครื่องลงคะแนนอิเล็กรอนิกส์ด้วย เพื่อตอบรับกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ

5. ในการผ่านประชามติ ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งผู้มาใช้สิทธิออกเสียง

6. กำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ต้องมีสัญชาติไทย, อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันออกเสียง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงไม่น้อยกว่า 90 วัน

7. กำหนดให้เผยแพร่สาระสำคัญ/เรื่องที่จะให้ทำประชามติ ให้ประชาชนรับทราบผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศให้มีการออกเสียง และจัดทำเอกสารเผยแพร่ข้อมูลส่งเจ้าบ้านทราบไม่น้อยกว่า 30 วัน

ฝ่ายรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ (โหวตโน) ในชั้นประชามติ 7 ส.ค. 2559 แสดงความผิดหวัง หลังทราบผลประชามติซึ่งแพ้โหวตไปด้วยคะแนน 10 ต่อ 16 ล้านเสียง

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ฝ่ายรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ (โหวตโน) ในชั้นประชามติ 7 ส.ค. 2559 แสดงความผิดหวัง หลังทราบผลประชามติซึ่งแพ้โหวตไปด้วยคะแนน 10 ต่อ 16 ล้านเสียง

8. ประชาชน พรรคการเมือง องค์กรเอกชน และกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม มีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการออกเสียงได้โดยเสรีและเสมอภาค ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต. กำหนด

9. กำหนดบทลงโทษต่าง ๆ อาทิ

  • ผู้ใดใช้ตำแหน่งหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นเหตุให้การออกเสียงประชาติไม่สุจริตเที่ยงธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
  • ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการออกเสียงประชามติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการขัดขวาง กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ผู้ใดกระทำการ อาทิ ขัดขวางเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หรือให้/เสนอให้/สัญญาว่าจะให้/จัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียง หรือหลอกลวง/ บังคับ/ขู่เข็ญ/ใช้อิทธิพลคุกคามเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้
  • กรณีเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ อันมีผลเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้

10. ห้ามเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (โพล) เกี่ยวกับการออกเสียงในเวลา 7 วันก่อนวันออกเสียง จนสิ้นสุดเวลาออกเสียง