söndag 18 juni 2017

30 บาทเผือกร้อนลุงตู่ : คอลัมน์ ใบตองแห้ง


30 บาทเผือกร้อนลุงตู่
ใบตองแห้ง

“แก้กฎหมายบัตรทอง NGO คือผู้สูญเสีย” บางคนตีปี๊บ หลังเห็นเครือข่าย NGO ชุมนุมคัดค้านและวอล์กเอาต์

ทั้งที่ความจริง “30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นสิทธิประโยชน์ของประชาชน 48.8 ล้านคน โดยไม่แบ่งข้างเลือกสี แม้เสื้อแดงกอด “30 บาท” ว่านี่นโยบายทักษิณ แต่คนที่ผลักดันก็มีทั้ง NGO แพทย์ชนบท (เป่าปี๊ดๆ) คนได้อานิสงส์ก็มีทุกภาค ทุกชนชั้น เว้นแต่ข้าราชการ หรือคนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี ที่ไม่เข้าคิวให้เสียเวลา

ฉะนั้น ถ้าแก้กฎหมายแล้วเกิดผลกระทบ คนเดือดร้อนก็ไม่ใช่เสื้อสีไหน ไม่ใช่แค่ NGO แต่ข้ามสีไปหมด เอาง่ายๆ การแก้ไขสัดส่วนบอร์ดสปสช. จากเดิมมีผู้แทนอปท. 4 คน คือ กทม. อบจ. เทศบาล และอบต. ก็จะเหลือ 3 คน ตัด อบต.ออกไป โดยอ้างว่ารัฐบาลจะยุบอยู่แล้ว อ้าว อย่างนี้อบต.ไม่โวยหรือ
ฝั่งเห็นด้วยกับการแก้ไข ก็เห็นหน้าเห็นตาชัดได้แก่แพทย์ ร.พ.มหาวิทยาลัยบางคน กับ “ประชาคมสาธารณสุข” ซึ่งคง ไม่ต้องบอกว่าสีไหน ไม่มีคนหนุนมากมายอะไร แต่กุมความ ได้เปรียบคือทัศนะสอดคล้องกับผู้มีอำนาจ กับรัฐราชการ ซึ่ง มองว่างบ 30 บาทสิ้นเปลือง ไม่มีความจำเป็นเหมือนอย่าง งบกลาโหมที่ต้องเพิ่ม 3 เท่าใน 11 ปี

เพียงแต่ด้านที่เสียเปรียบคือคุณหมอๆ ทั้งหลายไม่เก็บอาการ บ่นชาวบ้านนิสัยเสีย ให้กินฟรีไม่ต้องจ่ายเงินก็กินพร่ำเพรื่อ ให้รักษาฟรีไม่ต้องจ่ายเงินก็เลยป่วยพร่ำเพรื่อ

สถานการณ์อย่างนี้ ระวังนะครับ บัตรทองจะเป็นเผือกร้อนยัดมือลุงตู่ ทั้งที่ลุงตู่อาจไม่รู้อีโหน่อีเหน่ อุตส่าห์นำออกกำลังกาย เล่นกะลาสามัคคี หวังให้ประชาชนสุขภาพดี อาจถูกหาว่ามีเจตนาล้ม 30 บาทอีกก็ได้ ทั้งที่อาจแค่ไม่เข้าใจ ปัดโธ่ จะให้รู้ทุกเรื่องได้ไง ยิ่งเรื่องหมอๆ ก็ให้รัฐมนตรี ให้กระทรวงเขาว่ากันไป แต่สุดท้ายได้เผือกร้อนยัดมือ

ถ้าเข้าใจ การแก้กฎหมายครั้งนี้ นอกจากทำให้ขัดแย้งวงกว้าง กระทบสิทธิชาวบ้าน เรื่องที่หวังจะช่วยประหยัดงบประมาณ ก็เป็นไปไม่ได้ เผลอๆ จะบานปลายด้วยซ้ำ

อ้าว ไม่ได้ฟังหรือ ก็คุณหมอทั้งหลายท่านโวย สปสช.ว่า ร.พ.ขาดทุน เพราะไม่ยอมจ่ายเงินตามที่เบิก ถ้าพวกท่านได้เป็นใหญ่ในบอร์ด ยอดเบิกจ่ายมิบานกระจุยหรือ (เว้นแต่พวกท่านจะหาวิธีดัดนิสัยคนไทย “ชอบของฟรี” เช่นให้ร่วมจ่าย)

สปสช.ทำหน้าที่เหมือน “บริษัทประกัน” ด้านหนึ่งก็ดูแลคุณภาพบริการให้ประชาชน อีกด้านหนึ่งก็ควบคุมค่าใช้จ่ายให้เจ้าของเงินคือรัฐบาล จึงไม่แปลกที่กระทบกระทั่งกับหมอพยาบาล และไม่ได้บอกว่า สปสช.ถูกทุกอย่าง

แต่ถ้าเพิ่มผู้แทนร.พ.มานั่งในบอร์ด 7 คน ทั้งที่มีสภาวิชาชีพ เช่น แพทยสภาอยู่แล้ว 5 คน ถามว่า สปสช.จะดูเรื่องร้องเรียนให้ชาวบ้าน กับคุมการเบิกจ่ายให้รัฐบาลได้อย่างไร
เรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ไม่ค่อยพูดกันคือ การแก้กฎหมายครั้งนี้ จะแยกเงินเดือนบุคลากร แพทย์ พยาบาล ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว

ต้องเข้าใจนะครับว่านโยบาย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ไม่ใช่แค่รักษาฟรี แต่ยังปฏิรูประบบงบประมาณให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมด้วย

สมัยก่อน การจัดสรรงบสาธารณสุขจัดให้ตามขนาดร.พ. แบบร.พ.ใหญ่ได้มาก ร.พ.เล็กได้น้อย ซึ่งร.พ.ใหญ่ๆ ก็อยู่ในถิ่นเจริญ ทำให้เงิน บุคลากร อุปกรณ์ กระจุกอยู่รอบกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เปลี่ยนมาจ่ายงบรายหัว โดยถือหลักคนไทยต้องได้สิทธิเท่ากันไม่ว่าบ้านนอกบ้านใน ร.พ.ไหนประชากรเท่ากัน ก็ต้องได้งบเท่ากัน รวมหมด ทั้งค่ารักษา ค่าอุปกรณ์ และเงินเดือน เพื่อบีบให้กระจาย ทั้งทรัพยากรและบุคลากร

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดสภาวะ “โรงพยาบาลขาดทุน” ซึ่งบุคลากรสาธารณสุขส่วนหนึ่งไม่พอใจ ในขณะที่ร.พ.บ้านนอก จังหวัดห่างไกล ได้ “กำไร” มีเงินซื้อเครื่องมือ มีงบบรรจุแพทย์พยาบาลเพียงพอความต้องการประชาชน

แต่ตอนนี้ จะแก้ไขกฎหมายให้แยกจ่ายเงินเดือนบุคลากร โดยอ้างว่าไม่กระทบบริการ เพราะค่าใช้จ่ายรายหัวยังเท่ากัน ถามหน่อย ร.พ. 2 แห่ง ประชากรเท่ากัน งบเท่ากัน แต่แห่งหนึ่งมีบุคลากร 100 คน อีกแห่ง 40 คน ไม่กระทบคนป่วยจริงหรือ ความเท่าเทียมเป็นธรรมอยู่ที่ไหน แล้วคอยดูเถอะ สุดท้ายงบ จะไม่พอ เพราะแยกเงินเดือนไปค่าใช้จ่ายรายหัวก็ลดลง บุคลากรไม่ถูกจำกัด เดี๋ยวก็บรรจุเพิ่มอีก

ระวัง “ขาดทุน” ทั้งขึ้นทั้งล่องนะครับ ประหยัดก็ไม่ได้ ชาวบ้านก็บ่นพึม ทางที่ดีเชื่อหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เถอะ ยิ่งเร่งแก้คนยิ่งไม่ไว้วางใจ เอาไว้แก้หลังเลือกตั้งดีกว่า (หมอ สุภัทรก็เป่านกหวีดมานะ-เชื่อได้) 

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar