torsdag 9 mars 2017

ข่าว "วงใน/ลือ" เรื่องทักษิณเจรจากับกษัตริย์ใหม่?



Somsak Jeamteerasakul
ข่าว "วงใน/ลือ" เรื่องทักษิณเจรจากับกษัตริย์ใหม่?
http://www.atimes.com/article/prayuths-grip-starts-slip//

บทความล่าสุดของคุณชอน คริสปิน (Shawn Crispin) พาดหัว "อำนาจเริ่มค่อยๆหลุดจากมือประยุทธ์" ข้อเสนอหลักของเขาคือ กษัตริย์ใหม่เริ่มกระชับอำนาจตัวเอง ทำให้อำนาจเด็ดขาดที่เคยอยู่ในมือประยุทธ์เริ่มลดลง
โดยส่วนตัว ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการประเมิน-วิเคราะห์ของคุณคริสปิน แต่นำมาให้ดู เพื่อให้คนอ่านได้ติดตามว่า มีการพูดเรื่องนี้อย่างไร
คุณคริสปินไล่เรียงเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้มารายงาน (แต่ไม่มีพูดเรื่องธรรมกายและเรื่องจุมพล - ไม่แน่ใจว่าทำไม) โดยเฉพาะเรื่องกษัตริย์ใหม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ เรื่ององคมนตรีทหารที่กษัตริย์ใหม่ตั้ง (ดาว์พงศ์ ฯลฯ) แล้วตามข่าวกรองของคริสปิน กษัตริย์ใหม่ส่งให้ไปคอยประสานงานกับรัฐบาล เช่นที่กระทรวงมหาดไทยและภาคใต้ และเรื่องที่กษัตริย์ใหม่สั่งให้เกิดการ "ปรองดอง" แล้วประยุทธ์-ประวิตร เอามาทำต่อ
ประเด็นหนึ่งที่คริสปินเสนอให้จับตามอง คือเรื่องอำนาจคุมกองทัพ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา อยู่ในมือของ "ทหารเสือราชินี" คือกลุ่มทหารที่ขึ้นมาเป็นใหญ่ได้เพราะความใกล้ชิดกับราชินีสิริกิติ์ แต่ตอนนี้ ผบ.ทบ.เป็นคนที่มาจากกลุ่มอื่น (อันที่จริง คุณคริสปินไม่ได้กล่าวไว้ - อาจจะไม่มีข้อมูลนี้ก็ได้ - ว่า มีการพูดกันว่า ผบ.ทบ.คนใหม่ขึ้นมาแบบ "แหกโผ" ได้ ด้วยการสนับสนุนของกษัตริย์ใหม่ - เรื่องนี้มีคนบอกผมมาสักระยะหนึ่ง ดูเหมือนผมเคยพูดแบบผ่านๆไปเหมือนกัน แต่ต่อให้จริง ผมก็ให้น้ำหนักความหมายไม่มาก) และอีกคนที่กำลังเป็น "ดาวรุ่ง" ของกองทัพคือ อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับกษัตริย์ใหม่ และอาจจะได้เป็น ผบ.ทบ.ในอนาคต
ประเด็นใหญ่ที่คริสปินเล่า คือเรื่องที่ว่า มีข่าว "วงใน" จากวงการทูตและวงการรัฐบาล ว่า กษัตริย์ใหม่เคยส่งตัวแทนพบปะเจรจากับทักษิณครั้งหนึ่ง
Diplomats and a government official who requested anonymity say that exiled former premier and Peua Thai party de facto leader Thaksin Shinawatra met in November in London with a senior royal representative who reportedly flew to the United Kingdom from Germany aboard Thaksin’s private jet.
According to the same envoys, Thaksin has since been offered terms as part of a reconciliation deal that would allow for his return from exile in exchange for a vow not to reenter politics for 10 years and payment of fines related to his corruption conviction. It is unclear if Thaksin would be required to serve any of his two-year prison sentence under the apparent proposal. (Thaksin could not be reached for comment.)
[แปลแบบคร่าวๆ: แหล่งข่าวการทูตและรัฐบาลบอกว่า เดือนพฤศจิกายน ในลอนดอน ทักษิณได้พบกับตัวแทนอาวุโสของกษัตริย์ใหม่ ที่บินจากเยอรมันมาอังกฤษโดยเครื่องบินส่วนตัวของทักษิณ แหล่งข่าวบอกว่าทักษิณเสนอเงื่อนไขของการปรองดองว่า อนุญาตให้เขากลับไทยได้ โดยเขายอมแลกเปลี่ยนด้วยการไม่ยุ่งการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ส่วนเรื่องทักษิณจะยอมติดคุก 2 ปีหรือไม่ ไม่ชัดเจนว่าจะเอายังไง]
ผมไม่ได้ยินเรื่องทักษิณพบผู้แทนกษัตริย์ใหม่ที่คริสปินเล่านี้ (ควรกล่าวด้วยว่า คุณแอนดรู เขาก็อ้างคล้ายคริสปินว่า มีการพบปะเจรจาระหว่างตัวแทนกษัตริย์ใหม่กับทักษิณ แม้จนขณะนี้)
...............
โดยรวม ดังที่กล่าวข้างต้น ผมไม่ถึงกับเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของคุณคริสปินนี้ (ผมคิดว่า เขา "อ่าน" กรณีบางอย่าง "มากไป" [read too much into] รวมถึงข้อมูลบางอย่างที่ผมยังไม่ค่อยเชื่อนัก เช่นเรื่องตัวแทนกษัตริย์ใหม่เจรจาทักษิณ - จะว่าไป ก็คล้ายๆกรณีคุณแอนดรู ซึ่งผมรู้สึกว่าบางครั้ง "อ่านมากไป" และเชื่อข้อมูลที่ยืนยันไม่ได้มากไปเหมือนกัน)
ในภาพรวม ผมยังมองว่า การแทรกแซงกระชับอำนาจของกษัตริย์ใหม่ มีลักษณะ "จำกัด" เฉพาะในแวดวงวังของตัวเอง (รวมถึงเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ที่น่าจะจำกัดที่เรื่องอำนาจตัวเอง - แต่ต้องรอดูเหมือนกัน บางเสียงก็บอกว่า ได้ยินว่า ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญของกษัตริย์ใหม่ อาจจะล่วงเลยไปถึงโครงสร้างการเมืองอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกษัตริย์บางอย่าง - ผมยังไม่ถึงกับเชื่อนัก แค่บอกไว้) แม้แต่กรณี "ธรรมกาย" ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ในขณะที่หลายวันนี้ เสื้อแดงและคนเชียร์ธรรมกายจำนวนมาก มองว่าเป็นเรื่อง "ใบสั่ง" ของกษัตริย์ใหม่ (และพวกที่คิดจะหวังพึ่งกษัตริย์ใหม่ ก็เลยอกหักไปตามๆกันเพราะเหตุนี้) ผมซึ่งไม่ใช่ "แฟนการเมือง" ของกษัตริย์ใหม่แน่ๆ กลับโน้มเอียงไปทางมองว่า เรื่องนี้กษัตริย์ใหม่ไม่ได้เกี่ยวโดยตรง คือเหมือนเรื่องการเมืองในภาพรวม กษัตริย์ใหม่ปล่อยให้เป็นการจัดการของ คสช. ตัวกษัตริย์ใหม่เองจริงๆ ความสนใจจำกัดเฉพาะเรื่องในแวดวงวังของตัวเองมากกว่า แต่เรื่องนี้ผมอาจจะประเมินพลาดก็ได้ (จริงๆแล้ว การที่ผมมองว่า กษัตริย์ใหม่ไม่ได้ยุ่งโดยตรง เพียงแต่ปล่อยให้ คสช.จัดการไปเอง ในแง่หนึ่งก็เท่ากับคล้อยตาม ไม่คัดค้าน คือ "เอาด้วย" โดยปริยายเหมือนกัน แม้จะไม่ได้ active ในการจัดการ) ซึ่งถ้าเช่นนั้น ในทางกลับกัน ยิ่งถ้ากรณีธรรมกาย เป็นเรื่องกษัตริย์ใหม่รู้เห็นเกี่ยวข้องโดยตรง ก็ยิ่งเป็นการแย้งการวิเคราะห์ของคุณคริสปินเข้าไปใหญ่ เพราะทิศทางการล้มธรรมกายในขณะนี้ ตรงข้ามกับการจะเจรจาคืนดีกับทักษิณ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามล้มเครือข่ายที่เป็นพันธมิตรทักษิณ (ไม่ต้องพูดถึงกรณีจุมพล ซึ่งผมก็ยังมองว่าเป็นเรืองภายในวังเป็นหลักมากกว่าเหมือนกัน แม้จะมีนัยยะเรื่องทักษิณอยู่ - มีคนบอกผมประมาณว่า กษัตริย์ใหม่ "น้อยใจ" หรือหงุดหงิดที่จุมพลเห็นความสำคัญของทักษิณมากเกินไป ประมาณว่า "มรึงทำงานให้กรูแท้ๆ เสือกคอยห่วงใยแม้วทำไมฟะ" อะไรแบบนั้น)
.................
สรุปแล้ว เรื่องทั้งหมดนี้ ผมเพียงแต่เล่าให้ฟัง ปกติ ถ้าไม่มีใครพูดในที่สาธารณะมากๆ (อย่างกรณีคุณคริสปินนี้) ผมก็ไม่พูดไปก่อน เพราะยังแค่ติดตาม "ฟังหูไว้หู" ไว้เท่านั้น และก็อยากเสนอให้คนอ่านเพียงติดตามและ "ฟังหูไว้หู" ไว้ คือรู้ว่า มีการพูดเรื่องพวกนี้ยังไงเท่านั้น

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar