onsdag 27 mars 2019

updated .ถ้าวันนั้น ไม่มี....?




ถ้าวันนั้น ไม่มี....? goo.gl/kQ5aaD

Sliding Doors* - ถ้าวันนั้น ไม่มี....?
(*ดูคำอธิบายเรื่อง Sliding Doors ท้ายกระทู้)
 มี "มิตรสหายท่านหนึ่ง" ตั้งคำถามที่น่าสนใจมากว่า
 "ถ้าวันนั้นสนธิกับทักษิณไม่แตกกัน ประวัติศาสตร์ไทยจะเป็นยังไงนะ?"

ก่อนที่ผมจะ "ตอบ" คำถามนี้ ผมขอเล่าอะไรให้ฟังนิด คือในช่วงใกล้ๆนี้ ผมนึกทบทวนถึงวิกฤติ 10 ปีนี้เยอะ (ส่วนหนึ่งเพราะวันที่ 19 นี้ ผมจะร่วมการสัมมนาเรื่องนี้ที่นี่) แล้วมีประเด็นหนึ่งที่สะดุดใจผมมาก
คือถ้าเราดูความพยายามของสนธิ ในการเคลื่อนไหวล้มทักษิณตั้งแต่ปลายปี 2548 จนถึงเดือนมกราคม 2549 จะเห็นว่า "จุดไม่ติด" (ยกเรื่องทักษิณละเมิดพระราชอำนาจ เช่นเรื่องสังฆราช, วัดพระแก้ว, เครื่องบินพระที่นั่ง และอื่นๆ ก็ยังไม่ติด) แม้แต่เมื่อสนธิพยายามจะทำให้เป็นกระแสใหญ่ด้วยการนำเดินขบวนจากสวนลุมไปทำเนียบ และมีการพยายามพังประตูทำเนียบเข้าไป ในกลางเดือนมกราคม ผลก็ออกมาว่าล้มเหลว แม้แต่คนเชียร์ก็ยอมรับว่าล้มเหลว และแย่ลงสำหรับขบวนสนธิด้วยซ้ำ ธีรยุทธถึงกับออกมาเสนอว่า ทักษิณคงอยู่ต่ออีกหลายปี และแนะนำให้สนธิเปลี่ยนไปเป็นกลุ่มกดดัน คอยเสนอ วิจารณ์รัฐบาล แทนที่จะพยายามออกมาเคลื่อนไหว
แต่แล้วก็มีข่าวขายชินคอร์ป-เทมาเส็กออกมา เมื่อวันที่ 23 มกราคม
เท่านั้นแหละ สถานการณ์เปลี่ยนไปชนิดมโหฬารเลย .....
ผมคิดมานานแล้ว (จริงๆตั้งแต่ตอนนั้น) ว่า ถ้าตอนนั้น ทักษิณ handle หรือจัดการกับกรณีขายชินคอร์ปแตกต่างออกไป เช่น สมมุติ ออกมาประกาศว่า แม้ตามกฎหมาย ครอบครัวเขาจะได้รับการยกเว้นภาษีจริงๆ แต่ว่า เขายินดี บริจาคเงินเท่ากับจำนวนภาษีที่ได้รับการยกเว้นนั้นให้สาธารณะ เช่น ตั้งเป็นกองทุนหรือมูลนิธิ ฯลฯ ผมว่าโอกาสที่จะหยุดกระแส ยังเป็นไปได้สูงมาก ฯลฯ
แต่ทักษิณมีจุดอ่อนสำคัญมากอย่างหนึ่ง (ตลอดช่วงที่เขาเป็นนายกฯลักษณะนี้ชัดมาก) คือ รับการวิจารณ์ไม่ได้ และยิ่งถูกวิจารณ์หนัก ยิ่งโกรธ ยิ่งฮึด (ทุกวันนี้เขาก็ยังมีจุดอ่อนนี้นะ คือไม่มีใครพูดให้เขาฟังได้จริงๆ ว่ากันว่า มีคนเดียวที่เขายอมฟัง หรือสามารถวิจารณ์เขาได้แล้วเขายอมฟังจริงๆ คือคุณหญิงอ้อ) ... ก็เลย handle ในลักษณะที่ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง....
ผมคิดถึงกรณีขายชินคอร์ป-เทมาเส็ก ในแง่ "ถ้าวันนั้น...." โดยโยงกับประเด็นที่กว้างกว่านั้นอีก คือ ถ้าเราดูสถานการณ์ปัจจุบัน ชนชั้นกลางในกรุงเทพส่วนใหญ่แอนตี้ทักษิณ แล้วเลยเป็นฐานให้กับ คสช หรืออำนาจอื่นๆที่แอนตี้ทักษิณ
แต่ถ้าลองคิดดู ชนชั้นกลางในกรุงเทพไม่ได้มีลักษณะแอนตี้ทักษิณอย่างรุนแรงขนาดนี้มาแต่แรก การที่สนธิไม่สามารถจุดกระแสได้ ก่อนกรณีขายชินคอร์ป เป็นตัวบ่งชี้อย่างหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น การเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทย ยังสามารถชนะประชาธิปัตย์ในกรุงเทพอย่างถล่มทลายด้วย (ทรท ได้ 32 ที่นั่ง ปชป ได้เพียง 4 - เลือกตั้งปี 2544 ไทยรักไทยก็ชนะ ได้ 28 ขณะที่ ปชป ได้ 9)
และเรื่องนี้ นำไปสู่ปัญหาเชิงทฤษฎีและเชิงข้อเท็จจริงของการเข้าใจวิกฤติ 10 ปีนี้ ที่ผมสนใจมาก
นั่นคือ เรากล่าวได้แค่ไหนว่า ที่มันเกิดวิกฤติ จนเรามาอยู่ในสถานการณ์แบบทุกวันนี้ มันมาจากปัญหา "โครงสร้าง" บางอย่าง ที่ยังไง ก็ต้องเป็นแบบนี้ (นี่คือแนววิเคราะห์ของนักวิชาการส่วนใหญ่) หรือว่า ความจริง มันมีส่วนสำคัญมาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้กระทำ ทั้งสองฝ่าย (พูดแบบภาษาวิชาการหน่อย คือปัญหา structure vs agency หรือ determinism vs voluntarism)
เช่น (ที่เพิ่งพูด) ถ้าทักษิณ ไม่ handle กรณีขายชินคอร์ปแบบนั้น หรือ ถ้า พระราชินี ไม่เสด็จงานศพน้องโบว์, ถ้าพันธมิตรไม่ยึดทำเนียบ-สนามบิน, ถ้า นปช ไม่ตัดสินใจยึดราชประสงค์ (ซึ่งผมยืนยันว่าเป็นการตัดสินใจที่พลาดมาก) หรือรับโร้ดแม็พอภิสิทธิ์แล้วเลิกชุมนุม (นี่เป็นอีกความผิดพลาดหนึ่งของทักษิณ) หรือ ถ้าทักษิณไม่ดันเหมาเข่ง ฯลฯ ฯลฯ
ในความรู้สึกผมนะ วิกฤติครั้งนี้ มันมีส่วนมาจากการตัดสินใจผิดพลาดของผู้กระทำสำคัญของทั้งสองฝ่ายในแต่ละจังหวะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เยอะมาก
..............
*Sliding Doors เป็นชื่อหนังฝรั่งที่ผมชอบมาก และผมเห็นว่าน่าสนใจมากด้วย ผมแนะนำนักศึกษาประวัติศาสตร์ของผมเสมอว่า ถ้ามีโอกาส ควรหามาดู เนื้อเรื่องย่อๆคือ ตัวนางเอก (เล่นโดย เกวนเน็ธ พาโทรล) วันหนึ่งถูกไล่ออกจากงาน แล้วเลยกลับบ้านเร็ว มาเจอแฟนกำลังมีเซ็กซ์กับกิ๊ก แล้วเลยทะเลาะเลิกกับแฟน... แต่หนัง ได้ "สมมุติ" หรือ "นำเสนอ" อีก "ทางเลือก" หนึ่งของชีวิตนางเอก คือตอนที่นางเอกพยายามขึ้นรถไฟกลับบ้านหลังโดนไล่ออก ถ้าสมมุตินางเอก ขึ้นไม่ทัน ประตูรถไฟมันปิดก่อน (นี่คือที่มาของชื่อหนัง Sliding Doors) นางเอกเลยกลับไปบ้าน หลังจากกิ๊กของแฟนกลับไปแล้ว ก็เพียงแต่ไปเจอแฟนคนเดียว ก็เลยยังอยู่กับแฟนต่อไป .... แล้วตลอดทั้งเรื่องของหนัง ก็เดินเรื่องสลับกัน ระหว่างชีวิตนางเอกที่ไม่เหมือนกัน จากการขึ้นรถไฟทันกลับไปเจอกิ๊กแฟน กับ ขึ้นรถไฟไม่ทัน กลับไปไม่ได้เจอกิ๊กแฟน ชีวิตนางเอกจะดำเนินไปคนละอย่าง ลงเอยคนละอย่างเลย
ประเด็นคือ "ประวัติศาสตร์" มันจะเปลี่ยนไปเพียงใด "จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า..." บางเหตุการณ์ ไม่ได้เกิดแบบที่เกิด ซึ่งมันมีความเป็นไปได้แน่ ที่จะไม่เกิดแบบที่เกิด ในทางวิชาการ มันมีการพูดเรื่องนี้เยอะ เรียกว่า counter-factual history เช่น สมมุติว่า ถ้าฮิตเล่อร์ เกิดเอาชนะโซเวียตได้ (แทนที่จะไปแพ้ยับเยิน) ฯลฯ

ถ้าตัดประเด็นเรื่องเป้าหมายการเคลื่อนไหวของพันธมิตรออกไปนะ ผมมองว่า สิ่งที่ต้องนับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับการเมืองแบบประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์ยุคใกล้มาโดยตลอด คือ ความล้มเหลวของการเคลื่อนไหวมวลชนที่เริ่มมาจากประชาชนเองที่จะกลายเป็นขบวนการที่ถาวร แล้วดอกผลหรือผลประโยชน์ใดๆที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวนั้น ก็ตกเป็นของพรรคการเมืองที่มีอยู่ก่อนแล้ว ที่ในระหว่างการเคลื่อนไหวมวลชนแบบนี้ #ไม่ต้องมาลงแรงด้วยตัวเองเต็มที่
พันธมิตรฯมีความพยายามแปรรูปตั้งเป็นพรรคการเมืองแต่ล้มเหลว ถ้าเราดูย้อนหลังไปถึง 14 ตุลา หรือ พฤษภา 35 ก็เช่นกัน ในที่สุดแล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนในลักษณะที่เริ่มมาจากประชาชนเอง ก็ลงเอยกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้ว #ที่ในระหวา่งการเคลื่อนไหวนั้นไม่ต้องลงแรงเต็มที่ ได้ประโยชน์ไป
ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าเราดูจริงๆนะ แม้แต่การรณรงค์คัดค้านรัฐธรรมนูญ คสช ที่เพิ่งจบไป ก็เข้าข่ายนี้ (อันนี้ผมคิดมาตลอดหลายเดือนที่มีการรณรงค์นะ แต่ไม่ได้เขียนไป) แน่นอน ต่างจากพันธมิตรที่ "ชนะ" หรือบรรลุในเป้าหมาย (แต่ในทีสุด ผลประโยชน์ก็ตกกับพรรคการเมือง) การรณรงค์คัดค้านรัฐธรรมนูญ คสช ไม่ประสบความสำเร็จ แต่สมมุติว่าเกิดการรณรงค์ประสบความสำเร็จขึ้นมา ผมว่าผลก็จะเป็นทำนองเดียวกัน #คือพรรคเพื่อไทย - อันนี้พูดกันตรงๆ - #จะเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ที่สุด #โดยที่ระหว่างการรณรงค์นั้นพรรคฯไม่ได้ลงแรงเต็มที่ #จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ อันที่จริง แม้แต่ระหว่างการรณรงค์ที่ผลยังไม่ออกมา ผมก็รู้สึกแบบนี้นะ คือเอาเข้าจริง พรรคฯได้ประโยชน์(และจะได้ประโยชน์ถ้าชนะ)จากการรณรงค์มากกว่า คนทีทำการรณรงค์ที่เป็นประชาชนที่ไม่ใช่คนของพรรคเอง
Somsak Jeamteerasakul

(กระทู้นี้จะว่าไปเชื่อมโยงกับกระทู้ที่แล้วนะ แต่พูดถึงประเด็นที่ใหญ่ที่สุดของการเมืองขณะนี้ - กระทู้ที่แล้วยกประเด็นย่อยลงไป - ดังนั้น ใครยังไม่ได้อ่านกระทู้ที่แล้ว แนะนำให้อ่านก่อน)
ในวงสนทนากับ "มิตรสหาย" หลายท่าน เมื่อไม่กี่วันก่อน มี "มิตรสหายท่านหนึ่ง" สรุปแบบรวบยอดฟันธงเป็นคำพูดทำนองนี้ ซึ่งผมเห็นด้วยว่าสรุปได้ถูกต้อง
ถ้าถามว่า คุณทักษิณ-เพื่อไทย-นปช และบรรดานักการเมืองสังกัดค่ายนี้ พวกเขาคิดจะ "ล้มอำนาจเจ้า-เปลี่ยนระบอบ" ไหม? - คำตอบคือไม่
แต่ถ้ามีคนอื่นๆทำ จนเกิดการ "ล้มอำนาจเจ้า-เปลี่ยนระบอบ" พวกเขาเอาไหม? - คำตอบคือ เอา
(พูดอีกอย่างประมาณว่า "พวกคุณอยากทำก็ทำไป พวกผมไม่ทำด้วย แต่ถ้าพวกคุณทำสำเร็จ พวกผมก็เอา")
นี่แหละคือ "ความพิลึกพิลั่น" ของการเมืองไทยในหลายปีนี้




Inga kommentarer:

Skicka en kommentar