lördag 19 juni 2021

โควิด-19 : สหรัฐอเมริกาพาโลกเสรีบริจาคแข่งจีนในศึกการทูตวัคซีน

ผู้เชี่ยวชาญด้านอเมริกาศึกษาบอกว่า การทูตวัคซีนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของโลก การแพร่กระจายพลังอ่อนผ่านการบริจาค การให้ทุนการศึกษา การให้กู้เงิน หรือผ่านการเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านภาพยนตร์หรือบทเพลงเป็นสิ่งที่มีให้เห็นมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงทุกวันนี้

โควิด-19 : สหรัฐอเมริกาพาโลกเสรีบริจาคแข่งจีนในศึกการทูตวัคซีน

  • ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

นับตั้งแต่จีนพบไวรัสมรณะชนิดใหม่เมื่อปลายปี 2562 จนกลายเป็นการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก ขณะนี้ทั่วโลกผลิตวัคซีนได้แล้ว 2 พันล้านโดสภายในเวลาอันสั้น แต่การเข้าถึงวัคซีนนั้นยังเป็นปัญหาหลักที่ทำให้การควบคุมเชื้อไวรัสนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก

ผู้ที่ได้รับวัคซีนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศมั่งคั่งที่ถูกตำหนิว่ากักตุนวัคซีนเกินความจำเป็น ขณะที่ชาติกำลังพัฒนาและประเทศยากจนยังมีอัตราการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรต่ำมาก พร้อมกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ๆ

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ชาติร่ำรวยแบ่งปันวัคซีนให้ประเทศที่ยากจน กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ชาติ หรือที่เรียกว่า จี7 ได้ประกาศเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว (13 มิ.ย.) ในอังกฤษว่าจะร่วมกันบริจาควัคซีนโควิดให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 1,000 ล้านโดส โดยส่วนใหญ่จะผ่านทางโครงการโคแวกซ์ (Covax) หลังจากที่จีนซึ่งไม่ได้อยู่ในสโมสรเศรษฐีนี้บริจาควัคซีนไปแล้ว 23 ล้านโดสทั่วโลก

ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก พยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมในปัจจุบัน โดยในช่วงต้นปีนี้เขาบอกว่า มีการให้วัคซีนกว่า 39 ล้านโดสแล้วในประเทศที่ร่ำรวยอย่างน้อย 49 ประเทศ แต่ประเทศที่ยากจนกว่ามีการให้วัคซีนไปแค่ 25 ล้านโดส

การช่วงชิงตำแหน่ง "ผู้ให้" ของชาติร่ำรวย ผ่าน "การทูตวัคซีน" เพื่อการขยาย "พลังอ่อน" (soft power) ของโลกเสรี มาพร้อมกับคำถามว่าใครจะได้รับประโยชน์มากกว่ากัน ระหว่า ผู้ให้ หรือ ผู้รับ

ไบเดน

ที่มาของภาพ, Getty Images

"อเมริกากลับมาแล้ว"

ก่อนการประชุมกลุ่มจี 7 เว็บไซต์ของทำเนียบขาวเผยแพร่ประกาศของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงวันที่ 3 มิ.ย. ว่าจะบริจาควัคซีนให้หลายประเทศทั่วโลกจำนวน 80 ล้านโดส โดย 25 ล้านโดสแรกจะบริจาคให้ทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือและใต้ และทวีปเอเชียซึ่งประเทศไทยติดอยู่ในรายชื่อผู้รับบริจาคด้วย

ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาตสกล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ บอกกับบีบีซีไทยว่าท่าทีการแสดงตนเป็นผู้ให้ของสหรัฐฯ ออกมาเพื่อตอกย้ำคำกล่าวที่ไบเดนเคยพูดเอาไว้ว่า "America is back" หลังจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนก่อน นำสหรัฐฯออกจากเวทีโลกมาหลายปี

"พอเรามองการเมืองระหว่างประเทศ เราจะเห็นว่าตัวแสดงที่สำคัญ ๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงโควิดคือ ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและก็จีน เราก็จะเห็นว่าสองประเทศนี้มีความขัดแย้งกันมาตลอด" ดร.ประพีร์อธิบาย

"พอมาถึงปีที่แล้วที่โควิด-19 แพร่ระบาด โดนัลด์ ทรัมป์ จะมีแนวทางที่ชัดเจนเลยว่าจีนคือศัตรู พอมาถึงยุคของไบเดน ก็ยังมองจีนว่าเป็นศัตรูอยู่"

หลังได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี นายโจ ไบเดน เร่งแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ อย่างจริงจัง ระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนจนมีอัตราส่วนต่อประชากรสูงเป็นอันดับต้นของโลก พร้อมกับการกลับมาทวงคืนบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศ เช่น การกลับเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) และการกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสเพื่อลดโลกร้อน

G7 leaders meeting in Carbis Bay, Cornwall (11 June)

ที่มาของภาพ, Leon Neal/PA Media

น้ำใจจากประเทศมั่งคั่ง

หลังประกาศบริจาค 80 ล้านโดสไปแล้ว ไม่กี่วันต่อมา นายไบเดนได้ประกาศที่การประชุม จี 7 ในสหราชอาณาจักรว่าสหรัฐฯ จะบริจาควัคซีน 500 ล้านโดสให้ประเทศยากจนและฐานะปานกลางแบบไม่มีเงื่อนไขโดยแบ่งเป็น 200 ล้านโดสภายในปีนี้และอีก 300 ล้านโดสภายในไม่เกินกลางปีหน้า

หลังจากนั้นประเทศอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกจี 7 ต่างก็ประกาศความร่วมมือระดับโลกนี้ผ่านการบริจาควัคซีนในโครงการโคแว็กซ์และการแบ่งปันผ่านทวิภาคี

  • นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ประกาศในวันศุกร์ที่ 11 มิ.ย. ว่าจะบริจาควัคซีนส่วนเกิน 100 ร้อยล้านโดสให้แก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกภายในปีหน้า โดยจะเริ่มบริจาคระยะแรก 5 ล้านโดส ภายในเดือน ก.ย. นี้
  • นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานกรรมาธิการยุโรป (EU) กล่าวว่าสหภาพยุโรปมีเป้าหมายที่จะบริจาควัคซีนอย่างน้อย 100 ล้านโดสให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งรวมถึงคำมั่นสัญญาของฝรั่งเศสและเยอรมนีที่จะบริจาคประเทศละ 30 ล้านโดส โดยอิตาลีจะบริจาค 15 ล้านโดส
  • ฝรั่งเศสประกาศว่าได้บริจาควัคซีนของแอสตร้าเซเนกา 184,000 โดสให้กับเซเนกัลผ่านโครงการโคแว็กซ์
  • สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาควัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 20 ล้านโดสที่ผลิตในประเทศ โดยตั้งเป้าจะกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและแปซิฟิก
  • นายโทชิมิทสึ โมเทกิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น แถลงเมื่อ 15 มิ.ย. ว่าญี่ปุ่นจะบริจาควัคซีนแอสตร้าเซเนก้าให้กับ 5 ประเทศในอาเซียน ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังให้คำมั่นว่าจะมอบเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 31,000 ล้านบาท) และวัคซีน 30 ล้านโดสให้แก่โครงการโคแวกซ์
โคแว็กซ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

โคแว็กซ์ โครงการแจกวัคซีนที่ไทยไม่เข้าร่วม

โครงการโคแวกซ์ (Covax) ย่อมาจาก Covid-19 Vaccines Global Access Facility หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อ เม.ย. 2563 มุ่งสนับสนุนการพัฒนา จัดซื้อ และส่งวัคซีนไปยังกว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดยมีองค์การอนามัยโลกเป็นผู้นำ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (The Vaccine Alliance หรือ Gavi) ที่ก่อตั้งโดย บิลและเมลินดา เกตส์ และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations หรือ Cepi)

นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ไทยเคยพยายามแสวงหาความร่วมมือผ่านโคแวกซ์ แต่ก็ยอมรับว่าการทำสัญญาสั่งจองซื้อมีความยุ่งยากบางประการทำให้การได้มาของวัคซีนยังไม่แน่นอน และอาจจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก จึงไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้

ส่วน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว. สาธารณสุข ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในเรื่องนี้ว่า ไทยได้เจรจากับโคแวกซ์มาตลอด แต่ไม่อยู่เกณฑ์ที่ได้รับวัคซีนฟรี เนื่องจากโคแวกซ์ให้สิทธิแก่ประเทศยากจนที่องค์การอนามัยโลกและพันธมิตรวัคซีน Gavi ให้การสนับสนุนจำนวน 92 ประเทศ แต่ไทยเป็นประเทศฐานะปานกลาง หากจะร่วมกับโคแวกซ์ไทยต้องซื้อราคาแพงกว่า และไม่สามารถเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดได้ มีความไม่แน่นอนทั้ง ชนิด จำนวน และราคา รวมทั้งต้องจ่ายเงินล่วงหน้า

ผู้นำกลุ่มจี 7 กำลังหารือกันในเมืองคอร์นวอลล์

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ,

ผู้นำกลุ่มจี 7 ซึ่งกำลังหารือกันในเมืองคอร์นวอลล์ ของอังกฤษ ได้พยายามหาจุดยืนที่มีต่อจีนร่วมกัน

"สงครามเย็นภาค 2"

ดร.ประพีร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอเมริกาศึกษาบอกว่า การทูตวัคซีนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของโลก การแพร่กระจายพลังอ่อนผ่านการบริจาค การให้ทุนการศึกษา การให้กู้เงิน หรือผ่านการเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านภาพยนตร์หรือบทเพลงเป็นสิ่งที่มีให้เห็นมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงทุกวันนี้

"มันเป็นเหมือนภาคต่อมาจากสงครามเย็นภาค 2 เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบจากสงครามมาเป็นการสู้กันว่าใครเข้าถึงวัคซีน และคิดค้นวัคซีนได้มากกว่ากัน" ดร.ประพีร์กล่าว

เมื่อจีนคิดค้นวัคซีนได้ก่อนและเริ่มบริจาคและขายไปทั่วโลกก่อนประเทศอื่น ก็ทำให้คนหลายคนลืมไปว่าจีนเป็นต้นตอของการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้น แต่เป็นเพราะจีนรีบแก้ภาพลักษณ์ได้เร็วผ่านการบริจาคทั้งเครื่องมือการแพทย์และวัคซีน ทำให้ภาพความเป็นผู้ให้มากลบภาพผู้ร้ายไปได้

"เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตั้งแต่ตอนที่ไบเดนไปประชุมจี 7 ก็กล่าวขึ้นมาว่าต้องการให้มีการสืบสวนใหม่ว่าที่แท้แล้วต้นตอของโควิดมันมาจากไหนกันแน่ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าไม่ธรรมดาแล้วเกมนี้" ดร.ประพีร์อธิบาย

ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาตสกล

ที่มาของภาพ, ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาตสกล

คำบรรยายภาพ,

ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาตสกล อธิบายว่าการทูตวัคซีนเป็นการแพร่กระจายพลังอ่อนผ่านการบริจาค

การบริจาคของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นประเทศเดียวในเอเชียที่อยู่ในกลุ่มจี 7 และเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่บริจาคทั้งวัคซีนและเงินเพื่อช่วยเหลือประเทศอื่นก็หันมาเล่นบทผู้ให้ในเกมการทูตวัคซีนเช่นกัน

ดร.ประพีร์บอกกับบีบีซีไทยว่าก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มีเทคโนโลยีอันก้าวหน้าและทันสมัย อีกทั้งมีสภาพทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่งกว่าประเทศอื่นในแถบเดียวกัน

"ตอนนี้พอจีนขึ้นมาปุ๊บ กลายเป็นว่าญี่ปุ่นเหลือนิดเดียวเอง การเติบโตขึ้นมาของจีนมันทำใหประเทศต่าง ๆ และภูมิภาคกลังวล" ดร.ประพีร์กล่าว "ประเทศไทยเราใกล้อเมริกามาก่อน เป็นเพื่อนกันมาก่อน จีนก็เป็นเพื่อนเรา แต่การที่จีนเป็นประเทศมหาอำนาจขึ้นมาแบบนี้ทำให้หลายคนอึดอัด"

เล่นบทเดียวกันแต่ภาพลักษณ์ไม่เหมือนกัน

จีนในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นผู้ที่ผลิตวัคซีนออกมาได้ก่อน และเริ่มบริจาคไปยังประเทศต่าง ๆ เป็นผู้เริ่มเปลี่ยนฐานะมาเป็นผู้ให้ของโลกก่อนใคร ในขณะเดียวกันที่สหรัฐฯ ที่ผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพสูงกว่าเพิ่งเริ่มทำหน้าที่เป็นผู้ให้ได้ไม่นานนี้

จีนบริจาควัคซีน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

จีนบริจาควัคซีนซิโนฟาร์มให้ซีเรียเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศมหาอำนาจนี้กำลังใช้วัคซีนเพื่อการทูตเหมือนกัน แต่ด้วยความที่จีนช่วงชิงตำแหน่งได้เร็วกว่า ทำให้คนมองจีนในแง่ดี ในขณะที่สหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นผู้กักตุนวัคซีน

ดร.ประพีร์ให้ความเห็นว่าจีนมีภาพของความเป็นประเทศคอมมิวนิสต์มาก่อน โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าคนสมัยก่อน ๆ จะมองประเทศคอมมิวนิสต์ว่าน่ากลัว ซึ่งมีผลทำให้ไม่ค่อยมีคนเชื่อถือจีนมากเท่าไหร่ และยังมองจีนว่าหวังผลประโยชน์จากผู้อื่นหากคบค้าสมาคมด้วย

"คนส่วนใหญ่ก็จะมองว่านอกจากจีนจะต้องการผลประโยชน์อะไรแล้วจีนกำลังขึ้นมาเปลี่ยนบทบาทตัวเองให้เป็นมหาอำนาจของโลกแทนที่อเมริกาให้ได้ การที่มันขึ้นมารวดเร็วแบบนี้ทำให้คนหวาดระแวง" ดร.ประพีร์กล่าว

"ถ้าจีนเข้ามาเล่นบทบาทแทนอเมริกาได้ มันจะยิ่งส่งให้ความเป็นประเทศมหาอำนาจของจีนเลื่อนสถานะสูงขึ้นไปได้ เพราะว่าตรงนี้มันเป็น soft power มันทำให้ประเทศที่ตัวเองเข้าถึงใจคนได้"

กราฟิก

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar