นับตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นมา พรรคแรงงาน เป็นฝ่ายค้านในสมเด็จพระราชินี และหัวหน้าพรรคก็เป็นผู้จัดตั้ง ครม.เงา ขึ้นมา องค์ประกอบ ครม. เงา ของประเทศอังกฤษ โดยปกติแล้ว ประกอบด้วย ส.ส. อาวุโสสูงสุด ในซีกฝ่ายค้านประมาณ ๒๐ คน ใน ครม. เงา ของอังกฤษ นั้น มีเพียงผู้นำฝ่ายค้าน ประธานวิปฝ่ายค้าน และรองประธานวิปฝ่ายค้าน เท่านั้น ที่ได้รับค่าตอบแทนในฐานะที่เป็น ครม. เงา นอกเหนือจากเงินประจำตำแหน่งในฐานะ ส.ส. นอกนั้น ไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนใดๆ
เมื่อพรรคแรงงานหรือ เลเบ้อร์ปาร์ตี้ (Labour Party) ของประเทศอังกฤษ เป็นฝ่ายค้าน ครม. เงา ประกอบด้วย อดีตสมาชิกอาวุโส จำนวน ๕ คน และ ส.ส. อีกจำนวน ๑๙ คน ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ ส.ส. ของพรรคแรงงาน โดยผู้นำฝ่ายค้านเป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีเงาของแต่ละกระทรวง และตั้งวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๑๑ เป็นต้นมา ครม. เงา ของประเทศอังกฤษ ประกอบด้วย ส.ส. เอ็ด มิลลิแบนด์ (Ed Milliband) ผู้นำฝ่ายค้านในสมเด็จพระราชินี ในฐานะหัวหน้าพรรคแรงงานเป็นหัวหน้า รองหัวหน้าพรรคในฐานะรองผู้นำฝ่ายค้าน คือ ส.ส. Harriet Harman เป็นรัฐมนตรีเงา กระทรวงการพัฒนาการระหว่างประเทศ ส.ส. Ed Balls เป็นรัฐมนตรีเงากระทรวงการคลัง และ ส.ส. Douglas Alexander เป็นรัฐมนตรีเงากระทรวงการต่างประเทศและกิจการเครือจักรภพ เป็นต้น นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอังกฤษ คือ David Cameron ก็เคยเป็นผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้า ครม. เงา มาก่อน และในจำนวน ครม.เงา ที่มี Ed Milliband เป็นหัวหน้า นั้น ก็มีรัฐมนตรีเงาที่มาจากสภาขุนนางรวมอยู่ด้วย จำนวน ๓ คน ได้แก่ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาขุนนาง ประธานวิปฝ่ายค้านในสภาขุนนาง และรัฐมนตรีเงากระทรวงยุติธรรมกำกับดูแลเรื่องเกาะอังกฤษและเวลส์ นอกจากนั้น ยังมีประธาน ส.ส. พรรคแรงงานร่วมอยู่ด้วย
ทีนี้ ลองหันมาดู ครม. เงา ของไทย ที่จัดตั้งกันไปอย่างอึกทึกครึกโครม ทำราวกับว่าเป็นเรื่องที่ “เท่” เสียเต็มประดา นั้น ดูเหมือนว่าจะตั้งขึ้นในเวลาเดียวกับคณะรัฐมนตรีจริง ที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และนัยว่าจะลอกเลียนแบบมาจาก ครม. เงา ของอังกฤษ ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น นั่นแหละ นี่ถ้าหากเพิ่งมี ครม. เงา ในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แล้ว ก็คงต้องพูดว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้นแบบ เหตุเพราะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เติบโตและเรียนจบมาจากประเทศอังกฤษ แต่บังเอิญที่ว่า ครม. เงา นี้ มีมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว และถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนว่า ทุกครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน ก็จะตั้ง ครม. เงา ขึ้นมา เพราะอย่างน้อยที่สุดก็เรียกเสียงฮือฮาและเป็นข่าวทางสื่อมวลชนได้หลายวัน หลังจากที่เพิ่งแพ้เลือกตั้งไปหยกๆ
แต่เอาเป็นว่า กล่าวโดยเฉพาะเจาะจง ครม. เงา ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค นั้น แตกต่างไปจาก ครม. เงา ของประเทศอังกฤษอยู่หลายประการทีเดียว ดังจะกล่าวต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง ครม. เงา ของประเทศอังกฤษ มีรัฐธรรมนูญรองรับอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และที่สำคัญ เป็น ครม. เงา ในสมเด็จพระราชินี แต่ ครม. เงา ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่มีอะไรรองรับเลย ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ข้อบังคับการประชุมสภา
ประการที่สอง ครม. เงา ของประเทศอังกฤษ ตั้งขึ้นภายหลังการเข้ารับตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาสามัญ” เรียบร้อยแล้ว และผู้นำฝ่ายค้าน นั่นแหละ จะเป็นผู้ตั้ง ครม. เงา ในสมเด็จพระราชินี ส่วน ครม. เงา ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น ตั้งขึ้นตั้งแต่ไก่โห่ โดยที่ยังไม่มีแม้แต่ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ประการที่สาม คณะรัฐมนตรีเงาของประเทศอังกฤษ มีผู้ได้รับเงินตอบแทนจากการทำหน้าที่นอกเหนือจากเงินประจำตำแหน่ง ส.ส. ได้แก่ ตัวผู้นำฝ่ายค้านเองในฐานะหัวหน้า ครม. เงา ประธานวิปฝ่ายค้าน และรองประธานวิปฝ่ายค้าน ในขณะที่ ครม. เงา ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่มีใครได้เงินเดือนเลยสักคน เพราะเป็นตำแหน่งเถื่อนกันทุกคน จะเรียกว่า ครม. นอกทำเนียบ ก็คงจะได้
ประการที่สี่ ครม. เงา ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่มีบุคคลภายนอกมาร่วมใน ครม. เงา แต่ ครม. เงา ของอังกฤษ มีสมาชิกสภาขุนนางในซีกฝ่ายค้านมาร่วมอยู่ด้วย ๓ คน
จากข้อเปรียบเทียบ ทั้ง ๔ ข้อ ระหว่าง ครม. เงา ของอังกฤษ กับ ครม. เงา ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็สรุปได้ว่า ครม. เงา ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้า นั้น เป็นการอุปโลกน์ขึ้นมาเอง โดยไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายรองรับ โดยมีเจตนาที่จะจับผิดคณะรัฐมนตรีจริงเพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงน่าจะเรียกว่า ครม. นอกทำเนียบ หรือ ครม. เถื่อนมากกว่า หรือไม่อีกทีก็น่าจะเรียกว่า ครม. หลงเงาก็ได้ เพราะแทบจะทุกคนที่อยู่ใน ครม. เงา ล้วนเคยเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้ว ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงอาจเป็นไปได้ว่า เป็นพวกที่ยังหลงเงาตัวเองอยู่
เพราะมันคงจะฟังดูตลกพิลึกน่าดู ถ้าหากมาตั้งกติกานอกรัฐธรรมนูญกันเอาเองว่า ถ้าพรรคใดชนะเลือกตั้งก็ตั้ง ครม. จริง แต่ถ้าแพ้เลือกตั้ง ก็ตั้ง ครม. เงา
ทำอะไรอย่างอื่นไม่เป็นกันแล้วหรืออย่างไร ?
ระวังให้ดีเถอะ มัวแต่จะจ้องเล่นงานคนอื่นเขา ทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้เริ่มต้นทำงานเลย ระวังให้ดีเถอะ ทั้งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. ทั้งหมดของพรรค จะเจอข้อหา “จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” ซึ่งอาจถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ๒๗๑ โทษฐานตั้ง ครม. เงา โดยไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายรองรับ แถมยังอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา ๙๔ (๓) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ โทษฐานกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีโทษถึงขั้นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค มีกำหนดห้าปี อีกด้วยตอนเป็นรัฐบาลมีบางคนได้รับสมญานามว่า “ดีแต่พูด” แต่พอเป็นฝ่ายค้าน คนคนเดียวกันอาจได้สมญานามใหม่ คือ “ดีแต่พล่าม” พล่ามจนได้เรื่อง ว่าอย่างนั้นเถอะ
นพดล ปัทมะ ยันอีกรายครม.เงามาร์คต่างจากแม่แบบอังกฤษ!
ทางด้านนายนพดล ปัทมะ เขียนลงในเฟสบุ๊คว่า อังกฤษที่เป็นแม่แบบประชาธิปไตย เขาก็ไม่เคยเรียกฝ่ายค้านว่ารัฐมนตรีเงาเหมือนที่บ้านเราทำ แต่จะใช้คำว่าโฆษกแทน เช่น ในขณะที่ ปชป ตั้ง รัฐมนตรีการศึกษาเงา ในประเทศอังกฤษจะใช้คำว่า Education spokesman แปลว่า โฆษกด้านการศึกษา ความแปลกประหลาดจึงเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ที่ยังสับสนว่าคุณอภิสิทธิ์จะนั่งควบสองตำแหน่ง คือผู้นำฝ่ายค้าน ตามรัฐธรรมนูญ แต่ ปชป ตั้งให้เป็น นายกเงา ฟังแล้วสับสนอลหม่านดีแท้ๆ
Inga kommentarer:
Skicka en kommentar