torsdag 6 juli 2017

ศิลปิน “อยู่เป็น” :คอลัมน์ ใบตองแห้ง


ศิลปิน “อยู่เป็น”
ใบตองแห้ง

“สุนทรตู่” แค่แต่งกลอนก็เป็นเรื่อง ทำให้ศิลปินแห่งชาติ เปิดศึกทะเลาะกัน แหม ช่างน่ากลุ้มใจ
กองเชียร์บางคนอาจยิ้มมุมปากภาคภูมิใจ ท่านผู้นำยิ่งใหญ่ ปานนั้น สามารถทำให้ศิลปินที่เป็นเพื่อนกันมาเกือบครึ่งศตวรรษแยกข้างไม่เผาผีกันได้

แต่อ๊ะ พูดอย่างนี้ก็จะกลายเป็นท่านผู้นำทำสังคมแตกแยก ไม่ใช่สิ เขาทะเลาะกันมานานแล้วเรื่องจุดยืนประชาธิปไตยกับเผด็จการ (จุดยืนแปลว่าอะไร อธิบายยาก เรียกว่าส้นตีนก็ได้ ส้นตีนประชาธิปไตยกับส้นตีนเผด็จการ)

นี่เป็นภาพสะท้อนความแตกแยกในสังคมไทยที่มีมานาน สิบปีแล้ว ในทุกวงการ เพียงแต่ระหว่างนี้อาจมีศูนย์กลางที่ลุงตู่ ซึ่งเรียกดอกไม้และก้อนอิฐได้ล้นหลาม (ขนาดลำไย ไหทองคำ ยังยืมตัวปลอมไปออก MV)

ว่าที่จริงนี่เป็นสีสัน “ไทยแลนด์โอนลี่” ในยุคที่คนทั้งโลกก็แตกแยกกัน ไทยแลนด์ไม่เหมือนใคร ตรงที่มีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ตั้งแต่ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 มาถึงพฤษภาคม 2535 โดยมีนักศึกษา ประชาชน กรรมกร ชาวนา ไปจนนักเขียน ศิลปิน เข้าร่วมมากมาย เป็นตัวอย่างให้ประชาชนประเทศอื่นเช่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โค่นล้มเผด็จการ” แล้วเดินหน้าต่อไป แม้ปัดเป๋บ้างก็ไม่ถอยหลังถึงขั้นล้มระบอบ

มีแต่ไทยแลนด์โอนลี่ ที่เกือบครึ่งศตวรรษผ่านไป ไม่เพียงเกิดรัฐประหารซ้ำซาก หากอดีตนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังแยก เป็น 2 ขั้ว โดยขั้วหนึ่งกลับไปสนับสนุนรัฐประหาร เรื่องอย่างนี้มีที่เดียวในโลก

เห็นกระทรวงวัฒนธรรมออกข่าว อยากสร้างหนังส่งประกวดเวทีโลก พล็อตนี้ใช้ได้เลยครับ เพื่อนกันแท้ๆ ต่อสู้เผด็จการมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา ถูกจับถูกปราบ เพื่อนถูกเข่นฆ่า เข้าป่าจับปืน ฯลฯ มาวันนี้คนหนึ่งเป่าปี๊ดๆ ได้ดิบได้ดียุคทหาร อีกคนต้องลี้ภัยไปต่างแดน ไม่มีแผ่นดินอยู่ ขืนอยู่ก็ติดคุก หนีไปจนได้สัญชาติอื่น ยังโดนด่าทรยศชาติ

พล็อตนี้ไม่เหมือนใครในโลก แต่ไม่รู้ชาวโลกจะงงไหม ว่า ไทยแลนด์โอนลี่หรือไทยแลนด์โอลด์แหล

ว่าที่จริง หลายสิบปีที่โลกเปลี่ยน การที่ต่างคนต่างทัศนะเปลี่ยน จนเห็นต่างกันสิ้นเชิงในเรื่องระบอบการปกครอง เศรษฐกิจ การเมือง การเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นความเห็นต่างที่ยังคุยกันได้ เพ้อเจ้อ สติแตก ขนาดไหนก็ทนฟังได้

แต่สิ่งที่คุยไม่ได้ เปลี่ยนไม่ได้ ก็คือวิญญาณเสรีที่เคยมีร่วมกัน ที่เคยต่อสู้เรียกร้องสิทธิ อิสระ และความเป็นธรรม จนถูกคุกคาม ถูกจับกุมคุมขัง ถูกปราบ ถูกเข่นฆ่า เพื่อนตายกลาดเกลื่อน ในแต่ละเหตุการณ์
วิญญาณนี้หายไปไหนล่ะ ทำไมเห็นดีเห็นงาม หรืออย่างน้อยก็เพิกเฉย ยังร่วมสังฆกรรม กับอำนาจที่จับกุมคุมขังผู้เรียกร้องเสรีภาพ อย่างนักศึกษา ที่ไม่ต่างจากตัวเองเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน อำนาจที่ปิดกั้นเสรีภาพ คุกคามคนเห็นต่าง ส่งทหารไปเยี่ยมบ้าน เรียกรายงานตัว

หรือจะบอกว่า โอ๊ย ยุคนี้ไม่เหมือนอดีต ไม่มีใครตาย แต่อ้าว ทีใช้กระสุนจริงสลายม็อบ 99 ศพ ทำไมสนับสนุน หรือเงียบเฉย เห็นมวลชนอีกฝ่ายเป็นชายชุดดำ รับจ้าง เป็นเครื่องมือ ฯลฯ ไม่เหมือนยุคเรา ไม่มีคลังแสงในธรรมศาสตร์ซักหน่อย

นั่นแหละครับ จึงต้องมีศิลปินทวงถามศิลปิน ถึงวิญญาณเสรีที่เคยมีร่วมกัน ทวงถามว่าเชื่อได้อย่างไร อำนาจนี้จะพัฒนาการศึกษาของชาติ (ให้เด็กเดินแถวเรียงหนึ่งเข้า ร.ร.เพื่อเอกลักษณ์ความเป็นไทย) โครงสร้างอำนาจไม่บาตรใหญ่ (ใช้ ม.44 จับคนเข้าค่ายทหารโดยไม่ต้องใช้หมายศาล) รักษาศิลปวัฒนธรรม ความเป็นไทย (ด้วยการสแกนหน้า นิ้วมือ ก่อนใช้สื่อออนไลน์) ธรรมาภิบาล (ตอบ 4 คำถามผ่านศูนย์ดำรงธรรม)

อพิโถ คนที่ผ่านการต่อสู้ เคยโค่นเผด็จการ “จงทำดี จงทำดี จงทำดี” เคยสะอิดสะเอียนระบบราชการสอพลอ เกณฑ์คนชูป้าย ขับเสภา ท่องอาขยาน ฯลฯ ถามว่ากลับมาเชื่อระบอบนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่สมองกลับ ก็เสแสร้ง “อยู่เป็น”

มันไม่ใช่เรื่องใครแพ้ใครชนะ ใครเป็นพระ ใครแพ้แล้วพาล อะไรเลย แค่ทวงถามว่าคิดอย่างนี้เชื่ออย่างนี้จริงๆ หรือเสแสร้ง “อยู่เป็น” เพื่อเป้าหมายทางการเมือง หรือเพื่ออะไรก็ตามแต่
ใครแพ้ใครชนะทางการเมืองไม่สำคัญหรอก มันอยู่ที่ใคร คงความเป็นมนุษย์ เคารพวิญญาณเสรี ที่ต่อสู้กันมาแต่ต้น อย่างไม่อายเพื่อนที่ตายไป

ใครที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ก็ยืดอกได้ คงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คงความเคารพตนเอง จนวันตาย ไม่ว่าแพ้หรือชนะก็ตาม

Inga kommentarer:

Skicka en kommentar