onsdag 8 februari 2023

ใบตองแห้ง: กฎหมายโอเวอร์ / โลกหมุนด้วย Extreme

หลังจำนนด้วยหลักฐาน ทั้งกล้องทั้งพยาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตั้งข้อหา 6 ตำรวจห้วยขวาง เรียกรับเงิน 27,000 บาท จากดาราไต้หวันกับเพื่อน แลกกับการไม่ดำเนินคดีฐานครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า

เป็นเรื่องอื้อฉาวที่โผล่มาไม่หยุด ของตำรวจและข้าราชการ ยุค “รัฐประหารปราบโกง” ล้มเหลว กระทั่งหมอพรทิพย์ท้อแท้ “ปลวกกินเมือง"

จำไว้เป็นบทเรียนนะครับ “เผด็จการคนดีปกครองบ้านเมือง” ปราบโกงไม่ได้ เลือกตั้งอาจไม่ได้คนดีเสมอไป แต่ประชาธิปไตยให้สิทธิเสรีภาพ ซึ่งสำคัญมากต่อการปราบโกง อย่างที่เห็นกันว่าถ้าไม่ใช่เพราะการเปิดโปงออนไลน์ ถ้าไม่ใช่เพราะกระแสในเน็ต คดีรีดไถหรือ “รีวิวรถนำ” ก็คงปิดเงียบไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในคดีดาราไต้หวัน มีข้อสังเกตต่อความผิดฐาน “ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า” ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการ “รีดไถ” ด้วยเช่นกัน

เอ๊ะ พูดยังกะชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีดิจิทัลฯ นักรณรงค์ให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ที่ว่าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า “ดัดจริต” เดี๋ยวก็โดนหมอประกิต @ สสส.รุมกระหน่ำ ว่ายิ่งทำให้ระบาดเป็นภัยต่อเด็กและเยาวชนทั้งหลาย (บลาๆๆ)

บอกก่อนว่าไม่ขอถกเถียงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่ธรรมดาอะไรอันตรายกว่ากัน แต่อยากให้หันไปดูบทลงโทษ ซึ่งผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี อธิบายว่าผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดฐานรับไว้ซึ่งสินค้าที่ห้ามนำเข้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในขณะที่ความผิดฐานสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่ห้ามสูบ มีโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท เหมือนบุหรี่ธรรมดา

ถามว่าบุหรี่ไฟฟ้าร้ายแรงกว่าบุหรี่ธรรมดา ร้อยเท่าพันเท่าหรือไม่ ทำไมโทษจึงรุนแรงกว่าถึงเพียงนั้น

นี่เป็นปัญหาทางกฎหมายครับ คือกำหนดโทษสูงลิบลิ่ว เกินสมควรแก่เหตุ ไม่สอดคล้องกับความผิดที่ใกล้เคียงกัน แล้วมันก็มีปัญหาตามมาในแง่การบังคับใช้ คือไม่ว่าตำรวจหรือประชาชนทั่วไป ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันควรจะมีโทษร้ายแรงปานนั้น

พูดง่ายๆ ถ้าคุณเห็นเพื่อนร่วมงานสูบยาบ้า คุณคงไม่สบายใจ ห้ามไม่ได้ก็คงแจ้งบริษัทไล่ออกหรือแจ้งตำรวจจับ แต่เมื่อเห็นเพื่อนร่วมงานสูบบุหรี่ไฟฟ้า (ในที่สูบบุหรี่) คุณก็ไม่รู้สึกว่ามันแตกต่างอะไรมากนักจากการสูบบุหรี่ธรรมดา

ตำรวจก็เหมือนกัน เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็เหมือนกัน เห็นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ไม่ได้เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม ไม่เหมือนเสพยาบ้า หรือเมาแล้วขับ (โทษเบากว่าอีก) จึงไม่ค่อยมีใครแข็งขันบังคับใช้กฎหมาย

ก็เหมือนอาชญากรรมในสายตาตำรวจ คดีปล้นฆ่าเป็นภัยกว่าบ่อนซ่อง ตราบใดที่นายบ่อนไม่อุ้มซ้อมทวงหนี้ การค้าประเวณีเป็นไปโดยสมัครใจ แม้เป็นความผิดตามกฎหมายแต่ก็รู้กันว่าเป็นธรรมชาติในด้านมืดของมนุษย์ ซึ่งในหลายประเทศก็เปิดให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย ค้าประเวณีถูกกฎหมาย

บุหรี่ไฟฟ้าในความเป็นจริงจึงเกร่อเต็มเมือง แต่โดนตำรวจตั้งด่านตรวจเมื่อไหร่ ก็เสียเงิน คนไทยอาจจะโดนน้อยหน่อย คนต่างชาติโดนหนัก เพราะตำรวจไม่คิดว่าเขาจะโวย

“ทำไมกัญชาขายได้แต่บุหรี่ไฟฟ้าขายไม่ได้ในประเทศไทย” หนุ่มสิงคโปร์ที่โดนรีดไถตั้งคำถาม คนทั้งโลกก็ไม่เข้าใจ

ย้ำอีกที ไม่ใช่เห็นด้วยหรือคัดค้านว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย แต่ในมุมกฎหมาย มันเป็นปัญหาโทษรุนแรงเกินไป ถ้าสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วโดนปรับห้าพันเหมือนสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ พอเข้าใจได้ ยอมรับได้ แต่นี่คนพกหรือสูบบุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นอาชญากร?

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เอื้อตำรวจรีดไถ แต่ทำให้เห็นว่า ระบบกฎหมายไร้เหตุผล โอเวอร์ เกินสมควรแก่เหตุ ไม่สอดคล้องกัน แต่อ้างเจตนาดี ต้องใช้ยาแรงเพื่อปกป้องสุขภาพคนไทย ซึ่งเอาเข้าจริงในขณะที่คนทั่วไปยังมองว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา กฎหมายนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้คนสูบบุหรี่ไฟฟ้าน้อยลง

ปัญหาการกำหนดโทษรุนแรงไม่สอดคล้องกับฐานความผิดที่ใกล้เคียง ไม่ใช่มีแค่บุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังเป็นประเด็นทางการเมืองก็เช่นมาตรา 112 ซึ่งกำหนดโทษสูงลิบลิ่วกว่าหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาหลายเท่า มีปัญหาต่อการประกันตัว ศาลมองว่าโทษสูงจำเลยอาจหลบหนี จึงถูกคุมขังทั้งที่ยังไม่ตัดสิน

คดีขับรถเร็ว รถซิ่ง มีบางคดีถูกยึดรถ อันที่จริงก็สะใจ เพราะเป็นภัยสาธารณะ แต่ในมุมกฎหมายมีปัญหา เพราะโดยทั่วไปจะยึดรถเมื่อเป็นของกลางในความผิดร้ายแรง เช่นดัดแปลงรถใช้ขนยาเสพติด (ยังมีปัญหาด้วยว่า บางคนเป็นเจ้าของรถ โดนยึด บางคนรถติดไฟแนนซ์ ยึดไม่ได้)

กฎหมายที่ลักลั่น กำหนดความผิด กำหนดโทษ เกินสมควรแก่เหตุ และไม่สอดคล้องกัน ควรจะสังคายนาทั้งหมด เพราะความไม่สมเหตุสมผลมีผลต่อการบังคับใช้ ทั้งต่อตำรวจ ทั้งต่อประชาชนผู้ปฏิบัติ

ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูง่ายๆ กฎจราจรที่จะตัดแต้ม บางเรื่องชาวบ้านก็ทำตามไม่ได้ ตำรวจเองก็ไม่สนใจ เช่นขีดเส้นทึบยาว 3-4 กิโลบนทางด่วน หรือกำหนดความเร็วบนทางหลวงไม่เกิน 120 แต่บนทางด่วน 100-110 ไม่เข้าใจตุ้ม!

ชาวบ้านทำผิดทุกวัน ตำรวจก็เข้าใจ ตำรวจก็ปล่อยไป แต่วันไหนตำรวจตั้งกล้องดักจับหรือตั้งด่านรีดไถ ชาวบ้านก็ซวยไป

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7489793

2023-02-04 22:47

การลุกฮือของคนรุ่นใหม่ “แผ่นดินไหวทางวัฒนธรรม” ม็อบราษฎรชูสามนิ้ว ทะลุฟ้า ทะลุแก๊ซ ทะลุวัง ฯลฯ มีแนวโน้มจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ แต่ทดแทนด้วยความหวัง “แลนด์สไลด์” ในการเลือกตั้งของ “ฝ่ายประชาธิปไตย”

ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ Extreme เกินไป? ไม่มีใครเอาด้วย พวกอยู่ในโลกเสมือน ไม่เดินออกไปดูชีวิตคนจริงๆ คน 90% ของประเทศไม่ได้สนใจ เค้าทำมาหากิน มีความสุขมีความทุกข์เรื่องอื่นๆ กัน จัดม็อบมากี่ครั้ง มีคนตายกี่คน ไม่มีประโยชน์เลย นอกจากทำให้ชาวบ้านรำคาญเบื่อหน่าย ฯลฯ

หรือไม่ก็ “นักสู้โรแมนติก” อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วดังใจ เอาเป้าหมายของการเมืองบนท้องถนนมาตัดสินการเมืองระบบเลือกตั้ง

พูดอีกก็ถูกอีก การเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องอาศัยการโน้มน้าวจูงใจคนส่วนใหญ่ ซึ่งสนใจทำมาหากินเป็นหลัก ไม่สนใจการเมืองมากนัก แต่เดือดร้อนหนักๆ ก็ด่ารัฐบาล ถ้ามีเลือกตั้งก็อยากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เลือกพรรคที่นโยบายดีกว่า

แต่อีกด้าน การเมืองระบอบประชาธิปไตยก็ต้องการพลเมืองแถวหน้า ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ยกระดับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ทั้งความเสมอภาค เป็นธรรม คุณภาพชีวิต รัฐสวัสดิการ ไปจนกระทั่งปฏิรูปโครงสร้างปฏิรูปการเมือง

คุณจะรอให้คน 90% เห็นพ้องจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง ตายแล้วเกิดกี่ชาติก็ไม่ได้เปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงในโลกล้วนเริ่มจากคนแถวหน้า 10% หรือ “นักสู้โรแมนติก” 1% ด้วยซ้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น ระบอบประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันก็อยู่ในสภาพพิกลพิการ เพราะถูกฆ่าตัดตอนจากรัฐประหาร 49 บั่นคอซ้ำด้วยรัฐประหาร 57 รัฐธรรมนูญ 60 งอกใหม่เป็นประชาธิปไตยปลอม เป็นระบอบถอยหลังไปกึ่งๆ ก่อน 2475

สี่ปีผ่านไป แก้รัฐธรรมนูญได้แค่ประเด็นเดียว ระบบเลือกตั้งบัตรสองใบ “หารร้อย” จะยกเลิกอำนาจ 250 ส.ว.โหวตนายกฯ ก็ยังไม่ได้ด้วยซ้ำ แก้กี่ครั้งก็ไม่ผ่าน ม็อบกี่ครั้ง คน 90% ก็ไม่เอาด้วย เขาอยากทำมาหากิน คงต้องรอให้ครบวาระไปเอง

แล้วจะดีใจอะไรนักหนาแค่ชนะเลือกตั้ง แลนด์สไลด์แค่ไหนก็อยู่ใต้อำนาจเบ็ดเสร็จรัฐอนุรักษนิยม

แน่ละว่า คะแนนเสียงล้นหลามสามารถสร้างอำนาจต่อรอง แต่ต่อรองได้แค่ไหน ต่อรองเพื่ออะไร เพื่อเป็นรัฐบาลแก้ปัญหาปากท้อง หรือเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ รื้อโครงสร้างกลับสู่ประชาธิปไตย รื้อได้แค่ไหน

อำนาจต่อรองจากฐานเสียงเพื่อปากท้องจึงไม่เพียงพอ อำนาจต่อรองจากแถวหน้าที่ต้องการรื้อโครงสร้างต่างหาก ที่จะมีผลกดดัน แม้ยอมรับว่าอาจไม่ได้ตามข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ทุกอย่าง

รัฐประหารคือ Extreme คือการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเผด็จการอำมหิตหมุนประเทศถอยหลังเกือบ 180 องศา แล้วให้ฝ่ายประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง ผ่านการเมืองระบบตัวแทนกะด่างกะดำไปเจรจาต่อรอง ขอประนีประนอม Compromise

คุณจะต่อรองได้สักเท่าไหร่ ถ้าไม่มีพลัง Extreme กดดัน ถ้าพลังคนรุ่นใหม่ถูกทำลายไปก่อน

“แรงมาก็แรงไป” เป็นสัจธรรม แม้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก แต่เพราะความรุนแรงของระบอบอำนาจรัฐประหาร จึงเกิดการตอบโต้รุนแรงในเชิงเนื้อหาถึงรื้อโครงสร้าง ถ้าไม่มีแรงโต้อย่างนี้ คิดหรือว่าอีกฝ่ายจะประนีประนอม

การเลือกตั้งอย่างเดียวจึงไม่พอสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย อย่ามัวดีใจและตั้งความหวังเพียงชนะเลือกตั้ง ใช่เลยต้องชนะ แต่ชัยชนะเป็นแค่พื้นฐานของการรื้ออำนาจกลับสู่ประชาธิปไตย ถ้าชนะแล้วทำอะไรไม่ได้เลยก็ไม่มีความหมาย สุดท้ายก็ซ้ำรอยโดนรัฐประหาร

รัฐประหารแล้วคนส่วนใหญ่คงไม่ชอบ แต่คน 90% หรือ 99% ก็ไม่ต่อต้าน เขาอยากทำมาหากิน เผลอๆ มีม็อบต้าน พวกภาคธุรกิจกูรูโคชชิ่งก็จะก่นด่าว่าทำบ้านเมืองไม่สงบ เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน (แต่ตอนนี้พวกนี้ก็ลุ้นให้ตู่แพ้เลือกตั้ง ไม่ใช่อยากได้ประชาธิปไตยหรอก อยากให้หุ้นขึ้น)

พลังประชาธิปไตยในปัจจุบันจึงไม่สามารถมีแค่ “ประชาธิปไตยกินได้” ประชาธิปไตยปากท้อง ซึ่งทำให้ชนะเลือกตั้ง แต่พลังประชาธิปไตยอุดมการณ์ ซึ่งปะทุจากคนชั้นกลางในเมืองรุ่นใหม่ จะเป็นแรงผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลง อย่าทำลายกันเองเสียก่อน

คนรุ่นใหม่อาจจะไม่มีประสบการณ์ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ต้องรู้จักประเมินสถานการณ์ ประเมินกระแสสังคม เข้าใจความต้องการคนวงกว้าง ฯลฯ ก็จริง แต่อย่าอาบน้ำร้อนมากไปจนสูญเสียพลังทะลุทะลวงของคนหนุ่มสาวแถวหน้า เหลือแต่ความคิดประนีประนอมลูบหน้าลูบหลัง

การเมืองระบบเลือกตั้งอย่างเดียวเปลี่ยนอะไรไม่ได้มาก ถ้าปราศจากการเมืองบนท้องถนนแบบแอ๊กติวิสต์ ทั้งสองด้านต้องไปคู่กันในการต่อสู้กับรัฐอนุรักษนิยม

ถ้าไม่มีพลัง Extreme ทะลุทะลวง ประชาธิปไตยเลือกตั้งที่สู้กันในอ่าง ที่รัฐอนุรักษนิยมจัดให้ ป้อมปราบตู่ Vs แลนด์สไลด์ ภูมิใจดอย ดูดกันไปดูดกันมา ชนะเลือกตั้งแล้วสลายขั้ว เจรจา 250 ส.ว.ตั้งรัฐบาล จัดสรรเก้าอี้ ชนะเลือกตั้งแล้วแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เลย ปฏิรูปไม่ได้เลย

มันก็จะเป็นแค่ประชาธิปไตยดาดๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เหมาะสม

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7491729

 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar