พลังประชารัฐ: ธรรมนัสประกาศ “ลบภาพลักษณ์พรรคเฉพาะกิจ” หลังเบียด อนุชา ยึดเก้าอี้เลขาธิการพรรคสำเร็จ

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เข้ายึดเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คนที่ 3 ได้สำเร็จสมใจ ภายใต้แรงสนับสนุนจากหัวหน้าพรรค

การยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า พปชร. ของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดให้มีผล 18 มิ.ย. คือเงื่อนไขบังคับให้คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) รวม 27 ชีวิต ต้องพ้นจากตำแหน่งไปโดยปริยาย นั่นเท่ากับเป็นการ "ปลด" นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แกนนำกลุ่ม "สามมิตร" พ้นจากเก้าอี้เลขาธิการพรรคทางอ้อม และทำให้สมาชิกพรรคต้องเลือกผู้บริหาร พปชร. ชุดใหม่ในวันเดียวกันนี้

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ของ พปชร. จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.ขอนแก่น โดยมีรัฐมนตรี ส.ส. และสมาชิกพรรคราว 600 คนเข้าร่วม

ผลปรากฏว่า พล.อ. ประวิตรได้รับเลือกให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคดังเดิม ด้วยคะแนนเสียง 582 คะแนน

ส่วนเก้าอี้เลขาธิการพรรค ตกเป็นของ ร.อ. ธรรมนัส แบบไม่พลิกโผ ด้วยคะแนนเสียง 556 คะแนน แม้มี ส.ส. กลุ่มสามมิตรเสนอชื่อนายอนุชาหวนกลับไปรับหน้าที่เดิม แต่เจ้าตัวได้ขอถอนตัว โดยให้เหตุผลว่าทำหน้าที่มาปีกว่าแล้ว ขอเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาทำงาน

ร.อ. ธรรมนัส วัย 55 ปี เพิ่งพ้นคดีตีความสถานภาพทางการเมืองมา หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อ 5 พ.ค. ว่าเขาไม่ต้องพ้นสมาชิกภาพ ส.ส. และรัฐมนตรี แม้เคยถูกจำคุกในคดียาเสพติดในประเทศออสเตรเลีย แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย

พลังประชารัฐ

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พปชร.

ขณะที่กลุ่มสามมิตรยังมีชื่อปรากฏเป็น กก.บห. ชุดใหม่ครบทั้ง 3 คน และเตรียมได้รับการปลอบใจด้วยเก้าอี้ประธานยุทธศาสตร์พรรค ให้แก่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แม้ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งเดิมของ พล.อ. ประวิตรก่อนขึ้นเป็นผู้นำพรรค แต่ก็ไม่ใช่ตำแหน่งหลักทางกฎหมาย และไม่ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้งภายในพรรค

นายสมศักดิ์กล่าวหลังประชุมพรรคว่า หัวหน้าพรรคตัดสินใจปรับเปลี่ยนแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรค เพราะเราให้ความไว้วางใจหัวหน้าพรรค

ศึกชิงอำนาจภายใน พปชร.

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดศึกชิงการนำภายในพรรคแกนนำรัฐบาล ย้อนกลับไปเดือน มิ.ย. 2563 แกนนำกลุ่ม "สี่กุมาร" ก็เคยหลุดวงโคจรอำนาจด้วยการเดินเกมการเมืองในลักษณะเดียวกันนี้ เมื่อ กก.บห. เกินกึ่งหนึ่งพร้อมใจกันยื่นใบลาออก บีบให้นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ แต่ยังต้องอยู่ประกอบพิธีกรรมตามกฎหมาย ด้วยการเรียกประชุมใหญ่สามัญภายใน 45 วัน เพื่อเลือก กก.บห. ชุดใหม่มาแทนที่ตัวเอง โดยคนที่เข้ารั้งเก้าอี้เลขาธิการพรรคแทนก็คือนายอนุชาจากกลุ่มสามมิตรนั่นเอง

พลังประชารัฐ

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

อดีต รมต. รัฐบาล "ประยุทธ์ 1" ทั้ง 4 คนถูกขนานนามว่า "4 กุมาร" เป็นน้องและศิษย์ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โดยที่ทุกคนได้กลับมาเป็น รมต. ในรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" ยกเว้น นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล (คนซ้าย)

หลังจากนั้นไม่นาน สมาชิกกลุ่มสี่กุมารได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคที่พวกเขามีส่วนร่วมก่อตั้ง โดยมี กก.บห.พปชร. ชุดใหม่บางส่วนได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/2

มาถึงการประชุมใหญ่ พปชร. ในวันนี้ นอกจากเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด วาระตามแรงปรารถนาของผู้จัดอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงเลขาธิการพรรคอย่างมิต้องสงสัย เพราะตำแหน่งหลักอื่น ๆ แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงให้เห็น ยกเว้น 2 ส.ส.กทม. ที่เข้ามาเป็น กก.บห. แทนนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งต้องคำพิพากษาจำคุกโดยศาลชั้นต้นคดีชุมนุมกลุ่ม กปปส. จนต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไป

24 ชม. สุดท้ายก่อนความเปลี่ยนแปลงภายใน พปชร. จะมาถึง นายอนุชาออกมาสยบข่าวลือเรื่องการยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค พร้อมบอกผู้สื่อข่าวว่า "ไม่มีวาระการปรับโครงสร้างพรรค" และยังไม่มีสัญญาณอะไรจากหัวหน้าพรรค ทุกอย่างขึ้นอยู่กับที่ประชุม

พลังประชารัฐ

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พปชร.

กระทั่งก่อนเดินเข้าห้องประชุม นายอนุชายังกล่าวย้ำว่า "ผู้ใหญ่ไม่ได้มาพูดคุยอะไรกับผม"

ต่างจาก ร.อ. ธรรมนัสที่รู้แน่ชัดแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยเขาตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า "ค่อนข้างชัวร์ว่าจะมีการปรับโครงสร้าง" และบอกใบ้ว่า "ถ้าพี่น้องสมาชิกพลังประชารัฐให้ความไว้วางใจ ก็จะทำให้ดีที่สุด"

ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน 2 ครั้งก่อนประชุมพรรค ร.อ. ธรรมนัสยืนยันว่า เขากับนายอนุชาไม่เคยมีปัญหากัน และย้ำคำว่า "เป็นพี่น้องกัน" 2 หน

ส่วนเลขาธิการพรรคคนใหม่จะมีโอกาสขยับชั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) หรือไม่นั้น ร.อ. ธรรมนัสกล่าวว่า คงไม่คิดไปถึงตรงนั้น ขอทำหน้าที่ให้ดีก่อน และทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี

ร.อ. ธรรมนัสยังประกาศด้วยว่าจะ "ลบภาพพรรคเฉพาะกิจออกไป" และทำให้ พปชร. เป็นสถาบันการเมืองที่มีความเข้มแข็ง

กก.บห.พปชร. ชุดใหม่ แต่ส่วนใหญ่หน้าเก่า

โฉมหน้า กก.บห.พปชร. ชุดใหม่ที่ออกมารวม 26 ตำแหน่ง มีอยู่ 7 คนที่เข้ามาร่วมวงฝ่ายบริหารพรรคครั้งแรก ส่วนที่เหลืออีก 19 คนล้วนเป็นผู้บริหารหน้าเก่า ทั้งนี้หัวหน้าพรรคมีอำนาจแต่งตั้งรองหัวหน้าพรรคเพิ่มเติม โดยเลือกจากรายชื่อที่อยู่ใน กก.บห. ชุดใหม่นี้

  • หัวหน้าพรรค: พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
  • เลขาธิการพรรค: ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ (เดิมเป็นรองหัวหน้าพรรค)
  • เหรัญญิกพรรค: นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน
  • นายทะเบียนสมาชิกพรรค: นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  • กก.บห.พรรค 22 คน เฉพาะคนหน้าใหม่ 7 คน ประกอบด้วย นายยงยุทธ สุวรรณบุตร, นายสุชาติ อุสาหะ, นายรงค์ บุญสวยขวัญ, นายจักรพันธ์ พรนิมิตร, นายสุรสิทธิ์ นิธิวรลักษณ์, นายอรรถกร ศิริลัทธยากร และนายสมเกียรติ วอนเพียร

การประชุมการเมืองที่ จ.ขอนแก่น

พปชร. เป็นพรรคการเมืองแรก ๆ ที่จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 หลังพรรคการเมืองอื่น ๆ ตัดสินใจเลื่อนการประชุมไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งไทยพบผู้ป่วยหน้าใหม่เฉลี่ยวันละกว่า 3 พันราย

จ.ขอนแก่น ถูกเลือกใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมการเมืองของพรรคแกนนำรัฐบาล เนื่องจากเหตุผลทางการเมือง และโรคระบาด

พลังประชารัฐ

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พปชร.

เหตุผลทางการเมืองคือ ผู้จัดสามารถกำหนดที่มาของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (โหวตเตอร์) ได้ โดยคัดสมาชิกพรรคใน จ.ขอนแก่น และนครราชสีมา ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการของนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ กลุ่ม ร.อ. ธรรมนัส และนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาร่วมประชุมเพื่อเลือก กก.บห.

สำหรับองค์ประกอบของโหวตเตอร์ ได้แก่ กก.บห.ชุดรักษาการ, ผู้แทนสาขาของพรรค, ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และสมาชิกพรรค

ส่วนเหตุผลทางโรคระบาดคือ ขอนแก่นเป็น "จังหวัดสีเหลือง" หรือพื้นที่เฝ้าระวังสูงซึ่งพบการแพร่ระบาดต่ำ แม้มียอดผู้ป่วยสะสมในการระบาดระลอกสามที่ 546 ราย (ข้อมูลจาก ศบค. ณ 17 มิ.ย.) แต่ก็มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระดับต่ำสิบมาติดต่อกันนับสัปดาห์แล้ว

นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พปชร. ระบุว่า การจัดประชุมใหญ่ พปชร. ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด และทำตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของ ศบค. โดยให้เฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าสู่ห้องประชุมชั้นใน แต่ถ้าใครยังไม่ผ่านการฉีดวัคซีน ก็จะมีการตรวจหาเชื้อก่อน นอกจากนี้ยังมีการตั้งจุดคัดกรองด้วยการวัดอุณหภูมิ เพื่อป้องกันการเป็นคลัสเตอร์ใหม่ และย้ำว่าพรรคให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก จึงขอให้ความสบายใจกับชาวขอนแก่นว่าพรรคได้รักษามาตรการและป้องกันเต็มที่

พลังประชารัฐ

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พปชร.

การยกพลไปรวมตัวกันที่ จ.ขอนแก่น ของนักการเมืองจากพรรคแกนนำรัฐบาล ทำให้ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ทั้งนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ออกมาตำหนิ กมธ. ในสัดส่วน พปชร. ที่ไม่เข้าร่วมประชุมเมื่อ 17 มิ.ย. ทำให้ผู้เข้าชี้แจงงบประมาณมีจำนวนมากกว่า กมธ. ซึ่งมี 72 คน และต้องมีองค์ประชุม 1 ใน 3 หรือ 24 คนขึ้นไปจึงจะพิจารณาได้ พร้อมเรียกร้องให้ พปชร. คำนึงถึงมารยาททางการเมือง และให้ความสำคัญในการพิจารณางบประมาณแผ่นดิน

นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. ในฐานะรองประธาน กมธ.งบประมาณ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมเมื่อ 17 มิ.ย. ได้สั่งปิดประชุม หลัง กมธ. สังกัด พท. เสนอให้นับองค์ประชุม จึงยังไม่ทันได้บันทึกว่าเกิดปัญหาองค์ประชุมล่มหรือไม่

ล่าสุดนายวิเชียรชี้แจงว่า กมธ. ทุกคนเป็นตัวแทนของสภาในการพิจารณากฎหมายงบประมาณ ไม่ได้หมายความว่าหากขาด กมธ. ในสัดส่วน พปชร. ไปแล้ว จะไม่ครบองค์ประชุม เพราะมี กมธ. ในสัดส่วนอื่น ๆ ช่วยกันทำหน้าที่